เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศพร้อมใจค้อมศีรษะแสดงความคารวะและรำลึกถึงดวงวิญญาณผู้เคราะห์ร้ายเกือบ 19,000 ชีวิตที่จากไปในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิถล่มชายฝั่งญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ซึ่งยังจุดชนวนวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบหลายสิบปี
พิธีรำลึกถูกจัดขึ้นตามเมืองชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งประสบภัยธรรมชาติเมื่อ 2 ปีก่อน รวมถึงที่กรุงโตเกียว ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและจักรพรรดินีมิจิโกะ เสด็จฯเป็นองค์ประธานในพิธีไว้อาลัยที่รัฐบาลจัดขึ้น
ที่เมืองอิชิโนะมากิ สัญญาณเตือนภัยดังขึ้นในเวลา 14.46 น. (12.46 น. ตามเวลาในไทย) ซึ่งตรงกับเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.0 ในวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 แรงสั่นสะเทือนมหาศาลก่อกำแพงคลื่นยักษ์ซึ่งถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งเมืองเล็กๆแห่งนี้ จนทุกสิ่งพังราบเป็นหน้ากลอง
ที่โรงเรียนประถมโอกาวะในเมืองอิชิโนะมากิ มีเด็กนักเรียนถูกพัดหายไปกับกระแสคลื่นอย่างน้อย 70 คน
รัฐบาลญี่ปุ่นยืนสรุปยอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนั้นรวมทั้งสิ้น 15,881 คน และอีก 2,668 คนยังคงสูญหาย
นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ซึ่งคว้าคะแนนเสียงล้นหลามในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย พร้อมเตือนให้ชาวญี่ปุ่นเรียนรู้จากประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดนี้
“ผมขอสัญญาว่าจะฟื้นฟูบ้านเมืองที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิ เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขตามเดิมโดยเร็วที่สุด” อาเบะ แถลงต่อเจ้าหน้าที่และแขกผู้มีเกียรติในพิธีรำลึก ท่ามกลางบรรยากาศสุดเศร้าหมอง
สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ มีพระราชดำรัสไว้อาลัยผู้คนที่จากไปพร้อมกับคลื่นยักษ์ รวมถึงชาวญี่ปุ่นอีกราว 2,300 คนที่เสียชีวิตในภายหลังเพราะความเครียดจัดที่ต้องพลัดบ้านเรือนมาอาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิง
“ข้าพเจ้ารู้สึกสะท้อนใจยิ่งนัก เมื่อได้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากยังคงก้มหน้าใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ปริปากบ่น และข้าพเจ้ายังหวังว่า จะสามารถแบ่งปันความทุกข์มาจากพวกเขาได้บ้าง แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม” เนื้อความบางส่วนในพระราชดำรัส ระบุ
การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยเป็นไปด้วยความล่าช้า และจากสถิติปัจจุบันพบว่า ยังมีชาวบ้านอีก 315,196 รายที่ไม่มีบ้านอยู่อาศัยถาวร หลายคนต้องอยู่รวมกันตามที่พักชั่วคราวอย่างแออัด
กลุ่มกรีซพีซ ซึ่งเป็นองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมและต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ ตำหนิรัฐบาลญี่ปุ่นว่าไม่ได้ให้ความช่วยเหลือต่อชาวบ้านที่ต้องทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีเท่าที่ควร และเตือนว่าจำนวนผู้อพยพที่ “สิ้นเนื้อประดาตัว, หย่าร้าง และประสบภาวะเครียดจัด” กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
รัฐบาลโตเกียวแถลงว่า โรงไฟฟ้า ฟุกูชิมะ ไดอิจิ อยู่ในภาวะเสถียรและไม่มีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลอีกต่อไป ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารทุกประเภทที่มาจากแหล่งผลิตใกล้โรงไฟฟ้าก็ผ่านการตรวจหารังสีปนเปื้อน ก่อนจะส่งไปวางจำหน่ายตามท้องตลาด