xs
xsm
sm
md
lg

พธม.จี้รัฐถอนตัวมรดกโลก ซัดถลำลึกเสียดินแดน เชื่อ ตร.ยึดพื้นที่อีกแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
“ปานเทพ” เผยศุกร์นี้บ่ายโมง ศาลตัดสินคุ้มครองชั่วคราว พ.ร.บ.มั่นคงหรือไม่ เชื่อตำรวจยึดพื้นที่เพิ่มอีกแน่ จี้เปิดงบคุมม็อบ 94 ล้าน ปัด “ประยุทธ์” ด่า พธม. จี้รัฐถอนตัวมรดกโลกหลังทุตยุ่นยูเนสโกยันดันแผนพระวิหาร “จำลอง” ซัดรัฐกลั่นแกล้ง “ประพันธ์” จวกละเมิดสิทธิประชาชน ยันไทยโดนต่างชาติจุ้นพระวิหารแล้ว


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (2 มี.ค.) ที่สะพานมัฆวานฯ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชนเพื่อประชาธิปไตย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ และนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้งกันราชอาณาจักรไทย ร่วมกันแถลงข่าวประจำวันต่อสื่อมวลชน โดยนายปานเทพเปิดเผยถึงการต่อสู้คดีความในศาลแพ่งที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาบังคับระงับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้วยว่า พันธมิตรฯ ได้ใช้ข้อต่อสู้ในทางกฎหมาย โดยระบุว่า การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง และประกาศทั้ง 3 ฉบับของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เข้าข่ายการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงเอง และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย รวมทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ต้องการมาบังคับใช้กับกันพันธมิตรฯ เท่านั้น จากการออกหมายเรียกหรือการเปิดช่องทางการจราจรเข้ามาในพื้นที่การชุมนุม แต่กลับปล่อยให้มีรถสัญจรไปมาได้ ทั้งที่ประกาศเป็นพื้นที่ความมั่นคงที่ห้ามไม่ให้มีการเข้าออก

นายปานเทพกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้ในเรื่องของสิทธิการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้ปกป้องดินแดนอธิปไตยของชาติ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลและตำรวจพยายามอ้างเหตุถึงข้อห่วงใยถึงเหตุการปะทะกับกลุ่มชุมนุมอื่น และจินตนาการอ้างว่าพันธมิตรฯ จะไปชุมนุมปิดล้อมรัฐบาลหรือทำเนียบรัฐบาล ซึ่งศาลได้พิจารณาครบถ้วนแล้วในชั้นไต่สวนเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันที่ 2-3 มี.ค.จะมีการไต่สวนในส่วนคดีของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ และจะมีการตัดสินในวันที่ 4 มี.ค. เวลา 13.00 น.ว่าจะมีการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่

“ถือเป็นการทำหน้าที่ของภาคประชาชนเพื่อพิสูจน์และเป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่า สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 สามารถทำได้จริงหรือไม่ หรือจะถูกกลั่นแกล้งเมื่อรัฐต้องการขัดขวางการชุมนุม เพราะหากภาครัฐอ้างจินตนาการส่วนตัวในการเป็นข้ออ้างในการกลั่นแกล้งประชาชน ก็จะสามารถทำได้ตลอดกลาล เท่ากับว่าประชาชนไม่ได้มีสิทธิในการชุมนุมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจริง” นายปานเทพกล่าว

นายปานเทพกล่าวต่อถึงกรณีความพยายามยึดคืนพื้นที่เพิ่มเปิดช่องทางทางจราจรเพิ่มเติมของรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องการมากกว่านี้ จนถึงขั้นสลายการชุมนุม ทั้งที่จากการสังเกตจะเห็นว่าถนน 2 เลนที่ยึดคืนไปแล้วอ้างว่าบรรเทาปัญหาจราจรนั้น นานๆ จะมีรถผ่านมาสัก 1 คัน ดังนั้น ที่อ้างว่าการยึดถนน 2 เลนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และกระเทือนความมั่นคงของรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องจริง รัฐบาลเพียงต้องการเอาชนะคะคานกับภาคประชาชน ทั้งที่ปัญหาคือการยึดคืนพื้นที่จากกัมพูชามาให้ได้ จนวันนี้นายกฯ อภิสิทธิ์พยายามที่จะมาพูดถึงดินแดนไทยที่ถูกกัมพูชายึดครองไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าตำรวจจะเร่งดำเนินการยึดคืนพื้นที่การชุมนุมมากขึ้นก่อนที่ศาลจะมีคำตัดสินในวันที่ 4 มี.ค.นี้

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า ตนได้ทราบข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่ระบุว่าภาครัฐมีการใช้งบประมาณเพื่อควบคุมการชุมนุมของภาคประชาชน ตั้งแต่วันที่ 9-20 ก.พ.ที่ผ่านมา รวม 12 วัน เป็นจำนวน 94 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 8 ล้านบาท มากกว่าค่าใช้จ่ายในการชุมนุมของพันธมิตรฯ มาก โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ใช้ไป 91 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก รัฐบาลต้องตรวจสอบว่ามีการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง เพราะหากปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐมีแรงจูงใจเช่นนี้ ก็อาจทำให้มีการสร้างสถานการณ์เพื่อให้มีความหวาดวิตก

“การใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและความเหมาะสม เป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสร้างสถานการณ์ขึ้นได้ รัฐบาลต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัดว่ามีรายละเอียดค่าใช้จ่ายอย่างไร และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย” นายปานเทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามมีความเห็นอย่างไรต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาระบุว่ากลุ่มผู้ชุมุนมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมากเกินไป นายปานเทพกล่าวว่า ตนเข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้หมายถึงกลุ่มพันธมิตรฯ หากแต่หมายรวมผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นหลัก โดยที่บอกว่าผู้ชุมนุมรู้จักแต่สิทธิ แต่ไม่รู้จักหน้าที่ จึงไม่น่าจะหมายถึงพันธมิตรฯ ตรงนี้คงต้องถามกลับไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าหมายถึงผู้ชุมนุมกลุ่มใด เพราะหากพูดถึงเรื่องหน้าที่พลเมือง ตนมั่นใจว่าพันธมิตรฯ มาชุมนุมตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70-71 ในการพิทักษ์รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ ซึ่งเราได้ระบุไว้ชัดเจนในแถลงการณ์ตั้งแต่แรก

ในส่วนข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น นายปานเทพกล่าวว่า ณ ขณะนี้ถือว่าต่างประเทศได้มีความพยายามรุกคืบเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชามากขึ้น ล่าสุดทราบว่าฝ่ายกัมพูชาได้ร่างข้อตกลงหรือทีโออาร์เพื่อเร่งให้ อินโดนีเซียในฐานะตัวแทนสักขีพยานของอาเซียนเข้ามาในพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์ไม่ให้เกิดการปะทะกัน ทั้งที่กัมพูชายังยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ ทำให้ไทยไม่สามารถใช้กำลังทหารผลักดันกัมพูชาออกไปได้ ดังนั้น การที่นายกฯ อภิสิทธิ์ ระบุว่าไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องพื้นที่ที่วางกำลังทหารอินโดนีเซีย จึงไม่ใช่สาระสำคัญมากไปกว่าการตัดสิทธิการใช้กำลังทหารผลักดันอินโดนีเซีย ออกจากพื้นที่ รวมทั้งยังมีความพยายามจากทางยูเนสโก ที่ส่งนายโคอิชิโร มัตสึอูระ อดีตผู้อำนวยการยูเนสโก เป็นทูตพิเศษเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และได้มีการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา โดยมีผลลัพธ์ออกมาอย่างชัดเจนว่ายูเนสโกไม่สามารถถอนการขึ้นทะเบียนปราสาท พระวิหารเป็นมรดกโลกได้แล้ว เพราะการขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปี 51 โดยมีการนำดินแดนของไทยไปเป็นพื้นที่บริหารจัดการร่วม ภายใต้ทะเบียนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา โดยไทยได้เพียงเข้าไปเป็น 1 ใน 7 ชาติที่มีส่วนร่วมในการบริหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากท่าทีของผู้แทนยูเนสโกที่เหมือนเป็นการรับรองการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา และมีความพยายามเดินหน้าในการพิจารณารับรองแผนการบริหารจัดการพื้นที่ ในส่วนของพันธมิตรฯจะมีความเคลื่อนไหวเพื่อกดดันคัดค้านอย่างไรหรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า ภาคประชาชนคงชุมนุมอยู่เช่นนี้ และอาจจะยื่นหนังสือคัดค้าน ซึ่งที่ผ่านมาทางยูเนสโกก็ค่อนข้างให้น้ำหนักกับภาคประชาชน แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการคัดค้านจะน้ำหนักมากกว่าโดยสิ่งที่ง่าย ที่สุดคือการถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก เพื่อคัดค้านมติคณะกรรมการมรดกโลกย้อนหลังว่าละเมิดอธิปไตยของไทย แต่นายกฯอภิสิทธิ์กลับบิดเบือนว่าจะไม่มีเวทีในการทักท้วง เพราะแท้จริงแล้วเวทีมรดกโลกเป็นโอกาสให้กัมพูชาหยิบยกแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ผนวกกับการอ้างคำบรรยายคำตัดสินของศาลโลกในการถือครองดินแดนไทย รวมทั้งหากข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้ต้องการให้ถอนตัวออกจากยูเนสโก โดยไทยยังสามารถใช้สิทธิในฐานะประเทศที่เป็นรัฐในการบอกกับองค์กรอื่นในโลกว่า ไม่มีสิทธิเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน หรือสหประชาชาติ หากไทยยืนยันเส้นเขตแดนของประเทศให้ชัดเจนว่าหมายถึงขอบหน้าผาและสันปันน้ำ แต่ถ้าปล่อยให้อ้างถึงแผนที่ 1 ต่อ 200,000 จะไม่สามารถอ้างเขตแดนได้ เนื่องจากต้องมีการปักปันเขตแดนให้แล้วเสร็จก่อน

พล.ต.จำลองกล่าวเสริมว่า ในการชุมนุมพันธมิตรฯ ได้ใช้งบประมาณจากเงินบริจาคของประชาชน แต่รัฐบาลใช้ภาษีของคนทั้งประเทศ เพื่อมาจัดการกลั่นแกล้งประชาชนโดยเฉพาะ 94 ล้านบาทจึงเสียเปล่า แทนที่นำไปใช้ในเรื่องที่จำเป็น หรือเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน โดยที่ตั๊กแตนก็ไม่ได้ ช้างก็เหนื่อยเปล่า ทั้งนี้ในส่วนการขอพื้นที่ผิวการจราจรคืนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามมาเจรจาให้มีการเปิดถนนพิษณุโลกเพิ่มเติม ซึ่งเราก็ปฏิเสธไปเนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุมได้

“สุดแท้แต่รัฐบาลจะหาทางมากลั่นแกล้งประชาชนอย่างไร ตำรวจก็ต้องพิจารณาทำตามหน้าที่ โดยที่เราไม่ได้วิตกกังวล เนื่องจากเราไม่มีทางเลือกจึงต้องชุมนุมอยู่เช่นนี้” พล.ต.จำลองกล่าว

พล.ต.จำลองกล่าวอีกว่า การที่พันธมิตรฯและประชาชนออกมาชุมนุม ก็เพื่อกดดันให้รัฐบาลและทหารทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้รัฐรักษาเอกราชและประชาธิปไตย โดยใช้กำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีเพียงพอต่อการทำหน้าที่ ไม่ใช้มีไว้สำหรับโชว์งานวันเด็ก

ขณะที่ นายประพันธ์กล่าวถึงการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงของรัฐบาลว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยคัดค้านกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 48 และ พ.ร.บ.ความมั่นคงในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 51 โดยพรรคประชาธิปัตย์คัดค้านว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นเผด็จการ ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเคยเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อมาเป็นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ ทั้งในการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการชุมนุมของพันธมิตรฯ ถือว่ารัฐบาลนี้ละเมิดสิทธิของประชาชนมากที่สุดรวมทั้งขณะนี้ยังมีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาอีกด้วย โดยกฎหมายฉบับนี้ ตนและ พล.ต.จำลอง ได้เคยคัดค้านมาตลอดตั้งแต่สมัยที่ทำหน้าที่อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้กฎหมายไม่สามารถเสนอได้ เพราะมีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิของประชาชน และให้อำนาจแก่ตำรวจมาก แสดงให้เห็นอีกว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต้องการจำกัดและละเมิดเสรีภาพของประชาชน

ในส่วนข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น นายประพันธ์กล่าวว่า ต้องถือว่าประเทศไทยได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกนานาชาติเข้าแทรกแซงแล้ว ไม่มีการเจรจาในกรอบทวิภาคีอีกต่อไป แม้ว่านายกฯ อภิสิทธิ์ จะกล่าวอ้างอย่างไรก็ตาม เพราะการเข้ามาของอินโดนีเซียที่เข้ามาในฐานะตัวแทนของอาเซียน จากข้อเสนอของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ทำให้การเจรจาของไทยและกัมพูชาต่อจากนี้ ก็จะมีตัวแทนของอาเซียนเข้ามาร่วม และเข้ามาสังเกตการณ์ตลอดแนวชายแดน ทำให้ประเทศไทยได้สูญเสียความเป็นเอกราชอธิปไตยไปแล้ว ตกอยู่ในฐานะที่มีประเทศอื่นเข้ามาครอบงำแทรกแซงในปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งควรจัดการได้ด้วยการเจรจาทวิภาคี

นายประพันธ์ยังได้กล่าวถึงการที่ตัวแทนยูเนสโกระบุว่าได้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปแล้ว เหลือเพียงการรับรองแผนบริหารจัดการว่า หากมีรับรองแผนบริหารจัดการจะเท่ากับว่าไทยได้สละดินแดนและอธิปไตยในพื้นที่ตรงนั้นอย่างเป็นทางการต่อยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลก ทั้งที่นายกฯ อภิสิทธิ์ มาอ้างลอยๆ ว่าจะใช้แผนบริหารจัดการร่วมโดยผนวกดินแดนของกัมพูชาเข้ามาด้วย ทั้งที่ไม่เคยแถลงหรือมีรายละเอียดชี้แจงต่อประชาชน ทำให้ประเทศไทยถลำลึกเข้าไปในปัญหา รัฐบาลจึงไม่มีทางเลือกในการถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก เพื่อป้องกันการผูกมัดตัวเองต่อการเสียดินแดน


กำลังโหลดความคิดเห็น