xs
xsm
sm
md
lg

“เซียงขวงดินแดนวิมาน” เมืองแห่งความหนาว นิวซีลาว สาวงาม และทุ่งไหหิน/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
เซียงขวงเมืองามกลางขุนเขา
“เซียงขวงดินแดนวิมานหนาวจนสะท้าน หนาวสั่นสะเทือน ภูจงเป็นวงแสงเดือน(ซ้ำ…) เมฆน้อยลอยเลื่อนยามเมื่อคืนเดือนเพ็ญ...”

ผมรู้จักชื่อเมือง“เซียงขวง”(คนลาวเขียนเซียงขวางแต่เรียกว่าเซียงขวง ส่วนคนไทยนิยมเรียกว่า“เชียงขวาง”) แห่งสปป.ลาว ผ่านทางบทเพลง “เซียงขวงแดนงาม”(โดย ก.วิเสด)และสวนอักษรมาเป็นสิบๆปีแล้ว ก่อนที่จะได้ไปสัมผัสกับของจริงเมื่อไม่นานมานี้
ดินแดนแห่งความหนาว
เซียงขวงดินแดนวิมาน

เมืองเซียงขวงวันนี้ที่ผมมีโอกาสได้ไปสัมผัส มีบรรยากาศสวยงาม หนาวเย็น สมดังฉายาดินแดนวิมานจริงๆด้วย

...แต่ทว่า เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ในยุคสงครามเวียดนาม(หรือสงครามอินโดจีน ครั้งที่ 2) ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1957-1975 เซียงขวงดินแดนวิมานมีสภาพไม่ต่างจากดินแดนนรก เพราะเมืองนี้ถูกอเมริกันอันธพาล ทิ้งระเบิดทิ้งบอมบ์(หรือที่คนลาวเรียกว่า “ทิ่มลูกบอมบ์”)อย่างวินาศสันตะโร ปูพรมไปทั่วเขตพื้นที่ลาวตอนบนที่อยู่ติดกับเวียดนาม ตั้งแต่แขวงเซียงขวงไปจนถึงเมืองซำเหนือ

ว่ากันว่าช่วงนั้น เครื่องบินรบของมะกันทิ้งระเบิดยังกับทิ้งขยะ คือทิ้งทุกวัน วันละนับสิบครั้ง ในทุกๆ 15 นาที(ในช่วงกลางวันที่มองเห็นทัศนวิสัย) เฉลี่ยน้ำหนักของระเบิดที่ทิ้งตกวันละถึง 10 ตัน ทีเดียว

แล้วทำไมอเมริกาถึงต้องทำกับลาวถึงขนาดนี้ ?

เรื่องของเรื่องเป็นเพราะพญาอินทรีที่กร่างไปทั่วโลก กลัวคอมมิวนิสต์และทฤษฎีโดมิโนส์จนขี้ขึ้นสมองหน้ามืดตามัว เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์โดมิโนส์จากเวียดนามเข้ามา จนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในลาว ระหว่าง“ลาวฝ่ายซ้าย”ที่ก่อตั้งเป็น“ขบวนการประเทดลาว” มีจีน-รัสเซีย-เวียดนามเป็นแบ็คอัพสนับสนุน ร่วมด้วยชาวไทพวนที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเซียงขวงเป็นกองกำลังร่วมรบอีกแรง กับ“ลาวฝ่ายขวา”ที่มีอเมริกาหนุนหลังแบบออกหน้าออกตา พร้อมด้วยชาวม้ง(ในลาว)และทหารรับจ้างไทยที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันรบอีกทาง (รวมถึงยังมีการตั้งฐานทัพทหารอเมริกันในไทยอีกด้วย)

สำหรับการรบระหว่างลาว 2 ฝ่ายครั้งนั้น เมืองเซียงขวงถือเป็นหนึ่งในเขตยุทธศาสตร์สำคัญ ทำให้ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหาทางยึดให้ได้ จึงเกิดสงครามยืดเยื้อในเซียงขวงขึ้นเป็นเวลาถึง 11 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1963-1973

ผลแห่งสงครามยืดเยื้อครั้งนั้น แม้ขบวนการประเทดลาวชนะ มะกันแพ้พ่าย แต่ผลจากสงครามนอกจากจะทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทำให้เมืองเซียงขวงพังยับเยิน โดยเฉพาะจากการทิ้งระเบิดแบบไม่ลืมหูลืมตานั้น ผ่านมาวันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ลูกระเบิดจำนวนมหาศาลที่ทิ้งบอมบ์ลงมา ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ระเบิดและยังไม่สามารถเก็บกู้ได้

นั่นจึงทำให้หลังสงครามมาจนถึงทุกวันนี้มีชาวลาวถูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิดบาดเจ็บล้มตาย พิการ เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งภาพของผู้พิการในเซียงขวงนั้น ยังความสลดใจให้กับผมทุกครั้งยามที่ได้เห็น โดยเฉพาะกับเด็กและคนเฒ่าคนแก่ที่ผมเห็นหลายๆคนแล้ว อดน้ำตาซึมกับความโหดร้ายของสงครามไม่ได้ พวกเขาเหล่านั้นไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร หากแต่ต้องมารับเคราะห์แทนมหาอำนาจผู้กระหายสงครามอย่างน่าคับแค้นใจเป็นที่สุด

อย่างไรก็ดีแม้ลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิดในเมืองเซียงขวงยังคงอยู่(อีกเป็นจำนวนมาก) แต่ด้วยการเก็บกู้ขององค์กรต่างๆตั้งแต่หลังสงครามเป็นต้นมา ทำให้ปัจจุบันการเที่ยวในเมืองเซียงขวงปลอดภัย ถ้าเราไม่ทำตัวเป็นคนออกนอกลู่นอกทาง เข้าป่าลุยดงไปลึกๆหรือเดินเข้าไปในเขตอันตรายที่มีป้ายอันตรายบอกเตือนไว้ ก็สามารถเที่ยวเซียงขวงได้อย่างหมดกังวล

ขณะเดียวกันกับลูกระเบิดที่ระเบิดไปแล้วหมดพิษสงไปแล้ว ชิ้นส่วนจากระเบิดเหล่านั้น ได้ถูกชาวเซียงขวงมาดัดแปลงทำเป็นเสาบ้าน รั้วบ้าน รางปลูกต้นไม้ เตาปิ้งๆย่างๆ เครื่องประดับบ้าน และอีกหลายสิ่งหลายอย่างตามแต่จะคิดได้ นับเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของเมืองเซียงขวงที่แสดงถึงปรับตัวของคนที่นี่ได้อย่างดีเยี่ยม
ซากลูกระเบิดที่นำมาประดับบ้าน
อนึ่งการที่เซียงขวงต้องประสบกับสภาวะสงครามอย่างยาวนั้น ทำให้เมืองนี้ได้รับฉายาว่า เป็นดินแดนแห่งการปลดแอก(จากอเมริกา) ดินแดนแห่งวีรชน หรือดินแดนแห่งการปฏิวัติ ตามแต่ว่าใครจะเรียก

ขณะที่หากว่ากันตามสภาพธรรมชาติแล้ว เซียงขวงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความหนาว เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง มีความสูงเฉลี่ยเกิน 1,000 เมตรขึ้นไป

นอกจากจะหนาวสั่นสะท้านแล้ว เซียงขวงยังอุดมไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน เทือกเขาหลายลูกดูแปลกตาคล้ายภูเขาหญ้าในจังหวัดระนองแต่ว่ามีขนาดใหญ่กว่า และมีจำนวนมากกว่า ซึ่งชาวลาวหลายคนบอกว่ามันคือธรรมชาติของที่นี่ แต่ก็มีชาวลาวบางคนบอกว่าที่ภูเขาในเมืองนี้ไม่มีต้นไม้ใหญ่กลายเป็นภูเขาโกร๋นโล้นโล่งมีแต่ทุ่งหญ้าปกคลุมก็เป็นเพราะในช่วงสงครามมันถูกทิ่มบอมบ์ถล่มจนต้นไม้ใหญ่ล้มหายตายหมดนั่นเอง

อย่างไรก็ตามการที่เซียงขวงมีสภาพภูมิประเทศอุดมไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนสวยงามปานวิมานจนถูกนำไปแต่งเป็นเพลงแบบนี้ มันก็ทำให้ใครและหลายคนตั้งฉายาใหม่ให้กับเมืองนี้ว่าเป็น ”นิวซีแลนด์แดนลาว” หรือที่บางคนเรียกอย่างเก๋ไก๋ว่า “นิวซีลาว”

แต่นิวซีลาวที่นี่ต่างจากนิวซีแลนด์อย่างเห็นได้ชัดตรงที่ ทุ่งหญ้ากว้างของนิวซีแลนด์จะเต็มไปด้วยแกะขนปุยมายืนและเล็มกินหญ้า ส่วนทุ่งหญ้าบนกว้างของเทือกเขานิวซีลาวในเซียงขวงจะเต็มไปด้วยวัว ควาย มายืนและเล็มกินหญ้า ดูมีเอกลักษณ์แบบเอเชียตะวันออกที่สวยงามและมีเสน่ห์ไปอีกแบบ
เมืองโพนสะหวัน
เซียงขวงไม่เพียงได้รับฉายาว่าเป็นดินแดนแห่งความหนาวเท่านั้น เซียงขวงตามสภาพธรรมชาติยังได้รับการเรียกขานเป็น “ดินแดนแห่งนกนางแอ่น” เนื่องเพราะที่นี่มีนกนางแอ่นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ชะตาชีวิตของนกนางแอ่นที่นี่ดูจะไม่สู้ดีนักเพราะแต่ละวันจะถูกชาวลาวจับไปขายเป็นจำนวนมาก ชนิดทีมีการถอนขน ถลกหนัง มาให้เสร็จสรรพพร้อมไปปิ้ง ทอด ผัดเผ็ด กินได้ทันที

นอกจากนี้เซียงขวงยังมีอีกหนึ่งฉายาที่ผมชอบมากเป็นพิเศษนั่นก็คือ “ดินแดนแห่งสาวงาม”
ซึ่งสาวลาวพวน(ไทพวน)ของเมืองนี้ในอดีตนอกจากจะสวยแล้ว พวกเธอยังต้องแกร่งและทรหดอีกด้วย เพราะต้องสู้รบกับข้าศึกฝ่ายขวาชนิดตายเป็นตาย

ขณะที่สาวลาวพวนในยุคปัจจุบันนั้นด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้พวกเธอเปลี่ยนวิถีมาทำมาค้าขายแทน แต่โดยรวมแล้วพวกเธอก็ยังคงสวยงามน่ารัก แถมยังน่าจะสวยกว่าในอดีตด้วยซ้ำ เพราะพวกเธอได้เครื่องสำอางดังๆหลายยี่ห้อจากเมืองไทยที่ส่งมาขายให้พวกเธอแต่งหน้า ประทินโฉมกันแบบจัดเต็ม

ไหหินมิ่งขวัญเซียงขวง

แขวงเซียงขวง(จังหวัดเซียงขวง) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสปป.ลาว ปัจจุบันมีเมือง“โพนสะหวัน” หรือที่เดิมเรียกว่าเมือง”แปก”ที่แปลว่าต้นสน(มีมากในเซียงขวงเพราะมีอากาศหนาวเย็น) เป็นเมืองเอก เทียบได้กับอำเภอเมืองของบ้านเรา เมืองนี้มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาว“ไท(ลาว)พวน”ที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีนเมื่อราว 2 พันปีที่แล้ว
ทุ่งไหหินทุ่งแรก จุดแรก กับไหหินใบใหญ่(ซ้ายมือ)รูปโอ่งที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นไหเหล้าขุนเจือง
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเซียงขวงที่คนไทยนิยมไปเที่ยวย่อมหนีไม่พ้น“ทุ่งไหหิน” ที่ถือเป็นหนึ่งในมหัศจรรย์เมืองลาว ที่ว่ากันว่าใครที่มาเที่ยวเซียงขวงแล้วถ้าไม่ได้ไปทุ่งไหหินก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึง

ทุ่งไหหินเป็นเนินเขากว้างไกล อุดมไปด้วยหินรูปทรงคล้ายไห คล้ายโอ่ง คล้ายครก ตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก

ไหหินเหล่านั้นมีขนาดความสูงตั้งแต่เอวไปจนสูงท่วมหัว แต่ละใบกว้าง 1-2 เมตร ตั้งระเกะระกะเป็นหย่อมๆ ซึ่งตามตำนานพื้นบ้านลาวเชื่อว่า ไหหินเหล่านี้คือไหเหล้าของ“ขุนเจือง”วีรบุรุษชาวลาว ยอดกษัตริย์แห่งล้านช้างเมื่อเกือบพันปีที่แล้ว(มีไหหนึ่งใบที่เชื่อว่าเป็นไหเหล้าของขุนเจือง) กับไหเหล้าของเหล่าทหารหาญที่ทำขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะหลังทำศึกกับพวกญวน(เวียดนาม)
ทิวทัศน์บริเวณทุ่งไหหินทุ่งที่สอง
ขณะที่ฟากนักวิชาการสันนิษฐานว่า น่าจะทำขึ้นเมื่อราวๆ 1,800 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นสุสานหรือฮวงซุ้ย เนื่องจากมีการขุดพบเศษกระดูก เครื่องปั้นดินเผา ลูกปัด และข้าวของเครื่องใช้โบราณ บรรจุอยู่ในไห

แต่กระนั้นสิ่งที่ยังเป็นปริศนาก็คือ คนโบราณที่นี่นำไหหินมาจากไหน? ขนหินขึ้นไปบนนั้นได้อย่างไร?

ทุ่งไหหินในเซียงขวงไม่ได้มีแค่ทุ่งเดียว หากแต่มีมากถึงกว่า 30 ทุ่ง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เก็บกู้ลูกระเบิด ทางการลาวจึงเปิดเฉพาะทุ่งไฮไลท์ที่เก็บกู้ลูกระเบิดแล้วให้เที่ยวชมกัน 3 ทุ่งด้วยกัน
ไหหินเรียงรายในทุ่งแรก จุดที่สอง
ทุ่งแรก เป็นทุ่งที่มีไหมากที่สุดและยอดฮิตที่สุด นักท่องเที่ยวไทยหลายคนนิยมไปเที่ยวทุ่งนี้แค่ทุ่งเดียวก็ถือว่าคุ้มค่าพอแล้ว

ทุ่งไหหินทุ่งแรกนี้ตั้งอยู่บนทิวทัศน์อันงดงามของเนินเขาหญ้ากว้างไกล มีไหหินตั้งเรียงรายยู่มากกว่า 300 ใบเลยทีเดียว แบ่งเป็นจุดชมไห 2 จุดหลักๆ จุดแรกที่ไหอยู่ประมาณ 100 ใบ มีไหลูกไอไลท์ลักษณะคล้ายโอ่ง ตกแต่งปากขอบอย่างน่าชม ไหลูกนี้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นไหเหล้าของขุนเจืองตามที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนจุดที่สองต้องเดินจากจุดแรกลงไปข้างล่าง มีไหหินตั้งเรียงรายเต็มท้องทุ่งหญ้าอยู่ประมาณ 200 ใบ ยามเมื่อมองจากบริเวณจุดแรกลงใบยังจุดสอง ถือว่าสวยงามน่ายลไม่น้อยเลย
ไหหินทรงกระบอกในทุ่งที่สอง
ส่วนทุ่งไหหินทุ่งที่สอง ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงท่ามกลางทิวทัศน์ขุนเขาที่รายล้อม มีไหอยู่ 90 กว่าใบ มีจุดชม 2 จุดหลัก เช่นเดียวกับทุ่งที่หนึ่ง จุดแรกตั้งอยู่ในดงไม้ โดดเด่นไปด้วยไหทรงกระบอกทั้งใบสูง ใบเตี้ย ส่วนจุดที่ 2 ตัวไหแม้ไม่โดดเด่นแต่ถือเป็นทุ่งไหหินที่วิวสวยงามมากๆ เพราะตั้งอยู่บนเนินเขาสูงท่ามกลางทิวทัศน์ขุนเขาที่รายล้อม ยามเมื่อได้ขึ้นมาชมวิวทิวทัศน์ที่นี่ชวนให้นึกถึงฉายานิวซีลาวได้เป็นอย่างดี
ไหหินในทุ่งที่สาม กลางท้องนา
ขณะที่ทุ่งไหหินทุ่งที่สามนั้น ตั้งอยู่กลางทุ่งนาของชาวบ้าน ล้อมรั้วไม้อย่างดี มีไหตั้งอยู่เกือบ 200 ใบ มีหลากหลายทั้งไหกลม ไหเหลี่ยม ถึงแม้ที่นี่จะเป็นทุ่งนา แต่ว่าวิวทิวทัศน์ก็งดงามน่ายลไม่เบา

และนี่ก็เป็นเสน่ห์ของทุ่งไหหินสำคัญ 3 แบบ 3 บรรยากาศของเมืองเซียงขวง ซึ่งถูกเรียงร้อยรจนาไว้ในท่อนหนึ่งของ เพลงเซียงขวงแดนงาม ดังความว่า

“...ไหหินมิ่งขวัญเซียงขวง สายลมไหลล่วง บวงให้อ้ายสุดฝัน ภูเวียงเป็นรอนก่ายกัน ภูเวียงเป็นรอนก่ายกัน ให้อ้ายสุขสันต์ กับความงามเซียงขวง...”
กำลังโหลดความคิดเห็น