xs
xsm
sm
md
lg

อาเบะนำรัฐบาลญี่ปุ่นรำลึก “วันอธิปไตย” ฟื้นความมุ่งมั่นปั่นกระแส “ชาตินิยม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ (ซ้าย) กำลังกล่าวสุนทรพจน์ ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ระหว่างพิธีรำลึกวาระที่ญี่ปุ่นต้องสูญเสียอธิปไตยหลังจากยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2  แล้วก็ได้กลับคืนในอีก 7 ปีต่อมา เมื่อวันอาทิตย์(28)
เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ออกมาประกาศในวันอาทิตย์ (28) ว่าจะฟื้นฟู “ความหวังและความมุ่งมั่น” เพื่อทำให้ประเทศมีความแข็งแกร่งและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ในพิธีรำลึกวาระที่ญี่ปุ่นต้องสูญเสียอธิปไตยหลังจากยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็ได้กลับคืนในอีก 7 ปีต่อมา โดยที่การจัดงานในปีนี้นับเป็นปีแรกภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม คาดหมายกันว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะสร้างความไม่สบายใจให้แก่พวกประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังระแวงกระแสชาตินิยมที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในแดนอาทิตย์อุทัย

ในช่วงหาเสียงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ประกาศว่า หากชนะได้จัดตั้งรัฐบาล จะประกาศให้วันที่ 28 เมษายน เป็น “วันฟื้นคืนอธิปไตย” เพื่อระลึกวันดังกล่าวของปี 1952 เมื่อสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโกมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ ยุติการอ้างสิทธิของญี่ปุ่นเหนือดินแดนและประเทศอื่นๆ และเริ่มต้นการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯเข้ายึดครองญี่ปุ่น รวมทั้งกำหนดให้ญี่ปุ่นชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม

“ผมต้องการให้วันนี้เป็นวันที่เราสามารถฟื้นฟูจิตสำนึกแห่งความหวังและความมุ่งมั่นต่ออนาคตของเรา” อาเบะกล่าวในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมใกล้ๆ กับรัฐสภา

“เรามีพันธะความรับผิดชอบในการทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ประชาชนของโลกสามารถที่จะพึ่งพาอาศัยได้” อาเบะประกาศ

ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้นอกเหนือจากพวกข้าราชการซึ่งแทบทั้งหมดเป็นชายสวมสูทสีดำประมาณ 400 คนแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมงานด้วย ครั้นเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จกลับ พวกผู้เข้าร่วมพิธีพากันชูมือและตะโกนคำว่า “บันไซ” ซึ่งหมายถึงพระชนมายุยั่งยืนนาน

ทั้งนี้ สมเด็จพระบิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะคือ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ทรงครองราชย์ในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามและทรงเป็นผู้ออกแถลงการณ์ฉบับประวัติศาสตร์ให้ทหารญี่ปุ่นยอมจำนนในปี 1945

อาเบะ ผู้นำสายเหยี่ยวกล่าวก่อนหน้างานนี้ว่า พิธีนี้จะช่วยให้คนรุ่นหลังของญี่ปุ่นเกิด “ความตระหนัก” ว่าประเทศชาติของพวกเขาสามารถกลับมาเป็นเอกราชได้อีกครั้ง หลังจากการยึดครองของกองทัพอเมริกันยาวนาน 7 ปี

พวกอนุรักษนิยมของญี่ปุ่น ซึ่งก็รวมถึงนักการเมืองจำนวนมากในพรรคแอลดีพี ได้วิพากษ์วิจารณ์มานานแล้วว่า ครูอาจารย์ตามโรงเรียนที่เป็นพวกเสรีนิยมพยายามเรียกร้องกดดันให้ญี่ปุ่นต้องทำการแก้ไขไถ่โทษในช่วงที่ใช้นโยบายจักรวรรดินิยม การเรียกร้องกดดันดังกล่าวเป็นไปอย่างชนิดมากเกินไปแล้ว และเลยกลับทำให้เกิดความบกพร่องล้มเหลว ไม่ได้มีการปลูกฝังความรักชาติให้แก่นักเรียน

ภายหลังกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ในคราวนี้ ช่วงแรกๆ อาเบะมุ่งเน้นหนักไปที่นโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะนิ่งชะงักมายาวนาน

กระแสความนิยมของเขาในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่ดีมาก นั่นคือประมาณ 70% โดยที่สำคัญแล้วเนื่องจากการที่ประชาชนเกิดความหวังว่า นโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ของเขา ซึ่งเป็นส่วนผสมของการตั้งโครงการใช้จ่ายงบประมาณอย่างขนานใหญ่ และการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบสุดๆ ทว่ายังเป็นที่สงสัยข้องใจกันอยู่ว่า ประชาชนจะให้ความสนับสนุนวาระที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจของอาเบะสักแค่ไหน

ในช่วงสัปดาห์หลังๆ นี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้นี้ได้ทุ่มเทความสนใจส่วนใหญ่ไปในการแสดงจุดยืนแบบนักชาตินิยมสายเหยี่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ก่อนหน้าจะถึงกำหนดการเลือกตั้งสภาสูงในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งพวกพรรคร่วมรัฐบาลหวังว่าจะชนะเพื่อให้พวกเขากุมอำนาจได้อย่างเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ที่มีแนวโน้มว่า จะทำให้เพื่อนบ้านที่เคยเป็นเหยื่อญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 20 ไม่สบายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นกว่า 160 คน เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ซึ่งถูกจีนและเกาหลีใต้มองว่า เป็นสัญลักษณ์ความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม

ไม่เพียงเท่านั้น พิธีระลึกคราวนี้ยังสร้างความเดือดดาลให้แก่ชาวเกาะโอกินาวา ซึ่งหลังจากดินแดนส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นได้กลับเป็นเอกราชแล้ว พวกเขายังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอเมริกาอีก 2 ทศวรรษ และปัจจุบันก็มีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่ โดยที่มีทหารประจำการอยู่ราว 50,000 คน ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวโอกินาวาได้ร้องเรียนทั้งเรื่องเสียงดังจากเครื่องบินทหารอเมริกัน ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนปัญหานานาจากความประพฤติของทหารอเมริกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาเบะกล่าวด้วยน้ำเสียงประนีประนอมว่า “เราควรยอมรับความจริงที่ว่า สิทธิในการบริหารปกครองโอกินาวา ซึ่งเคยเป็นสนามรบอันโหดร้าย ได้ถูกพรากไปจากญี่ปุ่นเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด

“ผมเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่พยายามให้ความสนใจกับความยากแค้นคับข้องที่โอกินาวาต้องประสบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น