xs
xsm
sm
md
lg

“มุดบ้านคนไทย” ที่ยุงเกา ตุมปัตกลันตัน มาเลเซีย/จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลาย
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

สายๆ ของวันที่ 14 กุมภาพันธุ์ 2555 วันวาเลนไทน์ ผู้เขียนและคณะทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยวัฒนธรรมคนสยามในมาเลเซีย สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ จำนวน 8 คน ออกเดินทางด้วยรถตู้โดยสารของ นายมหดิน ชาวสตูล เข้าประเทศมาเลเซียทางด่านตาบา จ.นราธิวาส มุ่งหน้าสู่วัดประชุมธาตุชนราม (วัดยุงเกา) ต.ใย อ.ตุมปัต รัฐกลันตัน หลังจากรอแพขนานยนต์ระยะหนึ่ง เราก็ข้ามฝั่งแม่น้ำตากใบไปอยู่ในดินแดนของประเทศมาเลเซีย

หลังเที่ยงเราถึงวัดมัชฌิมมาราม (วัดกลาง) สืบหาคนชื่อสายคนที่เคยทำกับข้าวให้เรากินในการมาครั้งก่อน ทราบว่า เธอย้ายไปทำมาหากินที่ใหม่โดยไม่มีใครรู้ หรือสามารถติดต่อได้ แวะเข้าไปนมัสการท่านเนื่อง เจ้าอาวาสวัดประชุมธาตุชนาราม ท่านทักทายด้วยความเมตตา บอกให้แม่ชีไปจัดการปัดกวาดห้องพักเตรียมรับรองพวกเรา ออกไปหาเจ้าอาวาสวัดพิกุลใหญ่วัดใกล้ๆ กัน ทราบว่า ท่านไม่อยู่จะกลับอีกอาทิตย์ข้างหน้า
 
หลังจากนั้น เราก็ออกไปหากินมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารคนมุสลิมริมทางเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง พวกเราสั่งข้าวเปล่ากินกับซุบเครื่องในวัว และไข่เจียวด้วยความเอร็ดอร่อย เพราะแรงหิว อาศัยความสามารถทางภาษามาเลย์ของ มหะดิน สารถีประจำคณะเป็นล่ามสั่งอาหาร เพราะชาวบ้านมาเลย์สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้ พวกเราเองก็ไม่รู้ภาษามาเลย์มากพอจะสื่อสารได้

เข้าที่พักในวัดยุงเกา อาบน้ำแต่งตัวออกไปพูดคุยกับครูแดง-ครูนักเขียนบ้านอยู่หน้าวัด นัดหมายท่านว่าประมาณ 3 ทุ่มไทยเราจะไปขอความรู้จากท่าน

ออกไปกินมื้อค่ำที่ร้านอาหารมุสลิม เจ้าของร้านและพนักงานมาจากยะลา ปัตตานี เราเคยมาใช้บริการเมื่อมาครั้งก่อน ติดใจในรสชาติอาหาร และอัธยาศัยไมตรีอันอบอุ่น วันนี้ก็เช่นกัน อิ่มด้วยความอร่อยของอาหารและอบอุ่นด้วยการต้อนรับขับสู้ในฐานะคนชาติเดียวกันที่พบกันในต่างแดน

มาล้อมวงนั่งคุยกับครูแดงที่หน้ามุขบ้านครูแดง ท่ามกลางบรรยากาศของคนกันเอง เพราะเคยเจอกันครั้งหนึ่งแล้วในการมาเก็บข้อมูลครั้งก่อนเมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้ว ครอบครัวครูแดงซึ่งประกอบด้วยภรรยา ลูกสาว และหลานชายให้การต้อนรับเราด้วยนมกล่องจากถั่วเหลืองและผลไม้เฉพาะถิ่นที่รสหวานฉ่ำชื่อลูกู

การสนทนาเริ่มต้นจากข่าวดีที่ครูแดงได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลโดยความเห็นชอบ การเสนอแนะของสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นคนไทย (คุณบุญสม) ให้เป็นไดเร็คเตอร์ที่มีหน้าที่คอยดูแลคนไทยในรัฐกลันตัน และตรังกานู ด้วยค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนนับแสนบาทต่อเดือน นอกจากนั้น ครูแดงยังได้รับรางวัลจากรัฐบาลเกี่ยวกับผลงานทางวรรณกรรมจากหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า “การรอคอยในยามสายัณห์” หรือ “การรอคอยในยามค่ำคืน” (Pentian Di HujungSenja) เป็นเรื่องสั้นแนวคติชนวิทยาพูดถึงช่องว่างทางสังคมของคนมาเลเซียเชื้อสายไทย ซึ่งครูแดงกำลังจะเข้ารับรางวัลจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในไม่กี่วันข้างหน้านี้ หนังสือเล่มนี้พิมพ์เป็นภาษามาเลเซีย และครูแดงมอบให้ผู้เขียน 1 เล่ม

ครูแดงมีความเห็นว่าคนไทยในรัฐกลันตันอยู่ที่นี่มานานแล้วนับหลายร้อยปี ไม่ใช่คนหนีศึกสงคราม หรือเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนอย่างที่ว่ากัน สังเกตจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น การสร้างวัดและโบสถ์ต่างๆ อย่างวัดมัชฌิมมาราม (วัดกลาง) สร้างมานานแล้วและสังเกตเห็นว่าบริเวณที่คนไทยตั้งถิ่นฐานน้ำจะไม่ท่วม แสดงว่าคนไทยมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เป็นพวกแรกๆจึงสามารถเลือกทำเลที่น้ำไม่ท่วมได้

เมื่อไทยกับมาเลเซียถือเอาแม่น้ำโก-ลก (ที่จริงเป็น
แค่คลองเพราะเล่ากันว่าฝ่ายไทยที่ไปปักปันเขตแดนเมาตะหวากขี้เกียจเดินต่อ ไปถึงแม่น้ำโก-ลกที่โกตา บารู) เป็นพรมแดนของสองประเทศคนไทยจึงถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่ในประเทศไทย อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในประเทศมาเลเซีย ทั้งสองกลุ่มตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศจนปัจจุบันนี้

บ้านยุงเกาเป็นชุมชนไทยที่ใหญ่ที่สุดในกลันตัน รองลงมาคือ บ้านบ่อเสม็ด มี 3 ลูกวัด คือ วัดประชุมธาตุชนาราม วัดมัชฌิมมาราม และ วัดพิกุลใหญ่ วัดยุงเกามีอายุประมาณ 400 ปี คำว่า “ยุงเกา” มุสลิมเชื่อว่ามาจากเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งประเภทเดียวกับส้อน ไซเรียกว่า “ยุง บากา” ภาษามาเลย์ “ยุง” แปลว่าเรือใหญ่ “บากา” แปลว่า เผา “ยุงเกา” หรือ “ยุง บากา” แปลว่าเผาเรือใหญ่ที่บริเวณนี้ แสดงว่า สมัยก่อนมีเรือเข้ามาถึงบริเวณนี้

อาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านยุงเกา คือ ทำนาทั้งไทยพุทธและชาวมุสลิม เวลาฝ่ายชายหนุ่มไปขอเมียฝ่ายหญิงจะถามถึงยุ้งข้าว (เรินข้าว) ของฝ่ายชายเพื่อแสดงถึงฐานะที่มั่นคงพอจะยกลูกสาวให้ได้หรือไม่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้มาจากข้าวทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น