โดย : ปิ่น บุตรี

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย มีวิชาหนึ่งสอนเกี่ยวกับงานพุทธศิลป์ตามวัดวาอารามต่างๆในบ้านเรา แต่ตัวผมกลับไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ เนื่องจากมองว่าวัดเป็นเรื่องของผู้แก่ผู้เฒ่า ชีวิตของเรายังไม่ต้อง"ปลง"ถึงขนาดนั้น แถมตอนที่อาจารย์พาออกทริปไปทัศนศึกษาตามวัดสำคัญๆต่างๆ เป็นต้องร้อง"ยี้" ไม่อยากไปเสียเหลือเกิน ผิดกับเวลาไปเที่ยวผับกินเหล้าลิบลับ ซึ่งแม้อาจารย์จะบ่นว่า แต่ไม่ก็เคยสนใจ กลับระริกระรี้ไปเที่ยวยังกับปลากระดี่ได้น้ำเลยทีเดียว
แต่พอโตขึ้น มุมมองชีวิต ความคิด ความเชื่อบางอย่างเริ่มเปลี่ยน แถมหน้าที่การงานยังบังคับให้ต้องเข้าวัดเข้าวาอยู่บ่อยครั้ง ผมจึงพบว่าตัวเราก็ชอบเข้าวัดเข้าวาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่วัดประเภทพุทธพาณิชย์เน้นวัตถุนิยม เน้นเครื่องรางของขลัง เน้นเลขหวยรวยเบอร์ เน้นตัดกรรมเสริมดวง หากแต่เป็นวัดสวยๆงามๆที่มากไปด้วยคุณค่าของงานพุทธศิลป์ หรือไม่ก็พวกวัดพื้นบ้านที่มีงานศิลปกรรมพื้นถิ่นอันเปี่ยมล้นไปด้วยพลังแห่งศรัทธา(แต่ผมก็ยังนิยมเข้าผับกินเหล้าอยู่เหมือนเดิม)
นั่นจึงทำให้การไปเที่ยววัดในหลายๆครั้งผมรู้สึกอินและเพลินใจไม่น้อยเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดงามๆแจ่มๆที่เพิ่งมีโอกาสได้เจอะเจอเป็นครั้งแรกจะยิ่งสนใจเป็นพิเศษ อย่างครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่หลังกินข้าว กินปลา กินหมูหัน ริมโขง แก่งกะเบา จ.มุกดาหารแล้ว ขากลับเพื่อนพาไปแวะไหว้พระต่อยัง "วัดมโนภิรมย์"ที่อยู่ไม่ไกลกัน ซึ่งแค่เพียงแรกเจอ มนต์เสน่ห์ของวัดก็พุ่งจับหมับเข้าในดวงใจทันที

วัดมโนภิรมย์ตั้งอยู่ที่ บ้านชะโนด ต.ชะโนด อ.หว้านใหญ่ วัดนี้จัดว่ามีชื่อพอสมควรสำหรับคนเมืองมุก(แต่ว่าใหม่สำหรับผม) ทำเลของวัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงที่โลเกชั่นดีไม่หยอก เพราะด้านหลังวัดที่นำรถไปจอดมองลงไปเห็นทิวทัศน์ลำน้ำโขง ที่ยามนี้น้ำลดสามารถมองเห็นแนวหาดทรายผุดโผล่ขึ้นมาเป็นแนวยาวได้อย่างชัดเจน โดยมีเรือประมงชาวบ้านที่พักจากการออกหาปลาจอดอยู่เรียงรายช่วยเสริมเติมในความงาม
สำหรับความเป็นมาของวัดมโนภิรมย์นั้น จากบันทึกวัดระบุว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2230 โดยท้าวคำสิงห์ ญาติพี่น้อง และบริวาร ผู้อพยพจากฝั่งลาวข้ามโขงมาสร้างหมู่บ้านชะโนดและสร้างวัดขึ้น เดิมวัดใช้ชื่อเดียวกับชื่อหมู่บ้านและชื่อลำห้วยที่ไหลลงสู่ลำน้ำโขง ก่อนมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมโนภิรมย์ในภายหลัง

วัดแห่งนี้แม้จะเป็นเพียงวัดเล็กๆเท่านั้น แต่ว่าก็เป็นประเภท Small is Beautiful มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่วิหารกลางวัด วิหารหลังนี้ตามบันทึกวัดระบุว่าสร้างราว พ.ศ. 2296 โดยจารย์โชติ จารย์ขะ และจารย์โมข ช่างฝีมือเยี่ยมจากเวียงจันทน์ เป็นอาคารมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมสกุลช่างล้านช้างแบบท้องถิ่น รูปทรงสมส่วนกระทัดรัด
หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าจั่วมีลักษณะโค้งนิดๆ ช่อฟ้า ปั้นลม เป็นไม้แกะสลัก ทำได้งอนพลิ้วเสียเหลือเกิน ส่วนคันทวยหรือค้ำยันที่นี่มีขนาดใหญ่กว่าทั่วๆไป แต่เป็นใหญ่แบบสมส่วน ไม่เทอะทะ แต่ละอันถ้ามองผ่านๆจะคล้ายๆกัน แต่ถ้ามองแบบเพ่งพินิจจะเห็นรายละเอียดอันแตกต่างของลวดลายและสีสัน ถือเป็นค้ำยันในระดับมาสเตอร์พีชเลยทีเดียว

จากงานไม้เปลี่ยนไปดูงานปูนกันบ้าง งานปูนที่นี่เป็นสไตล์พื้นบ้านที่จัดอยู่ในระดับยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่ตรงบันไดทางเข้าด้านหน้าที่ช่างปั้นสัตว์แปลกๆตัวขนาดสุนัขหัวคล้ายสิงห์ ประดับไว้ 2 ฟากบันได ทำหน้าที่เฝ้ายาม ระแวดระวังภัยให้กับหัว-ราวบันไดทั้งสองที่ช่างปั้นปูนสัตว์หิมพานต์ลักษณะแปลกๆอีกเช่นกัน(2 ข้างไม่เหมือนกัน) มีผสมทั้ง มังกร ปลา สิงห์ และหน้ายักษ์ที่ดูออกไปในทางยักษ์ใจดีมากกว่า
ถัดจากบันไดถัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูด้านหน้า ทำด้วยปูนปั้นลวดลายละเอียดอ่อนช้อยผสมผสานไปด้วยนาคหลายเศียร นกในเทพนิยาย และหน้ากาลอันขึงขังดุดัน

เมื่อดูของสิ่งน่าสนใจภายนอกไปแล้ว ทีนี้ไปดูสิ่งน่าสนใจในวิหารกันบ้าง ซึ่งการจะเปิดวิหารเข้าชมนั้น ต้องขออนุญาตจากกรรมการหมู่บ้านหรือขอทางวัดก่อน เพราะที่นี่เคร่งครัดในการให้เข้าชมภายในวิหารเป็นพิเศษ เนื่องจากเคยมีโจรใจบาปเคยมาโจรกรรมพระพุทธรูปโบราณในนี้ไป
หลังพระที่วัดเปิดวิหารให้ ผมเดินเข้าไปปรับสายตาให้เข้ากับแสงทึมๆภายในจากนั้นค่อยๆไล่เลียงมองส่องสิ่งน่าสนใจภายในที่แสงภายนอกผ่านเข้ามาทางประตูและช่องหน้าต่างด้านข้างที่ทำเป็นมีลักษณะเป็นลูกกรงไม้กลึง หรือที่เรียกกันว่า"ลูกมะหวด"

ในวิหารหลังนี้ ผนังเพดานทำอย่างเรียบง่ายไม่มีภาพจิตกรรมฝาผนังประดับ มี"พระประทาย"หรือ "พระองค์หลวง" เป็นองค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะลาวที่แสดงออกอย่างเด่นชัดผ่านพระพักตร์ขององค์พระ พระประธานองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่เหล่านาคเบื้องหลังเป็นศิลปะพื้นบ้านอันเรียบง่ายแต่เก่าขรึมและทรงเสน่ห์ไม่น้อย
หน้าองค์พระประธานด้านซ้าย(มองเข้าไปอยู่ด้านขวา) มีงาช้างเก่าแก่แกะสลักเป็นพระพุทธรูป 8 องค์ไล่ลำดับขึ้นไปจากโคนไปจนถึงยอด ผมค่อนแปลกใจว่าทำไมถึงมีงาแค่ข้างเดียว ซึ่งคุณลุงบุญศรี ใจสุข ผู้อยู่กับวัดนี้มาตั้งแต่เกิดและมาทำหน้าที่นำชมได้ไขความกระจ่างว่า งาช้างอีกข้างทางวัดได้ถวายให้ทางกรุงเทพฯไป ส่วนปัจจุบันจะไปอยู่ที่ไหนลุงบุญศรีมิอาจทราบได้

สำหรับพระพุทธรูปน่าสนใจในวิหารยังไม่หมดแค่พระประธานเท่านั้น เพราะขนาบข้างซ้าย-ขวา องค์พระ มีพระเจ้าองค์ตื้อ และพระองค์แสนประดิษฐานอยู่
พระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนผสมลาว มีพุทธลักษณะอ่อนช้อยงดงาม ครั้งหนึ่งเคยถูกโจรใจบาปขโมยไป แต่สุดท้ายโจรก็ต้องนำพระกลับมาไว้ที่วัดตามเดิมโดยไม่สามารถรู้ถึงเหตุผลของการนำมาคืนได้
นอกจากพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์แล้วในวิหารยังมีพระพุทธรูปเล็กๆให้ชื่นชมกราบไหว้กันอีก ซึ่งที่เด่นๆก็เห็นจะเป็นพระพุทธรูปไม้ที่ประดิษฐานรวมกันเป็นกลุ่ม ณ มุมข้างๆพระองค์แสนที่น่าชมไม่น้อยเลย
หลังกราบไหว้พระพุทธรูปต่างๆในวิหาร พร้อมๆชื่นชมในสิ่งน่าสนใจรอบๆวิหารแล้ว ผมเดินดูรูปปั้นของท้าวคำสิงห์ผู้สร้างวัดและสร้างชุมชนแห่งนี้ ณ มุมหลังของวัด ก่อนจะเดินไปไหว้พระที่ หอแจกหรือศาลาการเปรียญข้างๆวิหาร ส่วนตัวโบสถ์ที่อยู่ข้างๆอีกฝากหนึ่ง ผมไม่ได้เข้าไปชม เพราะสิ่งก่อสร้างในยุคใหม่ที่ฝีมือเชิงช่าง ความน่าสนใจ และเสน่ห์นั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับฝีมือช่างที่สร้างวิหารในยุคโบราณ
เรื่องนี้จะว่าไปถือเป็นเรื่องปกติของยุคสมัยไปแล้ว ที่การก่อสร้างวัดส่วนในยุคหลังๆฝีมือเชิงช่าง ความปราณีต ความละเอียด มักไม่ค่อยปรากฏให้เห็น นั่นคงเป็นเพราะสังคมเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน งานพุทธศิลป์ก็พลอยเปลี่ยนตามไปด้วย
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย มีวิชาหนึ่งสอนเกี่ยวกับงานพุทธศิลป์ตามวัดวาอารามต่างๆในบ้านเรา แต่ตัวผมกลับไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ เนื่องจากมองว่าวัดเป็นเรื่องของผู้แก่ผู้เฒ่า ชีวิตของเรายังไม่ต้อง"ปลง"ถึงขนาดนั้น แถมตอนที่อาจารย์พาออกทริปไปทัศนศึกษาตามวัดสำคัญๆต่างๆ เป็นต้องร้อง"ยี้" ไม่อยากไปเสียเหลือเกิน ผิดกับเวลาไปเที่ยวผับกินเหล้าลิบลับ ซึ่งแม้อาจารย์จะบ่นว่า แต่ไม่ก็เคยสนใจ กลับระริกระรี้ไปเที่ยวยังกับปลากระดี่ได้น้ำเลยทีเดียว
แต่พอโตขึ้น มุมมองชีวิต ความคิด ความเชื่อบางอย่างเริ่มเปลี่ยน แถมหน้าที่การงานยังบังคับให้ต้องเข้าวัดเข้าวาอยู่บ่อยครั้ง ผมจึงพบว่าตัวเราก็ชอบเข้าวัดเข้าวาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่วัดประเภทพุทธพาณิชย์เน้นวัตถุนิยม เน้นเครื่องรางของขลัง เน้นเลขหวยรวยเบอร์ เน้นตัดกรรมเสริมดวง หากแต่เป็นวัดสวยๆงามๆที่มากไปด้วยคุณค่าของงานพุทธศิลป์ หรือไม่ก็พวกวัดพื้นบ้านที่มีงานศิลปกรรมพื้นถิ่นอันเปี่ยมล้นไปด้วยพลังแห่งศรัทธา(แต่ผมก็ยังนิยมเข้าผับกินเหล้าอยู่เหมือนเดิม)
นั่นจึงทำให้การไปเที่ยววัดในหลายๆครั้งผมรู้สึกอินและเพลินใจไม่น้อยเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดงามๆแจ่มๆที่เพิ่งมีโอกาสได้เจอะเจอเป็นครั้งแรกจะยิ่งสนใจเป็นพิเศษ อย่างครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่หลังกินข้าว กินปลา กินหมูหัน ริมโขง แก่งกะเบา จ.มุกดาหารแล้ว ขากลับเพื่อนพาไปแวะไหว้พระต่อยัง "วัดมโนภิรมย์"ที่อยู่ไม่ไกลกัน ซึ่งแค่เพียงแรกเจอ มนต์เสน่ห์ของวัดก็พุ่งจับหมับเข้าในดวงใจทันที
วัดมโนภิรมย์ตั้งอยู่ที่ บ้านชะโนด ต.ชะโนด อ.หว้านใหญ่ วัดนี้จัดว่ามีชื่อพอสมควรสำหรับคนเมืองมุก(แต่ว่าใหม่สำหรับผม) ทำเลของวัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงที่โลเกชั่นดีไม่หยอก เพราะด้านหลังวัดที่นำรถไปจอดมองลงไปเห็นทิวทัศน์ลำน้ำโขง ที่ยามนี้น้ำลดสามารถมองเห็นแนวหาดทรายผุดโผล่ขึ้นมาเป็นแนวยาวได้อย่างชัดเจน โดยมีเรือประมงชาวบ้านที่พักจากการออกหาปลาจอดอยู่เรียงรายช่วยเสริมเติมในความงาม
สำหรับความเป็นมาของวัดมโนภิรมย์นั้น จากบันทึกวัดระบุว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2230 โดยท้าวคำสิงห์ ญาติพี่น้อง และบริวาร ผู้อพยพจากฝั่งลาวข้ามโขงมาสร้างหมู่บ้านชะโนดและสร้างวัดขึ้น เดิมวัดใช้ชื่อเดียวกับชื่อหมู่บ้านและชื่อลำห้วยที่ไหลลงสู่ลำน้ำโขง ก่อนมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมโนภิรมย์ในภายหลัง
วัดแห่งนี้แม้จะเป็นเพียงวัดเล็กๆเท่านั้น แต่ว่าก็เป็นประเภท Small is Beautiful มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่วิหารกลางวัด วิหารหลังนี้ตามบันทึกวัดระบุว่าสร้างราว พ.ศ. 2296 โดยจารย์โชติ จารย์ขะ และจารย์โมข ช่างฝีมือเยี่ยมจากเวียงจันทน์ เป็นอาคารมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมสกุลช่างล้านช้างแบบท้องถิ่น รูปทรงสมส่วนกระทัดรัด
หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าจั่วมีลักษณะโค้งนิดๆ ช่อฟ้า ปั้นลม เป็นไม้แกะสลัก ทำได้งอนพลิ้วเสียเหลือเกิน ส่วนคันทวยหรือค้ำยันที่นี่มีขนาดใหญ่กว่าทั่วๆไป แต่เป็นใหญ่แบบสมส่วน ไม่เทอะทะ แต่ละอันถ้ามองผ่านๆจะคล้ายๆกัน แต่ถ้ามองแบบเพ่งพินิจจะเห็นรายละเอียดอันแตกต่างของลวดลายและสีสัน ถือเป็นค้ำยันในระดับมาสเตอร์พีชเลยทีเดียว
จากงานไม้เปลี่ยนไปดูงานปูนกันบ้าง งานปูนที่นี่เป็นสไตล์พื้นบ้านที่จัดอยู่ในระดับยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่ตรงบันไดทางเข้าด้านหน้าที่ช่างปั้นสัตว์แปลกๆตัวขนาดสุนัขหัวคล้ายสิงห์ ประดับไว้ 2 ฟากบันได ทำหน้าที่เฝ้ายาม ระแวดระวังภัยให้กับหัว-ราวบันไดทั้งสองที่ช่างปั้นปูนสัตว์หิมพานต์ลักษณะแปลกๆอีกเช่นกัน(2 ข้างไม่เหมือนกัน) มีผสมทั้ง มังกร ปลา สิงห์ และหน้ายักษ์ที่ดูออกไปในทางยักษ์ใจดีมากกว่า
ถัดจากบันไดถัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูด้านหน้า ทำด้วยปูนปั้นลวดลายละเอียดอ่อนช้อยผสมผสานไปด้วยนาคหลายเศียร นกในเทพนิยาย และหน้ากาลอันขึงขังดุดัน
เมื่อดูของสิ่งน่าสนใจภายนอกไปแล้ว ทีนี้ไปดูสิ่งน่าสนใจในวิหารกันบ้าง ซึ่งการจะเปิดวิหารเข้าชมนั้น ต้องขออนุญาตจากกรรมการหมู่บ้านหรือขอทางวัดก่อน เพราะที่นี่เคร่งครัดในการให้เข้าชมภายในวิหารเป็นพิเศษ เนื่องจากเคยมีโจรใจบาปเคยมาโจรกรรมพระพุทธรูปโบราณในนี้ไป
หลังพระที่วัดเปิดวิหารให้ ผมเดินเข้าไปปรับสายตาให้เข้ากับแสงทึมๆภายในจากนั้นค่อยๆไล่เลียงมองส่องสิ่งน่าสนใจภายในที่แสงภายนอกผ่านเข้ามาทางประตูและช่องหน้าต่างด้านข้างที่ทำเป็นมีลักษณะเป็นลูกกรงไม้กลึง หรือที่เรียกกันว่า"ลูกมะหวด"
ในวิหารหลังนี้ ผนังเพดานทำอย่างเรียบง่ายไม่มีภาพจิตกรรมฝาผนังประดับ มี"พระประทาย"หรือ "พระองค์หลวง" เป็นองค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะลาวที่แสดงออกอย่างเด่นชัดผ่านพระพักตร์ขององค์พระ พระประธานองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่เหล่านาคเบื้องหลังเป็นศิลปะพื้นบ้านอันเรียบง่ายแต่เก่าขรึมและทรงเสน่ห์ไม่น้อย
หน้าองค์พระประธานด้านซ้าย(มองเข้าไปอยู่ด้านขวา) มีงาช้างเก่าแก่แกะสลักเป็นพระพุทธรูป 8 องค์ไล่ลำดับขึ้นไปจากโคนไปจนถึงยอด ผมค่อนแปลกใจว่าทำไมถึงมีงาแค่ข้างเดียว ซึ่งคุณลุงบุญศรี ใจสุข ผู้อยู่กับวัดนี้มาตั้งแต่เกิดและมาทำหน้าที่นำชมได้ไขความกระจ่างว่า งาช้างอีกข้างทางวัดได้ถวายให้ทางกรุงเทพฯไป ส่วนปัจจุบันจะไปอยู่ที่ไหนลุงบุญศรีมิอาจทราบได้
สำหรับพระพุทธรูปน่าสนใจในวิหารยังไม่หมดแค่พระประธานเท่านั้น เพราะขนาบข้างซ้าย-ขวา องค์พระ มีพระเจ้าองค์ตื้อ และพระองค์แสนประดิษฐานอยู่
พระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนผสมลาว มีพุทธลักษณะอ่อนช้อยงดงาม ครั้งหนึ่งเคยถูกโจรใจบาปขโมยไป แต่สุดท้ายโจรก็ต้องนำพระกลับมาไว้ที่วัดตามเดิมโดยไม่สามารถรู้ถึงเหตุผลของการนำมาคืนได้
นอกจากพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์แล้วในวิหารยังมีพระพุทธรูปเล็กๆให้ชื่นชมกราบไหว้กันอีก ซึ่งที่เด่นๆก็เห็นจะเป็นพระพุทธรูปไม้ที่ประดิษฐานรวมกันเป็นกลุ่ม ณ มุมข้างๆพระองค์แสนที่น่าชมไม่น้อยเลย
หลังกราบไหว้พระพุทธรูปต่างๆในวิหาร พร้อมๆชื่นชมในสิ่งน่าสนใจรอบๆวิหารแล้ว ผมเดินดูรูปปั้นของท้าวคำสิงห์ผู้สร้างวัดและสร้างชุมชนแห่งนี้ ณ มุมหลังของวัด ก่อนจะเดินไปไหว้พระที่ หอแจกหรือศาลาการเปรียญข้างๆวิหาร ส่วนตัวโบสถ์ที่อยู่ข้างๆอีกฝากหนึ่ง ผมไม่ได้เข้าไปชม เพราะสิ่งก่อสร้างในยุคใหม่ที่ฝีมือเชิงช่าง ความน่าสนใจ และเสน่ห์นั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับฝีมือช่างที่สร้างวิหารในยุคโบราณ
เรื่องนี้จะว่าไปถือเป็นเรื่องปกติของยุคสมัยไปแล้ว ที่การก่อสร้างวัดส่วนในยุคหลังๆฝีมือเชิงช่าง ความปราณีต ความละเอียด มักไม่ค่อยปรากฏให้เห็น นั่นคงเป็นเพราะสังคมเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน งานพุทธศิลป์ก็พลอยเปลี่ยนตามไปด้วย