xs
xsm
sm
md
lg

“สนามหลวงยุคใหม่” เอกลักษณ์ว่าวไทยจะถึงกาลอวสาน?!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยังไม่ทันเปิดตัวสนามหลวงใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 สิงหาคม 2554 ก็มีเสียงคัดค้านเกิดขึ้น จากการประกาศกฎเบื้องต้นในการเข้าใช้พื้นที่ท้องสนามหลวง นอกจากจะงดรับคนเร่ร่อน นกพิราบ และการชุมนุมทางการเมืองแล้ว
ล่าสุดก็มีข่าวรายงานข่าวว่า กทม.จะห้ามเล่นกิจกรรมกีฬาต่างๆอย่าง ว่าว ตะกร้อ ฯลฯ อีกด้วย

โดยมีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา สุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการเขตพระนคร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่สนามหลวง เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปในการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่ออนุญาตเข้าใช้พื้นที่สนามหลวง เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมาได้ประชุมหารือกันหลายครั้ง แต่ไม่ได้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้

อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ในเบื้องต้นคือ จะเน้นให้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและงานรัฐพิธีที่สำคัญ สำหรับกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของประชาชนทั่วไป ก็จะอนุญาตให้ใช้เพื่อการพักผ่อน เดินเล่น และขี่จักรยานเท่านั้น ส่วนกิจกรรมละเล่นหรือกีฬา เช่น เล่นว่าว เตะตะกร้อ ก็ยังเป็นปัญหาในการพิจารณาว่าทำได้แค่ไหน แต่จากการประชุมที่ผ่านมาก็คาดว่า คงจะไม่อนุญาต เพื่อให้มีแต่การพักผ่อนอย่างเดียวเท่านั้น

จากการจะออกกฎห้ามดังกล่าว จึงทำให้คนเล่นว่าวและตระกร้อออกมาคัดค้านการสั่งห้ามของ กทม.ที่ไม่ให้เล่นหรือแข่งขันในสนามหลวง

แม้งานนี้ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุงภูมิทัศน์ท้องสนามหลวง จะรีบออกตัวปฏิเสธว่า ไม่ได้มีการห้ามเล่นว่าวและตะกร้อ แต่ช่วงแรกที่มีข่าวออกมาว่าทาง กทม. ห้ามจัดกิจกรรมนันทนาการหรือการเล่นว่าว และเตะตระกร้อลอดห่วงนั้นน่าจะเป็นความผิดพลาดในการสื่อสารมากกว่า

ดังนั้น การเล่นว่าวยังสามารถทำได้ เพราะมันไม่ไปกระทบกระเทือนอะไรในพื้นที่มากนัก

แต่ไม่ว่าจะมีการห้ามทำกิจกรรมใดในท้องสนามหลวงบ้าง การแข่งขันเล่นว่าวและการเตะตะกร้อภายในท้องสนามหลวง ก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่ากิจกรรมเหล่านี้มีความสำคัญมากเพียงใด จึงอยู่ควบคู่ท้องสนามหลวงเรื่อยมา
 


กีฬาว่าวไทยคู่สนามหลวง
แต่เดิมสนามหลวงนั้นใช้ประกอบราชพิธีสำคัญต่างๆ ย้อนมองตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เป็นต้นมา ก็จะเห็นว่าสนามหลวงนั้นผ่านราชพิธีสำคัญของชาติไทยมาไม่น้อย เช่น ใช้เป็นสถานที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์, พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, พระราชพิธีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี นอกจากนี้ยุคหนึ่งสนามหลวงยังถูกใช้เป็นพื้นที่ทำนาเพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า ประเทศไทยนั้นความมีอุดมสมบูรณ์และก็มีกิจกรรมต่างๆ เรื่อยมาจนถึงการเกิดของการแข่งขันเล่นว่าว

"ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะจัดงานเฉลิมฉลองให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดอะไร กระทั่งเมื่อผ่านสนามหลวง แล้วทอดพระเนตรเห็นประชาชนเล่นว่าวจุฬา-ปักเป้ากัน ก็เลยจัดงานแข่งว่าวชิงถ้วยทอง ในปี 2448 ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ หรือรัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ และพระยาภิรมย์ภักดี หรือนายชม เศรษฐบุตรก็ลงแข่งด้วย โดยรูปแบบของการแข่งขันจะแตกต่างกับปัจจุบัน คือใครเล่นดุเดือดก็จะชนะ ซึ่งนายชมชนะ ได้พวงมาลัยยาวถึงเข่า"

นี่คือความเป็นมาของว่าวที่มีมาแต่ช้านานจวบจนปัจจุบันที่ ปริญญา สุขชิต อุปนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะของผู้คร่ำหวอดเรื่องว่าว อธิบายถึงการเล่นกีฬาไทยต่างๆ ในสนามหลวงนั้นมีนานแล้ว โดยเฉพาะการเล่นว่าว ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันของว่าวจุฬา-ปักเป้า ในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 5

หลังจากนั้น การเล่นว่าวก็เจริญรุ่งเรืองมาตลอด เพราะพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างก็เสด็จฯ มาดูการเล่นว่าวที่สนามหลวงอยู่เสมอ เช่นเดียวกับการแข่งขันว่าวชิงถ้วยทองพระราชทาน ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และมีผู้สนใจอย่างมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่าว่าวได้กลายเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่อยู่คู่กับสนามหลวงมาช้านาน และยังเป็นกีฬาราคาถูกที่สร้างความสุขให้แก่คนไทยได้ทุกยุคทุกสมัย

เช่นเดียวกับการบอกเล่าของ สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เล่าเรื่องราวการเข้ามาของว่าวนั้นว่า มีเล่นกันมาตั้งแต่ยุคสมัยเก่าก่อนที่คนชั้นขุนนางจะเล่นกัน

“เมื่อก่อนนะมันเป็นระดับขุนนางชั้นใหญ่ๆ เขาเล่นกัน ระดับพระยาเขาเล่นว่าวจุฬา-ปักเป้ากัน จนมาถึงสมัยปัจจุบันที่คนทั่วไปเล่นกัน แต่ก็ยังเป็นกลุ่มๆ เท่านั้น ไม่ได้เล่นกันทุกบ้าน มีกลุ่มเตะตระกร้อ กลุ่มเล่นว่าว นอกจากนี้การเล่นว่าวเดี๋ยวนี้กับแต่ก่อนมันก็ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ก่อนเราทำว่าวเองเพื่อเอามาเล่น แต่สมัยนี้ซื้อมาเล่นมันก็ไม่ได้เรื่อง มันก็เลยไม่ค่อยจะสนุกเพราะไม่ได้มาจากฝีมือเรา”
 

ทำไมต้องเป็นสนามหลวง
นอกจากราชพิธีต่างๆ แล้ว สนามหลวงยังถือเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของชาวไทยมาช้านาน อย่างหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์คู่กันมาก็คือการเล่นกีฬาของไทยอย่างว่าวจุฬา-ว่าวปักเป้า มีการจัดงานเทศกาลว่าวไทย เพื่อแสดงว่าวไทยและว่าวนานาชาติ รวมถึงการเล่นว่าวไทยจากภูมิภาคต่างๆ บนพื้นที่ลักษณะเป็นลานโล่งนี้ จึงถือเป็นสถานที่เล่นว่าวชั้นดี หากใครมีโอกาสมาเยือนสนามหลวงคงต้องควักเงินซื้อว่าวนำขึ้นถลาลมกันอย่างแน่นอน บอกได้เลยว่าในยุคหนึ่งสนามหลวงนั้นเป็นศูนย์กลางการเล่นว่าวที่ใหญ่ที่สุดในไทย ปริญญาบอกว่า

"การเล่นว่าวต้องทำที่สนามหลวงเท่านั้น ขณะที่กีฬาอย่างอื่นก็มาเล่นสนามหลวงไม่ได้ อย่างเตะฟุตบอลทำไม่ได้ เพราะคนมานั่งแล้วคุณเตะบอลโดนหัวเขา มันไม่ถูกต้อง ต้องเป็นกีฬาที่ไม่กระทบคนอื่น จักรยานก็เหมือนกัน ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะจักรยานมันไม่มีการประกันภัย แค่คนเดินชนหกล้มยังน็อกพื้นได้ แล้วจักรยานถ้าให้ขี่มันก็ไปชนคน แล้วใครจะรับผิดชอบ ขณะที่ตะกร้อวง เมื่อเขาไม่มีลานคอนกรีตให้แล้ว เราก็ไม่เตะ ไปเตะที่ลานคนเมือง (หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร) แทนก็ได้ เพราะตรงนั้นเป็นพื้นคอนกรีต”

"สำหรับว่าวมันต่างออกไป เพราะสนามหลวงเป็นที่ถูกกำหนดมาแล้วให้เป็นสนามว่าว เพราะมันที่โล่ง ไม่มีต้นไม้มาขวาง แล้วทิศทางมันตรงกับตำแหน่งที่จะพัดไปทางโรงกษาปณ์เก่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีกำหนดไปด้วยว่าจะเล่นได้เมื่อไหร่ หากเป็นกันยายน-ธันวาคม ต้องห้ามเล่น เพราะลมมันไปจะไปถึงปราสาทราชมณเฑียร ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงห้ามเอาไว้ เพราะเล่นไปแล้วมันจะติดกับยอดปราสาท" 

แต่ทั้งนี้ปริญญายอมรับว่า ในช่วงหลายปีมานี้ การเล่นว่าวก็มีจำนวนน้อยลงไปมาก เพราะอย่างช่วงที่มีการปิดสนามหลวง ก็แทบจะไม่มีกิจกรรมเกี่ยวกับว่าวเลย เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีความพยายามจะไปจัดที่อื่นบ้างแล้ว เช่น สวนรถไฟ แต่ก็ไม่มีคนไปดูจนต้องยกเลิกในที่สุด และรอจนกว่าสนามหลวงเปิด

ทั้งนี้ในมุมมองของคนที่ชื่นชอบการเล่นว่าวแล้วการได้เล่นจึงเหมือนเป็นความสุข และสนุก

“ชอบการแข่งว่าวมาก เพราะว่ามันเป็นกิจกรรมที่เล่นแล้วมีความสุข สนุก และเป็นการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและคนในบ้าน เป็นการพักผ่อนจึงชอบพาครอบครัวมาเล่นกัน การแข่งว่าวจึงเป็นกิจกรรมที่ไม่เคยพลาดเลยเพราะแข่งที่ไหนก็ไม่เหมือนแข่งที่สนามหลวง ซึ่งสนามหลวงเป็นที่จัดการแข่งขันดั้งเดิม แล้วถ้าไปแข่งที่อื่นก็ไม่มีการจัดการแข่งขันเหมือนที่นี่ ซึ่งจัดงานยาวนานไม่ต่ำกว่า 20 วัน แต่ถ้าเป็นที่อื่นก็แค่ 2-3 วันเท่านั้น”

จากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในวงการการแข่งขันว่าวมายาวนานกว่า 10 ปีอย่าง ประสิทธิ์ พละเสวีนันท์ ผู้ชื่นชอบการเล่นว่าว และส่งว่าวเข้าประกวดทุกครั้งที่มีการจัดการแข่งขันที่สนามหลวง ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยแข่งขันมาแล้วกว่า 20-30 ครั้ง หากที่สนามหลวงห้ามไม่ให้มีการแข่งขันขึ้นมาจริง เขาบอกว่า ก็คงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง เพราะสนามหลวงถือเป็นแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดที่ให้มีการแข่งขันว่าวในประเทศไทยแล้ว

“มีที่สนามหลวงที่เดียวในกรุงเทพฯ และสนามนี้ก็เป็นที่จัดการแข่งขันมาแต่ดั้งเดิม ที่มีการเล่นว่าวและยังรักษาการเล่นว่าวจุฬา-ปักเป้าอยู่ ถ้าปิดไม่ให้มีการเล่นว่าวที่สนามหลวง การเล่นว่าวจุฬา-ปักเป้า นี่มันก็จะหายไปเลยแหละ และก็จะส่งผลถึงคนที่มีอาชีพทำว่าวด้วย ดังนั้นเราควรอนุรักษ์การเล่นว่าวไว้ เพราะมันเป็นเหมือนเอกลักษณ์ของเราเลยนะ อย่างต่างประเทศยังอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าๆ ของเขาไว้ เราก็ควรจะรักษาการแข่งขันว่าว และการเล่นว่าวไว้ให้อยู่คู่กับสนามหลวงต่อไป”

ขณะที่ สมบัติ เอง ก็มองว่า อย่างการเล่นตระกร้อหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มีในสนามหลวงเพราะมันมีสถานที่กว้างให้พอจะเล่นได้ ซึ่งจะไปใช้พื้นที่อื่นมันก็ไม่สะดวก

“คนไม่สามารถเล่นตระกร้อในพื้นที่บ้านได้ แต่เผอิญสนามหลวงมันที่กว้างคนก็เลยไปเล่นกันที่นั้น ถ้าไม่มีสนามหลวงก็ไปเล่นตามลานวัด แต่เดี๋ยวนี้ที่ว่างลานวัดมันก็ไม่มี วัดก็ทำอะไรต่อมิอะไรแน่นไปหมดแทบไม่มีทางให้เดิน หากจะไปเล่นที่สาธารณะมันก็ปลูกต้นไม้เต็มไปหมด คนจะเล่นตะกร้อมันก็ไปเล่นไม่ได้ มันก็ลำบากเป็นปัญหาเกี่ยวกันเป็นลูกโซ่ ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะมันมีเจตนาไม่ค่อยตรงกัน ฝ่ายจะเล่นก็หาที่เล่น ฝ่ายเจ้าของที่ เขาก็ไม่อยากให้เล่นเพราะมันไปทำให้อะไรเขาเสียหาย ความคิดมันไม่ตรงกันผลประโยชน์มันไม่ตรงกัน มันอยู่ที่ว่าจะตกลงแบ่งสรรปันส่วนได้อย่างไร เดี๋ยวนี้คนเรามันคิดแต่ส่วนตัวลูกเดียว ความเอื้อเฟื้อมันน้อยมันก็เลยทะเลาะกัน”
 

หากกีฬาว่าวไทย ต้องหายจากสนามหลวง
“ที่มันมีความน่าสนใจ ก็เพราะมันเป็นของแปลกที่ฝรั่งมันไม่มีเล่นไม่เคยเห็น เมื่อฝรั่งมาเห็นเข้าก็ถ่ายรูปไปลงตามที่ต่างๆ มันก็เลยเป็นของแปลกของชาวต่างชาติไป หากจะบอกว่าเป็นเอกลักษณ์ก็คงพูดได้แต่หากว่าเป็นประเพณีการละเล่นก็คงไม่ใช่เพราะมันมีมานานก็จริง แต่ก็จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น”

นี่คือปากคำของ สมบัติ พลายน้อย ให้ความคิดเห็นว่า ไม่ว่าอย่างไรแล้วมันก็เป็นสิ่งที่พูดได้ยากว่าจะมีกฎเกณฑ์จะดีหรือเปล่า ถ้ามีก็ทำให้สนามหลวงดูสะอาดตาขึ้น เจ้าหน้าที่ก็จะเบาแรงในการรักษาดูแล มันขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละคน แต่ถ้าทุกคนช่วยกันรักษาความสะอาดมันก็พอจะอนุโลมกันได้

“ที่จริงแล้ว ว่าวก็น่าจะเล่นได้เพราะเขาจัดที่สนามหลวงปีหนึ่งก็หนเดียวเท่านั้นเอง มันก็ไม่ใช่ที่จะเล่นกันทุกวันทีเดียว เล่นว่าวมันก็เป็นฤดูกาลมันก็ไม่ได้มีกันทั้งปี ว่าวมันต้องอาศัยลม และมันก็ต้องอาศัยสถานที่ถ้าสถานที่เป็นสายไฟระโยงระยางก็เล่นไม่ได้อีก”

ขณะที่ปริญญาเอง ก็ออกมาบอกว่า รู้สึกตกใจที่มีข่าวออกมาว่า ผู้อำนวยการเขตพระนครมีแนวคิดจะห้ามเล่นว่าว ตนจึงเตรียมพร้อมอยู่ ถ้าหากมีการห้ามจริงก็อาจจะต้องยื่นถวายฎีกา เพราะต้องยอมรับว่า นอกจากว่าวจะเป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้ถึงเอกลักษณ์ของชาติแล้ว ยังถือเป็นกีฬาประเภทเดียวที่ทั่วโลกเอาไปไม่ได้ อย่างมวยไทยก็ถูกเอาไปแล้ว ขณะที่การแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้ามีที่ประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์และภาคภูมิใจไว้ เพราะมันเป็นมรดกโลกทางกีฬาที่สำคัญของเมืองไทย

แต่เมื่ออุปสรรคต่างๆ ผ่านพ้นไปแล้ว ปริญญาก็บอกว่าทางสมาคมฯ ได้เตรียมกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับว่าวเอาไว้มากมาย อย่างวันเปิดสนามหลวงที่จะถึงก็จะมีกิจกรรมโชว์และสาธิตการเล่นว่าว ตลอดจนการเปิดตัวว่าวแบบใหม่ล่าสุดที่ยังไม่เคยเปิดตัวมาก่อน

“ปีนี้ผมว่าจะจัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้เห็นกัน เพราะตอนนี้เราได้สอนให้นักเรียน 300,000 คน ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทำว่าวเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง 5 ธันวาคม 2554 โดยจะเล่าเรื่องราวของพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการทำนุบำรุงพสกนิกร ทั้งหมด 9,999 ตัวขึ้นเต็มสนามหลวงในวันเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างแน่นอน"

โดยปริญญาตั้งความหวังเอาไว้ว่า ต่อไปในอนาคตกีฬาชนิดนี้ยิ่งใหญ่ระดับโลก และมีการลงบันทึกในปฏิทินการท่องเที่ยวของประเทศไทยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงวันที่ 12 เมษายนจะมีการเล่นว่าวในท้องสนามหลวง รวมไปถึงอาจจะมีการจัดแข่งกีฬาระดับนานาชาติต่อไปด้วย
                                           ...........
 

ไม่ว่ากฎระเบียบการใช้สนามหลวงจะออกมาอย่างไร จะมีการห้ามเล่นอะไรบ้าง แต่ก็คงน่าเสียดายหากมีการห้ามเล่นว่าว เพราะจากประวัติความเป็นมาแล้วก็ถือว่าว่าวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองอีกอย่างหนึ่ง แต่กีฬาอื่นอย่าง ตระกร้อ ก็คงหาสถานที่ที่พอเล่นได้ แต่ว่าวต้องใช้พื้นที่เล่นกว้างขวาง หากห้ามเล่นที่สนามหลวงก็คงจะหาพื้นที่เล่นลำบาก…
 

>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพข่าวรายวัน





กำลังโหลดความคิดเห็น