xs
xsm
sm
md
lg

“ตะรุเตา”ทะเลสวรรค์ จุดดักฝันนักเดินทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : ตะลอนเที่ยว (travel_astvmgr@hotmail.com)
เกาะตะรุเตากับหาดทรายชายทะเลอันสะอาด สงบงาม
สตูล : ท่าเรือปากบารา ยามสาย

หลังมรสุมหลงฤดูผ่านพ้น

พยับแดดแผดกล้า ท้องฟ้าแจ่มใส ไร้ฝ้า สิว กระ

เกลียวคลื่นลูกเล็กลูกน้อยทยอยซัดสาดเข้ากระทบชายฝั่ง

จากท่าเรือปากบาราที่วันนี้กำลังก่อสร้างใหญ่โต เรือของเราแล่นฝ่าเกลียวคลื่นมุ่งหน้าสู่“หมู่เกาะตะรุเตา” ทะเลสวรรค์ในดวงใจของใครหลายๆคนทันที
อุปกรณ์รอยอดีตจากยุคคุกเปิด
จากนรกเป็นสวรรค์

พูดถึงเกาะตะรุเตาแล้ว หากไม่พูดถึงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเกาะที่กลายเป็นตำนาน มันก็เหมือนกับการอ่านหนังสือแล้วไม่อ่านคำนำ

สำหรับจุดเริ่มของตำนานนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2479 เมื่อครั้งเกาะตะรุเตาเป็นดังแดนดิบ ดงเถื่อน อันรกชัฏ ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้าย งูพิษ ยุงป่า ไข้มาลาเรีย ฉลาม จระเข้ ซึ่งรัฐบาลยุคนั้นได้เล็งเห็นในศักยภาพ(ด้านโหดร้าย) จึงมีนโยบายจัดตั้งเกาะตะรุเตาเป็น“คุกเปิด”(ทัณฑสถาน)คุมขังนักโทษการเมืองและนักโทษอุจฉกรรจ์

ปี 2481 นักโทษอุจฉกรรจ์ 500 คนแรก ถูกส่งมายังคุมขังที่นี่ และตามต่อกันด้วยนักโทษการเมืองจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบอีก 70 คน ที่ส่งมากักตัวที่อ่าวตะโละอุดังในปีถัดมา

จากนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ในปี 2484 เกาะตะรุเตาถูกตัดขาดการติดต่อจากแผ่นดินใหญ่ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ยา นักโทษบนเกาะต้องอดอยาก เจ็บป่วย ล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ผู้คุมและนักโทษส่วนหนึ่งจึงหันมาเป็นโจรสลัด ปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าที่ผ่านไปมาในน่านน้ำบริเวณช่องแคบมะละกา

เกาะตะรุเตาในช่วงนี้จึงไม่ต่างอะไรกับ“นรกอันดามัน” ดีๆนี่เอง

กระทั่งปี 2491 รัฐบาลอังกฤษที่ปกครองมลายูในขณะนั้นได้ขออนุญาตรัฐบาลไทย ส่งเรือรบและทหารเข้ากวาดล้างโจรสลัดแห่งตะรุเตาแตกพ่าย ปิดฉากนรกตะรุเตาให้กลายเป็นตำนานสืบไป

หลังวันเปลี่ยนคืนผ่าน ปี 2517 เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะใกล้เคียงในทะเลสตูลได้รับการประกาศจัดตั้งเป็น“อุทยานแห่งชาติตะรุเตา” ก่อนตามมาด้วยการเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย

นับแต่นั้นมา อดีตเกาะนรกได้กลายเป็น“เกาะสวรรค์” อันเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวมากมาย
หาดทรายอ่าวพันเตฯบริเวณนี้ละเอียดยิบเหยียบดัง“เอี๊ยด”
ตะรุเตา รักเราไม่เก่าเลย

ชั่วเวลาไม่นานจากบนฝั่ง เรือได้แล่นมาถึงยังเกาะตะรุเตาที่วันนี้แปรเปลี่ยนจากคุกเปิดมาเป็นที่ตั้ง“ที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา”แทน

แม้นี่จะไม่ใช่การมาเยือนตะรุเตาครั้งแรกของ“ตะลอนเที่ยว” แต่เมื่อมาทีไรเราก็ยังคงรักเกาะตะรุเตาอยู่เหมือนเดิม เพราะหาดทราย ชายทะเล บนเกาะยังคงสงบงาม สภาพธรรมชาติที่นี่ยังคงความพิสุทธิ์สมบูรณ์ สมกับตำแหน่ง“มรดกแห่งอาเซียน” ที่ได้รับจากยูเนสโกในปี พ.ศ. 2525

ทะเลที่เกาะตะรุเตาจัดว่าโรแมนติกไม่น้อย แต่น่าแปลกที่หลายๆคนมักมองข้ามมุ่งไปหาความโรแมนติกบนเกาะหลีเป๊ะที่วันนี้เปลี่ยนใจจนน่าใจหาย เอาไว้ให้ไปถึงที่นั่นก่อนจะเล่าสภาพเป็นไปและความน่าเป็นห่วงบนเกาะหลีเป๊ะให้ฟัง ส่วนตอนนี้เราขอเพลิดเพลินชมความงามบนเการะตะรุเตากันให้ชุ่มใจฉ่ำตาไปเลย

สำหรับจุดชวนเที่ยวชมบนเกาะตะรุเตานั้นก็มีมากหลาย โดยเฉพาะบรรดาอ่าวต่างๆ ถือว่าเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็น “อ่าวสารภี” แหล่งวางไข่เต่าทะเล “อ่าวจาก” อ่าวสงบโอบอ้อมด้วยภูผา 3 ด้านที่ใครไปเยือนแล้วไม่อยากจากมา “อ่าวสน”อ่าวโค้งสลับกับหาดหินที่ข้อมูลจากอุทยานฯบอกว่าหินปูนที่นี่มีอายุมากถึงร่วม 700 ล้านปีแน่ะ “อ่าวตะโละวาว” หนึ่งในมุมเอกลักษณ์ของเกาะที่น่ายลและน่าทึ่งไปด้วยหินซีกก้อนยักษ์ขนาดตึก 4-5 ชั้นตั้งตระหง่านโดดเด่นริมฝั่งน้ำ ข้างๆมีสะพานท่าเรือทอดยาวไปเทียบเคียง นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ชั่นยอดมุมหนึ่งของท้องทะเลอันดามัน อ่าวตะโละวาวในอดีตเป็นที่ตั้งของทัณฑสถาน ส่วนปัจจุบันทางอุทยานได้สร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติและประวัติศาสตร์ไว้ให้ผู้สนใจได้เดินเที่ยวกัน

ส่วนอีกอ่าวหนึ่งซึ่งไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงก็คือ “อ่าวพันเตมะละกา” ที่ตั้งอยู่ตรงส่วนหน้าเกาะมองออกไปในทะเลเห็นประภาคารสีขาวเด่น หาดทรายที่อ่าวพันเตฯสวยงามทอดยาวขาวสะอาด

บางช่วงของหาดทรายละเอียดดุจแป้งชนิดถ้ามันใช้ผัดหน้าได้ คงถูกสาวๆและหนุ่มบางคนขุดมาผัดหน้ากันจนเกลี้ยงเกาะ แต่นี่ถือว่ายังโชคดีที่ทรายที่นี่ไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้น หากแต่มีคุณสมบัติพิเศษที่สร้างความน่าทึ่งให้กับใครหลายๆคน นั่นก็คือ บนพื้นทรายที่ละเอียดยิบดุจแป้ง เมื่อเราไปลงไปเดินเหยียบย่ำ(ควรเดินเท้าเปล่าจะได้อารมณ์มาก)พื้นทรายที่นี่จะส่งเสียงดัง“เอี๊ยดๆ” ซึ่งแม้เสียงที่สะท้อนตอบรับ(เท้า)กลับมา เราไม่สามารถหาคีย์ตีเป็นโน้ตดนตรีได้ แต่มันก็ให้ความรู้สึกสุขใจสบายเท้ายามที่ได้เดินย่ำเป็นอย่างยิ่ง
มาถึงเกาะตะรุเตาแล้ว ควรสักการะเจ้าพ่อตะรุเตา เพื่อความเป็นสิริมงคล
ถัดจากหาดทรายยาวของอ่าวพันเตฯเข้ามาบนฝั่ง มีทิวสนขึ้นเรียงรายร่มรื่น มุมหนึ่งเป็นที่ตั้ง“ศาลเจ้าพ่อตะรุเตา”อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งใครมาถึงที่นี่ควรมาสักการบูชาท่านก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นถัดลึกเข้ามาเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ที่ทำการอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จุดกางเต็นท์ และบ้านพักที่อยู่ลึกเข้าไปใกล้ๆกับแนวดงป่า

นอกจากท้องทะเลสงบงามแล้ว บนเกาะตะรุเตายังอุดมไปด้วยป่าเขาธรรมชาติ มีถ้ำจระเข้ให้ล่องเรือลัดเลาะผจญภัย มีน้ำตกลูดูและน้ำตกโละโป๊ะให้สัมผัสในความชุ่มฉ่ำ มีประวัติศาสตร์อดีตนรกตะรุเตาให้เรียนรู้ มีจุดชมวิวผาโต๊ะบูให้ขึ้นไปชมวิวในแบบสุดสายตาพอโนรามา

นับได้ว่าตะรุเตาเป็นเกาะที่ครบเครื่องเรื่องท่องเที่ยวไม่น้อยเลย
หาดทรายขาวทอดยาวสู่ซุ้มประตูหินที่เกาะไข่
ทัวร์หมู่เกาะ

หมู่เกาะตะรุเตา ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่มากหลาย เมื่อมาเที่ยวท้องทะเลแห่งนี้แล้ว กิจกรรมล่องเรือ ดำน้ำ เที่ยวชมความงามของเกาะต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ดึงดูดที่ใครพลาดนับว่าน่าเสียดายแย่

สำหรับเกาะแรก ว่ากันว่าใครที่มาตะรุเตาแล้วไม่ได้มายลเยือนเกาะนี้เหมือนดังว่ายังมาไม่ถึง นั่นก็คือ“เกาะไข่” ที่ไม่ได้มีรูปลักษณ์คล้ายไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เจียว ไข่ดาว หรือไข่ชั่งกิโลของรัฐบาลชุดนี้ หากแต่เป็นเกาะที่เคยมีเต่าทะเลจำนวนมากขึ้นมาวางไข่นั่นเอง

เกาะไข่ นอกจากจะมีหาดสวยน้ำใสแล้ว ยังมีสัญลักษณ์แห่งตะรุเตาและสัญลักษณ์สตูลอย่าง "ซุ้มประตูหิน" มีลักษณะเป็นแนวหินยื่นยาวจากตัวเกาะโค้งทอดตัวลงบนชายหาด นับเป็นผลงานการสร้างสรรค์อันน่าทึ่งของธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อว่า ใครที่ควงคู่กันมาเดินลอดซุ้มประตูแห่งนี้ความรักจะสมหวังยั่งยืน

บนเกาะไข่ หนุ่มทะเล้นหลายๆคนเมื่อมาเยือนที่นี่ มักจะไม่ถ่ายรูปคู่กับซุ้มประตูหินเฉยๆ หากแต่จะต้องมีแอ๊คท่าพิเศษด้วยการ"ยืนกุมเป้า"เพื่อใช้ภาพป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า นี่ไง“เกาะไข่”
เรียงหินอธิษฐานกิจกรรมยอดหินบนเกาะหินงาม
อีกเกาะหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลท์แห่งตะรุเตานั่นก็คือ “เกาะหินงาม” เกาะที่ไม่มีหาดทรายขาวเนียนให้เหยียบย่ำ หากแต่มีก้อนหินงามๆ ก้อนมนๆ ทรงกลม รี แบน สีดำ น้ำตาลเข้ม จำนวนมหาศาล รวมถึงซากปะการังสีขาว ให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปถ่ายรูปและทำกิจกรรมเรียงหินอธิษฐานของพร(ตามความเชื่อส่วนบุคคล) ทำให้บนเกาะแห่งนี้เต็มไปด้วยกองเรียงหินน้อย-ใหญ่ สูง-ต่ำ เรียงประดับเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก

อนึ่งการเรียงหินที่นี่ บ้างก็ว่าต้องเรียงให้ได้ 12 ชั้น จึงจะสมมาดปรารถนา ส่วนบางคนก็ว่ายิ่งเรียงสูงเท่าไหนก็จะยิ่งประสบความสำเร็จเท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะความเชื่อไหนก็ไม่ขลังเท่ากับความเชื่อที่ว่า หากใครนำก้อนหินงามๆเหล่านี้ออกไปจากเกาะจะต้องมีอันเป็นไป ดังคำสาปที่ว่า “...ผู้ใดบังอาจเก็บหินจากเกาะนี้ไป ผู้นั้นจะพบแต่ความหายนะ นานาประการจะกลับไม่ถึงบ้าน จะประสบอุบัติเหตุ จะหลุดพ้นจากหน้าที่การงาน จะพบภัยพิบัติไม่มีที่สิ้นสุด...”

เรื่องนี้แม้จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่มากไปด้วยเรื่องเล่าขานและพิสูจน์ไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้ก็คือ ถ้าเจ้าพ่อตะรุเตาไม่สาปเอาไว้ เกาะหินงามถูกคนที่มาเที่ยวเกาะหยิบก้อนหินติดไม้ติดมือกลับไปคนละก้อนสองก้อน ป่านนี้ก้อนหินงามๆบนเกาะแห่งนี้คงไม่มีเหลือแล้ว
เกาะรอกลอยกับทิวทัศน์หาดทรายสายน้ำ
นอกจาก 2 เกาะไฮไลท์แล้ว หมู่เกาะตะรุเตายังมีเกาะฝาแฝดอย่าง “เกาะอาดัง-ราวี” 2 เกาะใหญ่ที่อยู่ห่างกันเพียงแค่ราว 1 กิโลเมตร ทั้งเกาะอาดังและเกาะราวีมีเสน่ห์คล้ายกันๆคือเป็นเกาะสงบงาม มีหาดทรายขาวเนียบ น้ำทะเลสวยงาม รวมไปถึงองค์ประกอบของธรรมชาติอันเรียบง่ายแต่ทรงเสน่ห์

ในขณะที่เกาะเล็กๆน่าสนใจอื่นๆก็มี เกาะผึ้ง เกาะยาง เกาะดง เกาะกระ และเกาะหินซ้อนที่เป็นก้อนหินใหญ่กลางน้ำตั้งวางซ้อนกันอย่างสมดุลน่าทึ่ง รวมไปถึงเกาะจาบัง ที่มี“ร่องน้ำจาบัง” อันอุดมไปด้วยปะการังสีสันสดสวยทั้ง ชมพู ม่วง แดง เหลือง สีฟ้า สมดังคำร่ำลือว่าที่นี่มีปะการัง 7 สี สวยไม่เป็นรองใคร แต่ด้วยความที่กระแสน้ำที่นี่ไหลเชี่ยวแรงมาก ดังนั้นผู้ที่ลงดำน้ำดูปะการังต้องสวมชูชีพทุกครั้ง และไม่ควรประมาทด้วยประการทั้งปวง ใครที่ว่ายน้ำไม่แข็งหรือว่ายน้ำไม่เป็นต้องเกาะเชือกที่เขามีผูกไว้ให้แม่นมั่น มิฉะนั้นความสวยที่น่ายลจะแปรเปลี่ยนเป็นเหตุไม่พึงประสงค์ได้

ส่วนเกาะเล็กอีกเกาะหนึ่งที่“ตะลอนเที่ยว”ไปเยือนแล้วประทับใจยิ่งก็คือ ”เกาะรอกลอย” เกาะนี้มีชื่อเรียกที่ถูกต้องว่า“เกาะรอ-กลอย” แต่นักท่องเที่ยวหลายคนมักอ่านผิดเป็น“เกาะรอก-ลอย” ซึ่งไม่ว่าใครจะเรียกแบบไหน ยังไงๆก็ไม่ทำให้เสน่ห์ของเกาะแห่งนี้ดูด้อยลงไป

เกาะรอกลอย แม้เป็นเกาะเล็กจิ๋ว แต่ทิวทัศน์ที่นี่งามตานัก โดยเฉพาะกับหาดทรายและผืนน้ำทะเลที่ไหลผ่านสันทรายน้ำตื้นระหว่างเกาะรอกลอยกับเกาะดงที่อยู่ติดๆกันนั้น มันช่างสวยงามจับใจ สายน้ำที่นี่ใสแจ๋วแหวว ก่อนจะค่อยๆไล่โทนไปสู่สีเขียวอมฟ้าจางๆ ยามต้องแสงแดดจะเป็นประกายพริบพรายระยิบระยับ

บริเวณนี้เมื่อได้ลงไปสัมผัสแล้ว “ตะลอนเที่ยว”สุดแสนทำใจลำบากยามเมื่อต้องจากลายิ่งนัก
บ้านชาวเลวันนี้ผสมวิถีเก่าใหม่เข้าด้วยกัน
หลีเป๊ะ ความงามบนความเปลี่ยนแปลง

หมู่เกาะตะรุเตายังมีเพชรน้ำงามอีกหนึ่งเม็ด คือ “เกาะหลีเป๊ะ” ที่เดิมมีความงดงามพิสุทธิ์ แต่ตอนหลังช่างเจียระไร เจียอีท่าไหนไม่รู้ เพชรน้ำงามจึงดูหมองลงไปอย่างน่าใจหาย

เกาะหลีเป๊ะ ก่อนที่จะถูกค้นพบและแปรสภาพกลายเป็นเกาะท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ เดิมเป็นบ้านของชาวเล(อูรักลาโว้ย)มาก่อน ก่อนที่อุทยานแห่งชาติ คนบนแผ่นดินใหญ่ การท่องเที่ยว นายทุน นักท่องเที่ยว และฯลฯ จะตามเข้ามาในภายหลัง พร้อมๆกับรุกคืบผลักดันชาวเล“คนใน”เจ้าของเดิม ให้ออกไปยืนห่างๆไม่ต่างอะไรจาก“คนนอก” ซึ่งวันนี้บนเกาะหลีเป๊ะยังพอมีภาพวิถีชีวิตของชาวเลยุคใหม่ หลงเหลือให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสกันแบบพอหอมปากหอมคอ ไม่ว่าจะเป็น บ้านเรือนผสมแบบดั้งเดิมกับวิถีใหม่ หรือการใช้ชีวิตร่วมสมัยที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป
หาดซันเซ็ท
หลีเป๊ะ แม้เป็นเพียงเกาะเล็กๆ แต่สภาพธรรมชาติ วิวทิวทัศน์ และท้องทะเลที่นี่ ช่างงดงามนัก งดงามจนถูกยกให้เป็นดัง "มัลดีฟเมืองไทย"

บนเกาะหลีเป๊ะมีหาดหลักๆ อยู่ 3 หาด ได้แก่

หาดชาวเล ที่บริเวณหลังเกาะ เป็นชายหาดยาวทอดเคียงคู่ไปกับทิวสนที่นับวันยิ่งมายิ่งถูกตัดโค่นลงเรื่อยๆ หาดชาวเล ถือเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นชั้นยอดประจำเกาะ

หาดซันเซ็ท มีชายหาดเชื่อมต่อมาจากหาดขาวเล หาดนี้ไม่เพียงเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกสมดังชื่อหาดเท่านั้น หากแต่ยังมีโขดหิน ชายหาดขาวสวย ให้นักท่องเที่ยวได้รื่นรมย์กันด้วย
ตะวันตกน้ำที่หาดพัทยา
หาดพัทยา(2) นี่ถือเป็นหาดไฮไลท์แห่งหลีเป๊ะ ตั้งอยู่ที่ด้านหน้าของเกาะ มีลักษณะเป็นเวิ้งหาดโค้งยาว มีพื้นทรายขาวเนียนเดินแน่นนุ่มเท้า น้ำทะเลด้านหน้าหาดพัทยา ใสแจ๋วแหววราวกระจกบริเวณน้ำตื้นสามารถมองลงไปเห็นปะการังได้อย่างไม่ยากเย็น

นอกจากนี้ยามเย็นที่หน้าหาดพัทยา ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดีที่ให้ภาพแตกต่างออกไปจากมุมมองที่หาดซันเซ็ท
ทะเลหน้าหาดพัทยา วันนี้ยังคงใสแจ๋วมองเห็นถึงเบื้องล่าง
สมัยก่อนที่เกาะหลีเป๊ะยังไม่บูม หาดพัทยาที่นี่มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับหาดพัทยาที่ชลบุรีว่า มันช่างแตกต่างกันราวหน้ามือกับหลังมือ แต่หลังจากเกาะหลีเป๊ะโด่งดังฮอตฮิตขึ้นมาเพียงไม่กี่ปี การท่องเที่ยวเข้ามาพรากความน่ารักใสซื่อของหาดพัทยา ให้แปรเปลี่ยนเป็นหญิงสาวกร้านโลก ที่วันนี้หาดพัทยา เริ่มมีสภาพคล้ายน้องห่างๆของหาดพัทยาเข้าไปทุกที
นักท่องเที่ยวคลาคล่ำที่หาดพัทยา
หาดพัทยาวันนี้เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ที่พัก รีสอร์ท บาร์เบียร์ ซึ่งพอตกยามเย็นย่ำค่ำ บริเวณนี้จะคลาคล่ำคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย ริมชายหาดถูกจับจองเป็นที่นั่งดื่ม นั่งพูดคุย บาร์เบียร์หลายร้านเริ่มมีกิจกรรม ดนตรี เปิดเพลง ควงกระบองไฟ

ในขณะที่ลึกเข้าไปบนเกาะก็จะเป็นแสงสีของถนนคนเดิน เริ่มตั้งแต่หน้าหาดพัทยา ไปตามถนนสายหลักสายเดียวของเกาะ เรื่อยไปจนถึงแถวๆใกล้กับทางแยกไปหาดชาวเล
ถนนคนเดินแสงสียามราตรีแห่งหลีเป๊ะ
ถนนคนเดินบนเกาะหลีเป๊ะ แม้ไม่เต็มแน่นพลุกพล่านเท่าถนนคนเดินบนเกาะพีพี แต่ก็คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว และร้านรวงต่างๆที่ขึ้นมาติดๆกันเต็มสองข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านของชำ ร้านเหล้า ร้านนวด ร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้า ขายของที่ระลึก และ ฯลฯ

เพื่อนของ“ตะลอนเที่ยว”หลายคน ที่ร้างลาจากการเที่ยวเกาะหลีเป๊ะไปนาน เมื่อมาเจอสภาพความเปลี่ยนแปลงบนเกาะหลีเป๊ะในวันนี้ ถึงกับอุทานว่า

“มันเหมือนเป็นคนละเกาะ คนละเรื่อง กับหลีเป๊ะที่เคยมาเมื่อครั้งก่อนเลย”

แต่นี่แหละคือวิถีการท่องเที่ยวแบบไทยๆ ซึ่งวันนี้ความเปลี่ยนแปลงบนเกาะหลีเป๊ะ ยังสามารถควบคุม บริหารจัดการได้ หากผู้ที่เกี่ยวข้องมีความตั้งใจจริง อีกทั้งยังสามารถป้องกันไม่ให้แสงสีอันไม่พึงประสงค์ ลุกลามเหมือนไฟลามทุ่งไปยังเกาะอื่นๆ

แต่ถ้าหากว่าทางผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ปล่อยปละละเลยปัญหาต่างๆให้เป็นไปตามยถากรรม บางทีในอนาคตข้างหน้าทะเลไทยอาจต้องสูญเสียเพชรเม็ดงามนามว่า“หลีเป๊ะ”ไป แบบไม่มีวันหวนคืน
*****************************************

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ละงู จ.สตูล สำหรับฤดูท่องเที่ยวตะรุเตาเริ่มตั้งแต่เดือนกลางพ.ย.ไปถึงประมาณกลางเดือน พ.ค. โดยสามารถขึ้นเรือได้ที่ท่าเรือปากบารา ซึ่งมีเรือออกทุกวัน ซึ่งการเดินทางไปเที่ยวเกาะตะรุเตา เที่ยวทะเลอันดามัน หรือทะเลฝั่งอ่าวไทย ในช่วงสภาพอากาศโลกแปรปรวนเช่นนี้ ควรตรวจสอบข้อมูลและเช็คสภาพอากาศก่อนเดินทาง โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา โทร. 0-7472-9002-3 ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ 3 (ปากบารา) โทร.0-7478-3485 หรือที่ ททท. สำนักงานตรัง (ตรัง,สตูล) โทร. 0-7521-5867,0-7521-1058,0-7521-1085
กำลังโหลดความคิดเห็น