xs
xsm
sm
md
lg

อะเมซิ่งชุมพร บวชทะเลหนึ่งเดียว ที่“ท้องตมใหญ่" พักผ่อนสบายใจ เรียนรู้วิถีอนุรักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศของหมู่บ้านชาวประมงท้องตมใหญ่
การท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิต หรือการท่องเที่ยวแบบ “โฮมสเตย์” เป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้เข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ทั้งเรื่องวิถีการอยู่อาศัย การประกอบอาชีพ อาหารการกิน ฯลฯ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เลือกเดินทางท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์

ในจังหวัดชุมพร มีโฮมสเตย์อยู่หลายแห่งด้วยกัน บางแห่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดีแล้ว เช่น โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ อำเภอหลังสวน และปากคลองโฮมสเตย์ อำเภอปะทิว เป็นต้น แต่ยังมีโฮมสเตย์อีกหนึ่งแห่งที่น่าสนใจซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของกลุ่มคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ นั่นก็คือ “โฮมสเตย์บ้านท้องตมใหญ่” ในอำเภอสวี
บ้านพักยื่นลงไปในทะเล
หมู่บ้านท้องตมใหญ่ (ซึ่งเรียกเพี้ยนมาจาก “ทองตุ่มใหญ่”) เป็นหมู่บ้านชาวประมงชายฝั่งทะเล ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่ในอ่าวโค้งรูปเกือกม้า โค้งอ่าวด้านในเป็นป่าชายเลนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศป่าชายเลนที่น่าศึกษา ชาวบ้านประกอบอาชีพประมง ทำมาหากินกับทรัพยากรชายฝั่งในอ่าวท้องตม หมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล เช่น ตกหมึก วางอวนปลา อวนกุ้ง อวนปู

“ไก่ : วัชรินทร์ แสวงการ” ประธานกลุ่มโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องตมใหญ่ เป็นผู้พาเราไปรู้จักกับโฮมสเตย์ท้องตมใหญ่ โดยเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของโฮมสเตย์แห่งนี้ที่เริ่มต้นมาจากงานอนุรักษ์ว่า
มุมมองจากสะพานปลามองไปยังหมู่บ้าน
“หมู่บ้านของเราเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่หากินอยู่กับท้องทะเล เราเห็นตัวอย่างปัญหาจากชุมชนอื่นๆ ทั้งเรื่องปัญหาความเสื่อมโทรม สัตว์น้ำมีจำนวนลดน้อยลง เราจึงคิดหาทางป้องกันชุมชนของเราไว้ก่อน ด้วยการรวมตัวกันเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรไว้”

เราอาจจะเคยได้ยินวิธีอนุรักษ์ป่าไม้ด้วยการ “บวชต้นไม้” ส่วนวิธีอนุรักษ์ท้องทะเลของชุมชนบ้านท้องตมใหญ่ คือการ “บวชทะเล” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการบวชทะเลที่เดียวในประเทศไทยก็ว่าได้

“เราทำงานอนุรักษ์โดยการสร้างบ้านให้ปลาอยู่อาศัยในอ่าวท้องตมใหญ่ด้วยการทำปะการังเทียมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเอาไม้ไผ่หรือทางมะพร้าวมาทำเป็นกระโจมใต้น้ำ ที่เรียกว่า “ซั้ง” เพื่อสร้างเป็นบ้านให้ปลาอยู่ สร้างไว้ 200-300 ซุ้ม จริงๆ แล้วซั้งนั้นเป็นเครื่องมือหาปลาของชาวบ้าน เพื่อล่อให้ปลามาอยู่รวมกันแล้วจับมาขาย แต่ในชุมชนของเราเมื่อวางซั้งแล้วจะใช้ทุ่นกั้นเป็นเขตห้ามทำการประมง เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตสงวนรักษาให้ปลาวางไข่ออกลูกออกหลาน จนบริเวณนี้เป็นชุมชนปลาขนาดใหญ่” วัชรินทร์ กล่าว
ตุ่มสีทอง สัญลักษณ์ของบ้านท้องตมใหญ่ ที่เพี้ยนมาจากทองตุ่มใหญ่
“และหลังจากที่สร้างบ้านปลาจนเกิดชุมชนปลาได้เป็นผลสำเร็จ เราจึงมีความคิดว่า หมู่บ้านท้องตมใหญ่ของเราเป็นหมู่บ้านชาวพุทธร้อยเปอร์เซ็นต์ เราน่าจะเอาพิธีทางศาสนามาควบรวมกับการอนุรักษ์เพื่อให้สมบูรณ์ เลยมีการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีในวันที่เราทำงานอนุรักษ์กัน โดยได้ร่วมกันทำบุญตรงสะพานปลาของหมู่บ้าน และหลังจากทำพิธีบนฝั่งเสร็จก็จะลงเรือ โดยมีสมาชิกเครือข่ายมาช่วยกัน 400-500 คน มาช่วยกันทิ้งระเบิดชีวภาพบ้าง ปล่อยปลา ปล่อยกุ้งในอ่าวบ้าง จึงเรียกว่าเป็นการบวชทะเล จนในขณะนี้ถือว่าเป็นผลสำเร็จ อ่าวท้องตมใหญ่ของเราตอนนี้อุดมสมบูรณ์มาก” วัชรินทร์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์อย่างหนึ่งของอ่าวท้องตมก็คือ “ม้าน้ำ” สัตว์ทะเลตัวเล็กๆ ที่หากใครโชคดีก็จะสามารถพบเห็นได้ตามเสาบ้าน แต่สถานที่ที่เป็นแหล่งรวมม้าน้ำของบ้านท้องตมใหญ่นั้นอยู่บริเวณหัวแหลม
พักผ่อนสบายๆ ที่โฮมสเตย์บ้านท้องตมใหญ่
ผลการทำงานอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องทำให้อ่าวท้องตมมีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกไปหากินไกลฝั่ง ส่งผลให้มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น ชุมชนบ้านท้องตมใหญ่เริ่มเป็นที่รู้จักและมีคณะมาศึกษาดูงานเพื่อจะนำไปปรับใช้กับชุมชนของตน ทางหมู่บ้านจึงเปิดบ้านของตนเป็นที่พักโฮมสเตย์รองรับ ซึ่งภายหลังก็มีทั้งคณะศึกษาดูงาน และนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติของบ้านท้องตมใหญ่

และเป็นที่น่าภูมิใจอย่างยิ่ง เมื่อชุมชนบ้านท้องตมใหญ่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดโครงการดีเด่นด้านการปรับตัวและรับมือต่อภูมิอากาศท้องถิ่นในปัจจุบันหรืออนาคต ในการประชุมวิชาการและประกาศเจตนารมณ์ “จับมือร่วมใจ รับภัยโลกร้อน” เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2553 เป็นเครื่องการันตีถึงผลงานการอนุรักษ์ที่เป็นผลสำเร็จ
ห้องพักโฮมสเตย์ที่จัดเป็นสัดส่วน
พูดถึงผลงานด้านการอนุรักษ์กันไปแล้ว คราวนี้มาพูดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเมื่อมาเยี่ยมเยือนที่โฮมสเตย์บ้านท้องตมใหญ่แห่งนี้ ซึ่งนอกจากจะได้เห็นถึงการอนุรักษ์สัตว์ทะเลของหมู่บ้านแล้ว กิจกรรมการปลูกป่าชายเลนก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมอนุรักษ์ที่น่าสนใจไม้น้อย ส่วนกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือการมาลองเปลี่ยนอาชีพเป็นชาวประมงฝึกหัด ออกตกหมึกในอ่าวซึ่งมีหมึกกล้วยชุกชุมมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะมีเรือไฟเป็นหมื่นๆ ดวงมาจับหมึก ซึ่งสถิติที่ผ่านมาบันทึกได้ว่าสามารถจับได้มากที่สุด 60-70 เข่ง ใน 1 คืน และนอกจากตกหมึกแล้วก็ยังสามารถตกปลา ลากปลา และคล้องกุ้ง โดยปลาที่พบมากในแถบนี้ก็เช่นปลาอินทรีย์ ปลากระโทงแทง ปลามีดโต้ ปลาสาก และอีกสารพัดปลา
บรรยากาศในหมู่บ้านท้องตมใหญ่
สำหรับคนที่ชอบกิจกรรมการดำน้ำ ก็สามารถนั่งเรือจากหมู่บ้านเพื่อไปดำน้ำในหมู่เกาะต่างๆ ของท้องทะเลชุมพร เช่น เกาะทองแก้ว เกาะมัดหวายใหญ่ และเกาะกุลา ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่มากจนเกินไปนัก และยังจะได้ชมความงดงามใต้ท้องทะเลชุมพรที่สวยงาม โดยเฉพาะเกาะมัดหวายใหญ่นั้น เป็นเกาะเดียวที่ไม่เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว หรือหากใครอยากเล่นน้ำทะเลริมชายหาด บริเวณชายฝั่งตอนนอกของอ่าวซึ่งมีลักษณะเป็นโขดหินเรียงรายตามไหล่เขา ก็มีหาดทรายในระยะ 2-3 ก.ม. ประมาณ 4-5 หาด ซึ่งเป็นชายหาดที่เงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน
คุณไก่ วัชรินทร์ แสวงการ
ในส่วนของบ้านพักโฮมสเตย์ที่มีอยู่ทั้งหมด 8 หลังนั้น แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ด้วยบรรยากาศของบ้านแต่ละหลังที่ยื่นออกไปในทะเล เปิดมุมมองกว้างไกลไปยังเวิ้งอ่าวด้านนอก บรรยากาศสวยๆ งามๆ ก็ทำให้จิตใจผ่อนคลายได้มาก หลังจากที่ออกท่องเที่ยวมาทั้งวันแล้วหากได้มานั่งเล่นบนระเบียงริมทะเลรับลมเย็นๆ ที่พัดโชยมา ใครอยากจะกระโดดลงเล่นน้ำทะเลหรือออกไปพายเรือคายัคชมอ่าวก็สามารถไปได้ตรงจากระเบียง เมื่อถึงเวลาอาหารก็พร้อมสรรพทั้งอาหารทะเลสดๆ ทั้งปลา หมึก กุ้ง กั้ง ผนวกกับรสมือแม่ครัวมือฉมังของบ้านท้องตมใหญ่ และได้นอนหลับสบายในห้องนอนที่เป็นสัดส่วน หรืออยากนอนรับลมเย็นๆ ในห้องโถงกว้าง ก็ทำให้การได้มาพักโฮมสเตย์แห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งความประทับใจในการท่องเที่ยวได้ไม่ยากนัก

*  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *  *

โฮมสเตย์บ้านท้องตมใหญ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร การเดินทางจากกรุงเทพฯ วิ่งมาตามทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงสี่แยกปฐมพร (จ.ชุมพร) แล้ววิ่งตรงมาจนถึงสามแยกอำเภอสวี ถึงกิโลเมตรที่ 35 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้า ทางหลวง 4003 ขับต่อไปตามทางหลวง 4003 ประมาณ14 ก.ม.ถึงสามแยกให้เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านท้องตมใหญ่ ตามทางหลวง 4011 อีก 6 ก.ม. ก็ถึงหมู่บ้าน ระหว่างทางจะมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ สอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ 08-1345-6743 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.tongtomyai.com 
กำลังโหลดความคิดเห็น