ฤดูกาลผ่านเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนแล้ว แต่สภาพอากาศในกรุงเทพฯยังคงร้อนระยับไม่ต่างจากฤดูร้อนที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ “ตะลอนเที่ยว” จึงขอหลีกลี้หนีความพลุกพล่านวุ่นวายและอากาศที่ร้อนระยับจากป่าคอนกรีตในเมืองกรุง ร่วมเดินทางไปกับพี่หนุ่ม คงกะพันในทริป “บางอ้อ Good Trip #2” ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ทะเล “ปราณบุรี” อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ค่อนข้างสงบ ไม่พลุกพล่าน และให้บรรยากาศชวนโรแมนติกไม่น้อยสำหรับผู้มีอารมณ์สุนทรีในหัวใจ
ปราณบุรีในวันนี้ถือเป็นสถานที่ตากอากาศอินเทรนด์ที่กำลังมาแรง เนื่องจากทะเลปราณมีชายทะเลทอดยาวกว่า 7 กิโลเมตร มีชายหาดกว้างขวางน่าเดิน มีพื้นที่บริเวณริมชายหาดอันร่มรื่น อีกทั้งยังมีโรงแรม รีสอร์ต ที่พักหลากหลายสไตล์ ทั้งแนวบูทีค แนวฮิป และแนวหรูหรา ให้เลือกพัก ซึ่งแม้ที่พักริมทะเลปราณหลายๆแห่งจะจัดอยู่ในประเภทแพงบรม แต่ก็มีนักท่องเที่ยวหลายคนยอมจ่าย เพื่อแลกกับบรรยากาศอันเป็นที่ถูกตาต้องใจ โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาทะเลที่สะอาด สงบ ผ่อนคลาย และมีความเป็นส่วนตัวสูง
ทะเลปราณ มีหาดเด่นๆอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือ “หาดปราณบุรี” ที่นอกจากสงบสวยงามแล้วยังมีร้านอาหารทะเลบริการอยู่หลายร้าน “หาดนเรศวร” ยาวต่อเนื่องมาจากหาดปราณบุรี มีชายหาดกว้าง สงบเงียบ เหมาะต่อการพักผ่อนนอนฟังเสียงคลื่นลมแห่งท้องทะเลยิ่งนัก “หาดเขากะโหลก” ในเขตวนอุทยานท้าวโกษา ที่ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีความเงียบสงบ ชายหาดกว้างขวาง ทางด้านใต้ของหาดมี “เขากะโหลก” เขาลูกย่อมๆมองคล้ายหัวกะโหลก ซึ่งใครอยากชมวิวทะเลปราณจากมุมสูงก็สามารถเดินขึ้นไปชมยังด้านบนกันได้
นอกจากบรรยากาศชวนพักผ่อนตากอากาศแล้ว ปราณบุรียังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งจับหมึกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทยเลยทีเดียว ซึ่งยามค่ำคืนหากมองออกไปยังนอกชายฝั่ง จะเห็นเรือไดหมึกที่มีแสงนีออนสีเขียววิบวับเต็มไปหมดเพื่อล่อให้หมึกมาเล่นไฟ
บางคนสงสัยว่าทำไมเรือไดหมึกต้องใช้แสงสีเขียว เรื่องนี้เจ้าของเรือไดหมึกลำหนึ่งบอกกับเราว่า เพื่อเอาไว้ตัดแสงสะท้อนในน้ำ สีเขียวสามารถตัดแสงสะท้อนได้ดีกว่าสีอื่น แต่ก็มีสีที่มีคุณภาพเดียวกับสีเขียวคือสีน้ำเงิน แต่ที่เลือกใช้สีเขียว เพราะต่างเชื่อกันว่าหมึกมันชอบสีเขียว
ด้วยความเป็นแหล่งหมึกสำคัญ ทำให้แต่ละวันที่หมู่บ้านชาวประมงบริเวณปากน้ำปราณ จะมีชาวบ้านนำหมึกที่จับได้มาขึ้นตะแกรงตากหมึกริมชายหาดเรียงรายกันเป็นจำนวนมาก
ชาวบ้านที่นี่บอกกับ “ตะลอนเที่ยว” ว่า หมึกสีขาวๆนั่นเพิ่งจับมาอาบแดดได้ไม่นาน ส่วนตัวที่เป็นสีส้มนั้นจะผ่านการปรุงและใส่สีมาเรียบร้อย และมานอนอาบแดดบนตะแกรงนี้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเป็นอย่างต่ำ
หมู่บ้านชาวประมงริมปากแม่น้ำปราณ นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตหมึกแหล่งใหญ่แล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่สนใจในวิถีชีวิต และเป็นแหล่งซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านของนักท่องเที่ยว ที่นี่เขาขึ้นชื่อในเรื่องหมึกแดดเดียว หมึกบดแห้งสามรส หมึกบดราดน้ำเชื่อม และหมึกแปรรูปอื่นๆ ซึ่งขายกันในราคาไม่แพง ส่วนใครที่กำลังเมียงมองหาอาหารทะเลลิ้มลอง ที่ปากน้ำปราณเขามีร้านอาหารทะเลใหม่ๆสดๆ รสอร่อย ให้นั่งหม่ำในบรรยากาศอวลกลิ่นอายทะเล
หลังชมวิถีการตากหมึกและชิมหมึกแปรรูปกันจนพุงกาง “ตะลอนเที่ยว” กับเพื่อนร่วมทริปขอไปย่อยสลายคอเลสเตอรอล ด้วยกิจกรรมปั่นจักรยานมุ่งหน้าสู่ “ศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี” หนึ่งในผืนป่าชายเลนน่าสนใจ ที่อยู่ห่างจากรีสอร์ทที่พักราว 6 กิโลเมตร ชนิดปั่นกันพอเหงื่อเริ่มซึมก็มาถึงยังผืนป่าชายเลนแห่งนี้
ป่าชายเลนสิรินาถฯ มีเนื้อที่ประมาณ 700 กว่าไร่ เดิมเป็นนากุ้งร้างที่ตอนหลังได้ทำการพลิกฟื้นปลูกป่าชายเลนขึ้นมาตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ภายในมีทางเดินศึกษาธรรมชาติทะลุถึงกันตลอด พร้อมด้วยป้ายสื่อความหมายให้ข้อมูลเป็นระยะ บนสะพานทางเดินที่ร่มรื่นเขียวครึ้มไปด้วยต้นไม้ป่าชายเลนสารพัน มีไฮไลท์อยู่ที่ ต้นไม้ 2 ต้น คือโกงกางใบเล็ก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระเทพฯทรงปลูก นับเป็นต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ายิ่งในศูนย์แห่งนี้
ไม่เพียงต้นไม้เขียวสบายตาใน 2 ฟากฝั่งทางเดิน ตามพื้นดินเลนยังมีปลาตีนและ “ปูก้ามดาบ” เดินชูก้ามข้างเดียวของมันอวดสลอนไปทั่ว
ปูก้ามดาบ ไม่ใช่ปูยิ่งลักษณ์ หลายๆคนตั้งฉายาให้มันว่า “ปู ส.ส.” เพราะพฤติกรรมชูมือข้างเดียวของมันดูคล้าย ส.ส. ในสภายามยกมือโหวตอภิปราย แต่ประทานโทษ หากมองในคุณประโยชน์แล้ว ปูก้ามดาบมีคุณประโยชน์ต่อผืนแผ่นดินต่อโลกมากกว่า ส.ส. มากนัก เพราะพี่เจ้าหน้าศูนย์ฯที่บอกกับเราว่า ปูชนิดนี้มันจะกินใบโกงกาง แล้วย่อยออกมาเป็นมูล เป็นปุ๋ย ไปช่วยเพิ่มแร่ธาตุให้ดิน เปรียบเหมือนฮีโร่ในป่าชายเลนยังไงยังงั้น
ภายในศูนย์ฯสิรินาถฯ ยังมีไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ “หอชะคราม” หอสูงจุดชมวิวที่เมื่อมองลงมาจากหอ จะเห็นทิวทัศน์ป่าชายเลนสิรินาถฯในมุมกว้างไกลได้อย่างถนัดถนี่ตา รวมไปถึงในวันฟ้าเปิดเรายังสามารถมองไกลไปเห็น แพประมงปากน้ำปราณ ศาลเจ้าแม่ทับทิม เขากะโหลก และอุทยานสามร้อยยอดได้อีกด้วย
บนหอสูงแห่งนี้ยังมีป้ายสื่อความหมายที่เห็นแล้วเตะตาจนลูกตาแทบถลนออกนอกเบ้า นั่นก็คือป้ายที่เขียนข้อความว่า “ป่าชายเลน คือ มดลูกของทะเล” เพราะป่าชายเลนเปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำทุกชีวิต มีคุณค่าและสมควรช่วยกันรักษา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าวันนี้ที่ศูนย์ฯป่าชายเลนสิรินาถฯ ยังมีนักท่องเที่ยว ชาวบ้าน และเด็กนักเรียนในพื้นที่ มาร่วมด้วยช่วยกันปลูกป่ารักษาพื้นที่สีเขียวกันอยู่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการปลูกต้นไม้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าชายเลน ปลูกป่าบก ปลูกต้นไม้ในสวนที่บ้าน หรือแม้กระทั่งการปลูกต้นไม้ในกระถาง มันถือเป็นการช่วยโลกได้ทางหนึ่ง เพราะเพียงแค่หนึ่งคน ปลูกต้นไม้กันคนละต้น โลกของเราคงร่มรื่นและเย็นสบายขึ้นอีกเยอะเลย
นอกจากศูนย์ฯป่าชายเลนสิรินาถฯแล้ว ปราณบุรียังมีแหล่งท่องเที่ยวป่าชายเลนขึ้นชื่ออยู่อีกหนึ่งแห่งคือ “วนอุทยานปราณบุรี” ที่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีเนื้อที่ประมาณ 700 กว่าไร่ มีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่านกลางพื้นที่ป่าชายเลน
วนอุทยานปราณบุรี มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรให้เดินทอดน่อง รื่นรมย์ สัมผัสธรรมชาติกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นจุดล่องเรือชมธรรมชาติ ชมทิวทัศน์รอบนอกของผืนป่า ชมระบบนิเวศป่าชายเลน และสัมผัสกับวิถีชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้ชีวิตผูกพันกับท้องทะเลมาช้านาน
อนึ่งในการมาร่วมกิจกรรมบางอ้อ Good Trip #2 ครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่ เราไม่ได้มาเที่ยวเฉยๆ หากแต่ยังมาทำประโยชน์ด้วยการมามอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา หนังสือ และหลอดไฟ ให้กับ “โรงเรียนวัดนาห้วย แสงกล้าประชาสรรค์” โรงเรียนที่มีที่ตั้งอันชวนขนหัวลุก เพราะก่อนหน้าที่จะมาเป็นโรงเรียนที่นี่เคยเป็นป่าช้ามาก่อน
ปัจจุบันอดีตป่าช้าที่นี่ยังคงมีการขุดพบหม้อดินบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตกันอยู่เสมอ แต่นั่นหาได้เป็นปัญหาต่อการเรียนของเด็กๆไม่ เพราะเด็กๆที่นี่บอกกับ “ตะลอนเที่ยว” ด้วยรอยยิ้มอันน่ารักว่า ไม่ได้รู้สึกกลัวต่ออดีตป่าช้าแห่งนี้ เพราะพวกเขามาเรียน ไม่ได้มาทำไม่ดี
ได้ยินคำตอบแบบนี้แล้วเราก็อดชื่นใจไม่ได้ ในขณะที่สภาพของปราณบุรีวันนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยวเปล่าวังเวงจนน่ากลัว หากแต่เป็นย่านแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงแรงไม่หยุด มีที่พักมากมายกำลังก่อสร้างและวางแผนก่อสร้างอยู่อีกหลายเจ้าด้วยกัน
ยังไงๆในเรื่องนี้เราก็ขอฝากไปยังผู้บริหารประจวบ ผู้บริหารปราณบุรีและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ว่าต้องวางแผน บริหารจัดการ เรื่องการก่อสร้างต้องควบคุมอย่าให้เกิดทัศนอุจาดขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้ ส่วนเรื่องของขยะ-น้ำเสียก็ต้องควบคุมจัดการให้ดี อย่าให้เกิดปัญหามลพิษต่อสภาพแวดล้อม ในขณะที่ที่ปัญหาอื่นๆที่จะตามมาจากการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นก็ต้องวางแผนบริหารรับมือให้ดี เพื่อไม่ให้ปราณกลายเป็นเมืองที่ถูกภาคธุรกิจการท่องเที่ยวถล่มเละจนเสียศูนย์เหมือนเมืองท่องเที่ยวหลายๆแห่งที่เคยประสบกับปัญหาแบบนี้มาแล้ว