xs
xsm
sm
md
lg

มอง ‘รหัสลับ’ ก่อการร้าย ผ่านศาสตร์ ‘วิทยาการเข้ารหัสลับ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จะว่าไปแล้วเรื่องราวของรหัสลับนั้นก็มีมาช้านาน ซึ่งเป็นกลไกคัดกรองผู้รับข้อมูลข่าวสารจำเพาะกลุ่ม ที่ดูๆ แล้วจะได้ผล หากทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารมีประสบการณ์ร่วมกันกับเรื่องลับๆ ที่ถูกเข้ารหัสไว้

แม้ข่าวคราวก่อการร้ายกรณีเหตุระเบิด 3 จุดในกรุงเทพฯ จะเริ่มซาไปตามกาลเวลา แต่เรื่องราวปริศนาของสติกเกอร์ต้องสงสัยที่ปรากฏข้อความ SEJEAL (ตามภาษาอาหรับอ่านว่า ซิสยีนส์) ที่ติดอยู่ตลอดแนวถนนย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ก็สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชนอยู่จำนวนไม่น้อย และยังไปพบสติกเกอร์อีกจำนวนหนึ่งที่บ้านของ โรฮานี ไลลา ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย

ก็กลายเป็นข้อสงสัยขึ้นมาว่าสติกเกอร์พิมพ์ข้อความดังกล่าวแฝงนัยของ ‘รหัสลับ’ สู่ประเด็นก่อการร้ายหรือไม่

เป็นที่น่าขบคิดเหมือนกันว่า รหัสลับโดยเฉพาะรหัสที่ประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะกาล อย่างกรณีก่อการร้าย หรืออื่นๆ นั้นมีวิธีการคิดขึ้นมาอย่างไร แล้วการถอดรหัสของฝ่ายตรงข้ามจะสามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เหล่านี้ก็คงต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างของรหัสลับกันเสียก่อน

ทฤษฎีรหัสลับสู่…

“เรื่องของรหัสและการเข้ารหัสถอดรหัสนั้นมันไม่ได้เป็นคณิตศาสตร์อย่างเดียว แต่มันเป็นสหสาขาเสียมากกว่า คือมันเกิดมาจากความวุ่นวายเรื่องของการมีความลับของมนุษย์นั่นเอง ไม่อยากให้คนอื่นรู้ความลับก็เลยมีการสื่อสารกันผ่านรหัส และในหลายๆ เรื่องการรู้เขารู้เรามันก็เป็นเรื่องได้เปรียบ ดังนั้นคนที่ไม่รู้ก็อยากรู้ความลับของคนอื่น มันก็มีการถอดรหัสเกิดขึ้น เริ่มจากปัญหาของมนุษย์ เป็นเรื่องทางโลกนั่นแหละ”

นที ทองศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าให้ฟังถึงที่มาของการเกิดการเข้ารหัสถอดรหัส ซึ่งแรกเริ่มมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่มันก็ได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันเกิดเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘วิทยาการเข้ารหัสลับ’ (cryptography) ขึ้น โดยมีวิชาเกี่ยวกับการแปลงข้อความปกติให้กลายเป็นข้อความลับ โดยข้อความลับคือข้อความที่ผู้อื่น นอกเหนือจากคู่สนทนาที่ต้องการ ไม่สามารถทำความเข้าใจได้

“ความจำเป็นในการสื่อสารอย่างหลบๆ ซ่อนๆ มันก็นำไปสู่วิธีการ ซึ่งแรกๆ นั้นมันไม่ได้มีการเอาการเข้าหรือถอดรหัสแบบคณิตศาสตร์เข้าไปใช้สักเท่าไหร่ แต่จะเป็นเรื่องของการสื่อสารด้วยภาษามากกว่าไม่ว่าจะเป็นภาษาจริงๆ หรือภาษาภาพ มีการแทนค่าเกิดขึ้นหรือไม่ก็เป็นวิธีการต่างๆ อย่าง ตัวอักษรภาษาอังกฤษ 26 ตัว แทนที่จะเขียนธรรมดาก็เอามาสลับกัน หรือเอามาทำเป็นโค้ดลับที่รู้กันแค่สองคน ในสมัยโบราณจะเริ่มด้วยวิธีเหล่านี้ จากนั้นมามันก็ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดูในประวัติศาสตร์มันเริ่มมีการเข้ารหัสกันตั้งแต่สมัยโรมันของจูเลียต ซีซาร์ กันแล้ว”

นที กล่าวต่อไปว่า ถ้ามันมีวิธีเข้าก็ต้องมีวิธีถอด ซึ่งศิลปะของมันการพยายามทำให้คนที่เราต้องการอ่านสามารถเข้าใจ

“คือสำหรับคนไม่อยากให้เขาอ่านได้ คนเข้ารหัสก็จะพยายามไม่ให้คนนั้นรู้เรื่อง และคนที่อยากรู้ก็จะพยายามที่จะหาวิธีมารู้ให้ได้ นั่นคือปัญหาโลกแตกของการเข้ารหัส และบางทีแม้แต่คนเข้ารหัสเองลืมวิธีการที่ใช้ เขาก็ไม่สามารถถอดได้เหมือนกัน รหัสอันนั้นก็ไม่เหลือประโยชน์ และหัวใจของการเข้ารหัสคือวิธีการ หรือที่เรียกกันว่า กุญแจ ซึ่งผู้สร้างรหัสต้องส่งกุญแจนี้ไปให้กับผู้ถอดให้ได้ แต่ถ้ากุญแจไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้ามรหัสนั้นก็จะไม่ลับอีกต่อไป"

อย่างไรก็ตาม นที แสดงทัศนะทิ้งท้ายว่า เรื่องของสติกเกอร์ที่เป็นข่าวนั้น ไม่ถึงขั้นเป็นรหัสลับ เสมือนเป็นการทำเครื่องหมายไว้มากกว่า อาจต่างกับการเอาสีสเปรย์มาพ่นกากบาทไว้แค่นิดเดียว

เมื่อ (รหัส) ลับ กลายเป็นเรื่องไม่ลับ

เป็นที่ทราบกันดีว่าคุณสมบัติของรหัสลับ จะเข้าใจกันเฉพาะคนหรือเฉาพะกลุ่ม ซึ่งคนนอกไม่มีทางหรือยากจะเข้าใจได้ พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง ในฐานะนักวิชาการด้านความมั่นคง ยกตัวอย่างกรณี สติกเกอร์ SEJEAL หลังเหตุระเบิดกลางเมือง 3 จุด ซึ่งหากพิจารณาที่ตัวคำโดยเฉพาะก็คงไม่มีนัยอะไรมากมายนัก แต่อาจจะเป็นสัญลักษณ์เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างของกลุ่มก่อการร้าย

"หลายคนดูถูกว่า คนจะมาทำงานลับจะต้องทิ้งหลักฐานไว้ไหม ผมคิดว่าถ้าเราไม่มีระเบิดหรือการตรวจสอบ เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะคนปกติไม่ได้สังเกตอยู่แล้ว แต่มันจะช่วยเรามาก เวลาที่ทำงานในที่ซึ่งไม่รู้จัก วิธีนี้เป็นวิธีง่ายสุดที่จะทำให้เราเข้าสู่เป้าหมายและออกจากเป้าหมาย เอาง่ายๆ สมมติปะทะกับหน่วยวีไอพีหรือรักษาความปลอดภัย หรืออยู่ในสภาวะกดดัน ไม่ชำนาญพื้นที่ ผมหลงแน่นอน อย่างทหารทำงานในป่าก็ทิ้งสัญลักษณ์ไว้ โดยที่ผ่านมาในภารกิจหรือการงานสลับซับซ้อนใหญ่ๆ ก็มีการทำแบบนี้มากมาย เช่น ถ้าเราไปทำงานที่ใดที่หนึ่ง ก็คิดคำขึ้นมาคำหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ไว้ ซึ่งไม่มีนัย เป็นโค้ดลับที่ทำเฉพาะกลุ่มมากกว่า

“ทำเป็นจุดนัดพบ ณ ที่หมาย หมายถึงเวลาเกิดเหตุ เรานึกอะไรไม่ออกหรอก เราจะพูดว่าทิศทาง 10 นาฬิกา ก็คือถ้าเกิดปัญหาขึ้น ทุกคนจะไปที่นั่น และระหว่างทางก็จะทำสัญลักษณ์ไว้ตลอด แสดงว่าเราผ่านทางนั้น แล้วบางทีคำนั้นๆ อาจจะไม่มีความหมายอะไรเลยด้วยซ้ำ เช่น คำทักทายบอกฝ่าย คนหนึ่งอาจจะพูดว่าไฟแช็ก อีกคนอาจจะตอบว่า ไม้ขีดไฟ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน คือแบบนี้บางคนอาจจะคิดว่า ทำไปทำไม ทำไมไม่สำรวจพื้นที่ไว้ก่อน แต่ถ้าภายใต้สถานการณ์จริงๆ เก่งแค่ไหนก็มีสิทธิ์หลุดได้ทั้งนั้น”

สำหรับกรณีดังกล่าว คำข้างในมันค่อนข้างจะชี้ในประเทศที่หลายคนเชื่อว่าเป็นผู้ลงมือกระทำมากเกินไป สมมติเป็นคนอิหร่านที่กระทำเพื่อส่งต่อไปถึงอุดมการณ์สูงสุด ทำไมเขาไม่ใช้ภาษาอาหรับ ซึ่งปกติทางทหารสัญญาณบอกฝ่ายกลางค่ำกลางคืนก็จะมีการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

บางทีอาจคล้ายๆ กับป้ายเงินกู้ที่ติดไปแล้วไม่มีใครให้ความสำคัญ พ.อ.ดร.ธีรนันท์ กล่าวว่า การทำไปให้ความสนใจเรื่องนี้มากๆ อาจจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติในระยะยาวมากกว่า เพราะมันจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสงครามข่าวสารระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล

วิทยาการเข้ารหัสลับในโลกวรรณกรรม

รหัสลับไม่เพียงปรากฏอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ในแวดวงวรรณกรรมก็มีการนำเรื่องของรหัสลับเข้ามาผูกโยงเรื่องได้อย่างมีอรรถรส ผู้เขียนบทความเรื่อง ‘รหัสลับนาโนเทคโนโลยีใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code)’ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา นักวิชาการประจำ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยบริการวิเคราะห์ทดสอบทางด้านนาโนเทคโนโลยี กล่าวถึงนวนิยายเรื่องรหัสลับดาวินชีที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

สำหรับเรื่อง รหัสลับดาวินชี นั้นก็จะพูดถึงเลขอยู่ตัวหนึ่ง ที่เรียกว่า phi ซึ่งเป็นรหัสตัวหนึ่งที่ถูกหยิบเอามาใช้เป็นรหัสลับเพื่อปกปิดความลับบางอย่างของศาสดาของศาสนาคริสต์ ซึ่งในความเป็นจริงก็มีการศึกษาพบว่าธรรมชาติได้ใช้กลุ่มเลขดังกล่าวในการเรียงตัว เป็นรหัสธรรมชาติที่มีอยู่จริง

“เราไปพบว่าทั้งพืช สัตว์ อวัยวะ หรือแม้กระทั่งสถาปัตยกรรมยุคโบราณมีความเกี่ยวกับตัวเลข phi มันเป็นรหัสลับที่ธรรมชาติมีอยู่จริงแล้วเขาก็ผูกเรื่องเข้าไป เนื้อเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ก็พยายามดึงศาสนามาเกี่ยว เป็นการต่อสู้ระหว่างคริสต์ศาสนากับวิทยาศาสตร์ รหัส phi เป็นรหัสที่คริสต์ศาสนาก็รู้อยู่ ทางวิทยาศาสตร์เองก็มีการศึกษาอยู่ มันก็เหมือนเป็นจุดร่วม”

ไม่ว่าจะโลกวรรณกรรมหรือโลกแห่งความเป็นจริง รหัสลับจะถูกสร้างมาจากวัฒนธรรมความเชื่อในกลุ่มนั้นๆ อย่างปัจจุบันเทคโนโลยีก็จะมีพัฒนาการในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย ที่ผู้ก่อการร้ายใช้ในการสื่อสารกัน ยกตัวอย่างสมัยก่อนสมัยสงครามโลก เยอรมนี, ญี่ปุ่นใช้รหัสการสื่อสาร ซึ่งทางฝั่งของอเมริกา ก็สามารถสร้างเครื่องถอดรหัสออกมาได้ ซึ่งมีผลอย่างมากในการชนะสงคราม

“จริงๆ รหัสวิทยา ก็จะมีการศึกษาเป็นขั้นๆ อย่างเรื่องการวางระเบิดก็จะมีการศึกษากันจนรู้ว่ากลุ่มไหนเป็นคนทำ ก็คือเวลาทำทุกอย่างจะทิ้งเป็นลายเซ็น มีวิธี มีองค์ประกอบที่บอก พวกรหัสก็คล้ายๆ กัน ถ้าศึกษากันจริงๆ ก็จะบอกได้ว่ารากของมันใช้ซ้ำ หรือเชื่อมโยงกันอย่างไร อย่างของสุขุมวิทที่เราโดนระเบิด ถ้าดูในประเทศเราก็ไม่คิดว่ามันจะเชื่อมโยงอะไร แต่พอไปดูว่ามันคล้ายกับหลายๆ ประเทศในเวลาเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องในระดับนานาชาติแล้ว มันมีความเหมือนกันบางอย่าง”
..........

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคมก็คงส่งผลให้องค์ประกอบของ ‘รหัสลับ’ อาจมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนและเป็นการยากที่คนนอกจะสามารถทำความเข้าใจ สำหรับรหัสลับในการก่อการร้ายถึงแม้อาจยากที่จะเข้าใจ แต่คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสาวไส้ไปถึงต้นตอเพราะรหัสลับแต่ละตัวก็ล้วนมลายเซ็นจำเพาะกำกับอยู่
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น