หน้าฝนอย่างนี้ ดินชุ่มน้ำ ตามพื้นดิน ใต้โคนต้นไม้จะมีเห็ดป่าออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านนิยมไปเก็บมากิน เก็บมาขายกัน แต่ข้อสำคัญในการจะเก็บเห็ดมากินนั้น ไม่ว่าจะเป็นเห็ดชนิดใดก็ตาม จะต้องให้แน่ใจได้ก่อนว่าไม่ใช่เห็ดพิษ เพราะในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาวนั้น เป็นช่วงที่มีเห็ดหลากหลายสายพันธุ์ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในป่า ในไร่ หรือในสวน ซึ่งก็มีทั้งที่กินได้และไม่ได้ โดยเฉพาะเห็ดพิษบางชนิดก็มีสีสันสวยงามล่อตาล่อใจ บางชนิดก็มีหน้าตาคล้ายคลึงกับเห็ดที่ขายตามตลาดทั่วไป ซึ่งการจะพิสูจน์ได้ว่าเห็ดชนิดใดเป็นพิษหรือไม่ ต้องอาศัยการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น
ทั้งนี้นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ความรู้ไว้ว่า การรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยเห็ด ควรรับประทานแต่พอดี เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจทำให้ผู้ที่มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษ การปรุงอาหารต้องระวัง ต้องคัดเลือกเห็ดเน่าออก อย่าปรุงอาหารสุกๆดิบๆ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดมีพิษน้อย แต่เมื่อรับประทานหลายครั้ง พิษเห็ดจะสะสมในปริมาณที่มากอาจเป็นอันตรายได้ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้เห็ดบางชนิด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน นอกจากไม่รับประทานเห็ดพิษพร้อมกับการดื่มสุราเพราะจะเกิดพิษทันทีใน 48 ชั่วโมง หลังรับประทานเห็ด การดื่มสุราจะทำให้พิษกระจายได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ไม่เก็บเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติ ที่มีลักษณะเป็นสีน้ำตาล มีหมวกเห็ดสีขาว มีปลอกหุ้มโคน มีวงแหวนใต้หมวก มีโคนอวบใหญ่ มีปุ่มปม ใต้หมวกของเห็ดบางชนิดมีรูปร่างคล้ายสมองหรืออานม้าแทนที่จะเป็นช่องๆ
ด้านการปฐมพยาบาล หากรับประทานเห็ดพิษเข้าไป ขั้นแรกที่สำคัญคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด ต่อมาช่วยดูดพิษ โดยใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ดื่ม 2 แก้ว โดยดื่มแก้วแรกแล้วให้ล้วงคอให้อาเจียนแล้วดื่มแก้วที่สองและล้วงคอให้อาเจียนอีกครั้งหากอาเจียนยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชา ผสมน้ำอุ่นจะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ห้ามล้างท้องโดยการสวนทวารหนักโดยเด็ดขาด ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น เพราะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหากร่างกายขาดน้ำ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการรักษาจากทางแพทย์อย่างทันท่วงที และควรส่งตัวอย่างอาหารที่สงสัยหรือตัวอย่างเห็ด เพื่อตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป
สำหรับผู้อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเห็ดพิษ หรือรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม โทร.0-2591-1707