ผลโพลหอการค้าระบุ การขยายตัวด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเติบโตขึ้น ส่วนปัจจัยด้านลบที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย ปี 56 มากที่สุด คือ ความขัดแย้งทางการเมืองไทย การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทั่วประเทศ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท และปัญหาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวมากที่สุด
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำ “โครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (Public Opinion: Poll) ที่มีต่อการเดินทางท่องเที่ยว” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับทราบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อประเด็นที่อยู่ในกระแสความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กระแสความนิยมต่างๆ อันจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งข้อมูลที่ได้รับสามารถนำมาประมวลผลกับสถานการณ์ด้านอื่นๆ โดยการสำรวจครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หัวข้อที่ใช้ในการสำรวจ คือ ทัศนะของผู้ประกอบการเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทยในปี 2556 โดยสำรวจจากผู้ประกอบการ จำนวน 600 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ โดยมีสาระสำคัญคือจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2555 ที่ผ่านมา
นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย โดยประมาณการจากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวรายสัญชาติ 11 เดือน คาดว่าปี 2555 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีจำนวนประมาณ 22 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 สร้างรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศ ประมาณ 965,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ตลาดต่างประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ดีหลังจากสิ้นวิกฤตอุทกภัยในประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากตลาดต่างประเทศของปี 2555 ทั้งนี้จากภาพรวมสถานการณ์ในปี 2555 พบว่ามีกลุ่มตลาดที่เป็นแรงผลักดันให้ตลาดต่างประเทศของประเทศไทยเติบโต ได้แก่ กลุ่มตลาดจากเอเชีย ขณะที่กลุ่มตลาดยุโรปและอเมริกา เป็นเพียงการรักษาระดับอัตราการเติบโต ในช่วงที่กำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีเพียงตลาดในกลุ่มตะวันออกกลางที่ยังคงน่าเป็นกังวล
ส่วนปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเติบโตดี คือ การขยายตัวด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย, ความสงบสุขของประเทศไทยจากการไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น และจากการประชุมวางแผนท่องเที่ยวสำหรับปี 2556 นี้ ทาง ททท. ได้กำหนดเป้าหมายตลาดต่างประเทศในปี 2556 ให้มีอัตราการเติบโตทางด้านรายได้จากตลาดต่างประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 บาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 (เมื่อเทียบกับปี 2555)
ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากปี 2555 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.7 เห็นว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ ร้อยละ 32.8 เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวมาก ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 84.2 ได้รับนักท่องเที่ยวตรงตามเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ และอีกร้อยละ 2.5 ได้รับนักท่องเที่ยวเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 50 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย จะเหมือนเดิม ในขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการถึง ร้อยละ 36 ที่มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น และร้อยละ 32.7 มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย มีผู้ประกอบการถึงร้อยละ 46.8 มองเห็นโอกาสและมองว่าสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยในปี 2556 จะมีทิศทางการเติบโตดีขึ้น โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสการขยายตัวสูง คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกและกลุ่มอาเซียน รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยเองก็มีโอกาสการขยายตัวและน่าจับตามองเช่นเดียวกัน ในขณะที่ผู้ประกอบการยังคงกังวลต่อกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกา
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านบวกต่อธุรกิจมากที่สุด คือ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นโยบายการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้าน IT และการเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจมากที่สุดไล่เรียงตามลำดับ คือ ความขัดแย้งทางการเมืองไทย การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทั่วประเทศ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท และปัญหาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ด้านปัจจัยความเสี่ยงต่อธุรกิจในเรื่องภัยธรรมชาติ สถานการณ์ทางด้านการเมือง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งขัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระดับปานกลาง สำหรับสถานการณ์ในปี 2556 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกเท่าๆ กัน