xs
xsm
sm
md
lg

มอง “พระวิหาร” ผ่านมุมมรดก(รก)โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราสาทพระวิหารที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชา
ผลงานอันโดดเด่นของท่านทูตวีรชัย พลาศรัย และคณะกฎหมายทุกคนของฝ่ายไทย ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยในการชี้แจงต่อศาลโลก กรณีกัมพูชายื่นให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ทำให้คนไทยปลื้มใจที่มีคนต่อสู้เพื่อประเทศอย่างเข้มแข็ง

แม้จะยังคาดเดาไม่ได้ว่าผลการตัดสินที่จะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร แต่หลังเหตุการณ์นี้ ทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้จัดเสวนา เรื่อง “มรดกรกโลกในวังวนปัญหาพระวิหาร” โดยมีผู้ร่วมเสวนา 2 ท่าน คือ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ และศรัณย์ บุญประเสริฐ นักเขียนสารคดีผู้สนใจเรื่องภูมิศาสตร์และแผนที่ โดยหัวข้อเสวนามุ่งเน้นไปในเรื่องความหมายและคุณค่าของมรดกโลกในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นความภูมิใจร่วมกันของมนุษยชาติ โดยมีมุมมองผ่านกรณีเขาพระวิหารที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้

ศรัณย์ ได้เริ่มกล่าวถึงพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาซึ่งกำลังมีปัญหา เท้าความไปถึงพรมแดนในสมัยโบราณที่ไม่เคยมีเส้นเขตแดนแบบในปัจจุบัน เพราะเส้นแบ่งพรมแดนเกิดขึ้นมาในระบบรัฐสมัยใหม่ เป็นรากฐานของระบบอาณานิคมที่ยุโรปเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียโดยใช้ระบบแผนที่เพื่อที่จะกำหนดเขตแดนให้ชัดเจน แต่เส้นเขตแดนบางแห่งกลับทำลายเขตแดนทางวัฒนธรรม
การขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทอาจยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ
นอกจากนั้น ศรัณย์ยังได้เน้นย้ำถึงความคลาดเคลื่อนของแผนที่ Annex I ที่ อลินา มิรอง หนึ่งในทีมทนายฝ่ายไทยเองก็ไม่ได้พูดถึงในศาลโลกว่า “แผนที่ไทยเรายึดต้นแบบมาจากแผนที่ของอเมริกา ส่วนเขมรใช้แผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นมา ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสองสามปีก่อนที่ไทยกับเขมรปะทะกัน ศาลโลกสั่งให้ทั้งสองประเทศทำเขตปลอดทหารขึ้นและศาลโลกก็ออกแผนที่มาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดพื้นที่เขตปลอดทหารโดยไม่ได้กำหนดเส้นพรมแดน แผนที่อันนี้น่าจะทันสมัยที่สุดเพราะใช้แผนที่จากดาวเทียม”

“เมื่อเปรียบเทียบกันกับแผนที่ของฝรั่งเศสที่เขมรใช้ เรื่องสเกลคนละสเกลยังไม่เท่าไร แต่พอดูเส้นรุ้งเส้นแวงซึ่งต้องตรงกัน ของฝรั่งเศสระบุว่าใกล้กับเขาพระวิหารคือเส้นแวงที่ 102 องศา 20 ลิปดา ส่วนของศาลโลกคือ 104 องศา ต่างกัน 2 องศา ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะถ้าเรายึดแผนที่ของศาลโลก เส้นที่ 102 องศาจะอยู่ในภาคกลางแถวนครปฐม แผนที่ซึ่งเหลื่อมไป 2 องศาถือว่าเยอะมากจนยอมรับไม่ได้ ดังนั้นในเมื่อมันผิดจากความเป็นจริง เราไม่ต้องมาพูดถึงแผนที่ 1 ต่อ 200,000 นี้อีกแล้ว เพราะมันผิดตั้งแต่ต้นแล้ว” ศรัณย์ กล่าว

แม้ปัญหาที่ว่าปราสาทพระวิหารเป็นของใครจะจบลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 เมื่อศาลโลกพิพากษาให้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา แต่ปัญหากลับคุกกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเขมรขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว แถมยังกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหารล้ำเข้ามาในดินแดนไทยถึง 4.6 ตร.กม. แม้ภายหลังเขมรจะตกลงที่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร แต่พื้นที่ทับซ้อนก็ยังเป็นปัญหาที่กระทบกระทั่งระหว่างไทยและเขมรมาตลอด โดยอ.ศรีศักร กล่าวว่า
ปราสาทพระวิหาร มรดกโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา
“ถ้าเป็นมรดกโลกก็ควรมีการจัดการร่วมกัน เพราะเราต้องคำนึงว่ามันมีพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของเรา มันไม่ใช่เฉพาะตัวปราสาท มันต้องกินพื้นที่ทั้งหมดถึงสระตราว ผมเห็นด้วยถ้าขึ้นทะเบียนแค่ตัวปราสาท เพราะเราแพ้เขาตั้งแต่ปี 2505 แต่ถ้าหากว่าจะขึ้นทะเบียนทั้ง site คืออาณาบริเวณโดยรอบ จะขึ้นทะเบียนให้ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องขึ้นสองฝ่าย”

“พื้นที่ 4.6 ตร.กม. เราต้องแจงให้เห็นว่ามันไม่ใช่ vicinity (บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาท) แต่มันกินพื้นที่ไปตั้งเยอะแยะ ป่าไม้ทั้งนั้นเลย แล้วเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้วย และมีแนวโน้มว่าศาลโลกน่าจะตัดสินเรื่องนี้ เพราะต้องเห็นใจกัมพูชา ต้องมีพื้นที่จัดการ แล้วเราจะให้ไหม จะให้แค่ไหน อันนี้คือปัญหา ศาลโลกมีทางเดียว ต้องตีความขอบเขตที่จำกัดเพื่อช่วยกัมพูชา และคงไม่กล้าก้าวเข้าไปถึงการใช้แผนที่ Annex I การกำหนดเขตแนวชายแดนนั้นค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ทางรอดของศาลโลกก็คือให้เป็นทวิภาคี ไปตกลงกันเอง ถ้าหากว่าตกลงก็ต้องขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้วยกัน เพราะพื้นที่ใดก็ตามที่เป็นอธิปไตยของไทยต้องเก็บไว้ แล้วมาแชร์กันเรื่องผลประโยชน์ ไม่ใช่ให้เป็นเอกสิทธิ์ของเขมรฝ่ายเดียว ไม่อย่างนั้นผมพูดได้ว่าสระตราวก็ไป แล้วการค้าการลงทุนจะเข้าไปหมด ชาวบ้านทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้อะไร แล้วถ้าหากว่าได้พระวิหาร มันก็เขยิบไปชายแดนหมดเลย แล้วชายแดนนั้นเต็มไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะไม้พยุงซึ่งเป็นไม้พยุงดำที่ดีที่สุดในโลก ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ นายทุนจะเข้ามา” อ.ศรีศักร กล่าว
อ.ศรีศักร วัลลิโภดม (ซ้าย) ศรัณย์ บุญประเสริฐ (ขวา)
ด้าน ศรัณย์ ให้ความเห็นในกรณีที่เขมรต้องการพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ว่า “ถามว่าทำไมเขมรต้องการ 4.6 ตร.กม. เพราะถ้าไม่มีตรงนี้จัดการมรดกโลกไม่ได้มันไม่มี vicinity เขาพระวิหารขึ้นทะเบียนไปแล้วก็จริง แต่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องมีทั้งเรื่องคุณค่าและแผนจัดการคู่กัน แต่ปัจจุบันผ่านเรื่องคุณค่าซึ่งขึ้นทะเบียนได้จริงแต่การจัดการไม่ได้ และสิ่งสำคัญคือถ้าทำแผนจัดการไม่ได้ เขมรจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนมรดกโลก” ศรัณย์ กล่าว

“ในกรณีนี้เมื่อเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนไปประเทศเดียวแล้วแก้ใหม่ได้ไหม? ไม่แน่ใจ จะมีผลเรื่องเขตแดนทางทะเลไหม? ไม่แน่ใจ แต่หลายๆ คนกลัว แต่ที่ผมคิดว่าสำคัญกับกัมพูชามากๆ ก็คือการสร้างวีรบุรุษ ชัดเจนว่าสมเด็จเดโชฮุนเซนกำลังสร้างระบบใหม่ สร้างเสาหลัก สร้างศรัทธาขึ้นมา ในช่วงที่เจ้าสีหนุสร้างชาติใหม่ มีการเชื่อมโยงเขมรปัจจุบันกับเขมรโบราณ ปัจจุบันก็มีการสร้างฮีโร่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือการทำแผนที่อาณาจักรเขมรโบราณหรือที่เรียกว่าอาณาจักรกัมพูชาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้ไกด์ทุกคนบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟังว่า อาณาจักรกัมพูชายาวไปชนกับเมืองบากันหรือพุกาม ไม่มีอาณาจักรสุโขทัยเพราะสุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่ระหว่างนั้นมันมีรัฐกันชนเต็มไปหมด แต่ไกด์ทุกคนจะพูดแบบนั้น”

นอกจากนั้นแล้ว ผู้ร่วมเสวนาทั้งสองท่านต่างมีความเห็นตรงกันว่า “ไทยไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก” โดย อ.ศรีศักร ได้เขียนในบทความเรื่อง “มรดก(รก)โลก กับ “คน” พระวิหาร” ส่วนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยมีความเชื่อมั่นในเรื่องการทำให้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี และแหล่งธรรมชาติเป็นมรดกโลก ...ผลที่ตามมานั้นทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างของคนท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาต้องเสียหายไปหมดสิ้น ไม่ว่าสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ทรัพยากร และแม้แต่วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของผู้คน...”
บรรยากาศในงานเสวนา
“...คณะกรรมการมรดกโลกทั้งหลายเหล่านั้นไม่เคยมีประวัติศาสตร์ของคนท้องถิ่นพระวิหารอยู่ในสมองเลย ทำนองตรงกันข้าม กลับใช้ประวัติศาสตร์สมัยอาณานิคมและสมัย ร.5 เมื่อร้อยปีมานี้อันเป็นประวัติศาสตร์ที่หมดอายุแล้วมาสร้างความมีตัวตนของปราสาทพระวิหารขึ้นใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ การท่องเที่ยวของมรดกโลกแทบทุกแห่งที่มีมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เคยมีมิติของคนท้องถิ่นว่าเขาจะต้องสูญเสียและเดือดร้อนอะไรบ้าง ทำนองตรงข้ามกลับเป็นประโยชน์ของนายทุน นักธุรกิจข้ามชาติที่เป็นคนข้างนอกแทบทั้งสิ้น...” อ.ศรีศักร กล่าวไว้ในบทความดังกล่าว

ด้าน ศรัณย์ กล่าวว่า “ผมไม่เห็นความจำเป็นที่เราต้องเข้าร่วมเป็นมรดกโลกเลย เราไม่เคยรับเงินจากกองทุนมรดกโลก แถมเรายังต้องจ่ายค่าสมาชิกด้วย เราสามารถรับเงินได้ช่วยเหลือได้ แต่เราใช้เงินของเราเอง สิ่งเดียวที่เราได้จากมรดกโลกคือป้ายกลมๆ มีสี่เหลี่ยมข้างในที่แสดงว่าเป็นมรดกโลก ในแง่การท่องเที่ยวเรามี ททท. อยู่แล้ว แล้วทำงานได้ดีโดยไม่ต้องมีโลโก้มรดกโลก”

ศรัณย์ กล่าวสรุปอย่างน่าคิดว่า “ตอนนี้ชาติไทยอ่อนแอมากแต่ยังฝันอยู่ในโลกโบราณว่าเรายิ่งใหญ่ ตอนนี้ถ้าเรามีเรื่องกับใครเราแพ้ ทั้งหมดก็คือว่าความแข็งแรงเริ่มจากภายใน ปัญหาเขาพระวิหารจะไม่เกิดเลยถ้าไทยมีความแข็งแรง อย่างดีก็คือเรื่องจบไปเมื่อปี 2505 ปราสาทหินก็เป็นของเขมรไปไม่มารื้อฟื้นอีก แต่เดี๋ยวนี้ทุกครั้งที่ไทยมีการเลือกตั้งจะเห็นว่ามีการปะทะกันกับเขมรเกิดขึ้น เขาทำได้เพราะเราอ่อนแอ แต่ตอนนี้คุณจะไปเรียกร้องศาลโลก คณะมนตรีความมั่นคงไปที่ไหนก็แพ้เค้าหมด เพราะเราอ่อนแอ ไม่มีใครสนใจเรา”

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ติดตามข้อมูลข่าวสารและบทความทางด้านประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมได้ที่ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ โทร. 0-2281-1988, 0-2280-3340 หรือ http://www.lek-prapai.org

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น