ด้วยวาระแห่งรัก ดูเหมือนว่ากาลเวลาจะแปรผันเพียงถ้อยคำรักอันหวานซึ้งที่ปรับเปลี่ยนไปได้อย่างร่วมสมัย แต่ห้วงอารมณ์รักก็ยังคงเผยความรู้สึกอันลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ภายในใจได้เช่นเดิม
มาย้อนอดีตถึงถ้อยคำหรือประโยคบอกรักหวานๆ ในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่มีความแตกต่างกันออกไป จากคำรักหวานซึ้งตรึงอารมณ์ที่พรรณนาออกมาอย่างสละสลวย ก็อาจปรับเพิ่มความกระชับแต่ที่แน่ๆ ก็ยังคงซาบซ่านทำเอาหัวใจเจ้ากรรมวาบหวิวอยู่ไม่น้อย
ที่สำคัญไม่ว่าจะเผยวลีรักผ่านตัวอักษร หรือผ่านคำพูด แต่ภาษารักก็ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้รับ (ที่มีใจตรงกัน) ยิ้มกริ่มอย่างเสียไม่ได้
ยิ่งเป็นวันแห่งความรักก็คงมีถ้อยคำหวานๆ พรั่งพรูออกมาให้รู้สึกอบอุ่นหัวใจอยู่ไม่น้อย ซึ่งการแสดงออกถึงความรักด้วยภาษาเขียนก็จัดว่าเป็นสื่อความรู้สึกนึกคิดได้อย่างชัดเจนวิธีหนึ่ง และถือเป็นการแสดงความรู้สึกขั้นพื้นฐานที่ปลดพันธนาการของสองดวงใจเลยทีเดียว
เป็นความหวานลุ่มลึกของถ้อยคำใน ‘วันแห่งความรัก’
คำบอกรัก..คำบอกยุค
อย่างในสมัยก่อน กว่าชายหญิงกว่าจะพบหน้ากันได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นเวลาจะเอ่ยถ้อยคำรัก จึงมักจะไม่ได้มาในลักษณะของคำพูด แต่มาในรูปแบบของจดหมายมากกว่า ซึ่งถ้อยคำก็ใช่ธรรมดาเสียที่ไหน เป็นบทร้อยกรองที่มักจะพร่ำพรรณนาถึงความรักต่างๆนานา โดยถ้อยคำอันแสนจะยืดยาว แต่อ่านแล้วทำเอารู้สึกหวั่นไหวในใจขึ้นมาจริงเชียว โดยในยุคนั้นเขาเรียกการเขียนจดหมายแบบนี้ว่า 'การเขียนเพลงยาว'
โดยเพลงยาวที่ได้รับการโจษจันมากที่สุดในยุคสมัยหนึ่งก็คือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรสและวังหน้าของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่แม้จะมีฝีมือทางวรรณศิลป์เป็นเลิศ แต่ดันไปเขียนเพลงยาวไปถึงพระสนมของพระราชบิดา ก็เลยถูกพระเจ้าอยู่หัวสำเร็จโทษ
พอเข้าในยุคที่หนุ่มสาวเริ่มพบหน้ากันมากขึ้น รูปแบบการบอกรักก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยมีการอาศัยคำพูดมากขึ้น โดยอาศัยสื่อเทศกาลต่างๆ เข้าช่วย เช่น งานวัด งานบุญประจำปี งานบวช งานแต่ง งานศพ ฯลฯ
โดยคำพูดก็มีตั้งแต่การชวนคุย เรื่อยไปถึงการบอกรัก โดยถ้อยคำเหล่านี้บางครั้งก็ยังเป็นถ้อยคำที่ถูกเรียบเรียงมา ภาษาดูอลังการ เช่น ถ้อยคำที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ อย่าง 'เราจะรักกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย' หรือ 'รักกันตราบนิรันดร' บางทีเป็นคำสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะรักมั่น รักตลอดกาล ไม่มีอะไรจะมาพรากความรักของเราไปได้ ถ้าใครเปลี่ยนใจขอให้มีอันเป็นไป ฯลฯ
ครั้งเวลาผ่านไป หนุ่มสาวเริ่มอยู่ในสังคมเดียวกัน และพบหน้ากันเป็นเรื่องปกติ เช่น ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แถมมีสื่อบันเทิงอย่างโรงภาพยนตร์เป็นที่คล้องใจอีกต่างหาก คำบอกรักแบบนี้จึงเริ่มมีความเรียบง่ายมากขึ้น แถมบางคนเป็นเพื่อนกัน เพราะฉะนั้นอารัมภบทอะไรยืดยาวจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น คำพูดประเภท 'ฉันรักเธอ' จึงเริ่มมีการใช้กันมากขึ้น หรือให้หนักขึ้นหน่อย บางคนก็ร้องเป็นเพลงจีบเลยก็มี
ตัวอย่างเช่น เพลง ‘หยาดเพชร’ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า ชาลี อินทรวิจิตร แต่งให้ ชรินทร์ นันทนาคร เพื่อจีบนางเอกสาวชื่อดังอย่าง เพชรา เชาวราษฎร์ นั่นก็ถือว่าใช่ หรือแม้แต่เพลงสมัยใหม่ที่มีอยู่แล้ว ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะง่ายแล้ว รูปแบบก็ไม่ล้าสมัย เพราะถ้อยคำภาษาไม่ได้เปลี่ยนรูปไปมากนัก ส่วนเพลงก็มีออกมาใหม่เรื่อยๆ ร้องอีก 10 ปีก็ยังไม่หมด
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในยุคสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามีส่วนมากขึ้น การคิดคำบอกรักก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมอย่างช่วยไม่ได้ เพราะคนยุคนี้ชอบอะไรที่สร้างสรรค์ ไม่เยิ่นเย้อ แต่โดนใจ หรือจะยาวสักหน่อยแต่โดนก็โอเคแล้ว เช่น 'เสี่ยวนักเพราะรักเธอ' 'รักนะ..เด็กโง่' 'ถึงน้ำจะเน่าแต่ก็มองเห็นเงาจันทร์' ซึ่งบางประโยคอาจจะเลี่ยนไปเสียหน่อยแต่ก็ล้วนแสดงอารมณ์ความรู้สึกอินเลิฟได้เป็นอย่างดี
ความรู้สึกที่ไม่เคยเปลี่ยนไป
“การบอกรักด้วยภาษานั้นจะชัดเจนที่สุด ภาษาจึงมีพลังมากกว่าคำบอกรักอื่นๆ แต่วิธีการใช้ภาษาก็มีกลวิธีมากมาย ทั้งบอกตรงๆ บอกโดยอ้อม บอกโดยใช้ความเปรียบ ก็สุดแล้วแต่จะแต่งแต้ม ต่อให้กาลเวลาจะผ่านไปอีกเป็นพันปี มนุษย์เราก็จะไม่เคยอับจนภาษาที่ใช้บอกรักกันเลย ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่ากวีไม่เคยอับจนภาษา ผู้ชายที่จะบอกรักผู้หญิงก็ไม่เคยอับจนถ้อยคำที่จะไปบอกรักผู้หญิงของตนเอง ความคิดอาจจะซ้ำ แต่ถ้อยคำสร้างใหม่ขึ้นเรื่อยๆ”
ดร.อนันท์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวพร้อมแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า ถ้อยคำในการบอกรักล้วนปรับเปลี่ยนไปแต่ละยุคสมัย แต่สุดท้ายก็ยังคงไว้ซึ่งภาษาที่แสดงความหมายเช่นเดิม
“ในสมัยก่อน ผู้ชายก็มักจะใช้วิธีส่งจดหมายรัก ที่เรามักจะเรียกว่าส่งเพลงยาวไปให้ หรือเขียนกลอนบอกรัก วิธีแบบนี้ในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ เป็นวิธีการที่ต้องเรียกว่า แม้วันเวลาเปลี่ยน แต่วิธีการนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน เพียงแค่ถ้อยคำที่เราใช้ลงไปในจดหมายบอกรักนั้นมันอาจจะแตกต่างกันไป เพราะความสามารถในการใช้ภาษา หรือจะเป็นการร้องเพลง รวมไปถึงการใช้มุกตลกเพื่อแก้ความเขินอายที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เธอช่วยไปที่กระจกแล้วบอกกับคนในกระจกว่า ฉันรักเธอ หน่อยสิ รวมไปถึงการร้องเพลงจีบสาว โดยเพลงหลายเพลงก็จะมีความหมายในการบอกรัก และไม่มั่นใจว่าอีกฝ่ายจะรับรักหรือเปล่า และเนื่องจากความรักเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์ จะเห็นได้ว่าวิธีบอกรักนั้นก็จะมีการคิดค้นขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ”
ซึ่งการที่มนุษย์คิดคำในการบอกรักใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาก็เพื่อสร้างความรู้สึกประทับใจต่อการเผยความในในครั้งนั้น ดร.อนันท์กล่าวทิ้งท้าย
“อย่างการที่คนเราต้องคิดคำใหม่ๆ ขึ้นมาบอกรักกันเสมอนั้น เป็นเพราะว่าเราต้องการที่จะสร้างความประทับใจให้แก่คนที่เรารัก จึงพยายามที่จะหาถ้อยคำที่ฟังดูดีที่สุด ประทับใจที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นถ้อยคำที่เราคัดสรรด้วยตัวเอง หรือแต่งขึ้นมาเอง”
จากคนหนึ่งถึงใจดวงหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กว่าที่คำหรือประโยครักอันหวานซึ้งจะถูกส่งไปยังหนุ่มสาวอันเป็นที่รัก รศ.ดร.สุปรียา ตันสกุล ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จะต้องผ่านการกลั่นกรองมาเป็นอย่างดีเพราะหวังสร้างความประทับใจพิชิตใจของผู้รับสารให้จงได้
“ก่อนที่จะส่งไปถึงคนฟังหรือคนอ่าน คนที่พูด หรือคนที่คิดจะเขียนก็ต้องกลั่นกรอง เลือกสรร แล้วก็ประมวลภาพความงดงาม ประสบการณ์ที่มีต่อคนที่จะพูดด้วย มันก็จะเป็นความประทับใจที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของตัวเอง และก่อเกิดความเบิกบานและเป็นสุข เมื่อเราคิดถึงสิ่งดีๆ ของคนอื่นแล้วเราถ่ายทอดออกไปก็จะทำให้คนรับมีความสุข หัวใจก็จะฟูฟ่อง ซึ่งความรักนั้นเป็นความงดงามที่เหมือนพลังมหัศจรรย์ของชีวิต”
ซึ่งการที่มนุษย์ต้องคิดค้นประดิษฐ์คำรักอยู่ตลอดเวลานั้น รศ.ดร.สุปรียาก็อธิบายไว้ว่า เพราะมนุษย์มีสมองที่มีการทำงานทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งทางด้านสุนทรียศาสตร์ ถ้ามนุษย์ใช้สมองซีกเดียวมันก็คงจะไม่พอต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ฉะนั้นสมองทั้งสองซีกควรจะประสานกัน โดยความคิด ความรู้สึก และกลั่นกรองออกมาเป็นภาษาพูด ซึ่งภาษาพูดนี้เองที่เป็นตัวแทนของความรู้สึกที่ดี ที่จะนำไปสู่ความผูกพันและอยู่ร่วมกัน
ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็แสดงทัศนะว่า ถ้อยคำหวานที่ถูกหยิบยกมาใช้ในแต่ละยุคนั้นล้วนสะท้อนความรู้สึกในแง่มุมเดียวกันที่ไม่แตกต่างกันเลย
“เพราะว่าความรู้สึกรักมันเป็นอารมณ์ และอารมณ์รักก็เหมือนกันทุกยุคทุกสมัย แต่การแสดงออกมันต่างกันออกไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ ช่วง 14-15 ปี ก็แน่นอนยอมต่างกับคนอายุ 50-60 ปี มันเป็นการแสดงออกที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ ความคิดความรู้สึก เพลงยาวสมัยปู่ย่าตาทวดก็ทำให้เกิดความรักหวานชื่นโรแมนติกในยุคของเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าความโรแมนติกในยุคนี้จะลดลง มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นการแสดงออกที่ต่างกัน ความนิยมไม่เหมือนเดิม”
อย่างผู้หญิงก็จะถูกเลี้ยงดูมาให้ชอบอะไรหวานๆ โรแมนติก คำพูดแบบนี้ก็อาจจะมีอิทธิพลต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือถ้าจะดูจากวัยรุ่น วัยแรกรุ่น คำพูดแบบนี้ก็อาจจะมีผลทางด้านความรู้สึกต่อเขามากกว่าวัยรุ่นตอนปลาย หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น คือมันค่อนข้างจะผันแปรไปตามเพศและวัย ภูมิหลังของแต่ละคน
“ภาษามันก็แทนความรู้สึก และความรู้สึกมันเป็นเรื่องนามธรรมมากๆ ก็เลยต้องมีวิธีการสื่อสารที่เป็นรูปธรรมผ่านภาษา การแสดงออกด้วยการกระทำ ฯลฯ ภาษาก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึก”
..........
ถ้อยคำหวานในแต่ละยุคนั้นล้วนเป็นข้อพิสูจน์ว่ามนุษย์ไม่เคยไร้ซึ่งความรัก ความรักคือความสวยงามของห้วงอารมณ์และความรู้สึก เป็นแรงขับเคลื่อนให้ความรู้สึกภายในถูกแต่งแต้มมาเป็นคำเป็นประโยค เป็นท่วงทำนองให้ใครอีกคนหนึ่งได้รับรู้ว่า...‘รัก’
>>>>>>>>>>>>
…………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK