“สกลนคร” จังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนบนเป็นแหล่งชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตามตำนานเล่าว่า สกลนคร หรือที่ในอดีตเรียกว่า “เมืองหนองหานหลวง” ถูกสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 ยุคที่ขอมเรืองอำนาจในดินแดนแถบนี้ ต่อมา เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง เมืองหนองหานหลวงก็ตกไปอยู่ใต้ความปกครองของอาณาจักรล้านช้าง ที่เรียกชื่อเมืองว่า “เมืองเชียงใหม่หนองหาน” หรือ “เมืองสระหลวง” เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองสกลทวาปี” จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนชื่อจากเมืองสกลทวาปี เป็น “เมืองสกลนคร” ในปัจจุบัน
สำหรับตราประจำจังหวัดสกลนคร ก็คือ รูปพระธาตุเชิงชุม มีเบื้องหลังเป็นหนองหาน ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของจังหวัด และมีปรากฏอยู่ในคำขวัญของจังหวัด ที่ว่า “พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาน แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม”
เมื่อมาถึงสกลนคร สิ่งแรกที่ไม่ควรพลาดก็คือการไปสักการะ “พระธาตุเชิงชุม” ที่ “วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร” ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสกลนคร รวมถึงชาวพุทธทั่วทุกสารทิศ โดยมีความเชื่อว่า หากได้มาบูชาพระธาตุแห่งนี้ จะถือว่าเป็นสิริมงคลอย่างมาก เนื่องจากเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเยือนถึงสี่พระองค์ ตามความหมายของคำว่าเชิงชุม ที่แปลว่า การมีรอยเท้ามาชุมนุมกันอยู่ ซึ่งหมายถึงรอยพระพุทธบาท 4 รอย ที่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์เสด็จมาพระทับไว้บนแผ่นหิน และเชื่อกันว่าแผ่นหินนั้นถูกเก็บรักษาไว้ใต้บาดาลโดยพญาสุวรรณนาค เพื่อรอพระศรีอริยเมตไตรยมาประทับรอยเป็นองค์สุดท้าย
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระเจ้าสุวรรณภิงคาร กษัตริย์ที่ครองเมืองหนองหานหลวงในอดีต เป็นผู้สร้างพระธาตุเชิงชุม แต่พระธาตุองค์ที่เห็นในปัจจุบันเป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมไว้ ภายในองค์พระธาตุจะมีลักษณะคล้ายถ้ำ และประดิษฐานพระพุทธรูปไว้หลายองค์ ส่วนที่ด้านหน้าซึ่งเป็นทางเข้าองค์พระธาตุ จะเป็นวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระองค์แสน พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสน ซึ่งพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของสกลนคร
อีกหนึ่งสิ่งที่เมื่อพูดถึงสกลนครแล้วต้องนึกถึงสถานที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ “หนองหาน” (บ้างสะกดเป็นหนองหาร) เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน และใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ (รองจากบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์) เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด นกน้ำ และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ ภายในหนองหานประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 30 เกาะ เกาะขนาดใหญ่ที่สุดคือเกาะดอนสวรรค์ ส่วนริมฝั่งด้านหนึ่งของหนองหานจัดเป็นสวนสุขภาพขนาดใหญ่ เรียกว่า “สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “สระพังทอง” เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย
สำหรับธรรมชาติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในสกลนครก็คือผืนป่า“ภูพาน” ที่อยู่ในความดูแลของ “อุทยานแห่งชาติภูพาน” มีเนื้อราว 4 แสนไร่ ช่วยทำให้ฝนตกอย่างสม่ำเสมอและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญที่ใช้ในการทำไร่ทำนาของคนสกลนคร(และนครพนม)
ในเขตภูพานมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ เช่น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ที่มีการจัดแต่งภูมิทัศน์อย่างเป็นระเบียบสวยงาม ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย, โค้งปิ้งงู กับถนนโค้งสวยอันคดเคี้ยวไปมาบนเนินเขาที่มีหลักกิโลเมตรยักษ์อดีตหลักกิโลเมตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งโดดเด่น สะดุดตา นอกจากนี้ป่าภูพานยังมี ถ้ำเสรีไทย ผานางเมิน เป็นอีกจุดน่าเที่ยวชม
สกลนครมีชนเผ่าหลักๆที่อาศัยอยู่ 6 ชนเผ่าด้วยกัน แต่ชนเผ่าที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น “ชาวภูไท” หรือ “ผู้ไท” ที่ถูกนำมาเป็นหนึ่งในคำขวัญจังหวัด
ชาวภูไท เป็นที่รู้จักกันในเรื่องของความสุภาพนุ่มนวล และความงดงามของสตรีชาวภูไท ดั้งเดิมนั้น ชาวภูไทเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้เฝ้าดูแลพระธาตุเชิงชุม ในช่วงที่มีงานบุญทอดผ้าป่าและฉลององค์พระธาตุ ชาวภูไทก็จะมาร่วมร้องและฟ้อนด้วยลีลาอ่อนช้อนสวยงาม เพื่อร่วมฉลองในงานนั้น จนปัจจุบันก็กลายมาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอันดีงามของชาวสกลนครด้วย
สกลนคร นอกจากจะมีความหลากหลายทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรมแล้ว ยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “แอ่งธรรมะแห่งอีสาน" ดังเห็นหลักฐานได้จากวัดวาอารามเก่าแก่ที่มีอยู่มากมาย แสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่มีมาตั้งแต่ครั้งอดีต เป็นถิ่นกำเนิดและพำนักของอริยสงฆ์ที่สำคัญของชาวไทยหลายท่าน อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์วัน อุตตโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น
ที่ “วัดป่ากลางโนนภู่” เป็นสถานที่ที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เคยใช้เป็นที่พักชั่วคราวในช่วงที่ท่านอาพาธเป็นระยะสุดท้าย ก่อนที่จะไปมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส จึงจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” ขึ้นที่อาคารไม้แห่งนั้น โดยจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของพระอาจารย์มั่นขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้
ส่วนที่ “วัดป่าสุทธาวาส” นั้นเป็นวัดป่าที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภายในวัดจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น” เพื่อแสดงประวัติความเป็นมาของท่านเครื่องอัฐบริขาร รูปหล่อพระอาจารย์มั่นในท่านั่งสมาธิ และมีตู้กระจกบรรจุอัฐิของท่านที่แปรสภาพเป็นแก้วผลึกสีใส ส่วนที่บริเวณใกล้กันก็มี “พิพิธภัณธ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร” หรือที่เรียกว่า “จันทรสารเจติยานุสรณ์” ภายในมีเจดีย์หุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนหลวงปู่หลุย และเครื่องอัฐบริขารของท่าน และมีการจัดนิทรรศการทางพระพุทธศาสนาด้วย
และที่ “วัดอภัยดำรงธรรม” หรือ “วัดถ้ำพวง” ซึ่งพระอาจารย์วัน อุตตโม เป็นผู้สร้างขึ้น ภายในวัดก็มี “พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์วัน อุตตโม” จัดแสดงประวัติของพระอาจารย์วัน มีรูปปั้นของท่านในท่าขัดสมาธิ และจัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร ส่วนบริเวณไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์นัก ก็เป็นที่ตั้งของ “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งจำลองมาจากประเทศอินเดีย ถือกันว่า หากชาวพุทธคนใดได้ไปกราบไหว้สถานที่เหล่านี้ถึงถิ่นแล้วก็จะถือเป็นสิริมงคลของชีวิต
นอกจากจะเป็นเมืองพุทธแล้ว ส่วนหนึ่งในสกลนครก็มีชุมชนชาวคริสต์ด้วย ซึ่งก็คือ “หมู่บ้านท่าแร่” ที่เป็นชุมชนเก่าแก่ มีอายุกว่า 100 ปี ชาวบ้านที่บ้านท่าแร่แทบทุกหลังคาเรือนจะนับถือศาสนาคริสต์ ภายในหมู่บ้านน่ายลไปด้วยอาคารสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสและโบสถ์คริสต์เก่าแก่ โดยเฉพาะกับโบสถ์คริสต์รูปเรือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ทุกๆปีในวันที่ 25 ธันวาคม ชุมชนท่าแร่จะจัด “ประเพณีแห่ดาว” ขึ้น โดยมีความเชื่อว่า ดาวเป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ของพระเยซู ในงานจะมีขบวนรถที่ตกแต่งด้วยดวงดาวขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งด้วยดวงไฟหลากสีสื่อถึงเรื่องราวการประสูติของพระเยซู จากนั้นก็จะเป็นการเฉลิมฉลองในหมู่ชาวคริสต์
ทางด้านประเพณีที่ขึ้นชื่อของสกลนครอีกงานหนึ่ง ก็คือ “ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง” ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงออกพรรษาของทุกปี ตอนกลางคืนของวันขึ้น 13 ค่ำ คืนก่อนวันแห่ปราสาทผึ้ง ชาวคุ้มวัดต่างๆ ก็จะนำปราสาทผึ้งของตนเองที่ตกแต่งอย่างสวยงามมาตั้งประกวดกันไว้ ณ สนามมิ่งเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ชมความงามอย่างใกล้ชิด ส่วนในวันขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแห่ขบวนปราสาทผึ้งไปตามถนนเทศบาลสู่วัดพระธาตุเชิงชุม ปราสาทผึ้งแต่ละขบวนจะนำมาตั้งไว้เพื่อเป็นพุทธบูชา ณ บริเวณพระธาตุ และมีการแสดงรำฟ้อน งานเฉลิมฉลองต่างๆ เข้ามาร่วมในงานอีกด้วย
ส่วนของฝากของกินของจังหวัดสกลนครก็มีให้เลือกอยู่ไม่น้อย แต่ที่ขึ้นชื่อลือชา และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดไปแล้วก็คงจะเป็น “โคขุนโพนยางคำ” และ “ข้าวฮาง”
“โคขุนโพนยางคำ” เป็นโคเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส เกิดขึ้นจากการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐให้มีการพัฒนาพันธุ์โคเนื้อของไทยให้ได้รับความสนใจและเป็นอาหารที่ขายได้ จากนั้นก็มีการจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ขึ้นที่บ้านโพนยางคำ อ.เมือง จ.สกลนคร จนกระทั่งในปัจจุบัน โคขุนโพนยางคำเป็นเนื้อโคขุนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ที่เป็นเนื้อที่มีรสชาติดี มีคุณภาพตามมาตรฐาน และราคาไม่แพง
ส่วน “ข้าวฮาง” โอท็อปขึ้นชื่อของของสกลนคร เป็นข้าวสารแปรรูปที่เป็นภูมิปัญญาของชาวไทยอีสานมาตั้งแต่เดิม โดยการนำเอาข้าวเปลือกมาแช่น้ำไว้ เพื่อกระตุ้นให้สารอาหารต่างๆ จากเปลือกข้าวซึมเข้าไปในเมล็ดข้าว แล้วจึงนำมานึ่ง เพื่อจัดเก็บสารอาหารให้คงไว้ แล้วนำข้าวเปลือกไปตากให้แห้ง และนำไปสีโดยเครื่องสีข้าวกะเทาะเปลือก ทำให้รำข้าวและเส้นใยอาหารยังอยู่ในเมล็ดข้าวอย่างครบครัน จึงมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวสารทั่วๆ ไป หากว่าซื้อไปเป็นของฝากติดไม้ติดมือให้กับเพื่อนฝูงและคนในครอบครัว ก็จะได้สุขภาพดีกันถ้วนหน้า
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้สนใจเที่ยวจังหวัดสกลนคร สามารถสอบถามข้อมูลการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร และข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครพนม (ดูแลพื้นที่จังหวัดสกลนคร) โทร. 0-4251-3490