xs
xsm
sm
md
lg

"ปะการังฟอกขาว" สร้างโอกาสจากวิกฤตเพื่อท้องทะเลไทย/ ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ลักษณะการเกิดปะการังฟอกขาว(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
“ปะการัง...ปะการัง...งามล้ำค่า ช่วยกันรักษา...
เจ้าไข่มุกเอเซีย ต้องเสียหาย
โอ้ปักษ์ใต้บ้านเรา นั้นแย่แล้ว
ใต้ทะเลไม่เหลือ ไม่เห็นแนว
พังระเบิดเป็นแถว ปะการัง...”

เพลง“ปะการัง” ของวง“ซูซู” ดูจะเข้ากับบรรรยากาศของสภาพปะการังในบ้านเราช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาไม่น้อยเลย เพียงแต่ว่างานนี้เปลี่ยนบริบทจากการถูกระเบิดทำลายกลายมาเป็น วิกฤตการณ์ “ปะการังฟอกขาว”แทน

ปะการังฟอกขาว ใครทำ???

ปะการังฟอกขาว เกิดจาก“สาหร่ายซูแซนเทลลี่”ที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อปะการังซึ่งทำหน้าที่สร้างสีสันและสังเคราะห์แสงให้พลังงาน แยกตัวออกมา ทำให้ตัวปะการังสีซีดลงกลายเป็นเนื้อเยื่อใสๆคล้ายวุ้นคลุมส่วนโครงสร้างที่เป็นหินปูน มองเห็นเป็นสีขาว เทา หรือน้ำตาล

สาเหตุหลักในการเกิดปะการังฟอกขาวมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นเกินกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติอุณหภูมิของน้ำทะเลจะอยู่ที่ 28-29 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิน้ำทะเลเกิดสูงเกิน 30.1 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป ปะการังจะปรับทำตัวให้เกิดปะการังฟอกขาวขึ้นมา

ในอดีตปะการังฟอกขาวตามธรรมชาติจะสัมพันธ์กับปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร ครั้นเอลนีโญผ่านพ้นไปปะการังก็จะใช้เวลาพักฟื้นแล้วกลับมามีสีสันสวยงามอีกครั้ง โดยบ้านเราในช่วงปี พ.ศ. 2540-41 ก็เคยเกิดปะการังฟอกขาวที่ค่อนข้างรุนแรงเหมือนกัน แต่นั่นยังไม่เท่ากับการเกิดปะการังฟอกขาวในปัจจุบันที่เป็นข่าวฮือฮาในทุกวันนี้

ปะการังฟอกขาวหนนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นไปทั่วแถบภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ทั้งอินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟ ซีเชลส์ พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย

ส่วนที่เกิดบ้านเรานั้นถือว่าถือว่ารุนแรงที่สุดในประวัติการณ์ เป็นวิกฤตปะการังฟอกขาวที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ขยายต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่หาทางป้องกันเยียวยาให้ดี ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ มันไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ปะการังตายเท่านั้น หากแต่มันกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทั้งทำให้จำนวนปลาลดลง ส่งผลต่อไปยังเรื่องของการประมง แหล่งอาหารทางทะเลของมนุษย์ การท่องเที่ยว การกัดเซาะชายฝั่ง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเลด้วย

สำหรับการเกิดวิกฤตปะการังฟอกขาวครั้งนี้ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้รู้ ต่างออกมาให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า

...การเกิดปะการังฟอกขาวในครั้งนี้ เกิดจากเอลนีโญที่มาจากสภาวะโลกร้อนเป็นหลัก...

แล้วสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนทำ หากแต่มาจากน้ำมือมนุษย์เรานั่นเอง

ปะการังฟอกขาวย้อนคืนสู่มนุษย์

ช่วงปะการังฟอกขาวเริ่มเป็นข่าวดัง ผมกำลังเริงร่าล่องใต้ทัวร์มาราธอนตามหมู่เกาะท้องทะเลในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม หมู่เกาะเภตรา และหมู่เกาะตะรุเตา แห่งท้องทะเลอันดามันระหว่างทะเลตรังกับทะเลสตูลอยู่พอดี

ครั้นพอกลับขึ้นมากรุงเทพฯมีหลายคนคนถามว่า “ทะเลอันดามันไปเที่ยวได้หรือ เห็นข่าวออกมาว่าเขาปิดอุทยานฯหลายที่หนิ”

เอ้า...กลายเป็นเรื่องปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่งไปเสียฉิบ ทั้งที่ความจริงอุทยานฯทางทะเลยังเที่ยวได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าทางกรมอุทยานฯเขาประกาศ “งดกิจกรรมดำน้ำบางจุด”หรือพูดง่ายๆว่า“ปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุด”ในอุทยานฯทางทะเลบางแห่ง ย้ำนะครับว่า“ปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุด” ไม่ได้ปิดอุทยานฯ ห้ามคนเข้าไปเที่ยวแต่อย่างใด นอกจากนี้กิจกรรมทางทะเลทั่วไป เช่น เล่นน้ำชายฝั่ง เดินชายหาด ชมทิวทัศน์ ท่องราตรี(ในบางพื้นที่) หรือดำน้ำในจุดที่อนุญาตไม่ใช่จุดต้องห้าม ก็ยังคงสามารถทำได้ตามปกติ

โดยอุทยานฯที่ทำการปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุด ณ เวลานี้ มี 7 อุทยานฯด้วยกัน ได้แก่ 1. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง บริเวณเกาะเชือก 2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล บริเวณเกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะบุโหลนรังผึ้ง 3. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล บริเวณเกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หาดทรายขาว เกาะดง

4. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะมะพร้าว 5. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บริเวณแนวปะการังบริเวณหินกลาง 6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา บริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน 7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊ป และอีส ออฟ อีเด็น

อย่างไรก็ดีการเลือกปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุดของกรมอุทยานฯ วัตถุประสงค์เท่าที่ผมจับจากข่าวก็เพื่อไม่ให้คน(นักท่องเที่ยว)เข้าไปซ้ำเติมเหตุการณ์ให้มันเสื่อมเร็วและแย่ลงมากขึ้น เพราะหากเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวตามธรรมชาติปกตินั้นมันสามารถฟื้นตัวได้ อย่างเร็วอาจแค่ 1 ปี อย่างช้าอาจถึง 5 ปี

แต่กลับวิกฤตปะการังฟอกขาวครั้งนี้ยังไม่มีใครสรุปได้ว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวแค่ไหน ยิ่งถ้าไม่หาทางป้องกันเยียวยาให้ดี ผลที่เกิดขึ้นตามมา มันไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ปะการังตายจำนวนมากเท่านั้น หากแต่มันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเล และเกิดผลกระทบอื่นตามมา ทั้งทำให้จำนวนปลาลดลง แหล่งอาหารทางทะเลของมนุษย์ร่อยหรอ และส่งผลต่อไปยังเรื่องของการประมง การท่องเที่ยว ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

เรียกว่าเมื่อมนุษย์เป็นตัวเอี่ยวสำคัญในการก่อวิกฤต ผลเอี่ยวจากการกระทำมันก็ย้อนศรกลับมากระทบต่อมนุษย์เราแบบไม่มีทางหลีกเลี่ยง

สร้างโอกาสจากวิกฤต

แม้วิกฤตปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นจะอยู่ในขั้นรุนแรง แต่เราไม่ควรตื่นตระหนกจนเกิดเหตุ หากแต่ควรตื่นตัวต่อสภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาทะเลไทยที่ผ่านมามาได้มีเฉพาะเรื่องปะการังฟอกขาวเท่านั้น แต่มันมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การกัดเซาะชายฝั่ง การจับสัตว์น้ำแบบเกินพอดี การระเบิดปลา ทำลายปะการัง การลักลอบนำปะการังไปขาย การทำอวนลาก อวนรุน การพัฒนาเมือง พัฒนาทางวัตถุโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ ฯลฯ

ในขณะที่ถ้าโฟกัสให้แคบลงมาเฉพาะในมิติของการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาท้องทะเลไทยเราได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งจาก นายทุนบุกรุกท้องทะเลสร้างรีสอร์ท โรงแรม การปล่อยน้ำเสีย ขยะ ตะกอน ของผู้ประกอบการลงสู่ทะเล การมักง่ายทิ้งขยะลงทะเลของนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวดำน้ำตื้นไปเหยียบยืนทำลายปะการังจนตายทั้งพวกที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และพวกที่ตั้งใจ เรือนำเที่ยวทิ้งของเสียลงทะเล หรือแม้กระทั่งการรับใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่อุทยานฯบางคนดังที่ปรากฏเป็นข่าว

ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากการปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุดแล้ว ผู้เกี่ยวข้องควรให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวในเรื่องปะการังฟอกขาว สร้างจิตสำนึกการท่องเที่ยวอย่างถูกวิธีที่แม้จะต้องพูดแล้วพูดอีกพูดซ้ำพูดซากก็คงต้องทำกันต่อไป เพราะหากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเที่ยวกันแบบไร้สำนึก ทิ้งขยะ ของเสียลงทะเล ขโมยเก็บทรัพยากรนำกลับมา ไปเหยียบยืนบนปะการัง ไม่ว่าปะการังฟอกขาวหรือปะการังดีมันก็ถูกทำลายไม่ต่างกัน

และภาครัฐ นับแต่นี้ไปคงต้องเอาจริงเอาจังต่อการปฏิบัติหน้าที่กันเสียที ผู้ประกอบการคนใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของอุทยานฯ หากถูกจับได้ ต้องจัดการให้เด็ดขาด อย่าให้เอาเยี่ยงอย่าง เจ้าหน้าที่คนไหนทุจริตคอร์รัปชั่นต้องไล่ออกอย่าให้เป็นเยี่ยงอย่าง นายทุนคนไหนรุกล้ำที่ทั้งทางบกทางทะเลต้องอย่าปล่อยไว้ แม้หลายคนจะใหญ่มากเป็น“ตอยักษ์”ไม่สามารถจัดการได้ก็ต้องหาลู่ทางทำให้สื่อ ให้สังคมรับรู้ เพื่อสกัดยับยั้งไม่ให้เชื้อชั่วขยายผล

ส่วนทางด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็ต้องไม่ทำมาหากินแบบละโมบ แต่เน้นที่ความยั่งยืนแทน และต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ รวมถึงช่วยดูและตักเตือนนักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หลงทำผิดไปบ้าง

นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องของการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวพักค้างบนอุทยานฯ จำกัดจำนวนคนดำน้ำในพื้นที่สุ่มเสี่ยงหลายจุด เป็นต้น

สำหรับเรื่องเหล่านี้แม้อาจดูฝันเฟื่อง เป็นอุดมคติ แต่อย่างน้อยการที่พวกเราโดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องได้ทำอะไรบ้างในทางที่ช่วยให้ดีขึ้น

มันย่อมดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น