เอเอฟพี - อุณหภูมิในออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่น่าเป็นห่วง และอาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้งยิ่งกว่าเดิม แม้จะเพิ่งผ่านพ้นอุทกภัยไปหมาดๆ ก็ตาม นักวิทยาศาสตร์แถลงในรายงานสภาพอากาศ ซึ่งเตือนให้เฝ้าระวังภัยแล้ง ตลอดจนพายุที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น วันนี้(14)
อุณหภูมิช่วงกลางวันในออสเตรเลียสูงขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 0.9 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ปี 1911 และแต่ละทศวรรษก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าทศวรรษก่อนหน้า นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา รายงานจากองค์การ CSIRO และสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย ระบุ
จากการประเมินสภาพอากาศ พบว่า อุณหภูมิในออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นอีกระหว่าง 1.0-5.0 องศาเซลเซียส ภายในปี 2070 หากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังอยู่ในระดับที่คาดการณ์
“ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในระดับนี้เกิดขึ้นน้อยมาก มันจะเกิดก็ต่อเมื่อมีอุกกาบาตพุ่งชนโลก หรือเกิดการระเบิดของภูเขาไฟ” คาร์ล บรากันซา หัวหน้าแผนกตรวจสอบสภาพอากาศ สำนักอุตุนิยมวิทยา ระบุ
“แต่ที่ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นก็เพราะว่า เรายังขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลและเผาผลาญมันทั้งหมด และทำอย่างรวดเร็วมากด้วย” บรากันซา ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีวิทยุ เอบีซี
ออสเตรเลียคุ้นเคยกับภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง, พายุไซโคลน, ไฟป่า และอุทกภัย ซึ่งจากรายงานสภาพอากาศปี 2012 (State of the Climate 2012) พบว่า ขณะที่ภาคใต้จะประสบภัยแล้งรุนแรงขึ้น แต่ปริมาณฝนในประเทศก็จะสูงขึ้นด้วย เหมือนเช่นที่ทำให้เกิดอุทกภัยในรัฐควีนส์แลนด์มาแล้ว
ภาคตะวันออกของออสเตรเลียเคยผ่านอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงรอยต่อปี 2010-2011 โดยกินบริเวณกว้างพอๆ กับฝรั่งเศสและเยอรมนีรวมกัน ภัยธรรมชาติครั้งนั้นคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 30 ราย ทั้งยังส่งผลให้พื้นที่การเกษตรและเหมืองถ่านหินเสียหายย่อยยับ
อุทกภัยดังกล่าวเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งทำให้มีฝนตกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และถือเป็นปีที่ออสเตรเลียมีอุณหภูมิต่ำที่สุด นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี รายงานสภาพอากาศชี้ว่า ภัยพิบัติดังกล่าวไม่ได้แปลว่าแนวโน้มของภาวะโลกร้อนกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
“อุณหภูมิที่สูงขึ้นในออสเตรเลียยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลก ซึ่งมีการบันทึกไว้ในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา” รายงานเผย
ทั้งนี้ คาดว่า อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในออสเตรเลียจะสูงขึ้นประมาณ 0.6-1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับสถิติอุณหภูมิระหว่างปี 1980-1999