xs
xsm
sm
md
lg

“พญานาคกว๊านพะเยา” ตำนาน ความเชื่อ และความจริง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ความเชื่อเรื่องพญานาคกับพระพุทธศาสนาปรากฏให้เห็นตามวัดทั่วๆไปในเมืองไทย(วัดพระธาตุแช่แห้ง น่าน)
ทำเนียบเหี้ยมาก

นี่คือข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธ เพราะที่ผ่านมาเรามักได้เห็นข่าวสิ่งมีชีวิต(สัตว์เลื้อยคลาน)ที่เรียกว่า“เหี้ย” ไปโผล่หรือออกเพ่นพ่านที่ทำเนียบอยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้นการที่เหี้ยโผล่หรือออกมาเพ่นพ่านที่ทำเนียบจึงกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับบ้านเราไปแล้ว

แต่ถ้าเป็นเรื่องของ“พญานาคโผล่”นี่สิ ถือว่าไม่ปกติเอามากๆ แม้พญานาคไม่โผล่ที่ทำเนียบ แต่เมื่อมีข่าวว่าไปโผล่ที่ไหนก็ย่อมกลายเป็นข่าวโด่งดังเป็นพิเศษ ดังนั้นเรื่องของพญานาคโผล่ที่บึงโขงหลงในจังหวัดบึงกาฬ จึงกลายเป็นข่าวฮอตเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ให้ใครและใครหลายคนแสดงทัศนะและเม้าท์มอยกันพอเหม็นปากเหม็นคอ

มุมมองของคนที่เชื่อว่าพญานาคมีจริงก็ว่าไปในทิศทางหนึ่ง

ส่วนมุมมองทางวิทยาศาสตร์ก็ว่าไปในทิศทางหนึ่ง

สำหรับเรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับความเชื่อ ใครจะเชื่อแบบไหนก็สุดแท้แต่ เพียงแต่ว่าต้องเคารพในความคิดของผู้อื่น ไม่ไปดูถูกความคิดของผู้อื่น ซึ่งหากสังคมไทยยกระดับไปถึงขั้นนั้นได้ ประเทศเราจะน่าอยู่กว่านี้อีกมากโข

อย่างไรก็ดีพูดถึงพญานาคแล้ว สยามประเทศเรานี้มีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคมาตั้งแต่โบราณกาล(รวมถึงประเทศอื่นๆในอุษาคเนย์ด้วย) โดยความเชื่อหลักๆนั้นผูกโยงเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อกันว่าพญานาคคือผู้ปวารณาตนปกป้องพระพุทธเจ้า ปกป้องพุทธศาสนา

ขณะเดียวกันในหลายๆท้องถิ่นต่างก็มีความเชื่อเรื่องพญานาคปรากฏเป็นตำนาน นิทานปรัมปราแยกย่อยแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาคที่หนองคาย ความเชื่อเรื่องเมืองพญานาค“วังนาคินทร์”ที่คำชะโนด อุดรธานี ความเชื่อว่าบรรพบุรุษของตน(เจ้าขุนนุ่น ขุนฟอง)เกิดมาจากไข่พญานาคที่เมืองน่าน เป็นต้น

ทั้งนี้หากพิจารณากันให้ดีๆจะพบว่า บนความเชื่อเรื่องพญานาคของท้องถิ่นต่างๆ ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวโยงกับสภาพพื้นที่ที่มี“น้ำ”มาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องพญานาคที่เมืองพะเยาที่ผมมีโอกาสได้ไปรับรู้มาเมื่อไม่นานมานี้ ก็เกี่ยวพันกับสายน้ำเช่นกัน เพราะนี่คือเรื่องราว“ตำนานพญานาคแห่งกว๊านพะเยา” ที่แม้อาจจะไม่โด่งดังเท่าตำนานพญานาคที่หนองคายหรือที่คำชะโนด แต่ว่าก็มีที่มาที่ไปน่าสนใจไม่น้อยเลย
กว๊านพะเยา เส้นเลือดหลักของจังหวัดพะเยา
จากหนองเอี้ยงสู่กว๊านพะเยา

ก่อนที่จะเป็นกว๊านพะเยาในวันนี้ พื้นที่แห่งนี้เดิมมีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำอิง ที่ประกอบไปด้วย“บวก”อันเป็นพื้นที่น้ำขังขนาดเล็ก และ“หนอง”ที่เป็นพื้นที่น้ำขังขนาดใหญ่ โดยมี“หนองเอี้ยง” เป็นหนองน้ำที่สำคัญที่สุด

หนองเอี้ยง ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของกว๊านพะเยา ซึ่งในนิทานกว๊านพะเยา ได้เล่าถึงชื่อของหนองเอี้ยงว่ามีที่มาจากสองเรื่องเล่าด้วยกัน

เรื่องแรก เล่าว่า เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกเอี้ยงอาศัยอยู่บนดอยจอมทอง ได้บินลงไปอาบน้ำกินน้ำในหนองน้ำแห่งนี้ทุกวัน แต่วันหนึ่งถูกเหยี่ยวมาจับกินเป็นอาหาร จึงเรียกแห่งนี้ว่า “หนองเอี้ยง”

เรื่องที่สอง เล่าว่า ครั้งหนึ่งพระร่วงกษัตริย์สุโขทัย ได้เสด็จมาเยี่ยมพระยางำเมืองกษัตริย์พะเยา แต่พระร่วงผู้เป็นสหายกลับลักลอบเป็นชู้กับนางเทวีพระมเหสีของพระยางำเมือง พระยางำเมืองเมื่อทราบเรื่องจึงให้ไพร่พลตามจับพระร่วง พระร่วงจึงแปลงเป็นนกเอี้ยงบินหนี แต่ต้องมนต์ของพระยางำเมือง ทำให้อ่อนแรงตกลงในหนองน้ำ หนองน้ำแห่งนี้จึงเรียกว่า “หนองเอี้ยง”

จากนิทานมาสู่เรื่องจริงกันบ้าง หนองเอี้ยง กับหนองและบวกอื่นๆในบริเวณที่ลุ่มแม่น้ำอิง ในปี พ.ศ. 2484 ได้ถูกกรมประมง สร้างทำนบและประตู กั้นน้ำ กักเก็บน้ำไว้ เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กินพื้นที่มากกว่า 1 หมื่นไร่ ที่เรียกขานกันว่า “กว๊านพะเยา” ขึ้นมา

จากนั้นกว๊านพะเยาได้กลายแหล่งน้ำสำคัญในหลายด้านของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ด้านการประมง การชลประทาน แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประวัติศาสตร์ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

นับได้ว่ากว๊านพะเยาคือเส้นเลือดหลักของชาวพะเยาอย่างแท้จริง
พระเจ้าตนหลวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยา ที่มีตำนานเกี่ยวพันกับพญานาค
ตำนาน ความเชื่อ

หนองเอี้ยงนอกจากจะเป็นเรื่องเล่าในนิทานกว๊านแล้ว ยังมีตำนานเล่าว่าหนองน้ำแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของพญานาคนามว่า “พญาธุมะสิกขี” มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

พญาธุมะสิกขี ถือเป็นเจ้าแห่งหนองน้ำแห่งนี้ ครั้นเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่บริเวณหนองเอี้ยง เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว พระอานนท์ได้เดินลงไปริมหนองน้ำ เพื่อตักน้ำมาถวายแต่พระพุทธเจ้า แต่กลับถูกพญาธุมะสิกขีขัดขวาง พร้อมแสดงความกร่างว่าข้าเป็นเจ้าของหนอง ทำให้พระพุทธเจ้าต้องลงมากำราบโดยแสดงปาฏิหาริย์เนรมิตพระวรกายให้สูงใหญ่กว่าพญาธุมะสิกขี

พญาธุมะสิกขีเมื่อเห็นในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า จึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ พร้อมกับถวายตนเป็นผู้รับใช้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เมื่อตถาคตปรินิพพาน ล่วงไปได้ 5 พันปี ท่านจงมาสร้างรากฐานพระพุทธศาสนาไว้ที่หนองน้ำแห่งนี้

ครั้นกาลเวลาล่วงผ่านมาครบตามกำหนด พญาธุมะสิกขีได้แปลงเป็นบุรุษนุ่งขาวห่มขาวแล้วไปเล่าให้สองตายายผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่อาศัยอยู่ริมหนองฟัง พร้อมกับมอบทองคำจำนวนมากที่นำมาจากเมืองพญานาคให้สองตายายนำไปสร้างพระพุทธรูปขึ้น ซึ่งพระพุทธรูปที่สร้างนั้นก็คือ “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพะเยาที่ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดศรีโคมคำ” ในตัวเมืองพะเยานั่นเอง
ประติมากรรมพญานาคกว๊านพะเยา
ความจริง

เมื่อกว๊านพะเยามีตำนานพญานาค ทางเมืองพะเยาจึงนำเรื่องนี้มาต่อยอด ด้วยการสร้างประติมากรรมพญานาคสีขาว 2 ตน หัวหน้าเข้าหากัน โดยมีองค์พระธาตุสีทองตั้งอยู่กลาง(เข้าใจว่านี่คือองค์พระธาตุจอมทองจำลอง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองพะเยา) ณ ริมฝั่งน้ำในกว๊านพะเยา ตรงข้ามกับลานพ่อขุนงำเมือง

ประติมากรรมพญานาค 2 ตนนี้ เพิ่งสร้างขึ้นไม่นาน เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้กลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยวขึ้นมาทันที และถือเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของกว๊านพะเยา ที่เมื่อช่างภาพถ่ายภาพออกมา คนที่เคยผ่านตาจะดูรู้ทันทีว่านี่คือกว๊านพะเยา
พญานาคกว๊านพะเยา กลายเป็นจุดถ่ายรูปหลักริมกว๊านของนักท่องเที่ยว
เรียกว่าเป็นการอัญเชิญพญานาคมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาถ่ายรูปคู่กับกว๊านพะเยาได้ดีทีเดียว

แต่...งานนี้ของที่ทำท่าว่าจะดี กลับกลายเป็นประเภทข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรงไปเสียฉิบ เพราะเมื่อหลังพญานาคสร้างเสร็จใหม่ๆ ชาวบ้าน(ผู้รู้)บางคนที่อยู่ริมกว๊านเขาบอกผมมาว่า พญานาค 2 ตัวนี้แปลกประหลาดคือมันมีตัวเพียงครึ่งเดียวเฉพาะในด้านที่หันเข้าหาฝั่ง(ด้านถ่ายรูป)เท่านั้น คือเป็นพญานาคที่มีเกล็ดมีหน้าตาเฉพาะรูปด้านหน้าส่วนด้านหลังนั้นปล่อยโล่งไว้เฉยๆ

เรื่องนี้สอดคล้องกับบทความ “พญานาคกับงูดิน”ที่กว๊านพะเยา ในเว็บไซต์“พะเยารัฐ”(ลงเมื่อ 3 มิ.ย. 54) ที่กล่าวเอาไว้ว่า

...“คุณวิมล ปิงเมืองเหล็ก” ผู้กว้างขวางทางวัฒนธรรมเมืองพะเยา พูดให้ฟังว่า พญานาค สองตัวนี้แปลกที่สุดในโลก คือมีหน้าตาและเกล็ดเพียงด้านเดียว คือมีเฉพาะด้านที่หันไปทางพ่อขุนงำเมือง ส่วนด้านทิศตะวันตกหรือด้านกว๊านพะเยานั้นไม่มีหน้า ไม่มีเกล็ด...
น้ำลด ฐานผุด
นอกจากนี้ในบทความดังกล่าวยังวิจารณ์ถึงพญานาคคู่นี้อีกว่า...มองลงด้านล่างของพญานาค ยิ่งน่าอับอายกับความทุเรศ ที่เอาท่อน้ำซีเมนต์มาตั้งเป็นฐานรองรับ ไม่ได้มีการตกแต่งให้น่าดู ตอนน้ำแห้งลงยิ่งน่าน่าเกลียด นี่มันรุมกันเหยียบหัวใจของคนพะเยาชัดๆ...

และนั่นจึงทำให้ผู้เขียนบทความเปรียบพญานาคคู่นี้กับงูดิน ซึ่งผมคิดว่าหากปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้ ในอนาคตบางทีอาจมีเรื่องเล่าขาน“ตำนานงูดินแห่งกว๊านพะเยา” ที่ใช้งบก่อสร้างไปนับหลายล้านบาท ขึ้นมาเคียงคู่กับตำนานพญานาคแห่งกว๊านพะเยาก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น