ผลการทดลองในไก่ทำให้เกิดคำถามถึงความปลอดภัยของอนุภาคนาโนที่มนุษย์ผลิตขึ้น ซึ่งถูกใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมอาหารและยา แต่หลังจากให้ไก่กินอาหารที่มีส่วนผสมของอนุภาคนาโนอย่างต่อเนื่อง พบการเปลี่ยนรูปไปของอวัยวะดูดซึมภายในลำไส้
การทดลองดังกล่าวนั้นเอเอฟพีระบุว่าทางทีมวิจัยได้ทดลองให้ไก่ได้รับปริมาณอนุภาคโพลีสไตรีน (polystyrene) ขนาด 50 นาโนเมตรอย่างเกินขนาด โดยเคลือบกับเหล็กที่ปกติร่างกายจะไม่ดูดซึม แล้วผสมในอาหารปกติ ไก่เหล่านั้นได้รับอนุภาคนาโนอย่างต่อเนื่องและพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของ “วิลลัส” (villus) อวัยวะสำคัญในการดูดซึมอาหารที่มีลักษณะคล้ายนิ้วยื่นอยู่ภายในลำไส้
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอวัยวะดูดซึมอาหารของไก่นี้หมายความว่าวิลลัสจะมีพื้นที่ในการดูดซึมเหล็กได้มากขึ้น โดยทีมวิจัยระบุด้วยว่า การได้รับอนุภาคนาโนในปริมาณเกินขนาดอาจส่งผลกระทบต่อการดูดซึมแคลเซียม ทองแดง สังกะสี รวมถึงวิตามิน เอ ดี อี เค ด้วย แต่ว่ายังต้องมีการศึกษาวิจัยให้มากกว่านี้
งานวิจัยนี้นำโดย ไมเคิล ชูเลอร์ (Michael Shuler) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งได้ทดลองผลกระทบของอนุภาคนาดนต่อไก่ ซึ่งเป็นตัวแทนในการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสำไล้ของมนุษย์ และพวกเขายังได้ทดสอบในเซลล์เพาะเลี้ยงที่ได้จากเยื่อบุภายในลำไส้ของมนุษย์ด้วย ส่วนไก่ที่ถูกนำมาทดลองก็ได้รับปริมาณอนุภาคนาโนในปริมาณที่เทียบเท่ากับที่มนุษย์ผู้ใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วได้รับ เมื่อคำนึงถึงปริมาณน้ำหนักต่อน้ำหนัก
“ชั้นเยื่อบุผิวภายในลำไส้นั้นเป็นเสมือนด่านแรกที่อนุภาคนาโนซึ่งถูกกลืนกินเข้าไปนั้นจะต้องผ่านเข้าสู่ร่างกาย สำหรับอนุภาคโพลรสไตรีนที่ใช้ในการทดลองนี้เป็นอนุภาคที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าไม่มีพิษ แต่ปฏิสัมพันธ์ของอนุภาคดังกล่าวต่อกระบวนการเชิงกายวิภาคทั่วไปนี้บ่งชี้ถึงกลไกที่มีศักยภาพในการตอบสนองที่เป็นอันตรายเรื้อรังแต่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” คำอธิบายของงานวิจัยที่ปรากฏในวารสารเนเจอร์นาโนเทคโนโลยี
ทั้งนี้ อนุภาคนาโนที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการทางวิศวกรรมนั้นถูกใช้อย่างแพร่หลายในรูปของไททาเนียมไดออกไซด์ และอลูมิเนียมซิลิเกตเพื่อใช้นำส่งยาและอาหาร โดยใช้เป็นตัวคงสภาพหรือเป็นสารป้องกันการจับตัวในรูปของเหลวหรือครีม