xs
xsm
sm
md
lg

“เปราะภู” เธอมากับฝนบน“ภูหลวง” /ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
กระเจียว ราชินีป่าที่มาพร้อมสายฝน
วสันต์ฤดู...

ฝนตก อาจเป็นเรื่องน่ารำคาญใจรำคาญกายสำหรับคนกรุงเทพฯ เพราะทั้งเปียก ทั้งเฉอะแฉะ ทั้งเดินทางลำบาก

ยิ่งวันไหนฝนตกหนัก ถนนหนทางหลายสายจะเกิดน้ำท่วมเจิ่งนองอย่างฉับพลัน รถที่ติดเป็นปกติอยู่แล้วจะกลายเป็นติดหนึบ ติดระยับ จนใครหลายๆคนออกอาการหงุดหงิด หัวเสีย สุดทน ถึงขนาดก่นด่านักการเมืองที่ไร้กึ๋นแก้ปัญหาไม่ได้ไปเป็นสิบๆรอบแล้วก็ยังไม่สาแก่ใจ พาลด่าไปถึงฝนฟ้าเทวดา ดังเพลงเก่าที่เคยได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กว่า

“...ฝนตกคนก็แช่ง ฝนแล้งคนก็ด่า มนุษย์นี้หนอ ด่าทอเทวดา...”

อย่างไรก็ตามในด้านลบของสายฝนที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของชาวกรุง(ส่วนหนึ่ง) มีด้านบวกตามธรรมชาติของมันอยู่มากมาย เพราะสายฝนช่วยฟื้นความแห้งแล้งให้ดินชุ่มน้ำ ฟ้าชุ่มฉ่ำ ชาวไร่ชาวนากลับมามีชีวิตชีวา พร้อมลงมือหว่าน ไถ พรวน ปลูกต้นไม้กันอีกครั้ง

ขณะที่ในผืนป่าน้อยใหญ่นั้น เมื่อฝนมาป่าที่เคยแห้งเหี่ยวเฉากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ต้นไม้ใบหญ้าที่เคยแห้งเหลืองพลันกลับมาเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำ สรรพชีวิตน้อยใหญ่หลากหลายต่างกลับมาคึกคักเริงร่ารับสายฝน เช่นเดียวกับดอกไม้ป่าจำนวนหนึ่ง ที่พอฝนมา พวกมันต่างพากันผลิดอกออกใบ ชูช่อเริงร่าขึ้นมาท้าทายสายฝน สายลม แสงแดด

ในบรรดาดอกไม้ป่าที่มาพร้อมกับสายฝนนั้น “ดอกกระเจียว” ถือเป็นดัง“ราชินีแห่งป่าฝน” ที่ทุกๆปีพอฝนมา ดอกกระเจียวจะพร้อมใจกันเบ่งบานเริงร่ารับสายฝน โดยสถานที่ชมทุ่งดอกกระเจียวที่สวยงามที่สุด โด่งดังที่สุดในเมืองไทยนั้น ย่อมหนีไม่พ้น เมืองพญาแล จังหวัดชัยภูมิ ที่มีแหล่งชมทุ่งดอกกระเจียวอันสวยงามให้ชมกันถึง 2 แห่ง คือที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง
เปราะภู เธอมากับฝน
นอกจากดอกกระเจียวแล้ว ดอกไม้ป่าอีกชนิดหนึ่งที่มาพร้อมกับสายฝนในทุกๆปีก็คือดอก “เปราะภู”

เปราะภู เป็นพืชตระกูลขิง ข่า มีเหง้าอยู่ใต้ดินเหมือนดอกกระเจียว พอฝนตกเหง้าก็จะแตกตัวโผล่พ้นพื้นดินขึ้นมา และพร้อมใจผลิดอกเล็กๆอันบอบบางออกมาอวดสายตา โดยสถานที่ชมดอกเปราะภูขึ้นชื่อนั้น อยู่ที่“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง” จ.เลย ซึ่งถูกทางททท.ยกให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน ที่คัดธรรมชาติเด่นๆในแต่ละเดือนตลอดทั้งปีร่วมกับประเพณีน่าสนใจในบางเดือนมานำเสนอ
ภูหลวง อาณาจักแห่งพรรณไม้
ภูหลวง มีความหมายว่าภูเขาที่ยิ่งใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน มีลักษณะเป็นภูเขามียอดตัดเรียบ คล้ายกับภูกระดึงแต่มีขนาดกว้างใหญ่กว่า

ภูหลวงได้รับฉายาว่าเป็น “อาณาจักรแห่งพรรณไม้” เพราะผืนป่าที่นี่มากไปด้วยดอกไม้ป่ามากมายหลายร้อยชนิด และมีพันธุ์กล้วยไม้อีกมากกว่า 170 ชนิด โดยพบกล้วยไม้หายาก เช่น เอื้องสุริยัน สิงโตธานีนิวัต สิงโตนิพนธ์ รองเท้านารีสุขะกุล เป็นต้น อีกทั้งยังมีสัตว์ป่านานาชนิด ทั้ง เก้ง กวาง เลียงผา เสือดาว หมี ค่าง เต่าปูลู(เต่าหางยางใกล้สูญพันธุ์) พร้อมด้วยช้างที่มีถึง 80-100 ตัว ได้ชื่อว่ามากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย
บรรยากาศร่มรื่นในเส้นทางแปกดำ
ภูหลวง แม้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ก็เปิดพื้นที่บางส่วนให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปท่องเที่ยวเรียนรู้ ศึกษาธรรมชาติบนนั้น

ในผืนป่าภูหลวงมีจุดน่าสนใจชวนเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผาเตลิ่น ผาสมเด็จ ลานสุริยัน แปกใหญ่ โหล่นแต้ โหล่นหินแอ่วขัน รอยเท้าไดโนเสาร์ที่โคกยาว ฯลฯ

สำหรับการชมพืชพรรณไม้ที่ถือเป็นไฮไลท์ของภูหลวงนั้น สามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี

ในช่วงฤดูหนาว ภูหลวงโดดเด่นไปด้วยต้นเมเปิ้ลหรือก่วมแดง(หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“ไฟเดือนห้า”) เปลี่ยนสีใบเป็นสีแดงฉาน ร่วมด้วยการผลิดอกจำนวนมากของ กระดุมเงิน กุง ดอกหรีด เอื้องดินเนอ รองเท้านารีอินทนน์ และรองเท้านารีปีกแมลงปอ ที่สำรวจพบเพียงแห่งเดียวบนภูหลวง
โคกนกกระบา
ครั้นพอถึงหน้าร้อน อากาศบนภูหลวงแม้จะแห้งแล้ง แต่ฤดูนี้ภูหลวงน่าเที่ยวที่สุด เพราะมีพันธุ์ไม้กล้วยไม้ ออกดอกสวยงามให้ชมกันมากมาย นำโดยกุหลาบแดง(พันปี)ดอกไม้ที่ได้รับการยกย่องเป็นสัญลักษณ์แห่งภูหลวงยามหน้าร้อน ที่จะพร้อมใจกันออกดอกสะพรั่งสีแดงสดแต่งแต้มผืนป่าให้สวยงาม นอกจากนี้ยังมีกุหลาบขาวออกดอกผลิบานสะพรั่งอีกเป็นจำนวนมากใน “โคกพรหมจรรย์”จุดที่ผมฟังชื่อแล้วให้ความรู้สึกบริสุทธิ์อยู่ไม่เสื่อมคลาย ร่วมด้วยกล้วยไม้ตระกูลเอื้องต่างๆ อาทิ เอื้องตาเหิน เอื้องม่อนไข่ เอื้องผึ้ง เอื้อคำหิน และพืชพันธุ์อื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนฤดูฝนแม้จะเป็นโลว์ซีซั่น แต่บนภูหลวงก็มีไฮไลท์อยู่ที่ทุ่งดอกเปราะภูที่พร้อมใจจะเบ่งบานรับสายฝน

ซึ่งเมื่อหน้าฝนปีที่แล้ว หลังน้องสาวผู้รักถนอมบุปผาสอบถามข้อมูลจากทางเขตรักษาพันธุ์ฯว่าดอกเปราะภูบานแล้วสามารถขึ้นไปเที่ยวได้ เธอก็ชวนผมไปลุยเที่ยวภูหลวงดูดอกเปราะภูด้วยกัน

งานนี้เรานั่งรถประจำทางไปลงภูเรือในเช้ามืดวันหนึ่ง ก่อนเหมารถสองแถวจากลุงแถวตลาดขึ้นไป แบบต่อรองราคากันอยู่พอสมควร ก่อนได้ราคาที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากเป็นปีนี้ราคานั้นคงไม่ได้แล้วเพราะรัฐบาลหน้าหล่อบ้อท่าทำข้าวของแพงขึ้นอีกมากโข

จากนั้นเราก็นั่งรถปุเลงๆขึ้นไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา ซึ่งกว่าจะเข้าไปในหน่วยได้ต้องเจรจากันอยู่พักใหญ่ เพราะถึงแม้ว่าเราติดต่อแจ้งมาล่วงหน้าแล้ว แต่คนที่รับเรื่องดันไม่อยู่ เจ้าหน้าที่ที่มารับเรื่องแทนในจุดจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าเขตรักษาพันธุ์ฯก็ไม่รู้เรื่อง พร้อมกับอ้างว่า“ช่วงนี้ทำทาง ห้ามขึ้นภูหลวง” สร้างความงุนงนให้กับลุงคนขับรถเป็นอย่างยิ่ง เพราะลุงแกบอกว่า ถ้าห้ามขึ้นแล้วแกขับรถขึ้นมาบนนี้ได้อย่างไร

นั่นนะสิ!?! งงจริงๆ
ดงสนแปกดำ
จากนั้นเจ้าหน้าที่คนนั้นยังมาถามเราอีกว่า จะขึ้นไปดูอะไรภูหลวงช่วงนี้ ทั้งเปียกทั้งแฉะ

พอเราบอกไปว่าจะมาดูเปราะภูที่ทางททท.เขาโปรโมทอยู่ เจ้าหน้าที่ก็ทำหน้างงๆ

แต่ก็เอาเถอะ สุดท้ายแกก็อนุญาตให้พวกเราขึ้นไป พร้อมกับย้ำว่า ต้องรีบลงก่อนบ่าย 2 นะ เพราะเขาทำทาง(อีกแล้ว)

หลังมาถึงที่หน่วยฯโคกนกกระบา ติดต่อขอพี่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านำทางได้ พวกเราก็ออกเดินทางไปดูเปราะภูกันทันที

สำหรับจุดหลักๆในการชมเปราะภูอยู่ที่บริเวณ “แปกดำ” ที่อยู่ห่างจากที่ทำการมาประมาณ 6 กม.กว่า ใช้เวลาเดินจากหน่วยฯประมาณ 2 ชั่วโมง เพราะเส้นทางสบายๆเป็นทางราบ ไม่ต้องขึ้นๆลงๆให้เมื่อยตุ้ม ในบรรยากาศสองข้างทางอันเขียวชอุ่มชุ่มชื่นดูสดชื่นสบายตา สบายใจ มีดอกไม้ ต้นไม้ ใบหญ้า ที่ขึ้นอยู่ริมทางยังดูชุ่มฉ่ำน้ำจากหยาดพระพิรุณเมื่อคืนอย่างเห็นได้ชัด
เปราะภูสีชมพู สัญลักษณ์ดอกไม้ป่ายามหน้าฝนบนภูหลวง
ระหว่างทางช่วงแรกเราไปแวะดูที่มาของชื่อ“โคกนกกระบา” กันก่อน

โคกนกกระบา เป็นก้อนหินประหลาดมีรูปร่างเหมือนสัตว์ ซึ่งผมไม่รู้มองอีท่าไหนเห็นมันเป็นเต่า แต่พี่เจ้าหน้าที่บอกว่า คนที่นี่เขามองเป็นนกกระบาหรือนกตบยุง จึงเรียกมันว่าโคกนกกระบา

จากนั้นระหว่างทางเริมมีดอกเปราะภูทยอยให้เห็นกันประปรายตามพื้นดิน 2 ข้างทาง

เปราะภูถือเป็นสัญลักษณ์แห่งดอกไม้หน้าฝนบนภูหลวง ที่นี่พบเปราะภู 3 ชนิดคือ เปราะภูสีชมพูที่พบมากที่สุด เห็นได้ทั่วไปในทางเดิน ส่วนเปราะภูสีขาวนานๆเจอที และสีเหลืองสด ซึ่งจะขึ้นตามมาทีหลัง หลังชนิดสีชมพูโรยรา
ดอกหญ้าข้าวก่ำ
นอกจากเปราะภูแล้ว ภูหลวงหน้าฝนยังมี พืชพันธุ์เด่นๆชูช่อออกดอกขึ้นมาอวดสายตารับสายฝน อาทิ เทียนน้อยสีชมพูสด,หญ้าดอกคำสีเหลืองเล็กๆ,ตาเหินไหวช่อสีขาวปนเหลือง และหญ้าข้าวก่ำ ดอกเล็กๆสีม่วงแต้มจุดเหลือง ซึ่งเราจะพบดอกไม้เหล่านี้ได้ในระหว่างทาง โดยเฉพาะหญ้าข้าวก่ำที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ มีให้ชมกันเยอะอยู่พอสมควร

แล้วเส้นทางก็ลัดเลาะ ผ่านธารน้ำ ลานหิน ต้นไม้น้อยใหญ่มาถึงยัง “แปกดำ” จุดไฮไลท์ในการชมดอกเปราะภู
บริเวณแปกดำเป็นจุดหลักในการชมดอกเปราะภู
แปกดำ เป็นเขตป่าสนสามใบที่มีความแปลกไม่น้อย เพราะเป็นป่าสนที่มีลำต้นเป็นสีดำทั้งหมด นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ“แปกดำ” เพราะคำว่าแปกในภาษาถิ่นหมายถึง“ต้นสน”นั่นเอง

“เมื่อคืนที่นี่ฝนตกหนัก เปราะภูกลีบมันเลยช้ำไปพอสมควร”

พี่เจ้าหน้าที่บอก พร้อมกับบอกว่าพวกเรามาเร็วไปหน่อยเปราะภูมันเพิ่งขึ้นมา ยังไม่ออกดอกเยอะแน่นเป็นกลุ่มๆเต็มทุ่ง

นั่นจึงทำให้ในทริปนี้ผมไม่ได้เห็นดอกเปราะภูขึ้นแบบประปรายกระจัดกระจายแซมอยู่ตามพื้นดิน

แต่กระนั้น ถึงแม้ดอกเปราะภูจะกลีบช้ำไปบ้าง ออกดอกน้อยไปบ้าง ไม่เหมือนกับภาพถ่ายประชาสัมพันธ์ที่อวลไปด้วย เปราะภูให้สีชมพูอ่อนๆผุดแซมขึ้นมาจากหย่อมหญ้าเต็มท้องทุ่ง ท่ามกลางป่าสนต้นสีดำที่มีสายหมอกลงปกคลุม แต่การได้มาชมดอกเปราะภูของจริง ในบรรยากาศและสถานที่จริงอันสดชื่นโรแมนติกของภูหลวง มันถือเป็นประสบการณ์ชีวิตชั้นดีที่ ร้อยภาพถ่าย หมื่นคำพูด ก็ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
*****************************************

ทุ่งดอกเปราะภูสีชมพูที่ภูหลวง มีบานเต็มทุ่งชมกันเพียงเดือนเดียว ในช่วงระหว่างกลางเดือนมิ.ย.-กลางเดือน ก.ค. เลื่อนเข้า-ออก ประมาณ 1 สัปดาห์ ตามแต่สภาพฝนฟ้า ซึ่งผู้สนใจควรสอบถามข้อมูลก่อนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง 0-4280-1955
กำลังโหลดความคิดเห็น