xs
xsm
sm
md
lg

"ต่อพงษ์"ตำหนิการบริหารจัดการน้ำจังหวัดอุดรฯหลังลงตรวจพื้นที่น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
อุดรธานี -ต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สธ.ถือโอกาสกลับบ้านช่วงเสาร์-อาทิตย์ ลงพื้นที่รับฟังสถานการณ์น้ำท่วมที่อุดรฯ พร้อมตำหนิการบริหารน้ำของจังหวัด

วันนี้(17ก.ย.) ที่ ห้องประชุมคำชะโนด ศาลากลางจังหวัดอุดรธาน นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมารับฟังรายงานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมของจังหวัดอุดรธานี โดยมีนายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นำคณะหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำท่วมของจังหวัดอุดรธานีให้ทราบ

นายคมสัน ได้บรรยายสรุปสถานการณ์ให้ นายต่อพงษ์รับทราบว่า สาเหตุที่น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดอุดรธานีครั้งนี้ เนื่องมาจากได้รับผลกระทบมาจากพายุนกเตน และร่องมรสุมพัดผ่าน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงเป็นจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2554 มีปริมาณน้ำสูงถึง 134.096 ล้าน ลบ.ม. เป็น 113.29 5 ของความจุปกติ ซึ่งอยู่ที่ 118.362 ล้าน ลบ.ม. จึงจำเป็นต้องทำการระบายน้ำลงลำห้วยหลวง ออกทางสปิลเวย์ ในอัตรา 90.19 ลบ.ม ต่อวินาที หรือ 7.8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ สองฝั่งลำห้วยหลวงและส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตร สภาพมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวน พื้นที่ 6 อำเภอ 26 ตำบล 121 หมู่บ้าน 13,779 ครัวเรือน ราษฎร 39,844 คน พื้นที่การเกษตร 18,125 ไร่

หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปแล้วเสร็จ นายต่อพงษ์ ได้กล่าวกำชับขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการลงไปยังอำเภอทุกแห่ง ให้มีการตั้งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และให้ท้องถิ่นทุกแห่งติดตามสถานการณ์อากาศ น้ำ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องพายุลูกใหม่ และให้ทางราชการมีการประกาศเตือนให้ราษฎรรู้ล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง ก่อนจะมีการทำอะไร และปฏิบัติการอย่างไร ผ่านทางอำเภอ ผู้นำชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีเวลาเตรียมการ และสามารถตั้งรับกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้แล้ว ก็ต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้หากว่าทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการบอกเล่าเตือนล่วงหน้าก่อน จึงไม่เสียหายมากมายขนาดนี้ พร้อมกับกำชับว่าขออย่าให้เกิดความผิดพลาดซ้ำขึ้นมาอีก ต้องทำงานให้เกิดความสอดคล้องกัน เพราะไม่สอดคล้องกันก็จะเกิดความเสียหาย

นายต่อพงษ์ กล่าวต่อไปถึงอุดรโมเดล ตกลงว่ามันดีหรือไม่ดี และยังกล่าวอีกว่าทำไมถึงได้ไม่ได้มีการประกาศเตือนล่วงหน้า

พร้อมกันนี้ก็ได้ให้คำแนะนำแนวทางการแก้ไขว่า จะต้องทำกันเป็น 3 ระยะ คือ เฉพาะหน้า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการไปยังนายอำเภอทุกแห่งเฝ้าระวัง ตั้งศูนย์อุทกภัยแบบบูรณาการ โดยมี ส.ส.เป็นที่ปรึกษา รวบรวมความเสียหายและรายงานเข้าจังหวัดทุกระยะ ให้มีการประกาศเตือน ประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรรู้ทุกระยะ ระยะต่อไปหลังจากน้ำลดลงแล้ว ให้รวบรวมความเสียหาย รายงานเพื่อขอรับการช่วยเหลือ ระยะยาว ให้จังหวัดรวบรวมปัญหาอุปสรรค์ แล้ววางแผนแก้ไขอย่างยั่งยืน ร่วมกับ ส.ส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน เพื่อการแก้ไขอย่างเป็นระบบ

จากนั้นคณะเดินทางไปยังที่บ้านหมู่ม่น และอบต.กุดสระ เพื่อมอบถุงยังชีพและยาสามัญประจำบ้าน แก่ประชาชนที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วม และตรวจดูคอสะพานข้ามห้วยโซ่ ที่บ้านท่าตูม ตำหมู่ม่น ต่อจากนั้นก็เดินทางขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อดูสภาพทั่วไปของน้ำท่วมที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านผือ และกุดจับ หลังจากที่เสร็จแล้วก็เดินทางโดยรถยนต์ต่อไปยังจังหวัดสกลนคร เพื่อตรวจสภาพน้ำท่วมต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น