xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการนำเที่ยวทางทะเลรับได้ปิดบางจุดฟื้น “ปะการัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวปะการังที่ตายจากการฟอกข่าวซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสำรวจครั้งล่าสุด
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ประกอบการนำเที่ยวทางทะเลภูเก็ต เห็นด้วยปิดอุทยานบางจุด เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากการฟอกขาว หลังกรมทรัพยากรทางทะเลฯเสนอปิดอุทยานฟื้นแนวปะการัง

จากกรณีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอให้ปิดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายและตายจากการฟอกขาว หลังเกิดปัญหาปะการังฟอกขาวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน จนส่งผลให้ปะการังตายมากถึง 90% โดยเฉพาะปะการังเขากวาง ปะการังวงแหวน ปะการังดาวใหญ่ ปะการังโขด

สาเหตุการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว พบว่า มาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นถึงกว่า 30 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องกันถึง 3 เดือน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้ประกอบนำเที่ยวทางทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่ให้บริการนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำชมความสวยงามของแนวปะการัง และโลกใต้ทะเลฝั่งอันดามัน ต่างต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในการเข้าไปชมแหล่งดำน้ำของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว รวมทั้งการควบคุมจำนวนเรือและผู้เข้าไปใช้บริการในแต่ละวัน ส่วนการปิดอุทยานนั้นหากปิดเป็นบางจุดส่วนใหญ่เห็นด้วย

นายต่อพงษ์ วงเสถียรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีสตาร์อันดามัน จำกัด ซึ่งให้บริการนำเที่ยวและดำน้ำบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ และเกาะตาชัย จ.พังงา กล่าวว่า กรณีที่มีการเสนอปิดพื้นที่ดำน้ำบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน

ความคิดเห็นส่วนตัว มองว่า สาเหตุของแนวปาการังที่ได้รับความเสียหายนั้นเกิดจาก 2 สาเหตุ คือความผิดปกติทางธรรมชาติที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวและตายเป็นจำนวนมาก และผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ดังนั้นการที่อุทยาน หรือกระทรวงทรัพย์ จะทำการปิดแหล่งดำน้ำ เพื่อให้ปะการังฟื้นตัวนั้น คิดว่า ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องและตรงจุด เพราะในแต่ละปีจะมีการปิดอุทยานฯอย่างน้อย 6 เดือนอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ปะการังฟื้นตัว คิดว่า น่าจะดำเนินการในเรื่องของการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในการเข้าไปใช้บริการดำน้ำในเขตอุทยานฯ ของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเรือที่จะทำให้ไม่มีคราบน้ำมันเกิดขึ้น รวมถึงการสร้างจิตสำนึกของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเรือของผู้ประกอบการ

มาตรการการให้ความรู้กับทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ก่อนที่จะลงดำน้ำรวมทั้งการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และจะต้องมีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย เพราะปัจจุบันมีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และเกิดขึ้นก่อนที่จะมีปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะบริเวณอ่าวมาหย่า ทั้งนี้ เป็นผลมาจากขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นอย่างมาก

เชื่อปิดหมดกระทบภาพรวม

ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาก็ควรจะดำเนินการให้ตรงจุด ก็ต้องมีการกำหนดมาตรการและเข้มงวดในการเข้าไปใช้บริการ โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกไม่ให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนได้ โดยห้ามจับ ห้ามเก็บและห้ามทิ้ง ยกตัวอย่าง การให้อาหารสัตว์น้ำ และมีการทิ้งขยะลงไปในทะเล ซึ่งสัตว์น้ำไม่สามารถแยกแยะได้ เมื่อกินเข้าไปก็จะตายในที่สุด ที่เป็นข่าวมาต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเต่าทะเล พะยูนหรือปลาขนาดใหญ่

นายต่อพงษ์ กล่าวด้วยว่า หากมีการปิดอุทยานฯ ก็จริงย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในวงกว้างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงกับการประกอบการอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการปิดแหล่งดำน้ำในบางจุดอยู่แล้ว แต่ถ้าปิดอุทยานบางจุด เพื่อให้ปะการังที่เสียหายมากๆฟื้นตัวก็เห็นด้วยแต่ไม่ใช้ปิดทั้งหมด

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการเรือนำนักท่องเที่ยวดำน้ำ ในฝั่งอันดามันรายหนึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เห็นด้วยถ้าเป็นการปิดอุทยานเพียงบางจุดเพื่อให้ปะการังฟื้นตัว แต่ถ้ามีการปิดทั้งหมดนั้น เชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวแน่นอน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ

การแก้ปัญหาเพื่อให้แนวปะการังที่เกิดจากปรากฏการณ์การฟอกขาว คิดว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือ การจำนวนเรือที่เข้าไป รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้แหล่งดำน้ำแออัดเกินไป การเข้าไปของนักท่องเที่ยวจำนวนมากๆ อาจจะไปกระตุ้นให้แหล่งปะการังฟื้นตัวช้าขึ้น และจะต้องกระจายนักท่องเที่ยวไปในแหล่งๆอื่นเพื่อให้แนวปะการังได้ฟื้นตัว

สำหรับในฝั่งทะเลอันดามัน มีแหล่งดำน้ำจำนวนมาก และแต่ละแหล่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งจากการนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำ พบว่า บางจุดยังเห็นความเสียหายไม่ชัดเจน แต่บางจุดก็เห็นชัด เช่นที่เกาะราชา เกาะบอน เกาะเฮ เกาะแอว จังหวัดภูเก็ต พบว่า ปะการังที่ได้รับความเสียหายและตายจำนวนมาก คือ ปะการังเขากวาง ส่วนที่เกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ นั้นการนำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำส่วนใหญ่จะไปดำน้ำบริเวณน้ำลึกซึ่งเป็นจุดที่ปะการังเสียหายไม่มากนัก

เปิดรายงานศึกษาผลกระทบการเกิดปะการังฟอกขาวปี 2553

จากการศึกษาเก็บรวบรวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ปี 2553 แนวปะการังเสียหายจากการฟอกขาวมากที่สุด เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลจากปกติ 29 องศาเซลเซียสได้เริ่มสูงขึ้นเป็น 30 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2553 สามสัปดาห์ต่อมาปะการังได้เริ่มฟอกขาวแผ่พื้นที่เป็นวงกว้างคลุมทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย

จากการสำรวจโดยหลายหน่วยงาน พบว่า ในแต่ละพื้นที่มีปะการังฟอกขาวมากน้อยต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดปะการังที่ขึ้นคลุมพื้นที่มากเป็นพวกที่ไวต่อการฟอกขาว พื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบมาก อย่างเช่น แนวปะการังที่มีปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ขึ้นเป็นดงกว้างใหญ่ พื้นที่นั้นก็จะได้รับผลกระทบมาก นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับว่าชายฝั่งที่แนวปะกรังขึ้นอยู่นั้นได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมมากน้อยเพียงไรด้วย ด้านที่รับแรงจากคลื่นลมจะเป็นด้านที่อุณหภูมิไม่สูงอยู่ตลอดเวลา (เช่น ด้านตะวันตกของเกาะต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน) ปะการังจึงฟอกขาวน้อยกว่าด้านอื่น

จากการตรวจสอบในหลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2553 โดยเฉพาะที่หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เกาะราชา จ.ภูเก็ต เกาะไข่นอก และหมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน จ.พังงา พบว่า ในแต่ละแห่งแนวปะการังได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายมาก

จากการที่แนวปะการังได้รับความเสียหายจากการฟอกขาวอย่างรุนแรงในปี 2553 นี้ ทำให้สภาพแนวปะการังเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก แนวปะการังหลายแห่งเปลี่ยนจากสภาพสมบูรณ์ไปเป็นสภาพเสียหายมาก การฟื้นตัวของแนวปะการังจะเกิดขึ้นได้ โดยขบวนการทางธรรมชาติ โดยโคโลนีของปะการังที่ยังหลงเหลืออยู่เจริญเติบโตต่อไป และจากการเข้ามาลงเกาะใหม่ของตัวอ่อนปะการัง ซึ่งอาจเป็นตัวอ่อนที่ได้จากแม่พันธุ์ที่อยู่ภายในแนวปะการังนั้น หรือมาจากแหล่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียงหรือห่างไกลออกไป

ดังนั้น การจัดการพื้นที่จึงต้องครอบคลุมเป็นพื้นที่กว้าง เพราะแนวปะการังถึงแม้มิใช่เป็นผืนเดียวกัน แต่ก็มีความเชื่อมโยงกัน เพราะต้องอาศัยตัวอ่อนที่แพร่กระจายไปตามกระแสน้ำ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังครั้งนี้ แน่นอนที่สุดในแต่ละพื้นที่ใช้เวลาแตกต่างต่างกันในการฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพดีดังเดิม

การสำรวจหลังการฟอกขาวของปะการังในครั้งนี้ ได้พบโคโลนีวัยอ่อน ขนาดเล็กกว่า 5 ซม. ของปะการังในสกุล Acropora ขึ้นในหลายพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมในแนวปะการังเหล่านั้นยังอยู่ในสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อน มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่น่าเป็นห่วง คือบริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะเมียง (หาดเล็ก) ซึ่งไม่พบปะการังวัยอ่อนเลย แต่กลับพบว่ามีสาหร่ายในกลุ่ม blue-green algae (cyanobacteria) ขึ้นคลุมบนซากปะการังที่ตายจากการฟอกขาว

สิ่งนี้เป็นข้อบ่งชี้ถึงมวลน้ำที่ไม่สะอาด สาเหตุอาจเกิดจากของเสียที่ถูกถ่ายเทลงน้ำ โดยเฉพาะของเสียจากเรือที่จอดอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณนั้น รวมทั้งอาจเป็นของเสียที่ไหลซึมผ่านชั้นดินเนื่องจากพื้นที่นั้นไม่ไกลจากที่พักของนักท่องเที่ยว ฉะนั้น การจัดการพื้นที่เพื่อให้คุณภาพน้ำดีเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทางอุทยานฯ ต้องจัดการ
แนวปะการังเขากวางที่ตายเป็นบริเวณกว้าง
แนวปะการังเขากวางที่เกิดจากการฝอกขาว
แนวปะการังฟอกขาว
กำลังโหลดความคิดเห็น