“เคจิ นากาซาวา” นักเขียนการ์ตูนที่เคยใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาแห่งความหายนะจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมา ในช่วงวัยเด็ก และนำประสบการณ์มาถ่ายทอดผ่านผลงานอมตะ Barefoot Gen ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยโรคมะเร็งขณะที่มีอายุได้ 73 ปี
ยอดนักเขียนการ์ตูนผู้ยิ่งใหญ่ เคจิ นากาซาวา ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลในฮิโรชิม่าด้วยสาเหตุของโรคมะเร็งปอด โดยจะไม่มีการจัดพิธีศพใดๆ ตามคำร้องขอก่อนเสียชีวิตของเจ้าตัว โดยก่อนหน้านี้ เขาเคยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษามาแล้วทั้งในปี 2010 และ 2011 นอกจากนั้น โรคร้ายยังทำลายความหวังในการกลับมาเขียนภาคต่อของผลงานสุดอมตะ Barefoot Gen ในปี 2009 ของเขาด้วย ที่แม้เจ้าตัวจะสูญเสียการมองเห็นส่วนหนึ่งไป แต่ก็ยังยืนยันมาตลอด ว่า จะพยายามสร้างงานออกมาอีกให้ได้ พร้อมให้เหตุผลว่า “เป็นความจำเป็นที่คนรุ่นเราต้องบอกเล่าเรื่องความน่าสยดสยองของสงคราม และระเบิดนิวเคลียร์ต่อไป”
เคจิ นากาซาวา เกิดที่ฮิโรชิมาในปี 1939 และมีอายุได้ 6 ขวบในตอนที่ฮิโรชิมาต้องพบกับหายนะจากระเบิดปรมาณูระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาเดียวกันเขายังต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปหลายคน ไม่ว่าจะเป็น บิดา, พี่สาว และน้องชาย มีเพียงตัวเขา, มารดา และน้องชายอีก 2 คนที่รอดชีวิตมาได้
เขาจบการศึกษาระดับชั้นมัถยมในปี 1954 หลังจากนั้น อีก 7 ปี นากาซาวา จึงได้เดินทางไปยังกรุงโตเกียว กระทั่งในปี 1963 จึงประสบความสำเร็จกับอาชีพนักเขียนการ์ตูนเมื่ออายุเข้า 24 ปี และมีผลงานที่ประสบความสำเร็จได้รับการจดจำมากมายรวมถึง Kuroi Ame ni Utarete ซึ่งกล่าวถึงผลกระทบของสงครามโลกต่อชีวิตของคนญี่ปุ่น ที่เขาเขียนออกมาหลังการเสียชีวิตของมารดาในปี 1966 โดยผลงานสำคัญส่วนใหญ่ของเขาถูกวาดออกมาในช่วงปี 1973-1985 รวมถึง Barefoot Gen อันลือลั่น
Barefoot Gen มียอดจำหน่ายหลักล้านเล่ม, เคยถูกดัดแปลงเป็นทั้งภาพยนตร์ และอนิเมชัน นอกจากนั้น ยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ อีก 10 ภาษา ถือเป็นงานระดับวรรณกรรมที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องในการบอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายของสงคราม และระเบิดนิวเคลียร์ โดยที่ผ่านมา นากาซาวา ยังบริจาคงานเขียนต้นฉบับกว่า 2,735 หน้า และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ให้กับพิพิธภัณฑ์สันติภาพฮิโรชิม่าเก็บรักษาเอาไวด้วย
ก่อนหน้านี้ นากาซาวา เคยกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ 6 ส.ค.1945 เมื่อเขาอายุ 6 ขวบ ที่ระเบิดนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐฯ ถูกทิ้งลงมาที่บ้านเกิด ว่าในวันนั้นเขากำลังเดินไปโรงเรียน และกำลังหยุดคุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่งอยู่ แต่จู่ๆ ในอีกไม่กี่วินาทีโลกของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
“มีแสงสว่างจ้าเกิดขึ้นเหมือนไฟแฟลชของกล้องถ่ายภาพครับ, แสงสีขาวล้อมรอบตัวผมเอาไว้, มีลูกบอลแสงขนาดใหญ่มาก ที่มีสีเหลืองและแดงตรงกลาง อยู่ไกลๆ”
เป็นโชคดีที่ นากาซาวา ยืนอยู่ข้างๆ กำแพงคอนกรีต ซึ่งกลายเป็นกำบังป้องกันไม่ให้เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็พบว่าตัวเองนอนอยู่ภายใต้ซากสิ่งปลูกสร้าง, มีตะุปูทะลุเข้าไปที่แก้ม ส่วนผู้ใหญ่ที่กำลังคุยอยู่กับเขาเมื่อชั่วครู่ โดนแรงระเบิดเข้าไปถึงกับตัวไหม้ และเสียชีวิตทันที
อย่างไรก็ตาม นากาซาวา กลับต้องพบกับเรื่องเศร้าที่สุดในชีวิตเมื่อทราบว่า พ่อ, พี่สาว และน้องชายของเขาต้องเสียชีวิต หลังจากได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิด และติดอยู่ในซากบ้านที่พังลงมา โดยระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อ 5 ปีก่อน เขากล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นในความทรงจำของตัวเอง และที่ได้รับทราบจากมารดาในเวลาต่อมาว่า
“แม่บอกผมว่าท่านยังคงฝันร้ายถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น แม่ทำใจกับเรื่องทั้งหมดไม่ได้ และยังได้ยินเสียงร้องไห้ของน้องชายผมก้องอยู่ในหู ในตอนนั้นท่านบอกว่า “แม่จะตายไปกับลูก” ตอนที่กอดน้องผมเอาไว้ไม่ยอมปล่อย ตลอดเวลาน้องผมร้องบอกว่า “ร้อนๆ!!”, ส่วนพ่อก็บอกว่า “ช่วยทำอะไรก็ได้!!”, พี่สาวของผมเธออาจจะโดนแรงระเบิดอัดเข้าไปตรงๆ เลยไม่สามารถพูดอะไรได้อีก ส่วนแม่ตอนนั้นท่านบอกเองว่าแทบจะเป็นบ้าไปแล้ว ร้องไห้ และบอกแต่ว่าอยากจะตาย โชคดีเพื่อนบ้านคนหนึ่งมาให้สติบอกท่านไปว่า “หยุดเถอะ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องตายหรอก” และพาออกจากจุดนั้นไป เมื่อหันหลังกลับไปไฟก็โหมขึ้นมา ท่านบอกว่าได้ยินเสียงน้องร้องดังว่า “แม่, ร้อน!” แม่เล่าเรื่องพวกนี้ด้วยความขมขื่น เป็นภาพการเสียชีวิตที่โหดร้ายมากๆ”
ในการให้สัมภาษณ์ นากาซาวา ยังทบทวนเหตุการณ์ว่าเขาต้องกลับไปที่ซากบ้านของตัวเอง เพื่อเก็บกระดูกของพ่อ และพี่น้องจากกองขี้เถ้า ส่วนแม่ที่ขณะนั้นตั้งท้องอยู่ได้ 9 เดือน ก็คลอดในอีกวันหลังจากนั้น แต่น้องสาวที่ลืมตาดูโลกขึ้นมาในช่วงเวลาแห่งความสูญเสียก็ต้องจากไปอีกคนในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา
เช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่นจำนวนมากในช่วงนั้น นากาซาวา และครอบครัวยังต้องเผชิญกับความอดอยาก ภายหลังสงคราม โดยเฉพาะผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์อย่างครอบครัวของเขาที่จะถูกชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เรียกว่าเป็นพวก “ฮิบากุฉะ” ซึ่งต้องเจอกับการถูกปฏิบัติด้วยความรังเกียจจากเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งเขาได้รับรู้ถึงความโหดร้ายพวกนี้ชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อตัดสินใจย้ายอยู่โตเกียวเมื่อปี 1961
“หากคุณบอกคนอื่นว่าตัวเองเป็น ฮิบากุฉะ ก็จะเกิดสีหน้าประหลาดในกลุ่มเพื่อนขึ้นมา ผมไม่เคยเห็นสายตาที่เย็นชาเช่นนั้นมาก่อน” นากาซาวา เล่าถึงชีวิตที่ต้องทนอึดอัดกับการปฏิบัติของสังคมรอบข้าง ที่บางครั้งคนโตเกียวแทบจะไม่อยากสัมผัสแก้วชาที่เขาใช้ดื่ม หรือไม่ก็แทบไม่อยากเข้าใกล้ เพราะกลัวจะโดนพิษของกัมมันตภาพรังสีนั่นเอง
นากาซาวา ใช้ชีวิตด้วยการเก็บความรู้สึก และไม่เคยบอกเล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้กับใครทราบเลย จนเมื่อมารดาของเขาจากไปในปี 1966 นักเขียนการ์ตูนหนุ่มก็เปลี่ยนท่าทีจากความเงียบสงบมาเป็นความเกรี้ยวกราด โดยเฉพาะเมื่อเขาพบว่าคนจัดการเรื่องการเผาศพแม่ของเขา ไม่ได้เก็บกระดูกเอาไว้ให้เขาผู้เป็นทายาทเลย เพราะความหวาดกลัวเรื่องกัมมันตภาพรังสี
“ผมโกรธมาก เพราะทั้งแม่ และผม ผ่านการล้างกัมมันตภาพรังสีมาแล้ว ความโกรธของผมระเบิดขึ้นในทันทีทันใด ซึ่งผมก็คิดได้แต่ว่ามีเพียงการ์ตูนเท่านั้นที่ผมพอจะทำอะไรได้ หลังจากนั้นจึงเริ่มพยายาม ซึ่งก็ออกมาเป็น Kuroi Ame ni Utarete ซึ่งผมเขียนขึ้นด้วยความโกรธ”
Kuroi Ame ni Utarete เป็นเรื่องราวของผู้รอดชีวิต 5 คน ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับตลาดมืดหลังสงคราม โดย นากาซาวา เขียนงานชิ้นนี้ขึ้นหวังให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบถึงผลกระทบของสงคราม แต่นี่กลับเป็นงานที่ไม่สามารถหาสำนักพิมพ์ใดจะยอมเผยแพร่ได้ เขาต้องโดนปฏิเสธหลายครั้งกว่าจะได้ตีพิมพ์ก็ต้องรอไปอีก 2 ปีต่อมา
Ore Wa Ita ผลงานลำดับต่อไปของ นากาซาวา เป็นการ์ตูนอัตชีวประวัติความยาวเล่มเดียวจบที่เล่าเรื่องเหตุการณ์ทิ้งระเบิด และเรื่องราวหลังจากนั้น โดยในเรื่องเขาได้ย้อนไปถึงชีวิตของตัวเองเมื่อยังเด็ก ที่ได้พบเศษกระดาษผลงานของ เท็ตซึกะ โอซามุ เรื่อง Shin-Takarajima ในถังขยะ ระหว่างการคุ้ยหาของเก่าไปขาย จนกลายเป็นแรงบันดาลใจ และจุดเริ่มต้นของอาชีพนักเขียนการ์ตูน
ในปี 1973 นากาซาวา จึงได้เขียนผลงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา Barefoot Gen และอาจรวมถึงเป็นงานที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องของวงการการ์ตูนญี่ปุ่น ผ่านตัวละครเอกของเรื่อง เกน นากาโอกะ วัย 6 ปี ที่ต้องใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย และเดินทางไปพบกับเรื่องราวมากมาย หลังประเทศญี่ปุ่นโดนทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ โดยผลงานชิ้นนี้โด่งดังเป็นอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น และเริ่มได้รับการเผยแพร่ในสังคมตะวันตกผ่านการแปลโดยกลุ่มอาสาสมัครที่มารวมตัวกันในปี 1976 ภายใต้ชื่อ Project Gen ต่อมาจึงมีผู้ซื้อลิขสิทธ์ไปตีพิมพ์อย่างเป็นทางการจนครบ 10 เล่มจบ
ในผลงานชิ้นนี้ นากาซาวา กล่าวโทษทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาที่ทิ้งระเบิดทำลายญี่ปุ่น ในเวลาเดียวกันก็ยังวิจารณ์ไปถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย ทั้งเนื้อเรื่องที่ว่าด้วยการที่รัฐบาลจับคนไปเป็นหนูทดลอง หรือกระทั่งการตั้งคำถามถึงจุดเริ่มต้นของสงครามในตอนแรก โดยมีเป้าหมายหลักก็คือการถ่ายทอดความน่าสยดสยองของสงครามอย่างที่เขาเคยเผชิญมาก่อน
“ผมอยากให้ เกน เป็นพลังให้กับคนรุ่นใหม่ เป็นพลังที่จะต่อต้านสงคราม และอาวุธนิวเคลียร์ ... ด้วยการได้ย่ำเท้าผ่านพื้นดินที่ไหม้เกรียมในฮิโรชิม่า ได้รู้สึกถึงแผ่นดินอันหนักแน่น ด้วยความรู้สึกผ่านเท้าของตัวเอง” นากาซาวา กล่าวกับกลุ่ม Project Gen
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ "“ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม