"พิษณุโลก" เป็นจังหวัดพี่ใหญ่ในภาคเหนือตอนล่าง มีท่าอากาศยานและมีทางรถไฟตัดผ่านตัวเมือง อีกทั้งขบวนรถไฟสายเหนือแทบทุกขบวนล้วนวิ่งผ่านพิษณุโลกทั้งสิ้น ทำให้พิษณุโลกกลายเป็นจังหวัดศูนย์กลางทั้งในด้านการบิน การขนส่งทางบก รวมทั้งการค้าที่สำคัญของเขตภาคเหนือตอนล่าง ไม่เพียงเท่านั้น พิษณุโลกยังเป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลากหลายแนว ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังเมืองพิษณุโลก ตามคำขวัญที่ว่า “พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา”
แต่เดิมเราเรียกพิษณุโลกว่า “เมืองสองแคว” เพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำน่าน (แควใหญ่) และแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำน่าน และด้วยเหตุที่แม่น้ำน่านได้ไหลตรงผ่านกลางเมืองนี้เอง จึงมีอีกสมญานามว่า “เมืองอกแตก” ส่วนชื่อ “เมืองพิษณุโลก” นั้นเนื่องมาจากพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) เสด็จจากกรุงสุโขทัยถึงเมืองพิษณุโลกที่สร้างใหม่เป็นเวลายามพระวิษณุ จึงได้ชื่อว่า “พิษณุโลก”
มาถึงเมืองพิษณุโลกแล้วต้องไม่พลาดมายัง “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ” หรือที่ชาวพิษณุโลกมักเรียกว่าวัดใหญ่ หรือวัดพระศรีฯ เพื่อมากราบสักการะ “พระพุทธชินราช” หรือหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองพิษณุโลก และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ส่วนซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยางดงามมากเช่นเดียวกัน พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธชินราชขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ซึ่งปัจจุบันทั้งสององค์ประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารเป็นองค์จำลอง
ภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ “วิหารพระเหลือ” ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารพระพุทธชินราช พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก เรียกว่า พระเหลือ และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหนึ่งหลัง อัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า วิหารพระเหลือ เชื่อกันว่าสักการะแล้วจะเป็นสิริมงคลเหลือกินเหลือใช้ตามชื่อของท่าน
“พระอัฏฐารส” เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ สูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า เนินวิหารเก้าห้อง นอกจากนั้นบริเวณใกล้เคียงกันยังมี “วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน” โบราณวัตถุสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตกาธาน ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดร่องกระจกสวยงาม ที่ปลายหีบมีพระบาททั้งสองยื่นออกมา มีพระมหากัสสปะเถระนั่งนมัสการพระบรมศพ
พิษณุโลกยังมีความสำคัญตรงที่เป็นเมืองประสูติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ สถานที่ประสูติและที่ประทับของพระองค์อยู่ที่ “พระราชวังจันทน์” ซึ่งปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงฐานรากของอาคารเท่านั้น ในบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” มีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ ขนาดเท่าองค์จริง ในอิริยาบถประทับนั่งทรงหลั่งทักสิโนทกประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง ใกล้กันนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนเรศวรฯ จัดแสดงพระราชประวัติของพระองค์
สำหรับแม่น้ำน่านซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านเมืองพิษณุโลกนั้น ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่มีทัศนียภาพที่งดงาม โดยมีเรือนแพจอดเรียงรายกระจายอยู่ตลอดสองฝั่งริมแม่น้ำน่าน และมีเรือนแพหนาแน่นบริเวณวัดพระศรีรัตมหาธาตุฯ บ้างก็เป็นเรือนแพที่จัดทำเป็นร้านอาหารลอยน้ำ ให้ลูกค้าได้ชิมอาหารอร่อยๆ พร้อมกับชมทิวทัศน์ของแม่น้ำน่าน บ้างก็เป็นเรือนแพที่พักอาศัยของชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงกับสายน้ำ ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเมืองพิษณุโลก
มาถึงถิ่นพิษณุโลกแล้ว ต้องไม่พลาดไปชม “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” ตั้งอยู่ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ในตัวเมืองพิษณุโลก โดยจ่าสิบเอก ดร. ทวี บูรณเขตต์ “คนดีศรีพิษณุโลก” ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ได้เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านในอดีต รวมกันแล้วนับหมื่นชิ้น บางชิ้นเป็นของเก่าหาได้ยาก จนได้รับการยอมรับว่าเป็นขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทยที่น่าภูมิใจยิ่งนัก
พิษณุโลกยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็น “อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง” ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางสายพิษณุโลก - หล่มสัก เช่น “น้ำตกแก่งโสภา” เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในลำน้ำเข็ก น้ำตกนี้สูง 3 ชั้น รูปร่างแปลกตาเหมือนกับเอาหินเหลี่ยมต่างๆ มากองขวางทางน้ำเป็นช่วงๆ ลดหลั่นลงมา นับว่าเป็นน้ำตกที่งามสมชื่อ “อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ” ครอบคลุม อ.ชาติตระการ และ อ.นครไทย มี “น้ำตกชาติตระการ” เป็นน้ำตก 7 ชั้น ตั้งตามชื่อธิดาของท้าวสามลในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง คือ มะลิวัลย์ กรรณิการ์ การะเกด ยี่สุ่นเทศ เกศเมือง เรืองยศ รจนา “อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว” ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและอุตรดิตถ์ ซึ่งในช่วงฤดูฝน ดอกหงอนนาคสีม่วงจะบานเต็มลานสนบนภูสอยดาวงดงามยิ่งนัก อีกทั้งยังมีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง อาทิ น้ำตกภูสอยดาว น้ำตกสายทิพย์ เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวถูกใจคนชอบลุย
ถ้าอยากจะเที่ยวแบบครบรสชาติได้ทั้งความรู้คู่ความสนุกและความประทับใจ ต้องไปที่ “อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า” ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามของป่าไม้ ห้วยน้ำลำธาร หุบเหวและขุนเขา อีกทั้งที่แห่งนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของภาคเหนือ เมื่อเหตุการณ์สงบลงในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2525 ได้มีการตัดเส้นทางผ่านใจกลางภูหินร่องกล้าและจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติขึ้น ภายในอุทยานมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น ลานหินแตก ลานหินปุ่ม ผาชูธง ป่าสน โรงเรียนการเมือง สำนักอำนาจรัฐ โรงพยาบาล ปัจจุบันสถานที่ต่างๆ ได้ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด
สำหรับผู้ที่รักการผจญภัย ต้องไม่พลาดมาล่องแก่งที่ลำน้ำเข็ก ที่ขาลุยยกให้เป็นสถานที่ล่องแก่งที่สุดมันลำดับต้นๆ ของประเทศไทย เพราะมีระดับความแรงที่ท้าทายตั้งแต่ระดับ 1 ไปจนถึงระดับ 5 โดยช่วงเวลาล่องแก่งที่เหมาะสมจะอยู่ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวจะครบพร้อมสรรพทุกรูปแบบแล้ว เมืองพิษณุโลกยังเป็นแหล่งกินสำหรับคนที่ชอบลิ้มรสอาหารพื้นเมืองรสเด็ด ต้องมาลองชิมก๋วยเตี๋ยวห้อยขาที่มีให้เลือกหลายร้านใกล้กับวัดพระศรีมหาธาตุ ส่วนตอนค่ำๆ อย่าลืมแวะเข้าตลาดในตัวเมืองพิษณุโลก มาชิมแมลงทอด ทั้งหนอนรถด่วน จิ้งหรีดตัวเล็ก แมงป่อง แมงดา แมงกระชอน ตัวไหม ตั๊กแตน ฯลฯ และชิมผักบุ้งลอยฟ้า หรือผักบุ้งไฟแดงนั่นเอง แต่ความไม่ธรรมดาอยู่ที่ตอนเสิร์ฟจากกระทะใส่จาน ผักบุ้งไฟแดงจะถูกโยนขึ้นไปจนสูง ก่อนจะตกลงมาใส่จานที่เด็กเสิร์ฟรอรับอยู่อย่างแม่นยำ เป็นการสร้างความตื่นเต้นเรียกน้ำย่อยให้ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ พิษณุโลกยังมีกาแฟแก่งซอง กาแฟท้องถิ่นพันธุ์อราบิก้าที่ปลูกอยู่ทั่วไปในตำบลแก่งโสภา และมีร้านจำหน่ายกาแฟสดบริเวณน้ำตกแก่งซองจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกติดปากว่ากาแฟแก่งซอง รสชาติเข้มข้นหวานหอมถูกปากคอกาแฟ และของกินของฝากขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของเมืองนี้ก็คือ “กล้วยตาก” ที่ใช้คือกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันมากในอำเภอบางกระทุ่ม มีลักษณะเด่นคือผลโต ไส้ขาว ไม่มีเมล็ด เมื่อนำมาทำกล้วยตากแล้วได้รสชาติที่หวานฉ่ำอร่อยไม่เหมือนที่อื่นๆ