xs
xsm
sm
md
lg

“ตะกรุด” ว่าที่สินค้าวัฒนธรรมเต็มขั้น?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ โดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

การค้นพบความหลากหลายของลูกปัดโบราณภาคใต้ตอนกลางของประเทศไทย และเรื่องราวการลักลอบขุดค้นและค้าขายลูกปัดโบราณ ต่อเนื่องมาจนถึงข่าวคราวการโจรกรรมลูกปัดสุริยเทพ อายุกว่า 2,000 ปี จากพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอึงมี่ว่ามีเบื้องหน้าและเบื้องหลังไม่ธรรมดา

ร้อนถึงกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ต้องจัดเสวนา เรื่อง “ลูกปัด : องค์ความรู้และการปกป้องคุ้มครอง” เพื่อชี้แจงความเข้าใจต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา จนกระทั่งเจ้าของได้รับลูกปัดปริศนากลับคืนอย่างไม่น่าเชื่อในเย็นวันเดียวกัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าองค์ความรู้เรื่องลูกปัดในงานเสวนา และการได้ลูกปัดคืนก็คือ การเปิดเผยครั้งสำคัญของ “ธีระ สลักเพชร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่ผุดไอเดียผลิตลูกปัด และตะกรุดสลักลายไทย ขายเป็นสินค้าวัฒนธรรมสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะนำพารายได้และอาชีพให้ท้องถิ่นโดยใช้อุตสาหกรรมเครื่องประดับชูโรง

หลายคนอาจแปลกใจว่าทำไม รมว.วัฒนธรรม จู่ๆ จึงมีแนวความคิดเช่นนี้ คำตอบแท้จริงแล้วความคิดนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อวันสองวัน แต่เกิดตั้งแต่ปี 2549 เมื่อครั้งได้ไปเยือนตุรกีและกรีซ และเห็นผู้คนห้อยดวงตาสีฟ้า หรือบลูอายส์ เป็นเครื่องรางกันเป็นทิวแถว จึงปิ๊งว่าถ้าเมืองไทยมีอะไรที่ห้อยได้เป็นสากลและขายได้เช่นบลูอายส์บ้างก็คงจะดี และตะกรุดจึงผุดเข้ามา  เมื่อได้เข้ามารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงไม่รอช้าสั่งการให้กรมศิลปากรเป็นผู้ทำการศึกษาข้อดี ข้อเสียของการผลิตตะกรุดที่มีความเป็นไปได้ว่าให้ลงลายไทยโดยไม่ต้องปลุกเสก แต่ให้ขายเป็นเครื่องประดับแทน
 
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่าสัญลักษณ์ประจำชาติไทย มี 3 อย่าง ได้แก่ ช้างไทย ศาลาไทย และดอกราชพฤกษ์ ที่เป็นสากลและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และยังไม่พบว่าตะกรุดมีความสากลต่างจากพระเครื่องหรือปลัดขิก สินค้าพุทธพาณิชย์อื่นๆ แต่อย่างใด

ไม่เพียงเท่านี้ “เกรียงไกร สัมปัชชลิต” อธิบดีกรมศิลปากร ผู้รับหน้าเสื่อออกแบบลายไทยที่ใช้ในตะกรุดออกจะไม่เห็นด้วยกับเจ้ากระทรวงในเรื่องดังกล่าว และให้มุมมองที่น่าสนใจว่าหากจะผลิตสินค้าวัฒนธรรมเพื่อการพาณิชย์จริงๆ ควรจะนำเอกลักษณ์ของชาติทั้ง 3 มาผลิตก่อนสิ่งอื่นใด และคิดว่าการนำตะกรุดอันเป็นเรื่องของความเชื่อมาทำเป็นเครื่องประดับนั้นเสียงสะท้อนจากวงการเครื่องรางของขลังคงจะต่อต้านการเอาแผ่นเหล็กมาม้วนสลักลายไทยโดยไม่ปลุกเสกเป็นแน่ จึงเสนอแนวคิดให้ รมว.วัฒนธรรมเลือกสินค้าวัฒนธรรมอื่นๆ ร่วมด้วย กระนั้นกรมศิลปากรก็ยังรับหน้าที่เสนอลายไทยในตะกรุดอยู่ดี

ด้าน “ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ “นักวิจัย 9 สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า การผลิตตะกรุดว่าไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม สิ่งที่ประเทศชาติต้องการมากกว่า และถือเป็นสิ่งสำคัญคือการดูแลศิลปินแห่งชาติให้ดีทั้งที่เจ็บป่วยอยู่ก็มี และชราก็มาก โดยการช่วยเหลือจะต้องกระทำอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง โดยปล่อยให้การผลิตตะกรุดเป็นหน้าที่ของชมรมพระเครื่องหรือหน่วยงานอื่นไปเสีย ก่อนที่จะสรุปทิ้งท้ายสั้นๆ อย่างโดนใจว่า “ไม่เหมาะสม”

กระนั้น รัฐมนตรีธีระ ก็ไม่ย่อท้อ เพราะเดี๋ยวจะหาว่าไม่แน่จริง โดยคอนเฟิร์มว่าจะเดินหน้าดันโครงการนี้ให้ถึงที่สุด โดยล่าสุดก่อนที่จะบินไปงานมหกรรมเทศกาลไทย ในซิดนีย์  หรือ Thailand Grand Festival 2009 ที่ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 12-16 มี.ค.2552 รมว.วัฒนธรรม ได้มอบหมายให้ “วีระ โรจพจนรัตน์” ปลัด วธ.เป็นประธานศึกษาเพื่อพัฒนาสินค้าวัฒนธรรมของทั้ง 75 จังหวัด โดยตั้งตะกรุดเป็นตุ๊กตาต้นแบบ และเรียกอธิบดีกรมศิลป์เข้าพบเพื่อขอดูลายตะกรุด แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้เคาะลายที่โดนใจรัฐมนตรีสักที จนบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว  

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ซึ่งจะมีการประชุมสัมมนา “การเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมไทย” ที่คาดว่าจะมีเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัดเข้ามาร่วมประชุม และปลัด วธ.คงได้มอบหมายงานให้แต่ละจังหวัดลงไปค้นหาของดีมาเสนอ คงจะได้รู้ความคืบหน้าว่าท้ายแล้วตะกรุดจะเป็นสินค้าวัฒนธรรมต้นแบบของกระทรวงวัฒนธรรมได้หรือไม่

ดังนั้น ในระหว่างนี้เจ้ากระทรวงก็คงต้องทำใจ เพราะคนเห็นด้วยก็มี เห็นไม่ดีก็มาก แต่ถ้าพูดไปแล้วก็ต้องลุยเดินหน้า ไม่เช่นนั้นจะถูกหาว่า “ไม่แน่จริง” อย่าลืมว่า แนวคิดควายธนูเคยไล่ขวิด “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล” เจ้ากระทรวงวัฒนธรรมคนก่อนจนถูกฝังกลบหาศพไม่เจอมาแล้ว (ฮิ)

ธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น