xs
xsm
sm
md
lg

ยืดอกเดินขึ้นศาล ตามรอยตุลาการไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงในสมัยสุโขทัย
วันนี้ฉันจะไปขึ้นศาล!

แต่ไม่ได้ไปแบบคนต้องคดีความแต่อย่างใด เพราะศาลที่ฉันจะไปนั้นเป็น “พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ” ที่ตั้งอยู่ที่ศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก
กฎหมายตรา 3 ดวง และฉลากงาที่ใช้เป็นดัชนี
พิพิธภัณฑ์ศาลไทยฯแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2545 ในโอกาสที่ศาลยุติธรรมครบรอบ120 ปี โดยเหมาครอบคลุมทั้งชั้นที่ 5 ของอาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ เมื่อฉันไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมเป็นอย่างดี พร้อมทั้งพาฉันเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์ ที่แบ่งส่วนจัดแสดงใหญ่ๆออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ “ห้องพิพิธภัณฑ์ศาลไทย” และ “ห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน”

วิทยากรประจำพิพิธภัณฑ์ เล่าเรื่องราวเริ่มแรกของกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยให้ฉันฟังว่า ประวัติศาสตร์ศาลไทยที่จัดแสดงได้แบ่งเป็นยุคสมัย เริ่มจาก “สมัยสุโขทัย” ที่มีโครงสร้างสังคมไม่ซับซ้อน และมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นผู้ทรงพระราชอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีความให้แก่ราษฎรโดยยึดหลัก "คัมภีร์พระธรรมศาสตร์" ของอินเดีย ซึ่งมีหลักฐานการใช้กฎหมายอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุมรามคำแหง
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวพร้อมสิ่งของ
ต่อมาใน “สมัยกรุงศรีอยุธยา” ก็ยังคงได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เช่นกัน แต่เนื่องจากสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น กษัตริย์มีฐานะเป็นสมมติเทพและมีราชกิจมากขึ้น ไม่สามารถวินิจฉัยชี้ขาดคดีความด้วยพระองค์เองได้ จึงทรงมอบพระราชอำนาจนี้ให้แก่พราหมณ์ปุโรหิตผู้มีความรู้ช่วยวินิจฉัยคดีต่างๆ แทนพระองค์ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาดในการวินิจฉัยชี้ขาด

ในสมัยนั้นบ้านเมืองมีความเจริญมากขึ้นมีประชากรมากขึ้น กษัตริย์จำต้องสร้างมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจ การสร้างกฎหมายจึงมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น พระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯจึงให้รวบรวมและบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาในรัชกาลถัดๆมาก็ได้ทรงตราพระราชกำหนดบทพระอัยการต่างๆขึ้นบังคับใช้ และได้ดัดแปลงและเพิ่มเติมคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ให้เหมาะกับบ้านเมือง
สิ่งของที่ใช้ในศาลในสมัยก่อน
ต่อมาใน “สมัยกรุงธนบุรี” ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายเลย เนื่องจากมีศึกสงครามเกือบตลอดรัชกาล จนมาใน “สมัยรัตนโกสินทร์” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดฯให้มีการตรวจชำระกฎหมายที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยนำมาปรับปรุงและบัญญัติขึ้นใหม่เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง"

ซึ่งในสมัยนั้นมีศาลอยู่มากมายกระจายอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆ ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการติดต่อกับชาวต่างชาติ ลัทธิชาวตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามาทำให้ระบบการศาลไทยมีการเปลี่ยนแปลง จึงมีการปฏิรูประบบการศาลไทยขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับระบบศาลไทย
พระองค์ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานระบบการศาลยุติธรรม โดยได้รวมศาลที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงกรมต่าง ๆ ให้มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง เหมาะสมไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อน

และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 100 ปี พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตยุติธรรม และทรงโปรดฯ ให้จารึกพระราชปรารภในการจัดตั้งศาลยุติธรรมไว้ในแผ่นเงิน ซึ่งเรียกว่า"หิรัญบัตร" มีความกว้าง 9.5 ซ.ม. ยาว 37.2 ซ.ม. จำนวน 4 แผ่น ฝังอยู่ใต้อาคารศาลสถิตยุติธรรม
ตู้จัดแสดงเรื่องพระบิดาแห่งกฎหมายไทย
อันแสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดิน ทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศจนปัจจุบัน
ห้องจัดแสดงรูปภาพศาลในสมัยก่อนและลายพระหัตถ์
โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระโอรสองค์ที่ 14 ในรัชกาลที่ 5 เนื่องจากทรงอุทิศพระองค์เพื่อปรับปรุงกฎหมายและการศาลไทยในช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกกำลังมีอิทธิพลอย่างมากในภูมิภาค เพื่อให้ชาวต่างชาติเชื่อถือศาลไทยมากขึ้น ทรงจัดระเบียบวางระบบศาลทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหม่ และทรงตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก พระกรณียกิจของพระองค์ทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”

จากประวัติศาสตร์ของกฎหมายไทยในแต่ละยุคสมัย ก็มาถึงห้องถัดไปที่แสดงภาพถ่ายล้ำค่าหาดูได้ยากของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและรัชกาลที่ 8 ออกนั่งบัลลังก์ศาลด้วยกัน และภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเหยียบศาลหลายแห่ง รวมถึงจัดแสดงเอกสารสำคัญหลายฉบับ เช่น เอกสารลายพระหัตถ์ตัวจริงของรัชกาลที่ 5 เอกสารพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษที่ถูกขังมานานของรัชกาลที่ 6 นอกจากนี้ตามผนังห้องติดภาพถ่ายเก่าอาคารศาลทั้งในกรุงเทพฯและเมืองสำคัญหลายภาพ
ห้องพิจารณาคดีจำลองในสมัย ร.5
ถัดไปเป็น “ห้องพิจารณาคดีสมัยโบราณจำลอง” ที่ได้จัดจำลองบรรยากาศของห้องพิจารณาคดีในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีทั้งบัลลังก์ คอกพยาน คอกฝ่ายโจทก์ คอกฝ่ายจำเลย และที่นั่งสำหรับผู้เข้าฟังการพิจารณาคดี และที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่านั้นก็คือ มีการแสดงแสง สี เสียง เกี่ยวกับคดีพระยอดเมืองขวาง ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติกฎหมายไทยให้เราได้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ส่วนคดีนี้จะเป็นอย่างไรก็ต้องไปรับชมรับฟังกันเองที่ห้องจำลองแห่งนี้
จำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
จากนั้น วิทยากรพาฉันไปยังส่วนที่สอง ที่จัดแสดงเป็น “นิทรรศการหมุนเวียน” ในส่วนนี้มีการจัดแสดงชีวประวัติบรรพตุลาการ เช่น จำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์, ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา ที่ได้รับฉายาว่าเปาบุ้นจิ้น

และยังมีส่วนของห้องจดหมายเหตุที่มีเอกสารสำคัญทางกฎหมายตั้งแต่ครั้งโบราณเก็บไว้ให้ศึกษาค้นคว้า อีกทั้งยังมีรูปภาพวาดการทำโทษต่างๆในสมัยโบราณให้ได้ชมด้วย ฉันขอบอกได้เลยว่าสยองมากๆ เห็นแล้วไม่กล้าทำอะไรผิดเลยเชียวหละ
ส่วนของหอจดหมายเหตุที่เก็บเอกสารต่างๆเพื่อค้นคว้า
ใครที่อยากรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ศาลไทย หรือคดีพระยอดเมืองขวางก็สามารถมาชมมาศึกษากันได้ แต่ขอแค่มาพิพิธภัณฑ์ก็พอนะ อย่าได้ให้มาเพราะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นคดีความกันเลย
ภาพการลงโทษในสมัยก่อนที่เคยจัดแสดงนิทรรศการ
 

***********************************************
***********************************************

“พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ” ตั้งอยู่ที่ ชั้น 5 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ  เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-16.30 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หากมาเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้า โทร.0-2512-8413
กำลังโหลดความคิดเห็น