xs
xsm
sm
md
lg

บางลำพู...ในวันที่ไม่มีต้นลำพู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพู ที่วันนี้เหลือแต่ตอ
เชื่อว่าอาการใจหายคงจะเกิดขึ้นกับหลายๆ คน เมื่อได้ทราบข่าวว่าต้นลำพูเก่าแก่อายุนับร้อยปีที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของบางลำพูและอยู่คู่กับสวนสันติชัยปราการมานานนับสิบปี ในวันนี้ได้ยืนต้นตาย และสุดท้ายได้ถูกตัดทิ้งเหลือเพียงตอไม้ ปล่อยให้สวนสันติฯ ดูโล่งแปลกตาไปจากที่เคยเป็น

เกิดอะไรขึ้นกับต้นลำพู ทำไมต้นลำพูจึงตาย และอีกหลายๆ คำถาม ในวันนี้ อาจารย์สมปอง ดวงไสว ผู้ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ต้นลำพูต้นสุดท้ายไว้ให้ชาวบางลำพูได้รู้จัก จะเป็นผู้ถ่ายทอดให้ฟัง

แม้พื้นเพเดิมจะเป็นคนดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี แต่เมื่อได้มาเป็นครูสอนวิชาศิลปะอยู่ที่โรงเรียนวัดสังเวชวิศยารามตั้งแต่ปี 2519 ทำให้ อ.สมปอง มีความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชุมชนบางลำพู ที่ในสมัยนั้นทั้งหน่วยงานราชการ บรรดาห้างร้านและธนาคารต่างๆ ยังสะกดชื่อชุมชนไม่ตรงกัน บ้างก็ใช้ “บางลำพู” บ้างก็ใช้ “บางลำภู” โดยที่ไม่รู้แน่ว่าคำใดถูกต้อง
อ.สมปอง ดวงไสว ผู้จุดประเด็นต้นลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพู
“เราสงสัยว่าชื่อบางลำพูน่าจะมาจากต้นลำพู แต่เราไม่เคยเห็นต้นลำพู ตั้งแต่ที่มาอยู่ก็เริ่มสงสัยแล้ว” อ.สมปอง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นภารกิจการค้นหาต้นลำพูเพื่อยืนยันว่าเป็นที่มาของชื่อบางลำพู ก่อนที่อาจารย์และนักเรียนกลุ่มหนึ่งรวมถึงชาวชุมชนบางลำพูได้ออกค้นหาต้นลำพูโดยอาศัยความช่วยเหลือของผู้นำชุมชนที่อยู่บางลำพูมาตั้งแต่เกิด จนวันที่ 30 สิงหาคม 2540 จึงได้พบต้นลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพู ตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา

“เมื่อก่อนบริเวณที่เจอต้นลำพูเป็นสำนักงานกลางโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม มันทึบรกมาก ด้านหลังจะมีบ้านพักของคนงานบริษัทศรีมหาราชา ริมแม่น้ำจะมีต้นชมพู่น้ำ ต้นจิกน้ำ และมีต้นลำพูอยู่ตรงกลาง ต้นลำพูต้นนี้เป็นต้นสุดท้ายของบางลำพูที่ได้เจอ เป็นต้นอายุนับร้อยปีที่หาไม่ได้แล้ว เราไม่ได้อนุมานเอาเอง เพราะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้มาดูเพราะผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับต้นลำพูเลย สมัยนั้นอินเตอร์เน็ตก็ไม่มี” อ.สมปอง กล่าวและว่า

“ตอนที่เราเจอต้นลำพูตอนปี 2540 กทม.กำลังจะทำเขื่อนปิดบริเวณนี้เพื่อกั้นน้ำไม่ให้ท่วมเข้าถนนสามเสน ถนนพระสุเมร ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งการสร้างเขื่อนปิดน้ำไม่ให้ขึ้นลง ไม่มีน้ำกร่อยเข้ามาต้นลำพูจะอยู่ไม่ได้ ก็เลยเขียนบอกไปทางหนังสือพิมพ์ พอหนังสือพิมพ์ลงข่าวสื่อมวลชนก็มาทำข่าว ในที่สุดก็มีข้อสรุปคือทำเขื่อนแบบมีที่ปิดเปิดให้น้ำเข้าออกได้และสามารถกันคลื่นได้ด้วย”
ภาพต้นลำพูในอดีตก่อนจะสร้างสวนสันติชัยปราการ (ภาพ : สมปอง ดวงไสว)
เป็นที่น่ายินดีว่าหลังจากนั้นกรุงเทพมหานครได้มีโครงการพัฒนาสภาพภูมิทัศน์บริเวณป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป็นโครงการเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยได้สร้าง “สวนสันติชัยปราการ” สวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเพื่อเป็นการเปิดภูมิทัศน์อันสวยงามของป้อมพระสุเมรุ ซึ่งต้องถือว่าต้นลำพูมีส่วนอย่างมากในการสร้างสวนแห่งนี้ขึ้น อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงรับสั่งให้ดูแลต้นลำพูต้นนี้ไว้อย่าให้ตาย

“เมื่อตอนที่รัฐบาลได้ถวายพระที่นั่งสันติปราการจำลองแด่ในหลวงในงานสโมสรสันนิบาต พระองค์ทรงทอดพระเนตรและรับสั่งกับสมเด็จพระราชินีว่า บางกอกไม่มีต้นมะกอก บางม่วงไม่มีต้นมะม่วง บางลำพูยังมีต้นลำพูอยู่ ต้นนี้ต้นเก่าแก่ ผมฟังแล้วขนลุกว่าต้นไม้ต้นเดียวท่านยังจำได้” อ.สมปองกล่าว

หากจะกล่าวว่าต้นลำพูกลายมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนบางลำพูก็คงจะไม่ผิด โดย อ.สมปอง กล่าวว่าการค้นพบต้นลำพูได้ทำให้เกิดความตื่นตัวในท้องถิ่นในชุมชนของตัวเอง มีการพูดถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น เรื่องราวดีๆของท้องถิ่นเยอะขึ้น รวมถึงประชาคมบางลำพูด้วยเช่นกัน โดยหลังจากที่พบต้นลำพูแล้ว ชาวชุมชนวัดสังเวช ชุมชนไก่แจ้-เขียนนิวาสน์ คนในย่านนี้ทั้งหลายมารวมตัวกันเป็นประชาคมบางลำพู มีการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะงานถนนคนเดิน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดถนนคนเดินในกรุงเทพ ความคิดมาจากบางกอกฟอรั่มเป็นผู้จุดประกายให้เกิดขึ้น
มองจากแม่น้ำเจ้าพระยาเห็นต้นลำพูอยู่คู่พระที่นั่งสันติชัยปราการ (ภาพ : สมปอง ดวงไสว)
คราวนี้ทุกคนก็ได้ทราบที่มาของชื่อย่านบางลำพู ส่วนต้นลำพูก็ได้รับการดูแลอย่างดี มีการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การดำรงชีวิต ทุกสิ่งดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี แต่แล้วทำไมวันหนึ่ง ต้นลำพูถึงจากเราไป?

“ผมเผยแพร่ความรู้เรื่องต้นลำพูของบางลำพูอย่างต่อเนื่อง โดยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ และเขียนหนังสือ ‘ลำพู สัญลักษณ์ประวัติศาสตร์ของบางลำพู’ เป็นเล่มแรกเมื่อปี 2541 นอกจากนั้นก็สอนเด็กนักเรียนให้รู้จักประวัติศาสตร์ชุมชน ส่วนการอนุรักษ์จริงๆ เมื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะแล้วทาง กทม. จะเป็นคนดูแล เราก็มีหน้าที่คอยช่วยคอยดูแลว่าตอนนี้เป็นยังไงแค่นั้น ซึ่งเขาก็ทำดีแล้วในระดับหนึ่ง มีการปลูกเพิ่มนั่นก็ถือว่าดี” อ.สมปอง กล่าว

“พอช่วงน้ำท่วมปีที่แล้ว ที่บ้านน้ำท่วม ผมมานอนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ตอนเช้าๆ ก็จะมาดูต้นลำพูทุกวัน คอยมาถ่ายภาพเก็บไว้ตลอด วันหนึ่งผมเห็นใบมันเหลืองๆ ก็นึกว่าผลัดใบ แต่วันนั้นก็สังหรณ์ใจว่าหรือต้นลำพูจะตายเพราะจมน้ำ แต่ก็ไม่ได้บอกใคร พอคอยดูมาเรื่อยๆ เห็นว่าเริ่มผิดปกติแล้ว เพราะเดือนหนึ่งมันน่าจะผลัดใบใหม่แล้ว แต่นี่สองเดือนยังไม่ผลัดเลย แล้วเห็นกิ่งด้านซ้ายมันเริ่มดำๆ แปลว่าใช่แล้ว มันเริ่มค่อยๆ ตายไป”
ต้นและใบยังคงสดใส รากอากาศสมบูรณ์ (ภาพ : สมปอง ดวงไสว)
“สาเหตุหลักคือน้ำท่วม แต่เรานึกไม่ถึงว่าเขาซึ่งอยู่กับน้ำมาจะพ่ายแพ้น้ำ เหตุที่แพ้ก็เพราะอายุมาก ถ้าเป็นต้นเต็มๆ ดีก็คงอยู่ได้ แต่เผอิญข้างในเป็นโพรง และตอนน้ำท่วมรากอากาศไม่สามารถโผล่มาหายใจได้เลย ตรงนี้ก็เพราะพวกเราไม่รู้เท่าทัน ไม่อย่างนั้นก็เอาบิ๊กแบ็กปิดแล้วสูบน้ำออกก็พอสู้ได้ แต่เราไม่รู้เพราะคิดว่าเขาจะผลัดใบ จริงๆ แล้วเคยถามผู้เชี่ยวชาญเขาบอกว่าต้นลำพูจะไม่ผลัดใบ แต่ต้นนี้ผลัดใบทุกปี รวมถึงทุกต้นที่อยู่ตรงนี้ด้วย เราก็เลยคิดว่ามันคงเป็นปกติของเขา ซึ่งมันก็แปลก และทำให้เราตายใจ” อ.สมปอง กล่าว

หลังจากการติดตามดูอาการของต้นลำพูมาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่มาจนถึงเมื่อต้นปีนี้ก็ได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชมาดูและแนะนำให้ลองริดกิ่งใบออก เพื่อให้แตกกิ่งเติบโตได้บ้าง หลังจากนั้นก็มีการตัดกิ่ง และตอนกิ่งโดยหวังว่าจะเกิดต้นใหม่ขึ้น แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนในที่สุดต้นลำพูก็ค่อยๆ แห้งเหี่ยวและตายไปในที่สุด
ไม่เหลือแล้วต้นลำพูที่ยืนหยัดอยู่คู่บางลำพู
และจากนั้น ในวันศุกร์ที่ 6 กรกฏาคม ที่ผ่านมา ทาง กทม. ก็ให้คนเข้ามาตัดต้นลำพูที่ยืนต้นตาย เหลือไว้เพียงแต่ตอสูงราว 1 ฟุต เท่านั้น โดยที่ไม่ได้บอกใคร แม้แต่ อ.สมปอง ที่อุตส่าห์ลุยน้ำไต่สันเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเข้าไปค้นหาลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพูจนพบ ก็ไม่ทราบเรื่อง

“ต้นไม้ตายก็จริง เรายอมรับได้เพราะเป็นธรรมชาติของต้นไม้ วันหนึ่งก็ต้องตาย อายุก็ไม่น่าเกิน 200 ปี อยู่แล้ว แต่เราไม่คิดว่าเขาจะตัดทิ้ง คิดว่าเขาจะเก็บให้มันยืนต้นอยู่เป็นอนุสรณ์ตรงนี้ได้ วันจะตัดเราก็ไม่รู้ ไม่ได้มีการปรึกษากัน เราล้าหลังเหตุการณ์ ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือทัดทานได้เลย ทั้งที่เราเห็นความสำคัญของเขา ใครๆ ก็เห็นความสำคัญของเขา”
กิ่งก้านของต้นลำพูเริ่มแห้งและร่วงโรยหลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 (ภาพ : สมปอง ดวงไสว)
“ถามว่าตัดแล้วเอาไปไว้ไหน ปรากฏว่าไปเป็นขยะอยู่หนองแขม เขาหาต้นตะเคียนเอาไปไว้ให้คนกราบไหว้บูชาหาสตางค์ แต่เราไม่ต้องการอย่างนั้น เราต้องการให้เอามาศึกษา ต้นไม้ตายไม่เป็นไร แต่ตายอย่างมีหลักฐานและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามันถึงมีค่ามากกว่า คุณเก็บไว้ซักท่อนเอาไว้หลังพระที่นั่งสันติชัยปราการ คนก็มาดูได้ แต่วันนั้นก็ฟลุคนะ ผมเจออยู่ 3 ชิ้นที่เขาไม่เก็บไปก็เลยเก็บไว้ เผื่อวันหลังมีการจัดงานเราก็จะเอาสิ่งเหล่านี้มาให้คนได้ดู ให้เค้าทึ่งได้ว่าเรายังมีเหลืออยู่นะ” อ.สมปอง กล่าว

กว่า 15 ปี ที่ผูกพันกันมากับต้นลำพูที่เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ของชาวบางลำพู อ.สมปองมีเพียงความรู้สึกคือเสียใจและเสียดาย “มาเจอกันทุกครั้งก็เหมือนได้คุยกัน มาแต่ละคราวช่วงหลังผมจะถ่ายรูปไว้ตลอด ตั้งแต่ยุคแรกๆ และช่วงก่อนที่สูญเสียเขาจะถ่ายไว้ถี่มาก ถ่ายครั้งหลังสุดลงในบทความของนิตยสาร อสท. เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นั่นคือรูปสุดท้ายที่เห็นกิ่งเต็มๆ ทั้งหมด ปีที่แล้วที่จะมีกระบวนเรือพระราชพิธี ผมกะว่าจะถ่ายต้นลำพูคู่กับเรือสุพรรณหงส์ แต่ว่าตอนนั้นน้ำแรง ต้องงดไป ก็เลยได้แต่ภาพต้นลำพูกับเรือโยง เรือหางยาวไป ก็เสียดายไม่มีภาพประวัติศาสตร์ และต่อนี้ไปภาพนั้นก็จะไม่มีอีกแล้ว” อ.สมปอง กล่าวอย่างเสียดาย
ในที่สุดก็ถูกตัดกิ่งก้าน (ภาพ : สมปอง ดวงไสว)
แม้ต้นลำพูจะปิดฉากชีวิตลง แต่เรื่องราวของบางลำพูก็ยังต้องดำเนินต่อไป ประวัติศาสตร์บางลำพูต่อจากนี้จะไม่มีต้นลำพูที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คงเหลือแต่ตอที่เปรียบเสมือนหมุดหมายบอกเล่าเรื่องราวของอดีต แม้รอบๆ ตอที่ถูกตัดทิ้งจะยังมีต้นลำพูต้นเล็กๆ เหลืออยู่ 4-5 ต้น แต่ก็เป็นปลูกใหม่ที่ไม่ผูกพันกับต้นเก่าแก่

“ต่อไปถ้าจะเล่าถึงต้นลำพู ก็คงต้องบอกว่าช่วงที่เรารู้จักเขามากที่สุด ได้เรียนรู้เขามากที่สุดคือช่วงปี 2540 เป็นต้นมา จนถึงช่วงน้ำท่วมปีที่แล้ว แล้ววันหนึ่งเขาก็จากไป ก็จะได้เล่าถึงประวัติศาสตร์น้ำท่วมปีมหัศจรรย์ ที่จู่ๆ ก็น้ำท่วมขนาดนี้ได้ ท่วมไม่ธรรมดา และต้นลำพูก็ไปกับเค้าด้วยงานนี้” อ.สมปอง กล่าวติดตลก
และสุดท้าย ก็เหลือเพียงแค่ตอ
การสูญเสียในครั้งนี้เป็นบทเรียนสอนอะไรหลายๆ อย่าง ที่ชัดเจนก็คือสัจธรรมของชีวิตที่ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นอกจากนั้นอีกอย่างหนึ่งที่ อ.สมปอง ชี้ให้เห็นคือการเชื่อมโยงกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนในชุมชนที่ต้องสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิดให้มากกว่านี้ รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เข้ามาดูแลก็ต้องศึกษาเรื่องที่รับผิดชอบให้ลึกซึ้งมากขึ้น

“ที่ญี่ปุ่นตอนโดนสึนามิ ต้นสน 70,000 ต้น ตายหมด เหลือรอดอยู่ต้นเดียว เขาก็ระดมเงินหลายล้านเยนเพื่อรักษามันให้อยู่ได้นานเท่าที่จะนานได้ ที่เมืองจีนต้นสนเป็นพันปีก็ยังอยู่ได้ เขาเอาเหล็กยึดไว้ไม่ล้มแน่นอน เราก็น่าจะทำได้แต่สายไปแล้ว ดูแล้วมันก็เจ็บปวด เราเจอไม้ประวัติศาสตร์แต่เราไม่สามารถดูแลเค้าให้ถึงที่สุด” อ.สมปอง กล่าวปิดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น