โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
“878”
นี่ไม่ใช่การใบ้หวย เลขท้าย 3 ตัว
หากแต่เป็นลำดับการก่อตั้งของอำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอน้องใหม่ของเมืองไทย
มือเจะคี
อ.กัลยาณิวัฒนา ตั้งอยู่ใน จ.เชียงใหม่ เดิมเป็นกลุ่มตำบลใน อ.แม่แจ่ม ก่อนจะแยกตัวมาตั้งเป็น “อำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ” ใน ปี พ.ศ. 2551 และเปลี่ยนชื่อเป็น“อำเภอกัลยาณิวัฒนา” ตามนามพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากการขอพระราชทานโดยกระทรวงมหาดไทย
อ.กัลยาณิวัฒนา มีสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นป่าและภูเขาสูงชัน ณ ความสูงราว 1,000 - 1,500 เมตร มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
จุดเด่นสำคัญของ อ.กัลยาณิวัฒนา คือ ที่นี่มีป่าสนธรรมชาติอันกว้างใหญ่กว่าแสนไร่ ถือเป็นป่าสนผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ป่าสนแห่งนี้คนทั่วไปรู้จักกันดีในนาม“ป่าสนวัดจันทร์” หรือ “ป่าสนบ้านวัดจันทร์”
ป่าสนวัดจันทร์มีความผูกพันมาช้านานกับชาว“ปกาเกอะญอ” หรือที่เราคนไทยมักเรียกกันติดปากว่า“กะเหรี่ยง”(ภาษาไม่สุภาพ) กลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมของดินแดนแห่งนี้
ชาวปกาเกอะญอเรียกป่าสนวัดจันทร์ว่า“มือเจะคี”(คนเมืองเรียกเพี้ยนไปเป็น “มูเส่คี”)อันหมายถึงต้นน้ำแม่แจ่ม เพราะป่าไม้ที่นี่เป็นต้นทางของลำห้วยเล็กๆสำคัญหลายสาย ก่อนไหลไปรวมเป็นต้นน้ำแม่แจ่ม และไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง ก่อนรวมปิง วัง ยม น่าน เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ออกอ่าวไทยไปในที่สุด
ทั้งป่าสนวัดจันทร์และ“ชุมชนบ้านจันทร์” หรือ “ชุมชนบ้านวัดจันทร์”(ที่มีประชากรดั้งเดิมเป็นชาวปกาเกอะญอก่อนที่จะมีคนเมืองมาอาศัยอยู่ร่วมกันในเวลาต่อมา) ต่างถือเป็นเสน่ห์ดึงดูดชั้นดีให้ผู้ที่รักในธรรมชาติและวิถีอันสงบงาม เดินทางไปยังเมืองแห่งนี้ ที่ถูกหลายภาคส่วนคาดหวังให้เป็น “อำเภอในฝัน”
ออป. วัดจันทร์
ช่วงหน้าฝนโลว์ซีซั่นแบบนี้ แม้จะไม่ได้จับจองที่พักมาล่วงหน้า แต่ผมกับเพื่อนๆก็สามารถเดินดุ่ยๆเข้าไปหาที่พักใน อ.กัลยาณิวัฒนา ได้อย่างไม่ยากเย็น แถมเป็นที่พักขึ้นชื่อของที่นี่เสียด้วย นั่นก็คือ บ้านพักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. ที่แม้จะไม่หรูแต่ว่าบรรยากาศนั้นเริ่ดกว่าโรงแรม 5 ดาวหลายๆแห่งเสียอีก
ภายในโครงการของ ออป.นอกจากจะมีบ้านพักแล้ว ที่นี่ยังถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ของ อ.กัลยาณิวัฒนาเลยทีเดียว ในพื้นที่นี้มีสวนอันร่มรื่นเขียวครึ้ม โดยเฉพาะกับสวนสนที่ปลูกอยู่ทั่วบริเวณ มีสะพานไม้สร้างอย่างเป็นธรรมชาติให้เดินชมทิวทัศน์พืชพันธุ์ไม้ รวมถึงเส้นทางจักรยานให้ผู้นิยมบริหารน่องปั่นกันตามใจชอบ
จากบ้านพัก ออป. ลงเนินไปหน่อย จะเห็นทุ่งนาเขียวขจีมีฉากหลังเป็นป่าสนลำต้นตระหง่าน ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของ อ.กัลยาณิวัฒนา ที่มีให้เห็นกันทั่วไป
ใกล้ๆกับทุ่งนาจะเป็นอ่างเก็บน้ำที่ถือเป็นจุดถ่ายรูปชั้นดี ในยามเช้าของช่วงหน้าหนาว เหนืออ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะมีสายหมอกลอยล่องดูเป็นที่ต้องตาโดนใจนัก หากเดินเลาะอ่างเก็บน้ำเข้าไปก็จะเป็นพื้นที่ป่าสนให้คนบ้ากล้องได้ถ่ายรูปกันอย่างจุใจ
วัดจันทร์
ศูนย์กลางของ อ.กัลยาณิวัฒนา อยู่ที่ชุมชนบ้านจันทร์ ซึ่งมี “วัดจันทร์” เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธา
วัดจันทร์ เป็นวัดเก่าแก่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาได้กว่า 300 ปีแล้ว ซึ่งชื่อของวัดจันทร์ บ้านจันทร์นั้น ตามตำนานเชื่อว่ามาจากชื่อของ “นายจันทร์” (ตำนานหนึ่งว่าเป็นคนจากล้านนา อีกตำนานหนึ่งว่าเป็นคนพื้นที่ที่นี่)
วัดจันทร์เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุวัดจันทร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน ขณะที่วิหารของที่นี่นับว่าดูแปลกจากวิหารทั่วๆไป หลายคนเรียกวิหารหลังนี้ว่า “วิหารแว่นตาดำ” หรือ “วิหารเรย์แบน” เพราะเมืองมองจากด้านหน้าแล้วดูคล้ายมีแว่นตาขนาดใหญ่ สวมอยู่
ทุ่งนาป่าสน
ความที่ผมไปเที่ยววัดจันทร์ในหน้าฝน ภาพของเขียวขจีมีฉากหลังเป็นป่าสน ดูจะเป็นสิ่งดึงดูดสำคัญให้ผมและเพื่อนๆกดชัตเตอร์กันไม่ยั้ง
“ทุ่งนา-ป่าสน” ถือเป็นเอกลักษณ์ของ อ.กัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นภาพที่หาชมได้ยากมากในเมืองไทย แต่สามารถหาชมได้ทั่วไปที่อำเภอแห่งนี้
หลังจากหนำใจกับการถ่ายภาพทุ่งนา-ป่าสนแล้ว แรกทีเดียวผมกับเพื่อนๆตั้งใจว่าจะล่ำลา อ.กัลยาณิวัฒนา ออกเดินทางต่อไป ระหว่างทางรถขับผ่านพื้นที่ “โครงการหลวงวัดจันทร์” จึงขอแวะเข้าไปชมสักหน่อย
โครงการหลวงวัดจันทร์ ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ พระองค์ทรงทราบถึงความยากลำบากของชาวเขาในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อก่อตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์”ขึ้น เพื่อช่วยให้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ราษฎร เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ในโครงการหลวงมีเจ้าหน้าที่อยู่คนเดียว ซึ่งเขาได้ออกมาต้อนรับอาคันตุกะต่างถิ่นอย่างพวกผมเป็นอย่างดี เมื่อสอบถามไปสอบถามมา พี่ใจดีคนนี้ชื่อ “สังขกร แก้วทรงเกตุ” หรือ “พี่ตู่” มีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าโครงการหลวงวัดจันทร์เลยทีเดียว
พี่ตู่พาผมกับเพื่อนๆเที่ยวชมจุดน่าสนใจต่างๆในพื้นที่โครงการหลวง อาทิ บ้านพัก จุดชมวิวอ่างเก็บน้ำ แปลงสาธิตผลไม้ แปลงพืชผัก รวมถึงดงสนสามใบ(ธรรมชาติ)ดงใหญ่ที่ตั้งตระหง่านสูงเด่นในพื้นที่โครงการ
เท่านั้นยังไม่พอ พี่ตู่ขันอาสาพาพวกเรานำเที่ยวในชุมชนบ้านจันทร์ ในบางจุดที่พวกเราไม่รู้ เริ่มกันตั้งแต่จุดชมวิวบนเนินเขาที่ประดิษฐาน “พระธาตุจอมแจ้ง” อีกหนึ่งในพระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมืองนี้
บนเนินเขาแห่งนี้มีองค์พระธาตุจอมแจ้งสีทอง(เพิ่งทาสีใหม่ได้ไม่นาน)ตั้งเด่นเป็นสง่า เมื่อมองลงไปจะเห็นทิวทัศน์ของชุมชนบ้านจันทร์ตั้งอยู่อย่างหลวมๆ ด้านหนึ่งเป็นทุ่งนา-ป่าสน อันเขียวขจี โดยมีฉากหลังเป็นเทือกเขาทอดยาวที่บางช่วงบางตอนมีเมฆลอยต่ำละเรี่ย
นับเป็นภาพทิวทัศน์ที่สื่อถึงความเป็นชุมชนวัดจันทร์ได้ดีที่สุด
จากจุดชมวิว พี่ตู่พาไปชมซุ้มป้ายลำดับของอำเภอ ที่ทำให้ผมได้รู้ว่า อำเภอกัลยาณิวัฒนาจัดอยู่ในลำดับที่ 878 ของเมืองไทย
ใกล้ๆกับซุ้มป้ายอำเภอเป็นที่ตั้งของหลักกิโลเมตรหนึ่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งวัดระยะกิโลเมตรจากบ้านจันทร์ไปยังเมืองและสถานที่ต่างๆ อาทิ เขาพระวิหาร(1,257 กม.) หนองคาย(981 กม.) อบต.บ้านจันทร์(250 เมตร) สิงคโปร์ (2,695 กม.) อเมริกา(12,756 กม.) และ ฯลฯ โดยมีเส้นทางที่เก๋แหวกแนวที่สุดก็เห็นจะเป็น การบอกระยะทางไปยังดวงจันทร์(384,400 กม.) ดาวอังคาร (88 ล้าน กม.) ดวงอาทิตย์ (149,597,870 กม.)
ใครเมื่อเห็นหลักกิโลนี้แล้ว จะวางแผนไปไหนก็เชิญกันได้ตามสะดวก ส่วนแผนของพี่ตู่ตอนนี้คือจะพาผมท่องป่าสน ไปชม“ปางอุ๋งน้อย” ที่เป็นพื้นที่ในส่วนปศุสัตว์ของโครงการหลวง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยไม่หยอก
ปางอุ๋งน้อยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมแวดล้อมด้วยป่าสน มีโรงเลี้ยงกระต่ายเป็นตัวชูโรง ร่วมกับฝูงสัตว์ที่กำลังเป็นที่นิยมมากของนักท่องเที่ยวไทยในยุคนี้ พ.ศ.นี้ นั่นก็คือ “แกะ”
บ้านเราที่ไหนเมื่อมีฝูงแกะ อีกไม่นานจะมีนักท่องเที่ยวไทยตามไป
อำเภอในฝัน
ถ้าวันนั้นไม่เจอพี่ตู่ ผมคงพลาดการสัมผัสกับสิ่งน่าสนใจในระดับตัวชูโรงของ อ.กัลยาณิวัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย นับว่าเป็นโชคดีของผมไม่น้อยเลย
หลังล่ำลาพี่ตู่เดินทางออกจาก อ.กัลยาณิวัฒนา สิ่งหนึ่งที่ยังค้างคาใจผม หลังจากได้พูดคุยกับชาวบ้านหลายๆคนในอำเภอแห่งนี้ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงและความเจริญทางวัตถุต่างๆ ที่กำลังจะเกิดตามมาในอนาคต ซึ่งหากมีการวางแผน การบริหารจัดการ และการพัฒนาที่ผิดพลาดหรือหลงทาง อ.กัลยาณิวัฒนา ก็จะเสื่อมเสน่ห์ไปคล้ายๆกับหลายอำเภอที่มีเส้นทางเดินคล้ายๆกัน
สำหรับ อ.กัลยาณิวัฒนา ในหนังสือ “ป่าสนวัดจันทร์ : เรื่องราว ผืนดิน ป่าสนของปกาเกอะญอมือเจะคี” ได้เขียนบอกไว้ว่านี่คืออำเภอที่ถูกคาดหวังให้เป็น “อำเภอในฝัน” จากหลายๆฝ่าย
พวกเขาฝันให้นี่เป็นอำเภอที่ไม่ต้องการให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่าง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่อยู่ติดกัน
นอกจากนี้ทางราชการยังวางคอนเซปต์ให้ อ.กัลยาณิวัฒนา เป็นดังบ้านเล็กในป่าใหญ่ โดยให้ป่าเป็นตัวตั้ง สัตว์ป่าเป็นตัวรอง และคนเป็นลำดับที่สาม โดยจะคุมไม่ให้คนเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงที่นี่ และเน้นเรื่องของป่าที่ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าตลอด
เรื่องนี้คงเป็นดังหนังชีวิตที่ต้องติดตามดูกันต่อไป
ส่วนตัวผมเองนั้นอยากให้ อ.กัลยาณิวัฒนา ค่อยๆเปลี่ยนแปลงแบบเนิบช้าค่อยเป็นค่อยไป ชาวชุมชนคนในพื้นที่มีความพร้อมและมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังคงความเป็นเมืองที่มีสภาพธรรมชาติอันพิสุทธิ์คู่ไปกับวิถีอันสงบงาม(แบบนี้)ตราบนานเท่านาน หวังให้ อ.กัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอในฝันแบบลืมตื่น
เพราะผมกลัวว่าเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วพบกับความเป็นจริง บางทีเรื่องราวมันอาจจะกลายเป็นตรงข้ามกับความฝันอย่างสิ้นเชิง
“878”
นี่ไม่ใช่การใบ้หวย เลขท้าย 3 ตัว
หากแต่เป็นลำดับการก่อตั้งของอำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอน้องใหม่ของเมืองไทย
มือเจะคี
อ.กัลยาณิวัฒนา ตั้งอยู่ใน จ.เชียงใหม่ เดิมเป็นกลุ่มตำบลใน อ.แม่แจ่ม ก่อนจะแยกตัวมาตั้งเป็น “อำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ” ใน ปี พ.ศ. 2551 และเปลี่ยนชื่อเป็น“อำเภอกัลยาณิวัฒนา” ตามนามพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากการขอพระราชทานโดยกระทรวงมหาดไทย
อ.กัลยาณิวัฒนา มีสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นป่าและภูเขาสูงชัน ณ ความสูงราว 1,000 - 1,500 เมตร มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
จุดเด่นสำคัญของ อ.กัลยาณิวัฒนา คือ ที่นี่มีป่าสนธรรมชาติอันกว้างใหญ่กว่าแสนไร่ ถือเป็นป่าสนผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ป่าสนแห่งนี้คนทั่วไปรู้จักกันดีในนาม“ป่าสนวัดจันทร์” หรือ “ป่าสนบ้านวัดจันทร์”
ป่าสนวัดจันทร์มีความผูกพันมาช้านานกับชาว“ปกาเกอะญอ” หรือที่เราคนไทยมักเรียกกันติดปากว่า“กะเหรี่ยง”(ภาษาไม่สุภาพ) กลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมของดินแดนแห่งนี้
ชาวปกาเกอะญอเรียกป่าสนวัดจันทร์ว่า“มือเจะคี”(คนเมืองเรียกเพี้ยนไปเป็น “มูเส่คี”)อันหมายถึงต้นน้ำแม่แจ่ม เพราะป่าไม้ที่นี่เป็นต้นทางของลำห้วยเล็กๆสำคัญหลายสาย ก่อนไหลไปรวมเป็นต้นน้ำแม่แจ่ม และไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง ก่อนรวมปิง วัง ยม น่าน เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ออกอ่าวไทยไปในที่สุด
ทั้งป่าสนวัดจันทร์และ“ชุมชนบ้านจันทร์” หรือ “ชุมชนบ้านวัดจันทร์”(ที่มีประชากรดั้งเดิมเป็นชาวปกาเกอะญอก่อนที่จะมีคนเมืองมาอาศัยอยู่ร่วมกันในเวลาต่อมา) ต่างถือเป็นเสน่ห์ดึงดูดชั้นดีให้ผู้ที่รักในธรรมชาติและวิถีอันสงบงาม เดินทางไปยังเมืองแห่งนี้ ที่ถูกหลายภาคส่วนคาดหวังให้เป็น “อำเภอในฝัน”
ออป. วัดจันทร์
ช่วงหน้าฝนโลว์ซีซั่นแบบนี้ แม้จะไม่ได้จับจองที่พักมาล่วงหน้า แต่ผมกับเพื่อนๆก็สามารถเดินดุ่ยๆเข้าไปหาที่พักใน อ.กัลยาณิวัฒนา ได้อย่างไม่ยากเย็น แถมเป็นที่พักขึ้นชื่อของที่นี่เสียด้วย นั่นก็คือ บ้านพักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. ที่แม้จะไม่หรูแต่ว่าบรรยากาศนั้นเริ่ดกว่าโรงแรม 5 ดาวหลายๆแห่งเสียอีก
ภายในโครงการของ ออป.นอกจากจะมีบ้านพักแล้ว ที่นี่ยังถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ของ อ.กัลยาณิวัฒนาเลยทีเดียว ในพื้นที่นี้มีสวนอันร่มรื่นเขียวครึ้ม โดยเฉพาะกับสวนสนที่ปลูกอยู่ทั่วบริเวณ มีสะพานไม้สร้างอย่างเป็นธรรมชาติให้เดินชมทิวทัศน์พืชพันธุ์ไม้ รวมถึงเส้นทางจักรยานให้ผู้นิยมบริหารน่องปั่นกันตามใจชอบ
จากบ้านพัก ออป. ลงเนินไปหน่อย จะเห็นทุ่งนาเขียวขจีมีฉากหลังเป็นป่าสนลำต้นตระหง่าน ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของ อ.กัลยาณิวัฒนา ที่มีให้เห็นกันทั่วไป
ใกล้ๆกับทุ่งนาจะเป็นอ่างเก็บน้ำที่ถือเป็นจุดถ่ายรูปชั้นดี ในยามเช้าของช่วงหน้าหนาว เหนืออ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะมีสายหมอกลอยล่องดูเป็นที่ต้องตาโดนใจนัก หากเดินเลาะอ่างเก็บน้ำเข้าไปก็จะเป็นพื้นที่ป่าสนให้คนบ้ากล้องได้ถ่ายรูปกันอย่างจุใจ
วัดจันทร์
ศูนย์กลางของ อ.กัลยาณิวัฒนา อยู่ที่ชุมชนบ้านจันทร์ ซึ่งมี “วัดจันทร์” เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธา
วัดจันทร์ เป็นวัดเก่าแก่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาได้กว่า 300 ปีแล้ว ซึ่งชื่อของวัดจันทร์ บ้านจันทร์นั้น ตามตำนานเชื่อว่ามาจากชื่อของ “นายจันทร์” (ตำนานหนึ่งว่าเป็นคนจากล้านนา อีกตำนานหนึ่งว่าเป็นคนพื้นที่ที่นี่)
วัดจันทร์เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุวัดจันทร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน ขณะที่วิหารของที่นี่นับว่าดูแปลกจากวิหารทั่วๆไป หลายคนเรียกวิหารหลังนี้ว่า “วิหารแว่นตาดำ” หรือ “วิหารเรย์แบน” เพราะเมืองมองจากด้านหน้าแล้วดูคล้ายมีแว่นตาขนาดใหญ่ สวมอยู่
ทุ่งนาป่าสน
ความที่ผมไปเที่ยววัดจันทร์ในหน้าฝน ภาพของเขียวขจีมีฉากหลังเป็นป่าสน ดูจะเป็นสิ่งดึงดูดสำคัญให้ผมและเพื่อนๆกดชัตเตอร์กันไม่ยั้ง
“ทุ่งนา-ป่าสน” ถือเป็นเอกลักษณ์ของ อ.กัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นภาพที่หาชมได้ยากมากในเมืองไทย แต่สามารถหาชมได้ทั่วไปที่อำเภอแห่งนี้
หลังจากหนำใจกับการถ่ายภาพทุ่งนา-ป่าสนแล้ว แรกทีเดียวผมกับเพื่อนๆตั้งใจว่าจะล่ำลา อ.กัลยาณิวัฒนา ออกเดินทางต่อไป ระหว่างทางรถขับผ่านพื้นที่ “โครงการหลวงวัดจันทร์” จึงขอแวะเข้าไปชมสักหน่อย
โครงการหลวงวัดจันทร์ ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ พระองค์ทรงทราบถึงความยากลำบากของชาวเขาในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อก่อตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์”ขึ้น เพื่อช่วยให้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ราษฎร เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ในโครงการหลวงมีเจ้าหน้าที่อยู่คนเดียว ซึ่งเขาได้ออกมาต้อนรับอาคันตุกะต่างถิ่นอย่างพวกผมเป็นอย่างดี เมื่อสอบถามไปสอบถามมา พี่ใจดีคนนี้ชื่อ “สังขกร แก้วทรงเกตุ” หรือ “พี่ตู่” มีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าโครงการหลวงวัดจันทร์เลยทีเดียว
พี่ตู่พาผมกับเพื่อนๆเที่ยวชมจุดน่าสนใจต่างๆในพื้นที่โครงการหลวง อาทิ บ้านพัก จุดชมวิวอ่างเก็บน้ำ แปลงสาธิตผลไม้ แปลงพืชผัก รวมถึงดงสนสามใบ(ธรรมชาติ)ดงใหญ่ที่ตั้งตระหง่านสูงเด่นในพื้นที่โครงการ
เท่านั้นยังไม่พอ พี่ตู่ขันอาสาพาพวกเรานำเที่ยวในชุมชนบ้านจันทร์ ในบางจุดที่พวกเราไม่รู้ เริ่มกันตั้งแต่จุดชมวิวบนเนินเขาที่ประดิษฐาน “พระธาตุจอมแจ้ง” อีกหนึ่งในพระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมืองนี้
บนเนินเขาแห่งนี้มีองค์พระธาตุจอมแจ้งสีทอง(เพิ่งทาสีใหม่ได้ไม่นาน)ตั้งเด่นเป็นสง่า เมื่อมองลงไปจะเห็นทิวทัศน์ของชุมชนบ้านจันทร์ตั้งอยู่อย่างหลวมๆ ด้านหนึ่งเป็นทุ่งนา-ป่าสน อันเขียวขจี โดยมีฉากหลังเป็นเทือกเขาทอดยาวที่บางช่วงบางตอนมีเมฆลอยต่ำละเรี่ย
นับเป็นภาพทิวทัศน์ที่สื่อถึงความเป็นชุมชนวัดจันทร์ได้ดีที่สุด
จากจุดชมวิว พี่ตู่พาไปชมซุ้มป้ายลำดับของอำเภอ ที่ทำให้ผมได้รู้ว่า อำเภอกัลยาณิวัฒนาจัดอยู่ในลำดับที่ 878 ของเมืองไทย
ใกล้ๆกับซุ้มป้ายอำเภอเป็นที่ตั้งของหลักกิโลเมตรหนึ่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งวัดระยะกิโลเมตรจากบ้านจันทร์ไปยังเมืองและสถานที่ต่างๆ อาทิ เขาพระวิหาร(1,257 กม.) หนองคาย(981 กม.) อบต.บ้านจันทร์(250 เมตร) สิงคโปร์ (2,695 กม.) อเมริกา(12,756 กม.) และ ฯลฯ โดยมีเส้นทางที่เก๋แหวกแนวที่สุดก็เห็นจะเป็น การบอกระยะทางไปยังดวงจันทร์(384,400 กม.) ดาวอังคาร (88 ล้าน กม.) ดวงอาทิตย์ (149,597,870 กม.)
ใครเมื่อเห็นหลักกิโลนี้แล้ว จะวางแผนไปไหนก็เชิญกันได้ตามสะดวก ส่วนแผนของพี่ตู่ตอนนี้คือจะพาผมท่องป่าสน ไปชม“ปางอุ๋งน้อย” ที่เป็นพื้นที่ในส่วนปศุสัตว์ของโครงการหลวง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยไม่หยอก
ปางอุ๋งน้อยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมแวดล้อมด้วยป่าสน มีโรงเลี้ยงกระต่ายเป็นตัวชูโรง ร่วมกับฝูงสัตว์ที่กำลังเป็นที่นิยมมากของนักท่องเที่ยวไทยในยุคนี้ พ.ศ.นี้ นั่นก็คือ “แกะ”
บ้านเราที่ไหนเมื่อมีฝูงแกะ อีกไม่นานจะมีนักท่องเที่ยวไทยตามไป
อำเภอในฝัน
ถ้าวันนั้นไม่เจอพี่ตู่ ผมคงพลาดการสัมผัสกับสิ่งน่าสนใจในระดับตัวชูโรงของ อ.กัลยาณิวัฒนาไปอย่างน่าเสียดาย นับว่าเป็นโชคดีของผมไม่น้อยเลย
หลังล่ำลาพี่ตู่เดินทางออกจาก อ.กัลยาณิวัฒนา สิ่งหนึ่งที่ยังค้างคาใจผม หลังจากได้พูดคุยกับชาวบ้านหลายๆคนในอำเภอแห่งนี้ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงและความเจริญทางวัตถุต่างๆ ที่กำลังจะเกิดตามมาในอนาคต ซึ่งหากมีการวางแผน การบริหารจัดการ และการพัฒนาที่ผิดพลาดหรือหลงทาง อ.กัลยาณิวัฒนา ก็จะเสื่อมเสน่ห์ไปคล้ายๆกับหลายอำเภอที่มีเส้นทางเดินคล้ายๆกัน
สำหรับ อ.กัลยาณิวัฒนา ในหนังสือ “ป่าสนวัดจันทร์ : เรื่องราว ผืนดิน ป่าสนของปกาเกอะญอมือเจะคี” ได้เขียนบอกไว้ว่านี่คืออำเภอที่ถูกคาดหวังให้เป็น “อำเภอในฝัน” จากหลายๆฝ่าย
พวกเขาฝันให้นี่เป็นอำเภอที่ไม่ต้องการให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่าง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่อยู่ติดกัน
นอกจากนี้ทางราชการยังวางคอนเซปต์ให้ อ.กัลยาณิวัฒนา เป็นดังบ้านเล็กในป่าใหญ่ โดยให้ป่าเป็นตัวตั้ง สัตว์ป่าเป็นตัวรอง และคนเป็นลำดับที่สาม โดยจะคุมไม่ให้คนเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงที่นี่ และเน้นเรื่องของป่าที่ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าตลอด
เรื่องนี้คงเป็นดังหนังชีวิตที่ต้องติดตามดูกันต่อไป
ส่วนตัวผมเองนั้นอยากให้ อ.กัลยาณิวัฒนา ค่อยๆเปลี่ยนแปลงแบบเนิบช้าค่อยเป็นค่อยไป ชาวชุมชนคนในพื้นที่มีความพร้อมและมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังคงความเป็นเมืองที่มีสภาพธรรมชาติอันพิสุทธิ์คู่ไปกับวิถีอันสงบงาม(แบบนี้)ตราบนานเท่านาน หวังให้ อ.กัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอในฝันแบบลืมตื่น
เพราะผมกลัวว่าเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วพบกับความเป็นจริง บางทีเรื่องราวมันอาจจะกลายเป็นตรงข้ามกับความฝันอย่างสิ้นเชิง