xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักแผ่นดินไหว เข้าใจภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ “พิพิธภัณฑ์อุตุนิยม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
อาคารพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อุตุนิยมวิทยา
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ใน อ.พาน จ.เชียงราย ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานทำเอาผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบเหตุใจหายใจคว่ำกันไปไม่น้อย และสร้างความกังวลให้กับผู้คนในวงกว้าง ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ วันนี้ฉันจึงขอแฟนานุแฟนมิตรรักนักอ่านไปเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลาในวันที่โลกเรามีอารมณ์แปรปรวนอย่างนี้ โดยมากันที่ “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อุตุนิยมวิทยา”

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อุตุนิยมวิทยา หรือที่เรียกสั้นๆว่า “พิพิธภัณฑ์อุตุนิยม” ตั้งอยู่ที่กรมอุตุนิยมวิทยา ถ.สุขุมวิท เขตบางนา สามารถนั่งรถไฟฟ้าลงสถานีบางนาได้เลย เป็นอาคารทรงแปลกตาคล้ายครึ่งวงกลม 2 ชั้น มีลูกกลมๆอยู่ด้านบนหลังคา
กรมหลวงชุมพรฯ พระบิดาอุตุนิยมวิทยาไทย
เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์แนะนำถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คร่าวๆว่า กรมอุตุนิยมวิทยามีหน้าที่โดยตรงจะต้องสื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และการเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดอันตราย และความเสียหายให้กับประชาชน อาทิ อุทกภัย ภัยแล้ง แผ่นดินไหว และสึนามิ เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงจัดแสดงโดยเน้นในเรื่องของสาระ ความรู้ เข้าใจง่าย สวยงาม และสนุกสนานเพลิดเพลิน และในแต่ละห้องการจัดแสดงจะให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสและมีส่วนร่วมในการแสดงนั้นๆด้วย ซึ่งรูปแบบการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งเป็น 6 ห้องจัดแสดงด้วยกัน
ห้องแสดงประวัติอุตุนิยมวิทยา
เราเริ่มจากห้องแรกตั้งแต่เราเปิดประตูก้าวเข้าสู่ตัวอาคารได้แก่ “ห้องโลกแห่งอุตุนิยมวิทยา” ห้องนี้แสดงวิวัฒนาการความรู้ทางอุตุนิยมวิทยา เมื่อต้องผจญกับความกลัว ความเดือดร้อน จากปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นเวลานาน มนุษย์จึงเริ่มสังเกตเหตุการณ์จากธรรมชาติ ทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว จากพืช และพฤติกรรมของสัตว์ มาใช้เป็นลางบอกเหตุ และหันมาศึกษาธรรมชาติอย่างจริงจังทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทำให้มนุษย์ค้นพบสิ่งใหม่ที่ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของแนวความเชื่อเดิมๆ

เรื่องราวของการเดินทางความรู้อุตุนิยมวิทยามีมาตั้งแต่ราวพ.ศ.160-222 สมัยอริสโตเติล ได้อธิบายปรากฏการณ์บนท้องฟ้า การเกิดฝนฟ้าคะนอง ลม หิมะ ลูกเห็บ และเมฆ ต่อมาในช่วงปี 1995-2062 ลีโอนาโด ดาวินชี สังเกตการเคลื่อนที่ของกระแสลมทำให้เกิดการรวมตัวกันของก้อนเมฆ
จำลองเครื่องตรวจแผ่นดินไหวเครื่องแรกของโลก
ในปีต่อๆมา กาลิเลโอประดิษฐ์ปรอท เบนจามิน แฟรงคลินคิดค้นสายล่อฟ้า อังกฤษประดิษฐ์เรดาร์ และการศึกษาด้านอุตุนิยมวิทยายิ่งก้าวไกลเมื่อสหรัฐปล่อยดาวเทียมสำรวจอวกาศดวงแรกชื่อ ไทรอส เมื่อช่วงพ.ศ.2503 นอกจากนี้ยังจัดแสดงสัญลักษณ์ต่างๆที่ใช้ในการบอกสภาพดินฟ้าอากาศด้วย

ถัดไปทางด้านซ้ายมือคือห้องที่ 2 “ห้องบ้านนักพยากรณ์” จัดแสดงรูปหล่อพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้ให้กำเนิดกรมอุตุฯ และพระบิดาของวิชาอุตุนิยมวิทยาในประเทศไทย ประวัติกรมอุตุนิยมวิทยาจากอดีตถึงปัจจุบัน และยังจัดแสดงอุปกรณ์ที่เคยใช้ในการพยากรณ์ในอดีต
รู้จักกับแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ยังจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระอัจฉริยภาพด้านอุตุฯ ในการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ โดยทรงวิเคราะห์ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลเรดาร์ ดาวเทียม และคำพยากรณ์อากาศทั้งของไทยและต่างประเทศ ประกอบเข้ากับสภาพภูมิอากาศในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงการพยากรณ์อากาศที่เชื่อมโยงไปถึงการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆด้วย

จากห้องที่2 เราไปต่อกันที่ห้อง “แผ่นดินและผืนน้ำ” ห้องนี้ถือเป็นไฮไลท์ในช่วงนี้เลยก็ว่าได้ เพราะจัดแสดงเรื่องราวของแผ่นดินไหวโดยเฉพาะในประเทศไทย ทำให้เรารู้ว่าเปลือกโลกเคลื่อนที่ตลอดเวลาในอัตราความเร็ว 0.66-8.50 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งการเคลื่อนที่นี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ การก่อตัวของภูเขา และการเกิดเหวใต้มหาสมุทร
เครื่องตรวจแผ่นดินไหวแบบโบราณ
นอกจากรอยเลื่อนหรือรอยแตกที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวแล้ว มนุษย์เราก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ด้วยเช่นกัน เช่น การสร้างเขื่อนใกล้บริเวณรอยเลื่อน การขุดเจาะภูเขา การทำเหมืองแร่ การระเบิดต่างๆ การทำงานของเครื่องจักร การจราจร เป็นต้น โดยในประเทศไทยเรามี 13 รอยเลื่อนที่ต้องจับตามอง

ส่วน After shock นั้นคือแรงสั่นไหวที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวหลัก เป็นการปลดปล่อยพลังงานของเปลือกโลกเพื่อให้เกิดสมดุล After shockไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทันที อาจทิ้งระยะ 1-2 วันก็เป็นได้
เรียนรู้เรื่องสึนามิ
นอกจากนี้ในส่วนของแผ่นดินไหวยังจัดแสดงวิวัฒนาการเครื่องวัดแผ่นดินไหว ตั้งแต่เครื่องวัดแผ่นดินไหวเครื่องแรกของโลกชื่อ “โหวเฟิง” ที่ถูกคิดค้นในปี ค.ศ.132 โดยจางเหิง นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน และพัฒนาการมาเรื่อยๆจนปัจจุบันเป็นเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่เรียกว่า “Seismograph” ประกอบด้วยเครื่องรับความสั่นสะเทือน แล้วแปลงสัญญาณเป็นสัญญาณไฟฟ้า จากนั้นถูกขยายด้วยระบบขยายสัญญาณและแปลงกลับมาเป็นการสั่นไหวของปากกาที่บันทึกบนแผ่นกระดาษ ทำให้เราทราบว่าคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางมาถึงสถานีเมื่อไร
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯมีหูฟังสำหรับบรรยายเรื่องราวต่างๆ
เมื่อแผ่นดินไหวในบางครั้งอาจเกิดสึนามิหรือคลื่นยักษ์ตามมา สึนามิจะมีลักษณะที่ไม่เหมือนใครคือคลื่นสึนามิจะเดินทางช้าลงในน้ำตื้น ในขณะที่ความสูงของคลื่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนขนาดของคลื่นก็จะมีความแตกต่างกันมากบางครั้งอาจมีขนาดเล็กสูงประมาณ 1 ซ.ม. หรือบางครั้งอาจมีขนาดใหญ่สูงถึง 10 ม. หรือมากกว่าก็เป็นได้

จากนั้นเราขึ้นไปยังชั้นบนเพื่อชมในห้องจัดแสดงถัดไป คือ “ห้องไขปริศนาแห่งท้องฟ้า” ในส่วนนี้จัดแสดงเรื่องราวของชั้นบรรยากาศต่างๆของโลก และการเกิดฤดูกาล ซึ่งเกิดจากที่โลกที่มีแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา โคจรรอบดวงอาทิตย์ใน 1 ปี ทำให้ทุกพื้นที่ของโลกได้รับความร้อนที่แตกต่างกัน
เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน
รู้จักกับชั้นบรรยากาศต่างๆของโลกเราแล้วก็ไปยัง “ห้องส่วนผสมของสภาพอากาศ” กันต่อ ห้องนี้เราจะได้รู้ว่าอากาศก็มีน้ำหนัก โดยน้ำหนักของอากาศก็คือความกดอากาศนั่นเอง โดยมีบารอมิเตอร์เป็นเครื่องมือวัดความกดอากาศ นอกจากนี้ยังมีเครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้นสตีเวนสัน เครื่องวัดน้ำฝน เครื่องวัดทิศทางและแรงลม ที่เราสามารถลองเล่นได้จริง อีกทั้งยังจัดแสดงเรื่องของกระแสน้ำและกระแสลม ปรากฏการณ์ลานีญา และเอลนีโญด้วย
เครื่องมือวัดปริมาณและทิศทางลม
และสุดท้ายในห้องที่ 6 คือ “ห้องปฏิบัติการของนักอุตุนิยมวิทยา” จัดแสดงเรื่องราวสาเหตุของชั้นโอโซนถูกทำลาย ทำให้โลกร้อน ทั้งสาเหตุจากมนุษย์ ตัวของโลกเอง และภูเขาไฟระเบิด และบอกเล่าถึงการตรวจอากาศ และการสื่อสารข้อมูลอุตุนิยมวิทยา

โดยประเทศไทยมีศูนย์ตรวจสอบสภาพอากาศในรัศมีทุกๆ 150 กม. และศูนย์เหล่านี้จะส่งข้อมูลหลักทุกๆ 6 ชม. เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สภาพอากาศ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยข้อมูลการตรวจสภาพอากาศจากต่างประเทศมาประกอบการพยากรณ์อากาศด้วย ซึ่งเครื่องมือในการตรวจสภาพอากาศ เช่น เรดาร์ ดาวเทียม เครื่องมือตรวจอากาศพื้นผิว เครื่องมือตรวจชั้นบรรยากาศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาสร้างแผนที่อากาศในทุกๆวันวันละ 2 ฉบับ
คำศัพท์พยากรณ์อากาศต่างๆ
อีกทั้งยังมีคำศัพท์ทางการพยากรณ์อากาศ เช่น ฟ้าหลัว กระจายเป็นแห่งๆ เมฆเป็นส่วนมาก เป็นต้น ให้เราได้เข้าใจกันมากขึ้น หลังจากชมพิพิธภัณฑ์ครบทุกห้องแล้ว สุดท้ายมีเกมตอบคำถามเพื่อตรวจเช็คว่าเราจดจำความรู้ที่ได้รับไปมากเพียงใดด้วย

และนี่ก็คือแหล่งข้อมูลความรู้อันทรงคุณค่าภายในพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อุตุนิยมวิทยา ที่สามารถไขความกระจ่างเรื่องดิน ฟ้า อากาศ รวมถึงให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ
ภายในส่วนห้องปฏิบัติการฯและเกมคำถามทบทวนความจำ
ทั้งนี้การได้เรียนรู้ทำความเข้ากับมัน นอกจากจะทำให้เราสามารถรับมือกับภัยภิบัติต่างๆได้อย่างมีสติ ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังช่วยให้เราไม่ตื่นตระหนกต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งเดิมสิ่งต่างๆเหล่านี้อาจจะดูไกลตัวสำหรับคนไทย แต่ปัจจุบันนี้มันได้คืบคลานใกล้ตัวเรามามากขึ้นทุกที

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อุตุนิยมวิทยา” ตั้งอยู่ภายในกรมอุตุนิยมวิทยา ถ.สุขุมวิท เขตบางนา กรุงเทพฯ เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. การเดินทางสามารถขึ้นทางด่วนลงสมุทรปราการ หรือรถไฟฟ้าBTS ลงสถานีบางนา สอบถามข่าวพยากรณ์อากาศ โทร. 0-2399-4012-3 หรือสอบถามข้อมูลแผ่นดินไหว โทร.0-2399-4547, 0-2399-0965

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!!
กำลังโหลดความคิดเห็น