xs
xsm
sm
md
lg

“ปู”(สวย)แปลก…ของดีที่หาดูยาก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
ปูน้ำตก ตัวนี้เจอที่เขาพระแทว
“ปู”

ในที่นี้ไม่ชื่อคน แต่หมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์น้ำมีกระดองแข็ง ประเภทสัตว์เท้าปล้อง ไม่มีเลือด ซึ่งตามสถานที่ท่องเที่ยวหลายๆแห่งจะมีปูเป็นหนึ่งในตัวร่วมชูโรง ไม่ว่าจะเป็น “ปูมดแดง”ตัวน้อยจำนวนมหาศาลที่ออกมาเดินอวดโฉมบนหาดทรายยามน้ำลดที่หาดปูมดแดง บ้านโคกไทร จ.พังงา หรือ“ปูไก่”ตัวโตที่มีเสียงร้องคล้ายไก่ ซึ่งเดิมแค่พบที่เกาะเมียง(เกาะสี่)แห่งหมู่เกาะสิมิลันก็ถือเป็นดาวเด่นในระดับอันซีนไทยแลนด์แล้ว แต่ประทานโทษ!!! หากใครได้ไปที่เกาะตาชัยจะพบว่าที่นั่นเป็นดังอาณาจักรของปูไก่เลยทีเดียว

และนี่เป็นเพียงน้ำจิ้มในเสน่ห์ของปูเท่านั้น เพราะตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในบ้านเราโดยเฉพาะตามหาดทรายชายทะเล ป่าชายเลนต่างก็มีปูให้ดูกันเป็นจำนวนมาก

หลายที่แม้ปูอาจไม่ใช่ดาวเด่นแต่ก็เป็นสีสันประดับที่ช่วยเสริมองค์ประกอบของสถานที่นั้นให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นตอนที่ผมไปเที่ยวน้ำตกเขาพระแทว จ.ภูเก็ต ระหว่างทางที่เดินไปน้ำตก จู่ๆก็มีปูน้ำตกตัวน้อยสีแดงสดใสน่ารัก 2-3 ตัว วิ่งดุ๊กๆตัดหน้าให้ผมวิ่งไล่ตามไปถ่ายรูปพวกมันกันเป็นที่เพลิดเพลิน

เรียกว่าเจ้าปูน้ำตกนี้สีสดใสพวกนี้ขโมยซีนของน้ำตกไปไม่น้อยเลย

นี่ขนาดแค่เป็นปูน้ำตกธรรมดา ยิ่งถ้าเจอพวกปูแปลกๆ หายากๆ ยิ่งต้องซุ่มลุ้นกันตัวเกร็ง ซึ่งในบ้านเรานั้น แม้จะมีปูอยู่มากมายหลายชนิด แต่หากเจาะลงไปถึงปูน้ำจืดที่แปลกๆ หายากนั้น และปรากฏตัวให้เห็นกันตามสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ถือว่ามีอยู่ไม่มากเลย
ปูเจ็ดสี
และนี่ก็เป็นปูน้ำจืดหายาก 5 ชนิดที่ถือเป็นดาวเด่นตัวชูโรงควบคู่ไปกับสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ

ปูเจ็ดสี

หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แม้จะเป็นเมืองชายทะเลคลาสสิค แหล่งตากอากาศไฮโซแห่งยุคสมัย แต่ที่นี่ก็มีผืนป่าให้ผู้สนใจได้ไปยลโฉมกัน โดยเฉพาะที่“สระมรกต” ต.ห้วยสัตว์ใหญ่นั้น ถือเป็นดังอันซีนแห่งหัวหินเลยทีเดียว

ที่นี่นอกจากจะมีสระมรกต สระน้ำธรรมชาติขนาดย่อม ที่ยามต้องแสงแดดผืนน้ำจะสะท้อนเป็นสีเขียวมรกตสมดังชื่อสระแล้ว ยังมี“ปูเจ็ดสี” เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ

“ปูเจ็ดสี” เป็นปูน้ำจืดกลุ่มปูน้ำตกหรือปูภูเขา ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งหลังนักวิชาการตรวจสอบพบว่าเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก จึงได้รับการตั้งชื่อว่า"ปูคีรีขันธ์"เพื่อให้เป็นเกียรติแก่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมืองที่ค้นพบเจ้าปูชนิดนี้

ปูเจ็ดสี หรือปูคีรีขันธ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปูหิน”นั้น เป็นปูสีสันสวยงาม กระดองมีสีน้ำตาลเข้ม ขอบตาและขอบกระดองด้านบน เป็นเส้นสีขาวเหลืองเห็นได้ชัดเจน ก้ามมีขนาดใหญ่สีขาวเหลือง ข้อต่อของก้ามด้านในและโคนขาเป็นสีส้ม ขาเป็นสีน้ำตาลม่วงสลับกับสีส้มบริเวณข้อต่อของขา สวยงามมาก ส่วนด้านท้องเป็นสีขาวเหลือง

ผมจำได้ว่าวันที่เคยไปเที่ยวสระมรกต แล้วเดินท่อมๆด้อมๆมองๆหาปูเจ็ดสี แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ สุดท้ายเมื่อพี่ชาวบ้านที่นำเที่ยว มากระซิบบอกว่ามันแอบอยู่ใต้ซอกหินใกล้ๆเท้าผมนั่นแหละ งานนี้เหมือนถูกหวย ได้ดูปูเจ็ดสีตัวน้อยเป็นๆวิ่งขึ้นบก ลงน้ำ ซึ่งหากใครที่ไปเที่ยวสระมรกตคงต้องพยายามสังเกตมองหาให้ดี ส่วนเรื่องสีของมันนั้นคนที่สามารถค้นหาสีให้ครบ 7 สีได้ถือว่าเก่งทีเดียว
ปูทูลกระหม่อม
ปูทูลกระหม่อม

จังหวัดมหาสารคาม มีความเป็นเมืองการศึกษามากกว่าเมืองท่องเที่ยว แต่กระนั้นเมืองนี้ก็มีผืนป่าสำคัญอยู่นั่นก็คือ“เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน” อ.นาเชือก

ป่าดูนลำดันขึ้นชื่อเรื่อง “ปูทูลกระหม่อม” ปูหายากที่มีข้อมูลระบุว่าพบที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยมีการค้นพบอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งในนั้นเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ จึงได้มีการกราบทูลขอพระราชทานพระอนุญาต อัญเชิญพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อของปูน้ำจืดชนิดนี้ว่า “ปูทูลกระหม่อม”

ปูทูลกระหม่อม เดิมชาวบ้านเรียกว่า“ปูแป้ง” มีกระดองสีม่วงเปลือกมังคุด ขอบเบ้าตา ขอบกระดอง ขาเดินทั้ง 4 คู่ และก้ามหนีบทั้ง 2 ข้างมีสีเหลืองส้ม ปลายขาข้อสุดท้ายและปลายก้ามหนีบมีสีขาวงาช้าง ด้วยความหายาก พบเพียงแห่งเดียวทำให้ปูชนิดนี้ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 14 ของเมืองไทย
ปูเจ้าฟ้า(ภาพจากเว็บไซต์ อบจ.ระนอง)
ปูเจ้าฟ้า

ปูเจ้าฟ้า” หรือ “ปูสิรินธร” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“ปูน้ำตก” ถูกพบเป็นครั้งแรกที่บริเวณลำธารน้ำตกหงาว อ.เมือง จ.ระนอง ในปี 2529 จากการตรวจสอบพบว่าไม่ปรากฏที่ใดมาก่อน ดังนั้นจึงมีการขอพระราชทานกราบบังคมทูลอัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปูชนิดใหม่นี้ว่า “ปูเจ้าฟ้า

ปูเจ้าฟ้ามีกระดองและก้ามทั้งสองข้างเป็นสีขาว ขาเดินทั้งสี่คู่ เบ้าตาและบริเวณปากเป็นสีม่วงดำ เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน ซึ่งนอกจากจะพบที่น้ำตกหงาวแล้ว ยังมีรายงานการพบปูชนิดนี้ที่ เขาพะเนินทุ่ง แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี, อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี,น้ำตกห้วยยาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
ปูพระพี่นาง(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
ปูพระพี่นาง

ปูพระพี่นาง” พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 บริเวณฝั่งลำห้วย ต.ท่าแฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี หลังจากนั้น ได้รับประทานอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ให้ใช้ชื่อว่า “ปูพระพี่นาง”

ปูพระพี่นาง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปูป่า” มีกระดองสีแดงเลือดนก ขอบกระดอง ขอบเบ้าตา และปากเป็นสีแดงส้ม ขาเดินทั้ง 4 คู่ เป็นสีแดงเลือดนก ยกเว้นตรงปลายประมาณ 1 ใน 3 ของก้ามหนีบทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาว ปูพระพี่นางถือเป็นอีกหนึ่งปูน้ำจืดหายากของเมืองไทย
ปูราชินี
ปูราชินี

ปูราชินี” มีข้อมูล(จากวิกิพีเดีย)ระบุว่าถูกสำรวจค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 ที่จังหวัดนราธิวาสโดยได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ พ.ศ.2535 ว่า “ปูราชินี”

ปูราชินีแม้เป็นหนึ่งในปูหายาก แต่ปัจจุบันสามารถหาดูได้ไม่ยากในพื้นที่พุ(พื้นที่ชุ่มน้ำที่เกิดจากน้ำใต้ดินผุดขึ้นมา) ที่บ้านห้วยเขย่ง โดยเฉพาะที่พุราชินีซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ปูชนิดนี้ไว้ พร้อมจัดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศเดินชมปูไปในพื้นที่พุ

“ปูราชินี” เป็นปูน้ำจืดประเภทปูป่าที่มีสีสันสวยงาม ชาวบ้านนิยมเรียกว่า“ปูสามสี” เพราะในตัวมี 3 สีหลัก ได้แก่ ปากและขาเป็นสีแดงส้ม ก้ามเป็นสีขาว และกระดองเป็นสีน้ำเงินอมม่วง ส่วนบริเวณขอบกระดองจะเป็นสีขาว ปูราชินีบางตัวมีสีคล้ายธงชาติไทย เพราะมีครบทั้งสีแดง ขาว น้ำเงิน

ใครที่เคยไป อ.ทองผาภูมิ ผ่านไปแถวตัวเมืองใกล้ๆตลาด อาจจะสะดุดตากับอนุสาวรีย์ปูที่ตั้งเด่นอยู่ใจกลางเมือง นั่นแหละคือปูราชินี ที่วันนี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์และโลโก้ทางการท่องเที่ยวของทองผาภูมิไปแล้ว

............

และนั่นก็คือเสน่ห์ของปูน้ำจืดหายาก 5 ชนิด อีกหนึ่งดาวเด่นตัวชูโรงคู่แหล่งท่องเที่ยว ที่นอกจากจะมีความแปลกและมีความสวยงามแล้ว สำหรับผมปูถือเป็นสัตว์มีเสน่ห์ชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะท่าเดินที่เป็นเอกลักษณ์โย้ไปเย้มา แม่ปูเดินโย้อย่างไรลูกปูก็เดินเย้อย่างนั้น

แถมปูจำนวนมากยังมีเสน่ห์อย่างเปี่ยมล้นยามที่ผมได้กินมัน โดยเฉพาะปูนึ่ง ปิ้ง ย่าง จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟูดรสแซบ

แต่ปูหลายๆตัวก็ทำเอาผมหมดเสน่ห์ทันทียามเมื่อโดนมัน“หนีบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น