xs
xsm
sm
md
lg

"เซ็กเกี๋ยกั้ง" อุทัยธานี “ถนนสั้น ตำนานยาว”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
ถนนคนเดินตรอกโรงยา เซ็กเกี๋ยกั้ง
       น้ำสะแกกรัง รี่ไหล สู่เจ้าพระยา
คลื่นซัดกวาดพา วีรชน หล่นลับหาย
ถูกผิดแพ้ชนะ วัฏจักร เวียนว่างดาย
ภูเขายังคง ตะวันยังฉาย นานเท่านาน
       แพกลางชล คนตัดฟืนผมขาว เฒ่าหาปลา
สารทวสันต์เห็นมา เหลือหลาย ที่กรายผ่าน
สรวลสุราขุ่น ป้านใหญ่ ให้ตำนาน
เก่าๆ ใหม่ๆ เสพสราญ ว่ากันไป...

บทกลอน “เซ็กเกี๋ยกั้ง” จากหน้าร้านปุ๋มกาแฟสดโบราณ

............................
ตรอกโรงยามีชื่อมาจากชุมชนที่มีโรงยาฝิ่นโดยถูกกฎหมายในสมัยก่อน
"เซ็กเกี๋ยกั้ง"

แม้จะไม่ใช่พวกหูผึ่ง ตาโต ยามได้ยินได้เห็นอะไรเกี่ยวกับเซ็กๆ แต่เมื่อได้เห็นป้ายชวนเที่ยว “ถนนคนเกินตรอกโรงยา เซ็กเกี๋ยกั้ง” มันก็ทำให้ผมอดสนใจและสงสัยไม่ได้ว่าชื่อเซ็กเกี๋ยกั้งนี้ได้แต่ใดมา

เรื่องนี้เพียงแค่ไม่กี่อึดใจหลังยืนเก้ๆกังๆอยู่หน้าป้าย ผมก็ได้คำตอบจากคุณลุงผู้ใจดีในละแวกนั้นว่า เซ็กเกี๋ยกั้ง เป็นภาษาจีนที่เพี้ยนมาจากคำว่า “สะแกกรัง” แม่น้ำสายหลักที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวอุทัยมาช้านาน
ตรอกโรงยาในวันธรรมดากับบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา
ย้อนรอยเซ็กเกี๋ยกั้ง

ชุมชนบ้านเซ็กเกี๋ยกั้ง(สะแกกรัง) เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานรกรากมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมัยนั้นชาวจีนได้ล่องเรือมาทางแม่น้ำสะแกกรัง เข้ามาค้าขายข้าวเปลือก,ไม้สัก และสินค้าต่างๆ พร้อมกับตั้งเป็นชุนชนไทย-จีนขึ้น และชุมชนแห่งนี้ก็เติบโตพัฒนาขึ้นตามลำดับ

“เมื่อก่อนทางการให้ชาวจีนในชุมชนแห่งนี้ดูแลกันเอง พวกเขามีการจัดตั้งสมาคมอั้งยี่ขึ้น ให้“เจ๊กซอย” ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นผู้ดูแล ในช่วงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่นี่มีการตั้งโรงยาฝิ่นขึ้น ชาวบ้านสามารถสูบฝิ่นกันได้อย่างถูกกฎหมาย จึงกลายเป็นที่มาของชื่อตรอกโรงยาในยุคถัดมา” พี่ปราโมช เลาหวรรณชนะ แห่งร้าน“บ้านนกเขา” ในชุมชนแห่งนี้ย้อนอดีตให้ผมฟัง
ถนนคนเดินตรอกโรงยา สีสันใหม่ของอุทัยธานี
ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2500 โรงยาฝิ่นจำต้องปิดตัวลงตามคำสั่งของทางการ แต่นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นด้านอาหารการกินบนถนนสายนี้ ยุคนั้นที่นี่มีของกินอร่อยๆขึ้นชื่ออยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวต้มกุ๊ยในเป็งเฮียง ร้านอาหารจีนของนายท่งเจือ บะหมี่ก๋วยเตี๋ยวหมูนายไกว้ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายตี่เกี๋ยและนายเซี๊ยะ ส่วนในปัจจุบันที่นี่ยังคงมีร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ ข้าวหมูแดง ขนมแคะ เป็ดพะโล้ ต้มเลือดหมู กาแฟโบราณ และขนมอร่อยอีกจำนวนหนึ่ง

“ที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของคณะ “ล่อโก๊ว” คณะดนตรีจากจีน ที่ยังคงมีการสืบทอดการแสดงมาจนทุกวันนี้ และในนี้ยังมี “โกวเต็ง” รถกลองโบราณ ที่เดิมจะมีประเพณีแห่รถกลองในทุกๆ 12 ปี แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเป็นทุกๆ 3 ปี หมุนเวียนไปใน 4 ศาลเจ้า”พี่ปราโมชบอกกับผม
ของกินเจ้าเก่า
นอกจากจะเป็นถนนสายอาหารย่านการค้าสำคัญในอดีตแล้ว ชุมชนเซ็กเกี๋ยกั้งยังดูดีมีเสน่ห์ไปด้วยอาคารเรือนแถวไม้เก่าแก่ที่มีอายุยาวยานกว่า 100 ปี ที่ยังหลงเหลือและคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในตัวเมืองอุทัย

ชุมชนเซ็กเกี๋ยกั้ง ตรอกโรงยา หลังจากที่วิถีการค้าบนถนนสายนี้ได้ซบเซาไปพักใหญ่ มาวันนี้ชุมชนแห่งนี้ได้กลับมาคึกคักอีกครั้งกับถนนคนเดินที่เป็นดังสีสันใหม่ของจังหวัดอุทัยธานี

ถนนสั้น ตำนานยาว

ว่างเว้นจากการไปอุทัยธานีมาร่วม 3 ปี

การกลับมาเยือนอุทัยแบบไม่อุทธรณ์ของผมครานี้ นอกจากจะพบว่าชาวอุทัยไม่เอาโลตัสแล้ว ยังพบว่าพวกเขาเลือกที่จะเก็บเรือนบ้านอาคารไม้เก่าแก่ไว้ พร้อมกับนำไปต่อยอดพัฒนาเมือง ภายใต้กรอบ “การพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยซึ่งส่งเสริมเอกลักษณ์ของเมือง” โดย“คณะกรรมการพัฒนาเมืองอุทัย” อันเกิดจากการรวมกลุ่มกันของ 15 ชุมชน และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มุ่งมองไปที่ย่านศูนย์กลางเมืองเก่า ที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต สถาปัตยกรรมเก่าแก่ และวัฒนธรรมผสมไทย-จีน อันมีเอกลักษณ์ ก่อนผลักดันให้เกิดเป็นถนนคนเดิน ภายในแนวคิด “ถนนสั้น ตำนานยาว” ที่เปิดตัวมาได้ประมาณปีกว่าๆ
มุมกิจกรรมของหนูๆ
ถนนคนเดินแห่งนี้ทางคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุทัย มีเป้าประสงค์ต้องการเป็นการจุดประกายปลุกชาวบ้านให้“ตื่น” และหันมามองรากเหง้าเข้าใจพื้นฐานชุมชนของตัวเอง สร้างความร่วมมือในชุมชน สร้างแหล่งเชื่อมโยงอดีตจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ สร้างสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนในช่วงวันหยุดของชาวอุทัย ควบคู่ไปกับการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่จะก่อให้เกิดมีรายได้ในพื้นที่ตามมา โดยมีข้อกำหนดว่าผู้ที่จะมาเปิดร้านค้าขายบนถนนคนเดินต้องเป็นชาวอุทัยเท่านั้น

สำหรับถนนคนเดินตรอกโรงยา เซ็กเกี๋ยกั้ง เป็นถนนสายสั้นประมาณไม่เกิน 200 เมตร เปิดในวันเสาร์ตั้งแต่เวลาประมาณ 3 โมงเย็นไปจนถึง 3 ทุ่ม
ช็อคโกแลตฟองดูว์ ของว่างคนรุ่นใหม่บนถนนสายเก่า
ในวันปกติบนถนนสายนี้มีบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา ต่างไปจากในวันเปิดถนนคนเดินที่จะเปลี่ยนไปกลายเป็นถนนที่คึกคัก มากไปด้วยร้านอาหาร สินค้า ของที่ระลึก ซึ่งพวกเขากำหนดไว้ให้เป็นทิศทางเดียวกัน อีกทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆสร้างสีสัน ที่นอกจากจะเป็นการสร้างสีสันแล้ว ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น การเรียนรู้ในภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น

ในวันที่ผมไปเดินเที่ยวชมถนนคนเดินตรอกโรงยานั้น นอกจากจะอิ่มหนำไปกับการซื้อและหม่ำของกินมากมายที่วางขายแล้ว ยังเพลินตาไปกับสินค้าต่างๆ ที่สำคัญคือผมได้เจอกับร้านค้าน่าสนใจ 2-3 ร้าน ที่ถือนอกจากจะเป็นไฮไลท์ เป็นสีสัน และเป็นจุดถ่ายรูปสำคัญบนถนนสายนี้แล้ว ร้านรวงพวกนี้ยังมีเรื่องราวและเรื่องเล่าต่างๆมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังแก่ผู้ที่สนใจ อย่างเต็มใจ เป็นกันเอง เปี่ยมมิตรไมตรี มากไปด้วยรอยยิ้ม
ลีลาการชงกาแฟของร้านปุ๋ม
ร้านแรกเป็น ร้าน“ปุ๋ม” กาแฟสดโบราณ มองผ่านๆดูเหมือนร้านกาแฟทั่วไป แต่ทางร้านมีบรรยากาศการตกแต่งที่น่าชม น่านั่ง ที่สำคัญคือคนขายน่ารักชนิดไม่ซื้อไม่ว่า แค่เข้าไปถ่ายรูปภายในร้าน พี่แม่ค้าคนขายก็ถือว่านี่เป็นการใช้ภาพช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับถนนคนเดินแห่งนี้แล้ว ซึ่งนั่นถือเป็นวิธีการขายแบบไม่ต้องขาย จนผมที่ไม่ค่อยนิยมดื่มกาแฟเท่ากับการดื่มสุราอดไม่ได้ที่จะต้องสั่งกาแฟสดจากร้านของคุณพี่แกมาดื่ม

ในร้านปุ๋มยังมีผนังภาพงานสเก็ตดีไซน์ เขียนเป็นผังบริเวณ(Lay Out) ผังร้าน(Plan) ภาพถ่ายและภาพสเก็ต นำเสนอให้เห็นเกี่ยวกับแนวคิด กระบวนการปรับปรุงอาคารไม้ในตรอกโรงยา ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่ทำให้เราสามารถเห็นภาพคร่าวๆของการก่อเกิดถนนคนเดินแห่งนี้ได้พอสมควร
ปราโมช เลาหวรรณชนะ กับร้าน“บ้านนกเขา”
ร้านถัดมาเป็นร้าน“บ้านนกเขา” ที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ จิปาถะมากมาย อาทิ ทีวี วิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง โต๊ะ เก้าอี้ พัดลม เครื่องมือช่าง ถ้วยโถโอชาม ฯลฯ พร้อมทั้งภาพถ่ายเก่าแก่หายากของชุมชน และเจ้านกแก้วรับแขกตัวสีเหลืองที่ในวันมีถนนคนเดิน มันจะไปเกาะคอนโชว์ตัวที่ป้ายถนนคนเดินทางด้านฝั่งถนนมหาราช

ที่สำคัญคือร้านนี้มีพี่ปราโมช เลาหวรรณชนะ ที่เป็นดังคลังข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชุมชนมาคอยบอกเล่าให้ความรู้กับผู้สนใจ ซึ่งแกได้เล่าเรื่องราวมากหลายของชุมชนแห่งนี้ให้ผมฟังดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น
สุวรรณโชค เหล่าฤชุพงศ์ สาธิตการใช้เครื่องชงกาแฟโบราณ
อีกร้านหนึ่งอยู่ติดกับร้านบ้านนกเขา นั่นคือร้าน “รักษ์อุทัย” ร้านนี้มีพี่ “สุวรรณโชค เหล่าฤชุพงศ์” เป็นเจ้าของ ยอมเสียสละเงินทุนส่วนตัวมาเปิดร้านจัดแสดงของเก่าแก่สะสมของตัวเอง ให้กับผู้สนใจที่ผ่านมาผ่านไป อย่างเต็มใจ ยินดี และมีความสุข

วันที่ผมเข้าไปเยี่ยมชมร้านนี้ พี่สุวรรณโชคได้เข้ามาแนะนำ เล่าที่มาที่ไปของข้าวของเครื่องใช้ต่างๆภายในร้าน ที่หลายต่อหลายชิ้นล้วนต่างมีที่มาที่ไปและมีความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็น หม้อกาแฟโบราณอันสุดคลาสสิค ชุดเชี่ยนหมากที่มีครบชุด เครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่าแก่ ถาดใส่ขนมพับเก็บได้อันสุดคลาสสิคและมากไอเดีย ถ้วยชามเซรามิกเก่า เหล้าเก่าเก็บ ไฟฉาย ตะเกียบ ฯลฯ รวมไปถึงใบขับขี่รถจักยานของจังหวัดอุทัยที่ผมก็เพิ่งรู้ว่าสมัยก่อน แม้แต่การขับขี่รถจักรยานก็ต้องมีใบขับขี่
ร้านนกเขาหนึ่งจุดถ่ายรูปสำคัญของถนนคนเดิน
ทั้งร้านรักษ์อุทัยและร้านบ้านนกเขา สำหรับผมแล้วทั้งสองร้านเปรียบดังพิพิธภัณฑ์ชุมชนกลายๆ ที่เจ้าของทำด้วยใจรัก เพื่อหวังจะให้เป็นดังแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และจุดแลกเปลี่ยนทัศนะกันระหว่างคนรุ่นเก่า

พี่ปราโมชได้บอกกับผมว่า สิ่งต่างๆที่พวกเขาและชาวชุมชนย่านนี้ทำขึ้นมาก็เพื่อปลุกจิตสำนึกของเด็กรุ่นใหม่ให้รู้จักรากของตัวเอง ภาคภูมิใจท้องถิ่นของตัวเอง

“วิถีชีวิตชุมชนต้องขึ้นอยู่กับคนในชุมชน” พี่ปราโมชกล่าวทิ้งท้าย
อีกหนึ่งมุมฮิปๆบนถนนคนเดิน
สำหรับถนนคนเดินตรอกโรงยา มุมหนึ่งอาจจะเป็นสีสันใหม่ของเมืองและสีสันใหม่ทางการท่องเที่ยวของอุทัยธานี แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของชาวอุทัยไม่น้อย

เพราะถึงแม้ว่าสิ่งสำคัญในการก่อตั้งถนนคนเดินแห่งนี้ คือเป้าหมายที่จะ “ไม่เปลี่ยน” เมืองอุทัยให้กลายเป็นเหมือนกับเมืองอื่นๆ แต่ในยุคที่กระแสธารที่เงินเป็นใหญ่สามารถจ้างผีโม่แป้งได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวอุทัยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงประสงค์ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในวันข้างหน้าไว้ให้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น