สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงแล้ว อากาศก็เริ่มเย็นขึ้นทุกทีๆ ใครหลายๆ คนคงเริ่มมองหาสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในฤดูหนาว และภาคเหนือก็ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงนี้เช่นเดิม ในวันนี้เราจะพาไปเยือน “เมืองสามหมอก” หรือจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีคำขวัญว่า “หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง” ที่มีหลายสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามให้เราได้ไปชมกัน
ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสามหมอก” เนื่องจากพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยทิวเขาสลับซับซ้อน ทำให้ทุกฤดูมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี ทั้งหมอกน้ำค้างในฤดูหนาว หมอกฝนในฤดูฝน และหมอกควันจากไฟในฤดูร้อน จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองสามหมอกนั่นเอง
การเดินทางมายังตัวเมืองแม่ฮ่องสอนโดยรถยนต์จะค่อนข้างลำบากเพราะต้องผ่านทางโค้งคดเคี้ยวนับร้อยนับพันกว่าจะไปถึงตัวเมือง โดยเส้นทางหลักนั้นมี 2 เส้นด้วยกัน คือ ทางหลวงหมายเลข 108 ซึ่งตัดจากจังหวัดเชียงใหม่ผ่านอำเภอหางดง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด แม่สะเรียง แม่ลาน้อย และขุนยวม มาถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน นับโค้งได้มากถึง 1,864 โค้ง และทางหลวงหมายเลข 1095 ซึ่งมีโค้งไม่แพ้กัน ตัดจากอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า มาถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอน นักท่องเที่ยวที่อยากเที่ยวหลายๆ แห่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงนิยมขับรถจากเชียงใหม่เป็นวงกลมตามทางหลวงทั้งสองสายนี้
แต่ถึงจะเดินทางลำบากอย่างไร แม่ฮ่องสอนก็ยังเป็นเมืองน่าเที่ยวที่หลายๆ คนตั้งใจให้เป็นจุดหมายปลายทางในช่วงหน้าหนาวนี้ โดยในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นอีกหนึ่งสถานที่น่าเที่ยว ในตัวเมืองนั้นจะมีวัดเก่าแก่และสวยงามตามศิลปะแบบไทใหญ่อยู่หลายวัด ด้วยกัน แต่วัดที่เปรียบดังสัญลักษณ์ของเมืองแม่ฮ่องสอนและเป็นดังศูนย์รวมศรัทธาของชาวเมืองก็คือ “วัดพระธาตุดอยกองมู” หรือเดิมชื่อ “วัดปลายดอย” ตั้งอยู่บนยอดดอยกองมูทางทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน สิ่งสำคัญภายในวัดประกอบด้วยพระเจดีย์ 2 องค์ องค์ใหญ่เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระ จองต่องสู่เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ.2403 ส่วนเจดีย์องค์เล็กสร้างโดยพญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก วัดแห่งนี้นอกจากเป็นศาสนสถานสำคัญแล้วยังเป็นจุดชมวิวของเมืองแม่ฮ่องสอนที่สวยงามอีกด้วย
พูดถึงเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรกแล้ว เราไปสักการะอนุสาวรีย์ของท่านกันดีกว่า “อนุสาวรีย์พญาสิงหนาทราชา” ตั้งอยู่ต้นถนนขุนลุมประพาส เดิมท่านมีชื่อว่า ชานกะเล เป็นชาวไทใหญ่ที่รวบรวมผู้คนตั้งเป็นหมู่บ้านชื่อ “บ้านขุนยวม” ต่อมาได้ยกขึ้นเป็นเมือง ถึงปี พ.ศ. 2417 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน และพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ยกบรรดาศักดิ์ให้เป็น “พญาสิงหนาทราชา” และแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก
“วัดจองคำ” และ “วัดจองกลาง” เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดชม วัดสองแห่งเปรียบเสมือนวัดคู่แฝดเพราะตั้งอยู่ในกำแพงเดียวกัน ทั้งสองวัดสร้างขึ้นโดยช่างชาวไทใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2340 เป็นศิลปะแบบไทใหญ่งดงามมาก ภายในวัดจองคำมี “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้างถึง 4.85 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2477 โดยช่างฝีมือชาวพม่า ส่วนวัดจองกลางมีพระพุทธสิหิงค์จำลองเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ และภายในวัดยังมีตุ๊กตาไม้แกะสลักฝีมือช่างพม่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกจำนวน 37 ตัว และมีภาพเขียนสีบนแผ่นกระจกที่งดงามมากให้ชม
และที่ตั้งอยู่ติดกับวัดทั้งสองก็คือ “หนองจองคำ” หนองน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตั้งอยู่กลางเมือง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวแม่ฮ่องสอนและนักท่องเที่ยว และวันเสาร์อาทิตย์ในช่วงฤดูท่องเที่ยวเช่นนี้บริเวณรอบหนองจองคำก็จะจัดให้เป็นถนนคนเดิน มีทั้งของกินของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวได้เดินเลือกซื้อกันในบรรยากาศเย็นสบาย
วัดในเมืองแม่ฮ่องสอนยังมีอีกหลายแห่งที่ล้วนแล้วแต่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น วัดพระนอน วัดก้ำก่อ วัดหัวเวียง ฯลฯ ใครที่มีโอกาสอยากให้ได้ไปชมและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองแม่ฮ่องสอนกัน
เรายังคงท่องเที่ยวอยู่ในอำเภอเมือง แต่ออกนอกเมืองมาประมาณ 44 ก.ม. ในตำบลหมอกจำแป่ มีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง “ปางอุ๋ง” หรือ “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้และส่งเสริมอาชีพ ปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ โดยมีพระราชประสงค์สร้างความมั่นคงแนวชายแดน พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป
ที่ปางอุ๋งแห่งนี้มีทัศนียภาพที่งดงามด้วยทิวต้นสนสองใบและสนสามใบที่ปลูกเรียงรายริมอ่างเก็บน้ำอันนิ่งสงบ ยามเช้าจะมีสายหมอกไหลเรี่ยผิวน้ำ เพิ่มความสวยงามประทับใจแก่ผู้มาเยือน ที่ปางอุ๋งนี้ยังมีที่พักให้เลือกทั้งบ้านพัก เต็นท์พักแรม หรือเกสต์เฮ้าส์ของชาวบ้านในหมู่บ้านรวมไทย แต่การเดินทางไปยังปางอุ๋งนั้นมีระเบียบว่าจะต้องติดต่อไปยังศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อขอรับบัตรผ่านเข้าไปยังพื้นที่ เพื่อสร้างความเป็นระเบียบของนักท่องเที่ยวและสถานที่ด้วย
มาแม่ฮ่องสอนแล้วจะไม่พูดถึง “ปาย” คงไม่ได้ เพราะอำเภอนี้โด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวมานาน ในอำเภอปายมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายให้เลือก หากชอบไหว้พระเที่ยววัดต้องไม่พลาดไป “วัดพระธาตุแม่เย็น” วัดสำคัญของเมืองปาย และยังเป็นจุดชมวิวทั้งเมืองได้อย่างสวยงามอีกด้วย “วัดน้ำฮู” ที่อยู่นอกเมืองปายไปเล็กน้อย เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระอุ่นเมือง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองปาย บริเวณเศียรขององค์พระสามารถเปิดออกได้ ข้างในกลวงและมีน้ำขังอยู่ เชื่อว่าเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์
ภายในอำเภอปายยังมีชุมชนชาวจีนยูนนานที่ “หมู่บ้านสันติชล” นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมบ้านเรือน ชิมอาหารจีนยูนนาน และเลือกซื้อชารสดีจากในหมู่บ้านได้ และในอำเภอปายก็ยังมีทิวทัศน์ของทุ่งนาและทิวเขาซับซ้อนสวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างน้ำพุร้อนท่าปาย น้ำตกหมอแปง มีที่พักให้เลือกทั้งแบบเกสต์เฮ้าส์เล็กๆ ริมแม่น้ำปาย หรือพักรีสอร์ทหรู รวมทั้งมีร้านกาแฟน่ารักๆ ให้เลือกนั่งหลายร้านด้วยกัน
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองแม่ฮ่องสอนก็คือ “ดอกบัวตอง” ที่บานสะพรั่งเหลืองอร่ามในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. บนดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม และที่ดอยแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียงดอกบัวตองเหล่านี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Mexican Sunflower มาจากทวีปอเมริกาใต้ มีผู้นำมาปลูกในพื้นที่รกร้างซึ่งเคยเป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้กระจายพันธุ์ไปทั่วจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอน
และในอำเภอแม่ลาน้อย มีแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์อย่าง “ถ้ำแก้วโกมล” ที่ภายในถ้ำเต็มไปด้วยผลึกแร่แคลไซต์ที่ผนังและเพดานถ้ำ มีลักษณะคล้ายเกล็ดน้ำแข็งขนาดเล็กละเอียดสีขาว บ้างก็เป็นผลึกลักษณะคล้ายปะการัง บ้างเป็นผลึกเหมือนหินงอกหินย้อยเป็นเสาและแท่งสวยงามมาก ถือเป็นถ้ำแห่งเดียวของเมืองไทยที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้ แต่หลังจากที่ถ้ำแก้วโกมลโด่งดังขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืนจากการถูกโปรโมทให้เป็นอันซีนไทยแลนด์(2) โดยยังไม่ได้วางแผนการจัดการรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้ผลึกแร่แคลไซต์ในถ้ำแห่งนี้หม่นหมองลงอย่างน่าเป็นห่วง จนหลายๆคนเปลี่ยนชื่อจาก ถ้ำแก้วโกมลเป็น "ถ้ำแก้วโกหม่น"แทน
พูดถึงถ้ำแล้ว ในอำเภอปางมะผ้ายังมีถ้ำที่น่าสนใจคือ “ถ้ำลอด” ซึ่งตั้งอยู่ในสถานศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด ภายในถ้ำลอดมีลำห้วยน้ำลาง ไหลลอดภูเขาเข้าไปในถ้ำและทะลุออกอีกด้านหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องโถงใหญ่ 3 ห้อง ได้แก่ ถ้ำเสาหินหลวง มีหินงอกหินย้อยและเสาหินปูนขนาดใหญ่ ถ้ำตุ๊กตามีหินงอกเป็นปุ่มปมเล็กๆ คล้ายตุ๊กตาเรียงรายอยู่มากมาย และด้านหนึ่งของผนังถ้ำปรากฏภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และถ้ำผีแมนซึ่งพบเศษภาชนะดินเผา เมล็ดพืช เครื่องมือหิน ซีกฟันและกระดูกของมนุษย์ รวมทั้ง “โลงผีแมน” หรือท่อนไม้ที่ถูกขุดตรงส่วนกลางออกเป็นร่องคล้ายเรือ อยู่กระจัดกระจายในถ้ำ สันนิษฐานว่าเป็นโลงศพของมนุษย์โบราณ
แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดชายแดนติดกับประเทศพม่า มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ประชากรที่อาศัยอยู่ในแม่ฮ่องสอนจึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เช่น คนไทยเหนือ ชาวไทใหญ่ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มาอาศัยอยู่ในแม่ฮ่องสอนตั้งแต่ก่อตั้งเมือง ม้ง ลีซอ กระเหรี่ยง และละว้าหรือลั๊วะ เป็นต้น ชนเผ่าที่โดดเด่นเผ่าหนึ่งก็คือกะเหรี่ยงคอยาวซึ่งมีอยู่ถึง 3 หมู่บ้านด้วยกัน คือบ้านห้วยเสือเฒ่า บ้านน้ำเพียงดิน และบ้านในสอย ใน อ.เมือง กะเหรี่ยงคอยาวที่นี่ยังคงดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม นักท่องเที่ยวสามารถมาชมวิถีชีวิตและซื้อของที่ระลึกพวกเสื้อผ้า เครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ กันได้
และสำหรับใครที่มีโอกาสเดินทางมาแม่ฮ่องสอนในช่วงงานประเพณีต่างๆ ก็จะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมอันงดงาม เช่น งานประเพณีปอยส่างลอง (งานบวชลูกแก้ว) หรือประเพณีการบวชสามเณรตามธรรมเนียมของชาวไทยใหญ่ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. และงานประเพณีจองพารา (งานปอยเหลินสิบเอ็ด) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานเทศกาลออกพรรษา จัดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ประเพณีนี้ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับชาวแม่ฮ่องสอน โดยจะมีการตักบาตรเทโวจากวัดพระธาตุดอยกองมูลงมาสู่วัดม่วยต่อ ส่วนในตอนกลางคืนตามบ้านเรือนและวัดวาอารามต่าง ๆ จะมีการจุดประทีปแห่ง "จองพารา" หรือ "ปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า" ซึ่งตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามไปทั่วทั้งเมืองอีกด้วย