“ปราณบุรีเมืองเก่า เสาหลักเมืองคู่บ้าน
สับปะรดหวานขึ้นชื่อ เลื่องลือทะเลงาม
วนอุทยานสวยล้ำ แม่น้ำปราณคือชีวิต”
คำขวัญประจำอำเภอปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนที่จะกลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลชื่อดังในปัจจุบัน เมืองนี้เป็นเมืองโบราณปรากฏชื่อเมืองชัดเจนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ปราณีต สุทธานันท์ ผู้สนใจในประวัติศาสตร์เมืองปราณบุรี ให้ข้อมูลว่า มองซิเออร์ เซเบเรต์ ราชทูตชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางมาเข้ามาเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีบันทึกถึงเมืองปราณว่า ปราณ(Pran) เป็นเมืองที่สร้างขนานไปกับปากแม่น้ำปราณ ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงเมืองทำด้วยไม้ไผ่ มีป้อมปราการทรงสี่เหลี่ยมสร้างด้วยอิฐ
เมืองปราณบุรีมีความเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา ในฐานะเมืองจัตวาทางตอนใต้ของเมืองหลวงและเมืองท่าแห่งอ่าวไทยตอนกลาง
ปราณบุรีที่รุ่งโรจน์
ครั้นมาถึงในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2449 ได้มีการตัดทางรถไฟผ่านเมืองปราณบุรีพร้อมกับตั้งสถานีรถไฟขึ้นที่ชุมชนบ้านเมืองเก่า(ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น ต.ปราณบุรี)ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก กลายเป็นศูนย์กลางของอำเภอ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การคมนาคมขนส่ง และศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจที่มี “ตลาดเมืองปราณ”(ตลาดเก่าเมืองปราณบุรี)เป็นย่านค้าขายสำคัญในระหว่างพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน
ป้าบุญปลูก กลิ่นแพทย์กิจ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอปราณบุรี เล่าว่า ตลาดปราณต่างจากตลาดทั่วๆไป เป็นตลาดที่นัด(ตลาดนัด)ขายของกันทุกวันโกน(ขึ้นและแรม 7,14 ค่ำ)แล้วขายข้ามวันไปจนถึงสิ้นวันพระ(8 ค่ำ,15 ค่ำ)
“สมัยนั้นถนนหนทางลำบากไม่มีรถราวิ่งรับส่งสินค้า แต่ตลาดที่นี่กลับคึกคักมาก มีข้าวของขายยาวเป็นกิโลไปตลอด 2 ข้างทางรถไฟ พ่อค้าแม่ค้ามีทั้งคนที่นี่และคนต่างถิ่น มีทั้งล่องเรือมา หรือบรรทุกข้าวของใส่เกวียนมาทางบก บางคนมาไกลจากประจวบ เพชรบุรี ราชบุรีก็มี” ป้าบุญปลูกรำลึกความหลัง
ความเปลี่ยนแปลง
ในช่วงราวๆก่อนปี พ.ศ. 2500 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเมื่อมีการตัดถนนเพชรเกษมผ่าน อำเภอปราณบุรี ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งในชุนชนบ้านเมืองเก่าทยอยย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมถนนใหญ่บริเวณ 4 แยกปราณ ต.เขาน้อย เกิดเป็นเมืองปราณใหม่ขึ้นมา
อำเภอปราณบุรีในยุคนั้น จึงมีเมืองหลักๆที่เป็นศูนย์กลาง อยู่ 2 เมืองด้วย คือเมืองใหม่ที่ 4 แยกปราณ ต.เขาน้อย ที่กำลังโตวันโตคืน กับเมืองเก่าที่ ต.ปราณบุรีที่แม้ไม่โตแต่ก็ไม่ตาย เพราะเมืองเก่าปราณยังคงมีส่วนราชการหลักๆอยู่ เป็นสิ่งดึงดูดให้เกิดการเดินทางเข้า-ออก สร้างความเคลื่อนไหวให้ชุมชน
ทว่ามาในปี พ.ศ. 2520 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อทางการได้มีนโยบายย้ายส่วนราชการในชุมชนเมืองเก่าปราณบุรีออกไปอยู่ริมถนนใหญ่ ด้วยเหตุผลสะดวกต่อการติดต่อสัญจรและเพื่อความโอ่โถงใหญ่โตของสถานที่
เมื่อส่วนราชการย้ายไป ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจการค้าก็ย้ายไปอยู่ริมถนนใหญ่ตาม ส่งผลให้เมืองเก่าปราณบุรีที่เคยรุ่งเรืองหดตัวเล็กลง กลายเป็นเมืองอันเงียบเหงา ซบเซา อีกทั้งยังทำให้ตลาดเมืองปราณที่เคยรุ่งเรืองหมดความสำคัญลง นับเป็นเวลากว่า 30 ปีจนถึงปัจจุบัน
นั่นจึงทำให้ อ.วิลาศ แตงเกตุ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาห้วย ผู้มีความทรงจำอันดีงามและยังไม่ลืมอดีตอันรุ่งโรจน์ของตลาด(เก่า)เมืองปราณ เห็นว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่เมืองปราณบุรีจะถูกทิ้งร้างและถูกลืม เหลือเพียงตำนาน
เขาจึงเป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมสมัครพรรคพวกผู้มีแนวคิดตรงกัน ร่วมรื้อฟื้นบรรยากาศอันรุ่งโรจน์ของเมืองเก่าปราณบุรีในรูปแบบ“ตลาดนัดถนนคนเดิน” ขึ้นมา โดยมีการเปิดกิจกรรม“ถนนคนเดินตลาดเก่าเมืองปราณบุรี” (หรือที่บางคนเรียกว่าตลาดเก่า 200 ปี ปราณบุรี)ครั้งปฐมฤกษ์ขึ้นในวันที่ 14 ส.ค. 53
และหลังจากนั้นก็จัดต่อเนื่องเรื่อยมาในทุกๆเย็นวันเสาร์
สำหรับบรรยากาศของตลาดนัดถนนคนเดินที่นี่เน้นขายสินค้าอาหารในราคาประหยัด ไม่แพง มีทั้งส่วนที่เป็นร้านค้า ร้านอาหาร และแผงสินค้าที่ชาวบ้านนำมาตั้งวางริมถนน
โดยในบริเวณลานกว้างหน้าสถานีรถไฟ(ใต้ต้นจามจุรีใหญ่) จะมากไปด้วยอาหารการกินหลากหลาย อาทิ ก๋วยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นปิ้ง ขนมหวาน น้ำสมุนไพร ห่อหมก ข้าวห่อใบบัว และ“ส้มตำโบราณ” ที่ปัจจุบันหากินค่อนข้างยาก เป็นหมึกย่าง(ดั้งเดิมเป็นหอยเสียบ)กินกับเครื่องเคียงมะละกอและน้ำจิ้ม 3 รส
ขณะที่บนถนนปีกกาถัดเข้ามาทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ บรรยากาศจะเป็นอาคารเก่าเรือนไม้ 2 ชั้น ประตูบานเฟี้ยม มีระเบียงบนชั้นสอง หลังคาสังกะสี แซมด้วยห้องแถวปูนที่สร้างขึ้นมาใหม่ มีจุดน่าสนใจ นำโดยร้านของเก่า(ศูนย์ประสานงาน)ตรงหันมุมถนนที่นอกจากจะมีของเก่าหลากหลายให้ชมแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์ประสานงาน เป็นจุดร้องคาราโอเกะเพลงเก่าที่เรียกความคึกคักและรอยยิ้มจากผู้ผ่านไปผ่านมาได้เป็นอย่างดี
มีร้านกาแฟ“โปรดปราณ” กับร้าน“บ้านอาม่า” สองร้านใกล้ๆกันที่เป็นทั้งจุดถ่ายรูปสำคัญของนักท่องเที่ยว เพราะทั้ง 2 ร้านสามารถนำเรือนเก่ามาตกแต่งจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ผสมผสานระหว่างความเก่ากับใหม่ได้อย่างน่าชม
นอกจากนี้บนถนนคนเดินแห่งนี้ยังมีเวทีจัดแสดงความสามารถของเด็กๆในชุมชน มีร้านก๋วยจั๊บเจ้าอร่อย(เจ้าเก่า) มีแผงชาชัก มีมุมถ่ายรูป มีร้านขายของที่ระลึก แผงขายงานศิลปะ มีจุดนวดเท้าคลายเมื่อย แผงขายสินค้าต่างๆ และอื่นๆอีกหลากหลาย
นับเป็นการฟื้นเมืองเก่าปราณบุรีให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
การกลับมาที่เป็นมากกว่าตลาด
แม้ในหนึ่งสัปดาห์จะมีเพียงวันเสาร์วันเดียวเท่านั้นที่ความคึกคักกลับคืนมาเยือนเมืองเก่าปราณบุรีในรูปของตลาดนัดถนนคนเดิน แต่มันได้ส่งผลทางอ้อมที่เป็นคุณต่อชุมชนในหลายประการด้วยกัน
อภิรักษ์ เดชศรี ผู้เกิดทันยุคตลาดเก่าเมืองปราณจากร้านบ้านอาม่า เล่าว่า เมื่อมีถนนคนเดิน มันทำให้คนเก่าๆหลายๆคนที่เคยย้ายออกไปอยู่ริมถนนใหญ่ ต่างหวนคืนกลับมาเยี่ยมเยียนถิ่นเก่าอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังทำให้คนในชุมชนเห็นถึงคุณค่าของอาคารเก่า(เรือนไม้) ซึ่งเมื่อเราปรับปรุงตกแต่งทำให้ดูดีขึ้น มันกลายเป็นสิ่งมีค่า มีคนสนใจมาเที่ยวชม
ด้านวรพล บริบูรณ์ทรัพย์ หนุ่มเจ้าของร้านโปรดปราณ กล่าวว่า ถนนคนเดินถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน ทำให้คนที่ออกไปอยู่ต่างถิ่น(กรุงเทพฯ)เช่นดังเขา กลับมาบ้านทุกๆวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะมีกิจกรรมให้ทำ
ส่วน บุษยมาศ แซ่โง้ว นักเรียนชั้น ม.4 และ ปกรณ์ บริบูรณ์ ทรัพย์ นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการปราณบุรี ที่มาเข้าร่วมทำกิจกรรมบนถนนแห่งนี้ เปิดเผยว่า ถนนคนเดินถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างหนึ่ง ทำให้เด็กๆมีพื้นที่แสดงออก ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้สัมผัสกับวิถีชุมชนบางอย่างเคยเลือนหายไป และยังได้ค่าขนมจากการออกร้านขายของโดยไม่ต้องแบมือขอเงินจากผู้ใหญ่อีกด้วย
ในขณะที่ อ.วิลาศ สรุปสั้นๆว่า “ถนนคนเดินสำหรับผมมันเป็นการช่วยฟื้นชีวิตเรียกความคึกครื้นกลับคืนสู่เมืองเก่าปราณบุรีอีกครั้ง”
นอกจากนี้ อ.วิลาศ ยังมองไปข้างหน้าว่า ในอนาคตถ้าถนนคนเดินเติบโตไปด้วยดีแบบค่อยเป็นค่อยไป สิ่งที่เขาอยากทำต่อไปคือ การต่อยอดถนนคนเดินพัฒนารื้อฟื้นให้เป็นตลาดขายของทั้งวันเหมือนในอดีต
แต่ถ้าถนนคนเดินตลาดเมืองเก่าปราณบุรีเติบโตแบบไม่พอเพียง ชาวบ้านเกิดความละโมบจากเม็ดเงินที่เข้ามากและเร็วเกินไป จนขายบ้านขายที่ขายทางหรือให้เช่าแก่นายทุนต่างถิ่นซึ่งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ กอบโกย จนทำให้วิถีชุมชนถูกทำลาย ชาวบ้านเสียศูนย์ เหมือนอย่างชุมชนท่องเที่ยวรุ่นพี่หลายๆเมือง อ.วิลาศ ให้คำตอบสั้นๆว่า
“เราพร้อมจะเลิกทันที”
*****************************************
ถนนคนเดินตลาดเก่าเมืองปราณบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลปราณบุรีหรือชุมชนบ้านเมืองเก่า(ห่างจาก 4 แยกปราณไปประมาณ 5 กม.) อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณลานหน้าสถานีรถไฟปราณบุรี ไปบนถนนทางแยกเป็นปีกกา ทิศตะวันออกสุดที่หน้าโรงเรียนสายวิทยา ทิศเหนือสุดที่ 4 แยกทางลอดรถไฟ เปิดทุกเย็นวันเสาร์เวลา 16.00 น.-22.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ โทร. 0-3251- 3885,0-3251-3871,0-3251-3854