โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
"ถึงอุทัย ไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำแล้วก็นอนที่เมืองอุทัย แม้นใครได้ว่ายน้ำสามผุด คงไม่หลุดไปจากอุทัย"
อุทัยธานีเป็นจังหวัดที่ผมไปบ่อยมาก แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เคยไปดำน้ำสามผุดให้ไม่หลุดไปจากอุทัยเลยสักครั้ง
ถึงอย่างนั้นในใจลึกๆแล้วผมก็อยากเป็นเขยของเมืองนี้อยู่ไม่น้อย แต่งานนี้ผมขอเปลี่ยนจากการดำน้ำสามผุดมาเป็นดื่มเหล้าสามไหแทน ไม่รู้จะได้หรือเปล่า
ปีที่แล้วเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้อุทัยอ่วมใช่ย่อย เพราะนี่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่โดนน้ำท่วมหนักพอสมควร โดยเฉพาะในตัวเมืองอุทัยริมแม่น้ำสะแกกรัง กระแสน้ำเอ่อล้นสูงมิดหัวท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ในรอบ 60 ปี
ดังนั้นครั้นพอน้ำลด ผมจึงเห็นว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะกลับไปเยือนเมืองนี้อีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมาประมาณ 3 ปีกว่าๆ
สำหรับการกลับมาเยือนอุทัยครั้งนี้ แม้เป้าหมายหลักจะเป็นที่เดิมๆคือในตัวเมือง ริมแม่น้ำสะแกกรัง แต่สิ่งที่ผมพบได้ทุกครั้งในการมาเยือนอุทัยก็คือ ในตัวเมืองเล็กๆแห่งนี้ มีเสน่ห์ให้ชวนสัมผัสและชวนค้นหาอยู่ไม่สร่างซา
อุทัย(ตัว)เมืองเล็กน่ารัก
ตัวเมืองอุทัยแม้จะเล็ก แต่เป็นประเภทเล็กดีรสโตสำหรับผู้ที่ชื่นชอบในวิถีอันเรียบง่าย พอเพียง สงบงาม แถมยังเป็นเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงทางวิถีและกายภาพน้อยมาก ใครที่ชื่นชอบแสงสี วัตถุ ที่นี่อาจจะไม่ถูกจริตของท่าน แต่มันก็บ่แน่ดอกนาย เพราะหากใครได้ลองไปสัมผัสบางทีอาจจะติดใจ อยากดำน้ำเป็นสิบๆผุดเพื่อหวังจะไม่ให้หลุดไปจากอุทัยก็เป็นได้
เมื่อมาถึงตัวเมืองอุทัยในบ่ายแก่ๆ สิ่งแรกที่ผมเลือกทำก่อนอย่างอื่นคือ “หาของกิน”
นั่นไม่ใช่เพราะหิวหนักแต่มันอยากกินแบบจัดหนักมากกว่า เพราะที่นี่เป็นเมืองอาหารอร่อย มีของกินท้องถิ่นรสเด็ดให้เลือกอยู่หลายร้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โกตี๋ ข้าวมันไก่,โจ๊กโบราณเฮียเก้า,เจ๊ดา ปลาสด,ก๋วยเตี๋ยวไก่โบราณเฮียลั่ว,ข้าวหมูแดงเจ๊หน่อย,ก๋วยเตี๋ยวไก่เจ๊โหนก,เฮียเป็ด ข้าวแกงรสเด็ด, ขนมปังสังขยาร้านไพพรรณ,ตั้งศรีรัตน์ ไอศกรีมเสวย ป้าแจว,ป้าทอง กาแฟโบราณ ฯลฯ
ที่สำคัญคือราคาของกินที่นี่ไม่แพง กินแล้วสบายกระเป๋า แถมรสชาติอาหารในหลายร้านยังเหนือล้ำกว่าตามภัตตาคารหรือตามร้านอาหารแพงๆเสียด้วยซ้ำ
หลังกินข้าวมันไก่ แพะตุ๋น และตบท้ายด้วยไอศกรีมกะทิ+ข้าวเหนียว จนอิ่มหนำพุงกางแล้ว ผมใช้เวลาช่วงบ่ายเดินย่อย ชมสีสันอันเรียบง่ายของตัวเมืองอุทัยที่วันนี้ยังอาคารหลายหลังยังคงปรากฏคราบร่องรอยน้ำท่วมสูงอย่างเด่นชัด
“นี่ไงรอยเอาอยู่ ทำน้ำท่วมเกือบมิดหัว ต้องหนีน้ำกันจ้าละหวั่น จนเมืองแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง”
ลุงคนหนึ่งบอกกับผมด้วยเสียงขื่นๆในระหว่างที่เดินท่อมๆถ่ายรูปเรือนไม้เก่าแก่ ซึ่งที่นี่ยังคงหลงเหลืออาคารเรือนไม้เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ให้ชมกันอยู่มากหลาย เพราะชาวบ้านชาวเมืองนี้เขาเลือกที่จะเก็บอาคารเก่าเหล่านี้ไว้มากกว่าที่จะต้องการห้างค้าปลีกข้ามชาติ ซึ่งเห็นแล้วมันทำให้ผมอดปลื้มใจด้วยไม่ได้
สำหรับหนึ่งในโซนที่มีเรือนแถวไม้ตั้งตระหง่านโดดเด่นสวยงามก็คือที่ “ตรอกโรงยา” หรือ “เซ็กเกี๋ยกั้ง”อันเป็นสำเนียงที่คนจีนเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “สะแกกรัง
ในวันธรรมดาตรอกโรงยามีร้านรวงอยู่ประปรายตามวิถีสงบของชาวบ้านที่นี่ แต่ในช่วงเย็นวันเสาร์ตั้งแต่ประมาณ 3 โมงเย็นไปจนถึง 2-3 ทุ่ม ที่นี่จะคึกคักไปด้วยกิจกรรมถนนคนเดิน ที่ถือเป็นอีกสีสันใหม่ของตัวเมืองอุทัย
เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของตัวเมืองอุทัยที่ชวนสะดุดตาก็คือ “วงเวียน”
วงเวียนที่นี่เป็นวงเวียนเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้ๆกันมีวงเวียนที่โดดเด่นอย่างวงเวียนช้างและ“วงเวียนปลาแรด” ปลาคำขวัญจังหวัด ที่ช่วงนี้น้ำท่วมทำประติมากรรมปลาแรดเสียหายจนต้องนำออกไป แต่ที่ฟังแล้วฮาก็คือคำบอกเล่าจากชาวบ้านแถวนั้น
“ปลาแรดมันว่ายหนีไปช่วงน้ำท่วมนะพี่”
เอ้อ อย่างนี้เห็นทีผมคงต้องไปเดินตามหาซื้อปลาแรดกันที่ตลาดสดเทศบาลริมแม่น้ำสะแกกรังกันเสียหน่อย ที่จากแถววงเวียนช้าง วงเวียนปลาแรด เดินผ่านถนนไปอีกหนึ่งบล็อกก็ถึงแล้ว
แต่ประทานโทษ!?! ใครที่คิดจะไปเดินชม ช้อป ชิม สัมผัสกับบรรยากาศตลาดริมน้ำสะแกกรังอันสุดคลาสสิคอย่างผมคงต้องผิดหวัง เพราะช่วงนี้ทางจังหวัดได้ย้ายตลาดสดริมน้ำไปอยู่ชั่วคราว บริเวณตลาดพัฒนา สวน 200 ปี ตามนโยบายก่อสร้างถนนคนเดินริมน้ำและปรับปรุงพื้นที่ตลาดสด โดยสร้างเป็นอาคารตลาดสดเทศบาลหลังใหม่อย่างใหญ่โต ซึ่งมันอาจได้ในเรื่องของความหรูหราโอ่โถง แต่ในเรื่องของเสน่ห์ความคลาสสิคที่ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งอันโดดเด่นของจังหวัดอุทัยนั้น เป็นต้องลดน้อยถอยลงไปมากโข
งานนี้ผมเห็นแล้วเสียดายเป็นบ้าเลยพับผ่าสิ
สะแกกรัง มนต์ขลังยังไม่คลาย
“...เรือนแพ สุขจริง อิงกระแสธารา หริ่งระงม ลมพลิ้วมา กล่อมพฤกษา ดังว่าดนตรี...”
ผมครวญเพลง “เรือนแพ” ของครู “ชรินทร์ นันทนาคร” ขึ้นมาเบาๆในระหว่างที่มาเดินเล่นอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังฝั่งตลาดสดที่มองไปยังฝั่งตรงข้ามเห็นวัดโบสถ์ตั้งตระหง่าน จากนั้นผมค่อยๆเดินแบบละเลียดข้ามสะพานปูนเล็กๆที่ทอดผ่านสะแกกรัง ไปหามุมเหมาะๆถ่ายภาพวิถีชีวิตเรือนแพบนลุ่มน้ำแห่งนี้
เรือนแพในแม่น้ำสะแกกรัง เมืองอุทัย เป็นเรือนแพขนาดกะทัดรัด มีหลากรูปแบบหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นแพหลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา แพส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้สีธรรมชาติ แต่ก็มีเรือนแพบางหลังที่ทาสีตัวอาคารอย่างสดใสฉูดฉาดดูบาดตาแต่ไม่บาดใจ ขณะที่เรือนแพบางหลังก็มีการตกแต่งบ้านปลูกไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม
เรือนแพสะแกกรังเคยได้ชื่อว่าเป็นชุมชนเรือนแพเมืองลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แต่หลังจากถูกน้ำท่วมใหญ่ทำให้เรือนแพหลายหลังเสียหาย ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ย้ายหนีน้ำจากแพขึ้นไปอยู่บนบก เพราะยังกลัวว่าปีนี้น้ำจะท่วมใหญ่ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง
บนสะพานปูนผมมองลงไปใน 2 ฟากฝั่งน้ำ เห็นจำนวนแพลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด แต่กระนั้นเสน่ห์แห่งวิถีเรือนแพที่นี่ก็ยังคงน่ายลอยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะในยามเช้า-เย็น ที่แสงสีทองสาดส่อง หรือไม่ก็ในยามที่มีเรือนำเที่ยว เรือของชาวบ้าน เรือของพระที่ออกบิณฑบาตพายผ่าน
จากบนสะพานปูนผมเดินต่อไปยัง“วัดโบสถ์” หรือที่ชื่อเต็มว่า“วัดอุโปสถาราม” หรือที่ชื่อเดิมว่า “วัดโบสถ์มโนรมย์”
วัดโบสถ์เป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดมีโบราณสถานโบราณวัตถุอันทรงคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์เก่าแก่สถาปัตยกรรม 3 ยุค คือ สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือวิจิตรภายในโบสถ์และภายนอกฝั่งประตูทางเข้าโบสถ์
นอกจากนี้ยังมี “มณฑปแปดเหลี่ยม” อันสวยงามสมส่วนและสุดคลาสสิค ที่ถือเป็นดังไฮไลท์สัญลักษณ์ของวัดโบสถ์
มณฑปหลังนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นรูปทรงแบบตะวันตก ซุ้มหน้าต่างมีลวดลายปูนปั้นประดับอย่างสวยงาม ทางขึ้นมณฑปเป็นบันไดวนด้านนอกที่ดูเท่มากๆ
มณฑปแปดเปลี่ยมถูกน้ำท่วมสูงเพราะตั้งอยู่ริมน้ำ หลังน้ำท่วมแม้ชาวบ้านกับหลายภาคส่วนจะร่วมมือกันมาทำความสะอาด แต่คราบร่องรอยน้ำท่วมนี้ก็ยังคงติดตรึงปรากฏเด่นชัดตัดกับสีขาวเนียนของมณฑปที่ได้รับการทาสีใหม่ คงต้องให้ทางกรมศิลป์มาทำการบูรณะใหม่นั่นแหละคราบเหล่านี้จึงจะหายไป ซึ่งนี่นับเป็นหนึ่งในร่องรอยคราบเวรกรรมของประเทศ และเป็นคราบความริยำของนักการเมืองไทยอย่างแท้จริง
สำหรับในปีนี้ที่มีข่าว มีเค้า และมีความเชื่อว่าน้ำอาจจะท่วมหนักเทียบเท่าหรือหนักกว่าเมื่อปีกลาย เพื่อนชาวอุทัยของผมคนหนึ่งมันได้เสนอแนะทางรอดให้กับประเทศไทยว่า
“ต้องไม่ให้คนปลอดประสบการณ์มาเสนอหน้า ต้องไม่ให้พริตตี้สมองนิ่มมาบัญชาการ”
และสิ่งสำคัญที่เพื่อนผมคนนี้มันย้ำเป็นพิเศษก็คือ
“ต้องไม่ให้คนเตี้ยถือกุญแจประตูระบายน้ำโดยเด็ดขาด!!!”
"ถึงอุทัย ไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำแล้วก็นอนที่เมืองอุทัย แม้นใครได้ว่ายน้ำสามผุด คงไม่หลุดไปจากอุทัย"
อุทัยธานีเป็นจังหวัดที่ผมไปบ่อยมาก แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เคยไปดำน้ำสามผุดให้ไม่หลุดไปจากอุทัยเลยสักครั้ง
ถึงอย่างนั้นในใจลึกๆแล้วผมก็อยากเป็นเขยของเมืองนี้อยู่ไม่น้อย แต่งานนี้ผมขอเปลี่ยนจากการดำน้ำสามผุดมาเป็นดื่มเหล้าสามไหแทน ไม่รู้จะได้หรือเปล่า
ปีที่แล้วเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้อุทัยอ่วมใช่ย่อย เพราะนี่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่โดนน้ำท่วมหนักพอสมควร โดยเฉพาะในตัวเมืองอุทัยริมแม่น้ำสะแกกรัง กระแสน้ำเอ่อล้นสูงมิดหัวท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ในรอบ 60 ปี
ดังนั้นครั้นพอน้ำลด ผมจึงเห็นว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะกลับไปเยือนเมืองนี้อีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมาประมาณ 3 ปีกว่าๆ
สำหรับการกลับมาเยือนอุทัยครั้งนี้ แม้เป้าหมายหลักจะเป็นที่เดิมๆคือในตัวเมือง ริมแม่น้ำสะแกกรัง แต่สิ่งที่ผมพบได้ทุกครั้งในการมาเยือนอุทัยก็คือ ในตัวเมืองเล็กๆแห่งนี้ มีเสน่ห์ให้ชวนสัมผัสและชวนค้นหาอยู่ไม่สร่างซา
อุทัย(ตัว)เมืองเล็กน่ารัก
ตัวเมืองอุทัยแม้จะเล็ก แต่เป็นประเภทเล็กดีรสโตสำหรับผู้ที่ชื่นชอบในวิถีอันเรียบง่าย พอเพียง สงบงาม แถมยังเป็นเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงทางวิถีและกายภาพน้อยมาก ใครที่ชื่นชอบแสงสี วัตถุ ที่นี่อาจจะไม่ถูกจริตของท่าน แต่มันก็บ่แน่ดอกนาย เพราะหากใครได้ลองไปสัมผัสบางทีอาจจะติดใจ อยากดำน้ำเป็นสิบๆผุดเพื่อหวังจะไม่ให้หลุดไปจากอุทัยก็เป็นได้
เมื่อมาถึงตัวเมืองอุทัยในบ่ายแก่ๆ สิ่งแรกที่ผมเลือกทำก่อนอย่างอื่นคือ “หาของกิน”
นั่นไม่ใช่เพราะหิวหนักแต่มันอยากกินแบบจัดหนักมากกว่า เพราะที่นี่เป็นเมืองอาหารอร่อย มีของกินท้องถิ่นรสเด็ดให้เลือกอยู่หลายร้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โกตี๋ ข้าวมันไก่,โจ๊กโบราณเฮียเก้า,เจ๊ดา ปลาสด,ก๋วยเตี๋ยวไก่โบราณเฮียลั่ว,ข้าวหมูแดงเจ๊หน่อย,ก๋วยเตี๋ยวไก่เจ๊โหนก,เฮียเป็ด ข้าวแกงรสเด็ด, ขนมปังสังขยาร้านไพพรรณ,ตั้งศรีรัตน์ ไอศกรีมเสวย ป้าแจว,ป้าทอง กาแฟโบราณ ฯลฯ
ที่สำคัญคือราคาของกินที่นี่ไม่แพง กินแล้วสบายกระเป๋า แถมรสชาติอาหารในหลายร้านยังเหนือล้ำกว่าตามภัตตาคารหรือตามร้านอาหารแพงๆเสียด้วยซ้ำ
หลังกินข้าวมันไก่ แพะตุ๋น และตบท้ายด้วยไอศกรีมกะทิ+ข้าวเหนียว จนอิ่มหนำพุงกางแล้ว ผมใช้เวลาช่วงบ่ายเดินย่อย ชมสีสันอันเรียบง่ายของตัวเมืองอุทัยที่วันนี้ยังอาคารหลายหลังยังคงปรากฏคราบร่องรอยน้ำท่วมสูงอย่างเด่นชัด
“นี่ไงรอยเอาอยู่ ทำน้ำท่วมเกือบมิดหัว ต้องหนีน้ำกันจ้าละหวั่น จนเมืองแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง”
ลุงคนหนึ่งบอกกับผมด้วยเสียงขื่นๆในระหว่างที่เดินท่อมๆถ่ายรูปเรือนไม้เก่าแก่ ซึ่งที่นี่ยังคงหลงเหลืออาคารเรือนไม้เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ให้ชมกันอยู่มากหลาย เพราะชาวบ้านชาวเมืองนี้เขาเลือกที่จะเก็บอาคารเก่าเหล่านี้ไว้มากกว่าที่จะต้องการห้างค้าปลีกข้ามชาติ ซึ่งเห็นแล้วมันทำให้ผมอดปลื้มใจด้วยไม่ได้
สำหรับหนึ่งในโซนที่มีเรือนแถวไม้ตั้งตระหง่านโดดเด่นสวยงามก็คือที่ “ตรอกโรงยา” หรือ “เซ็กเกี๋ยกั้ง”อันเป็นสำเนียงที่คนจีนเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “สะแกกรัง
ในวันธรรมดาตรอกโรงยามีร้านรวงอยู่ประปรายตามวิถีสงบของชาวบ้านที่นี่ แต่ในช่วงเย็นวันเสาร์ตั้งแต่ประมาณ 3 โมงเย็นไปจนถึง 2-3 ทุ่ม ที่นี่จะคึกคักไปด้วยกิจกรรมถนนคนเดิน ที่ถือเป็นอีกสีสันใหม่ของตัวเมืองอุทัย
เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของตัวเมืองอุทัยที่ชวนสะดุดตาก็คือ “วงเวียน”
วงเวียนที่นี่เป็นวงเวียนเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้ๆกันมีวงเวียนที่โดดเด่นอย่างวงเวียนช้างและ“วงเวียนปลาแรด” ปลาคำขวัญจังหวัด ที่ช่วงนี้น้ำท่วมทำประติมากรรมปลาแรดเสียหายจนต้องนำออกไป แต่ที่ฟังแล้วฮาก็คือคำบอกเล่าจากชาวบ้านแถวนั้น
“ปลาแรดมันว่ายหนีไปช่วงน้ำท่วมนะพี่”
เอ้อ อย่างนี้เห็นทีผมคงต้องไปเดินตามหาซื้อปลาแรดกันที่ตลาดสดเทศบาลริมแม่น้ำสะแกกรังกันเสียหน่อย ที่จากแถววงเวียนช้าง วงเวียนปลาแรด เดินผ่านถนนไปอีกหนึ่งบล็อกก็ถึงแล้ว
แต่ประทานโทษ!?! ใครที่คิดจะไปเดินชม ช้อป ชิม สัมผัสกับบรรยากาศตลาดริมน้ำสะแกกรังอันสุดคลาสสิคอย่างผมคงต้องผิดหวัง เพราะช่วงนี้ทางจังหวัดได้ย้ายตลาดสดริมน้ำไปอยู่ชั่วคราว บริเวณตลาดพัฒนา สวน 200 ปี ตามนโยบายก่อสร้างถนนคนเดินริมน้ำและปรับปรุงพื้นที่ตลาดสด โดยสร้างเป็นอาคารตลาดสดเทศบาลหลังใหม่อย่างใหญ่โต ซึ่งมันอาจได้ในเรื่องของความหรูหราโอ่โถง แต่ในเรื่องของเสน่ห์ความคลาสสิคที่ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งอันโดดเด่นของจังหวัดอุทัยนั้น เป็นต้องลดน้อยถอยลงไปมากโข
งานนี้ผมเห็นแล้วเสียดายเป็นบ้าเลยพับผ่าสิ
สะแกกรัง มนต์ขลังยังไม่คลาย
“...เรือนแพ สุขจริง อิงกระแสธารา หริ่งระงม ลมพลิ้วมา กล่อมพฤกษา ดังว่าดนตรี...”
ผมครวญเพลง “เรือนแพ” ของครู “ชรินทร์ นันทนาคร” ขึ้นมาเบาๆในระหว่างที่มาเดินเล่นอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังฝั่งตลาดสดที่มองไปยังฝั่งตรงข้ามเห็นวัดโบสถ์ตั้งตระหง่าน จากนั้นผมค่อยๆเดินแบบละเลียดข้ามสะพานปูนเล็กๆที่ทอดผ่านสะแกกรัง ไปหามุมเหมาะๆถ่ายภาพวิถีชีวิตเรือนแพบนลุ่มน้ำแห่งนี้
เรือนแพในแม่น้ำสะแกกรัง เมืองอุทัย เป็นเรือนแพขนาดกะทัดรัด มีหลากรูปแบบหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นแพหลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา แพส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้สีธรรมชาติ แต่ก็มีเรือนแพบางหลังที่ทาสีตัวอาคารอย่างสดใสฉูดฉาดดูบาดตาแต่ไม่บาดใจ ขณะที่เรือนแพบางหลังก็มีการตกแต่งบ้านปลูกไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม
เรือนแพสะแกกรังเคยได้ชื่อว่าเป็นชุมชนเรือนแพเมืองลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แต่หลังจากถูกน้ำท่วมใหญ่ทำให้เรือนแพหลายหลังเสียหาย ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ย้ายหนีน้ำจากแพขึ้นไปอยู่บนบก เพราะยังกลัวว่าปีนี้น้ำจะท่วมใหญ่ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง
บนสะพานปูนผมมองลงไปใน 2 ฟากฝั่งน้ำ เห็นจำนวนแพลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด แต่กระนั้นเสน่ห์แห่งวิถีเรือนแพที่นี่ก็ยังคงน่ายลอยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะในยามเช้า-เย็น ที่แสงสีทองสาดส่อง หรือไม่ก็ในยามที่มีเรือนำเที่ยว เรือของชาวบ้าน เรือของพระที่ออกบิณฑบาตพายผ่าน
จากบนสะพานปูนผมเดินต่อไปยัง“วัดโบสถ์” หรือที่ชื่อเต็มว่า“วัดอุโปสถาราม” หรือที่ชื่อเดิมว่า “วัดโบสถ์มโนรมย์”
วัดโบสถ์เป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดมีโบราณสถานโบราณวัตถุอันทรงคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์เก่าแก่สถาปัตยกรรม 3 ยุค คือ สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือวิจิตรภายในโบสถ์และภายนอกฝั่งประตูทางเข้าโบสถ์
นอกจากนี้ยังมี “มณฑปแปดเหลี่ยม” อันสวยงามสมส่วนและสุดคลาสสิค ที่ถือเป็นดังไฮไลท์สัญลักษณ์ของวัดโบสถ์
มณฑปหลังนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นรูปทรงแบบตะวันตก ซุ้มหน้าต่างมีลวดลายปูนปั้นประดับอย่างสวยงาม ทางขึ้นมณฑปเป็นบันไดวนด้านนอกที่ดูเท่มากๆ
มณฑปแปดเปลี่ยมถูกน้ำท่วมสูงเพราะตั้งอยู่ริมน้ำ หลังน้ำท่วมแม้ชาวบ้านกับหลายภาคส่วนจะร่วมมือกันมาทำความสะอาด แต่คราบร่องรอยน้ำท่วมนี้ก็ยังคงติดตรึงปรากฏเด่นชัดตัดกับสีขาวเนียนของมณฑปที่ได้รับการทาสีใหม่ คงต้องให้ทางกรมศิลป์มาทำการบูรณะใหม่นั่นแหละคราบเหล่านี้จึงจะหายไป ซึ่งนี่นับเป็นหนึ่งในร่องรอยคราบเวรกรรมของประเทศ และเป็นคราบความริยำของนักการเมืองไทยอย่างแท้จริง
สำหรับในปีนี้ที่มีข่าว มีเค้า และมีความเชื่อว่าน้ำอาจจะท่วมหนักเทียบเท่าหรือหนักกว่าเมื่อปีกลาย เพื่อนชาวอุทัยของผมคนหนึ่งมันได้เสนอแนะทางรอดให้กับประเทศไทยว่า
“ต้องไม่ให้คนปลอดประสบการณ์มาเสนอหน้า ต้องไม่ให้พริตตี้สมองนิ่มมาบัญชาการ”
และสิ่งสำคัญที่เพื่อนผมคนนี้มันย้ำเป็นพิเศษก็คือ
“ต้องไม่ให้คนเตี้ยถือกุญแจประตูระบายน้ำโดยเด็ดขาด!!!”