xs
xsm
sm
md
lg

ชมธรรมชาติ-ชุมชน งามน่ายล “เสน่ห์เมืองจันท์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล
ช่วงนี้หลายจังหวัดในประเทศไทยกำลังประสบพิบัติภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมกันในหลายพื้นที่ และในหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็ประสบภัยธรรมชาติที่หนักหนาไม่แพ้กัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลง จนเกิดความแปรปรวนที่เรียกกันว่า “ธรรมชาติเอาคืน” เกิดขึ้น

หลายภาคส่วนจึงให้ความสำคัญในการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนช่วยกัน “ลดโลกร้อน” ด้วยวิธีต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่การท่องเที่ยวเองก็ต้องปรับตัวให้เป็น “การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ด้วยการสร้างจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวเกิดความตระหนักและศรัทธาในธรรมชาติ ทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เป็นต้น
ภายในอาสนวิหารฯ ที่งดงามอย่างยิ่ง
อย่างในทริปนี้ที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้เดินทางมายัง “จันทบุรี” กับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อมาสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่เมืองจันท์นี้มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยวแบบชมศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และธรรมชาติ

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาเยี่ยมชมก็คือ “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล” โบสถ์คริสต์อันซีนไทยแลนด์อายุนับร้อยปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรีในตัวเมืองจันท์ มีความงดงามและมีความเป็นมายาวนานย้อนไปได้ถึง 300 ปี เมื่อชาวคาทอลิกที่ลี้ภัยมาจากเวียดนามทางเรือ ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองจันท์ และได้ร่วมมือกับทัพพระเจ้าตากสินในการกู้ชาติกู้แผ่นดินเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่สอง ชาวญวนกลุ่มนี้ที่นับถือศาสนาคริสต์ได้สร้างชุมชนของตนขึ้น โดยได้สร้างอาสนวิหารหลังแรกขึ้นเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเมื่อปี พ.ศ.2253 ใช้ชื่อว่า "วัดน้อย" ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี
บรรยากาศภายในชุมชนริมน้ำจันทบูร
ต่อมาได้มีการซ่อมแซมและสร้างอาสนวิหารขึ้นใหม่ รวมทั้งได้ย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี จนเมื่อปี พ.ศ.2452 ชุมชนชาวคริสต์ก็ได้สร้างอาสนวิหารหลังปัจจุบันขึ้นโดยมีลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค และเมื่อสองปีก่อนที่อาสนวิหารมีอายุครบ 100 ปี ชาวคาทอลิกเมืองจันท์ก็ได้พร้อมใจกันบูรณะอาสนวิหารใหม่ให้สวยงามอีกทั้งยังได้นำยอดโดมแหลมที่ถูกรื้อไปเมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนกลับมาติดตั้งใหม่ อีกทั้งในโอกาสนี้ทางอาสนวิหารฯ และประชาชนผู้มีความศรัทธายังได้ร่วมกันสร้างองค์แม่พระประดับพลอย ซึ่งมีพลอยกว่า 200,000 เม็ด ตกแต่ง องค์แม่พระอย่างงดงามสมชื่อเมืองแห่งพลอย
ป้าไต๊กับขนมไข่รสดี ร้านเก่าแก่ในชุมชนริมน้ำจันทบูร
ชมความงามของอาสนวิหารกันไปแล้ว ต้องไม่พลาดที่จะเดินชม “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ ชุมชนแห่งนี้ถือเป็นย่านเก่าแก่ของจันทบุรี และเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของคนหลายเชื้อชาติมาอยู่ด้วยกัน ทั้งไทย จีน และญวน จึงเกิดเป็นชุมชนที่มี 3 วัฒนธรรมผสมผสานกันอย่างกลมกลืน “ตะลอนเที่ยว” เดินชมชุมชนริมน้ำจันทบูรไปบนถนนสุขาภิบาล ซึ่งเป็นถนนสายแรกของเมืองจันทบุรี และพบว่าสองฟากถนนเล็กๆ สายนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เช่น งานสถาปัตยกรรมสวยๆ ของบ้านเรือนที่ได้รับอิทธิพลของตะวันตกช่วงที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบูร บางหลังเป็นบ้านไม้ทรงหลังคาปั้นหยา เรือนไม้สองชั้น เรือนขนมปังขิง ตึกฝรั่งแบบปีนังและสิงคโปร์ หรือตึกแบบยุโรป ที่ล้วนแล้วแต่มีความเก่าแก่คลาสสิคแตกต่างกันไป บางหลังที่มีประวัติน่าสนใจก็จะติดป้ายข้อมูลไว้ให้นักท่องเที่ยวทราบถึงความเป็นมาด้วย เช่น บ้านของขุนบุรพาภิผล (ร้านขนมไข่ป้าไต๊) บ้านโภคบาล บ้านหลวงราชไมตรี เป็นต้น
ชุมชนริมน้ำ เมื่อมองจากแม่น้ำจันทบุรี
นอกจากโบสถ์คริสต์ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศแล้ว เมืองจันท์ก็ยังมีวัดจีนที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธนิกายมหายาน นั่นก็คือ “วัดมังกรบุปผาราม” หรือ “เล่งฮั้วยี่” ในอำเภอแหลมสิงห์ วัดแห่งนี้มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (สกเห็ง) ผู้สร้างวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน้ยยี่) ที่เยาวราช กรุงเทพฯ และวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) จ.ฉะเชิงเทรา ว่ากันว่า ทั้งสามวัดนี้สร้างขึ้นในสามจุดสำคัญตามฮวงจุ้ยมังกร ตำแหน่งหัวมังกรอยู่ที่ย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ที่เยาวราช หรือที่วัดเล่งเน่ยยี่ ส่วนตำแหน่งท้องมังกร อยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา หรือวัดเล่งฮกยี่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง ส่วนตำแหน่งหางมังกร อยู่ที่วัดเล่งฮั้วยี่ ซึ่งเป็นแหล่งอัญมณีที่สำคัญของภาคตะวันออกและจังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
พระพุทธรูปประธาน 3 พระองค์ ในวัดมังกรบุปผาราม
คราวนี้เดินทางกันต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติกันบ้าง ในอำเภอท่าใหม่ที่จันทบุรีนี้มีผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง คือ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งในอดีตป่าชายเลนผืนนี้ไม่ได้ร่มครึ้มดังที่เห็น หากแต่เป็นป่าเสื่อมโทรม จนเมื่อปี 2525จันทบุรีได้จัดตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นภายใต้แนวทาง “การฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล จากยอดเขาสู่ท้องทะเล” ที่ในหลวงของเรามีพระราชดำริขึ้น และนับแต่นั้นมาป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนนับพันไร่ได้พลิกฟื้นจากป่าเสื่อมโทรม กลายเป็นป่าชายเลนอันทรงคุณค่าที่มากไปด้วยระบบนิเวศอันหลากหลาย
ป่าชายเลนร่มครึ้มในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่อ่าวคุ้งกระเบน
ภายในศูนย์ฯ มีสะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ โดยมีป้ายข้อมูลที่น่าสนใจให้อ่านเป็นระยะๆ หรือหากใครมาชมเป็นหมู่คณะก็สามารถติดต่อให้วิทยากรนำชม ก็จะได้ฟังเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจและความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นในบริเวณศูนย์ฯ ก็ยังเป็นที่ตั้งของ “สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งจัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำเค็มที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน และมีอุโมงค์สัตว์น้ำระยะทางสั้นๆ แต่ก็เต็มไปด้วยสัตว์ทะเลที่น่าสนใจ เช่น ปลากระเบน ปลาฉลาม เป็นต้น
อนุสรณ์หมูดุด หรือพะยูน ที่อ่าวคุ้งกระเบน
มาดูป่าชายเลนอีกแห่งหนึ่งของจันทบุรี ที่ “ศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลน ลุ่มน้ำเวฬุ” ซึ่งมีพื้นที่กว่า 120,000 ไร่ เต็มไปด้วยไม้โกงกางและไม้ป่าชายเลนนานาชนิด จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติขนาดใหญ่ แต่กว่าจะเป็นป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ พื้นที่บริเวณนี้ก็เคยเป็นป่าเสื่อมโทรมมาก่อนเช่นกัน โดยแต่เดิมเป็นป่าไม้โกงกางที่ราชการได้เคยอนุญาตให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนเพื่อทำสัมปทานตัดไม้โกงกางไปทำถ่าน ต่อมามีชาวบ้านบุกรุกใช้พื้นที่ทำเป็นนากุ้งจนแทบไม่เหลือพื้นที่ป่า แต่ปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกฟื้นฟูขึ้นเป็น "สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน ที่ 2" (บ้านท่าสอน จันทบุรี) และให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลน แม้จะถูกชาวบ้านต่อต้านในช่วงแรกๆ แต่เมื่อมีการสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมความรู้ เรื่องป่าไม้ชายเลน การอนุรักษ์พันธุ์ไม้ทะเลและสัตว์น้ำ รวมไปถึงได้เข้าไปส่งเสริมการอาชีพพื้นบ้าน ก็ทำให้คนในชุมชนเกิดความเข้าใจและยอมรับในที่สุด
ปลากระเบนตัวโตในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ อ่าวคุ้งกระเบน
สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวภายในสถานีฯ นั้นก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น การปลูกป่าชายเลน การขี่จักรยาน (หรือนั่งรถรางไฟฟ้า) ชมหิ่งห้อยบนถนนลาดยางระยะทาง 2 ก.ม. ที่สองฟากฝั่งเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ ต้องบอกว่าหิ่งห้อยที่นี่มีให้ชมเป็นจำนวนมาก หิ่งห้อยตัวเล็กๆ ที่เกาะอยู่บนต้นไม้ต่างพร้อมใจกันกะพริบแสงวิบวับๆ สวยงามน่าประทับใจ และหากขี่จักรยานไปจนสุดเส้นทางก็จะได้ชมพรายน้ำในท้องทะเลที่จะมีให้ชมในช่วงเดือนพฤศจิกายน “ตะลอนเที่ยว” ขอบอกว่าไม่ควรพลาดเลยทีเดียว
นักท่องเที่ยวร่วมปลูกต้นประสักดอกแดงที่สถานีฯ ท่าสอน
นอกจากนั้นที่นี่ก็มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่ลัดเลาะไปตามพันธุ์ไม้ป่าชายเลนนานาพรรณ ซึ่งสามารถเดินชมได้ทั้งช่วงกลางวันและช่วงเย็นไปถึงค่ำ เพราะมีแสงไฟจากพลังงานกังหันลมส่องรางๆ ให้เห็นทางเดิน และยังสามารถชมหิ่งห้อยตามเส้นทางนี้ได้ด้วย แต่อาจไม่มากนัก และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่อยากให้พลาด ก็คือการล่องเรือชมฝูงเหยี่ยวแดง ที่อยู่นอกชายฝั่ง ต้องนั่งเรือไปประมาณ 1.30 ช.ม. เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเช่นกัน
เดินชมหิ่งห้อยตอนพลบค่ำในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ท่าสอน
สำหรับการเดินทางมาเมืองจันท์ครั้งนี้ เราได้ชมทิวทัศน์อันงดงามบน “ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต” ที่เรียกว่าเป็น Scenic Route หรือเส้นทางชมทิวทัศน์อันสวยงาม โดยเป็นเส้นทางที่วิ่งเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออก 3 จังหวัดคือ ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งก็จะผ่านจุดชมวิวสวยๆ หลายจุดตลอดเส้นทาง ในครั้งนี้เราได้ขับรถเที่ยวชมทิวทัศน์ Scenic Route ในช่วงเส้นทางจาก อ.แหลมสิงห์ ข้ามสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชมวิวปากแม่น้ำจันทบุรี เลียบทะเลผ่านจุดชมวิวปากน้ำแขมหนู สู่หาดเจ้าหลาว และหากขับเลยไปอีกไม่ไกลก็จะถึงอ่าวคุ้งวิมาน ซึ่งมีจุดชมวิวเนินนางพญาเป็นไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด เพราะเป็นแหล่งชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่ง มักจะมีกองมาถ่ายโฆษณาถ่ายหนังละครกันเป็นประจำ
พระอาทิตย์ตกน้ำที่จุดชมวิวเนินนางพญา
การเดินทางมาเมืองจันท์ในครั้งนี้ทำให้ “ตะลอนเที่ยว” ได้เห็นแหล่งท่องเที่ยวความสวยงามที่มีอยู่มากมาย ซึ่งคงจะน่าเสียดายหากนักท่องเที่ยวมาเยือนอย่างผิวเผิน แค่มาถ่ายรูปสวยๆ แล้วก็กลับไป แต่อยากให้นักท่องเที่ยวทุกคนมาร่วมสร้างอนาคตให้แก่การท่องเที่ยวแบบใหม่ สร้าง “หัวใจสีเขียว” (Green Heart) ด้วยการมีจิตสำนึกที่เคารพวิถีทางของธรรมชาติ ไม่พยายามเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน และเน้นการประหยัดพลังงานในทุกๆ กิจกรรม ...นี่แหละ คือนักท่องเที่ยวที่โลกต้องการ
ทิวทัศน์เมื่อมองจากสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มองเห็นวิถีชีวิตของคนจันทบุรี
*  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง จันทบุรี โทร.0 3865 5420-1, 0 3866 4585
กำลังโหลดความคิดเห็น