xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทางเลือกที่ตกรุ่น

เผยแพร่:   โดย: ศรีสุวรรณ จรรยา


เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี จากโรงไฟฟ้านิเคลียร์ฟูกูชิม่า ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไปทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะก้าวหน้าไปขนาดไหน พิบัติภัยที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะอ้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างไร

หลังจากที่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวญี่ปุ่นอย่างมากมาย ขณะที่ผู้รอดชีวิตกลับต้องเผชิญกับฝันร้าย นอกเหนือไปจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพิษภัยการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในเมืองฟูกูชิม่า จนทำให้สินค้าทางการเกษตร สินค้าประมงของชาวเมืองไม่สามารถจำหน่ายออกนอกพื้นที่ได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้เลย

สถานการณ์ที่ทางการและประชาชนชาวญี่ปุ่นกำลังเผชิญ กลายเป็นตัวอย่างให้ชาติอื่นๆ ในโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องความปลอดภัยของ “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์” มากขึ้นโดยที่เยอรมนี หนึ่งในประเทศที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานปรมาณูได้มีประชาชนจำนวนกว่า 50,000 คน ออกมารวมตัวกันปิดล้อมโรงงานนิวเคลียร์ ในเขตเทศบาลเมือง Neckarwestheim (เนคคาร์เวสเธียม) ด้วยการรวมตัวจับมือกันเป็นโซ่มนุษย์ระยะทางยาวกว่า 45 กิโลเมตร ล้อมรอบบริเวณโรงงานเอาไว้ พร้อมประกาศจุดยืน ให้รัฐบาลปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิง แองเจล่า แมร์เคิ่ล ก็ประกาศนโยบายขยายระยะเวลาการใช้พลังงานปรมาณูผลิตไฟฟ้าออกไป นำไปสู่นโยบายการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานของเยอรมนี แม้ในปัจจุบันจะเริ่มมีการทบทวนบ้างแล้วก็ตาม

นอกจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการใช้พลังงานแล้ว การประท้วงยังรวมถึงความมุ่งหมายในการเรียกร้องที่จะเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเหตุตัวอย่างที่เยอรมนีอาจใช้เป็นบทเรียนในประเทศไทยได้ หากรัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าแผน PDP 2010 ที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ได้ 2 โรง 2,000 เมกะวัตต์ ภายในทศวรรษหน้า

ถ้าจะถามว่าถ้าประเทศไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรงแล้วเกิดเหตุการณ์แบบฟูกูชิม่า หรือเชอร์โนบิล ถามหน่อยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตผลทางการเกษตรเป็นลำดับต้นๆ จะส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปให้ใครกิน ใครซื้อ

ที่สำคัญเรายังมีแหล่งพลังงานหลักและพลังงานทางเลือกอื่นอีกมากมายที่ท้าทายความสามารถของนักพลังงาน ให้ใช้สติปัญญาในการพัฒนาให้สามารถรองรับความต้องการของคนไทยได้อีกมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ พวกนักเทคโนแครต พวกทุนนิยมพลังงานต่างเชื่อกันว่า พลังงานนิวเคลียร์ จะกลายเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่สำคัญสำหรับยุคสมัยใหม่ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ย่อมต้องส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาพลังงานในโลกอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ผู้เขียนเองได้รับเชิญให้เป็นนักศึกษา “วิทยาการจัดการพลังงานรุ่น 1” หรือ วพน.1 ของกระทรวงพลังงาน โดยการสนับสนุนของ ปตท. เพื่อเรียนรู้สถานการณ์ ปัญหาและอนาคตของการจัดการพลังงานของประเทศเราให้มีความเข้าใจได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็มีผู้นำของสังคมจำนวนมากกว่า 70 คนมาร่วมเป็นนักศึกษา เช่น คุณอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คุณคุรุจิต นาครทรรพ ว่าที่ปลัดกระทรวงพลังงาน อ.ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรม คุณเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร คุณจักรพันธุ์ ยมจินดา รองประธานกรรมการ อสมท คุณกิตติ สิงหาปัด ข่าว 3 มิติ ช่อง 3 อ.เตือนใจ ดีเทศน์ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ศ.ดร.สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คุณดิเรกฤทธิ์ เจนครองทรัพย์ เลขาธิการศาลปกครอง พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช.ฯลฯ

หลังจากเรียนจบหลักสูตรกันแล้ว ได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานที่ประเทศจีน โดยเฉพาะได้เข้าไปดูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่างตง ดายาเบย์ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ชัดเจนขึ้น จากการสัมผัสจริง โดยการประสานงานและสนับสนุนของคุณโยธิน ดำเนินชาญวิทย์ เจ้าของกระดาษดับเบิ้ลเอที่โด่งดัง

โรงไฟฟ้าดังกล่าว เป็นที่ฮอตฮิตของข้าราชการ นักการเมือง และสื่อมวลชนในประเทศไทยมาก มีผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเดินทางไปดูงานเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. กรรมาธิการ ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งกรรมการและเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ จนโรงไฟฟ้าดังกล่าวคุ้นเคยกับคนไทย ถึงขนาดวิดีทัศน์แนะนำโรงไฟฟ้า ยังจัดทำขึ้นเป็นภาษาไทยทั้งหมด แถมขณะนี้ได้มาตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้นในประเทศไทยแล้วด้วย เพื่อทำหน้าที่เชิงลอบบี้ล้างสมองข้าราชการไทย

โรงไฟฟ้าดังกล่าว สมอ้างว่าเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ (รุ่น 2) จำนวน 6 โรง ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 6 พันเมกะวัตต์ และจะสร้างใหม่อีก 2 โรง เป็นเทคโนโลยีรุ่นที่ 3 ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ได้ส่งไปขายให้เกาะฮ่องกงถึงร้อยละ 70 ที่เหลือใช้ในเมืองกวางเจาแหล่งที่ตั้งของโรงไฟฟ้านั่นเอง

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ ใช่ว่าจะดำเนินโครงการไปได้อย่างง่ายๆ ก่อนที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จะตัดสินใจมาเลือกสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ตั้ง ต้องไล่รื้อบ้านเรือนของประชาชน ชาวประมง ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมออกไปสิ้น ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มเอ็นจีโอและชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้านมากมาย แต่การคัดค้านไม่เป็นข่าว แต่หลังจากนั้นไม่นานแกนนำก็ถูกทางการเล่นงาน จนหายหน้าหายตาไปสิ้น เพราะระบบคอมมิวนิสต์คนที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐบาล ใครมากล้าท้าทายโครงการของรัฐ ก็คือศัตรูของรัฐบาลดีๆ นี่เอง

การไปดูงานของคณะ วพน.1 ส่วนใหญ่เป็นที่ประทับใจกันมาก เพราะไม่น่าแปลกใจที่สถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้าได้รับการพัฒนาให้สวยงามสามารถใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างดี รับแขกบ้านแขกเมืองได้อย่างไม่มีที่ติ เพราะด้านหน้าติดริมทะเล ด้านหลังเป็นภูเขา ตามหลักฮวงจุ้ยเป๊ะ การบรรยายของวิทยากรประจำโรงไฟฟ้า ก็ยกเอาแต่สิ่งดีๆ มาล้างสมองของผู้เยี่ยมชมทั้งหมด แต่พอเราขอไปคุยกับชาวบ้านชาวชุมชนที่อยู่รอบๆ โรงงานและที่ถูกไล่รื้อออกไป กลับปฏิเสธเป็นพัลวัน เพราะกลัวเราจะได้ข้อมูลจริงกลับประเทศกระมัง หรือถ้าโรงไฟฟ้าดีจริง เป็นที่ชื่นชอบของชุมชน ทำไมไม่กล้าให้เราไปคุยกับชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง

ปัญหาของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก ที่ประเทศเป็นประชาธิปไตย คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนว่าจะสามารถจัดการกากนิวเคลียร์ ของเหลือใช้ที่มีอายุการเสื่อมสลายชั่วกัลปาวสาน และมีมาตรการที่รัดกุมอย่างไรในการควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี การเกิดอุบัติภัย เพราะมีตัวอย่างที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกได้สร้างวิบัติภัยให้เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติแล้วมากมาก เช่น โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (ยูเครน,1986) โรงไฟฟ้าทรีไมล์ไอแลนด์ (สหรัฐฯ,1979) และล่าสุดก็โรงไฟฟ้าฟูกูชิม่า (ญี่ปุ่น,2011)

สำหรับในประเทศไทยนั้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถามว่า ณ วันนี้ประเทศเราได้มีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้พร้อมแล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางด้านนิวเคลียร์โดยตรง การออกกฎหมายขึ้นมารองรับอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 8 ฉบับ การสร้างนิสัยระเบียบวินัยของผู้คนในการปฏิบัติงาน ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยผมมีกลยุทธ์ข้อเสนอที่เป็นไปได้มากมาย ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องอยากจะฟัง วันหลังจะบอกครับ...

www.thaisgwa.com
กำลังโหลดความคิดเห็น