xs
xsm
sm
md
lg

กินอิ่มนอนอุ่น ในป่าชุมชน “ทาป่าเปา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แปลงสาธิตทางการเกษตรภายในศูนย์เรียนรู้ชุมชน
ที่ “หมู่บ้านทาป่าเปา” ในตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีประชากรเพียง 215 ครัวเรือน น้อยคนนักที่จะรู้จักหมู่บ้านแห่งนี้ แต่สำหรับในแวดวงของนักอนุรักษ์ป่าชุมชน ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ที่นี่ถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่มีคนมาดูงาน มาขอความรู้อยู่เสมอๆ

และล่าสุดนั้น หมู่บ้านแห่งนี้ก็เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศป่าชุมชนระดับประเทศ ในการประกวดป่าชุมชนดีเด่น ประจำปี2552โดยได้โล่รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และก่อนหน้านั้นก็ยังได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว (2545) รางวัลแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (2551) อีกด้วย
ผักปลูกอยู่ในแปลงสาธิต
เราไปทำความรู้จักกับ “หมู่บ้านทาป่าเปา” กันก่อนดีกว่า โดยชื่อของหมู่บ้านนั้นได้มาจากบริเวณที่ตั้งที่เต็มไปด้วยป่าไม้ โดยเฉพาะ “ต้นเปา” ประกอบกับมีแม่น้ำทาไหลผ่านในบริเวณนี้ หมู่บ้านจึงได้ชื่อว่า “ทาป่าเปา” ตามลักษณะภูมิประเทศ คนในหมู่บ้านส่วนหนึ่งมีเชื้อสายชาวไทลื้อจากเมืองสิบสองปันนา ยังคงเห็นได้จากที่คนเฒ่าคนแก่ยังใช้ภาษาหลวย หรือภาษาลื้อกันอยู่

แต่เดิมหมู่บ้านทาป่าเปาก็เป็นหมู่บ้านอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้แน่นทึบพื้นที่กว่า 13,000 ไร่ มีต้นไม้ขนาดใหญ่หายากต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประดู่ สัก เสี้ยว ป่าเต็ง รัง พลวง เหียง ตีนนก ฯลฯ แต่เมื่อความเจริญเข้าถึง ความต้องการเงินทองเพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นขุมทรัพย์ขุมใหญ่ของมนุษย์ ชาวบ้านได้นำเอาทรัพยากรท้องถิ่นมาใช้อย่างมากมาย มีการตัดไม้ทำลายป่า เผาป่าถางไร่ ทำสัมปทานป่าไม้เพื่อทำรั้วรถไฟ ไม้หมอนรถไฟ และตัดฟืนเพื่อทำเชื้อเพลิง ถางป่าเพื่อทำไร่อ้อย ทำให้ป่าไม้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เริ่มกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดความอุดมสมบูรณ์อย่างที่เคยเป็นมา
ผู้ใหญ่ไพบูลย์ จำหงษ์ กำลังให้อาหารปลาดุก
หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่แคล้วป่าคงจะหมด แล้วชาวบ้านและลูกหลานรุ่นต่อๆไปคงจะได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน ผู้นำชุมชนจึงต้องลุกขึ้นมาสร้างแนวคิดใหม่ให้คนในชุมชนเกิดความคิดที่อนุรักษ์ป่าไม้อันเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของเราเอาไว้

วันนี้เราได้คุยกับคุณไพบูลย์ จำหงษ์ ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านทาป่าเปา ผู้ซึ่งริเริ่มการจัดการป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์เมื่อปี พ.ศ.2537 มีการจัดเวทีประชาคมกระตุ้นให้ลูกบ้านเล็งเห็นถึงความเสียหายของการทำลายป่า และหาทางแก้ไข มีการพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งมีการจัดชุดลาดตระเวนออกตรวจเมื่อมีการบุกรุกป่า จัดตั้งคณะกรรมการดูแลรักษาป่า ออกกฎระเบียบต่างๆ ในการจัดการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติขึ้น เช่น ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ใครฝ่าฝืนจะถูกปรับ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชุมชนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี ทำให้การอนุรักษ์ป่าไม้ประสบความสำเร็จได้
บ้านในหมู่บ้านที่จัดเป็นโฮมสเตย์
แต่กว่าความสำเร็จจะเป็นรูปเป็นร่างนั้น ก็ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ในการฟื้นฟู แต่ด้วยความที่เป็นชุมชนเข้มแข็ง ป่าของชุมชนก็เริ่มฟื้นคืนสู่ความสมบูรณ์ดังเดิม ไม้หายากต่างๆ สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยสมุนไพรกว่า 500 ชนิด ที่พบได้ง่ายในป่าชุมชน ซึ่งกลายเป็นแหล่งความรู้ให้กับเยาวชนและนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่เข้ามาศึกษาวิจัยด้านสมุนไพร ผลของป่าไม้ที่สมบูรณ์ยังทำให้เกิดแหล่งน้ำเพียงพอที่จะทำประปาภูเขา ส่งน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนได้อีกด้วย

ปัจุบันหมู่บ้านทาป่าเปานี้มักเป็นสถานที่มาดูงานของชุมชนอื่นๆที่สนใจแนวคิดและแนวทางในการอยู่ร่วมกันของป่า-ชุมชน และความเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ในวันนี้ผู้ใหญ่ไบูลย์เป็นคนพาเราชมสิ่งต่างๆ ภายในหมู่บ้านด้วยตนเอง โดยเริ่มชมกันที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่มีลักษณะเป็นแปลงสาธิตอาชีพทางเกษตรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไก่บนบ่อปลาดุก การเลี้ยงกบ แปลงนาสาธิต แปลงปลูกผักเกษตรปลอดสารพิษ ซึ่งมีทั้งผักเพื่อการบริโภค และพืชสมุนไพรต่างๆ การเพาะเห็ด เป็นต้น
พระธาตุดอยกู่เบี้ย
ในหมู่บ้านทาป่าเปายังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตโดยการเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าพัก และยังเป็นรายได้เสริมให้กับลูกบ้าน โดยมีบ้านที่เปิดเป็นโฮมสเตย์อยู่ 24 หลังด้วยกัน และได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2549

“แต่ก่อนที่ยังไม่ได้เปิดเป็นโฮมสเตย์ คนที่มาดูงานก็ต้องมาพักกันที่ศาลาวัด ที่โรงเรียน ในตอนแรกๆ เราก็ยังไม่รู้จักโฮมสเตย์ จนเมื่อได้มีการแลกเปลี่ยนกับหลายๆ ชุมชนก็เลยทำบ้านให้เป็นที่พักโฮมสเตย์ให้คนมาดูงานได้รับความสะดวก และยังเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีอีกด้วย โดยสโลแกนของที่นี่คือ กินอิ่ม นอนอุ่น หลับสบาย” ผู้ใหญ่ไพบูลย์ กล่าว
พิพิธภัณฑ์ของโบราณพื้นบ้าน
นอกจากการมาพักที่โฮมสเตย์และเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีของป่าและชุมชน รวมไปถึงได้ชมแปลงสาธิตเกษตรต่างๆ แล้ว ในหมู่บ้านก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้เราได้ไปเที่ยวกันด้วย โดยบนดอยเขาเล็กๆ ในหมู่บ้านที่ชื่อว่าดอยกู่เบี้ยนั้น เป็นที่ตั้งของ “พระธาตุดอยกู่เบี้ย” พระธาตุเก่าแก่คู่ชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัดทาป่าเปาที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบในหมู่บ้าน บนยอดดอยนอกจากจะได้สักการะพระธาตุแล้ว ก็ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง และยังสามารถกราบสักการะพระสังกัจจายที่ประดิษฐานอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นยอดดอยอีกด้วย

เมื่อได้ขึ้นไปบนดอยกู่เบี้ยแล้วก็ต้องไม่พลาดชมสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ใน “พิพิธภัณฑ์ของโบราณพื้นบ้าน” ที่มีข้าวของเครื่องใช้ในบ้านและเครื่องมือทางการเกษตรที่บางอย่างก็ไม่ได้ใช้แล้ว จึงมีผู้บริจาคให้กับทางพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นก้างฝั่นเชือก อุปกรณ์ที่เอาไว้ฝั่นเชือกจากปอหรือป่านเพื่อใช้งาน สว่านมือ อุปกรณ์ในการเจาะรูที่ทำจากไม้ ในสมัยที่ยังไม่มีสว่านไฟฟ้าอย่างทุกวันนี้ ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่ เอาไว้ใส่ข้าวเปลือก ก็เป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่งที่หลายๆ คนอาจไม่เคยเห็นมาก่อน นอกจากนั้นก็ยังมีที่หั่นใบยาสูบ ครกหินบดยา และข้าวของอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งหากจะให้สนุกและได้ความรู้ ก็ต้องอาศัยให้คนในชุมชนเล่าและสาธิตวิธีการใช้ให้ชมกันด้วย
ไม้ไผ่สานเป็นภาชนะขนาดใหญ่ไว้ใช้ใส่ข้าวเปลือก
กลับลงมาที่ตีนดอยอีกครั้ง มายัง “วัดทาป่าเปา” ที่ภายในอุโบสถมีพระประธานนามว่า “พระเจ้านางเหลียว” ที่มาของชื่อนี้ผู้ใหญ่ไพบูลย์เล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีความงดงามจนนางใดที่ได้มาไหว้พระแล้ว ก่อนจะกลับออกจากโบสถ์ก็ต้องเหลียวหลังกลับมามองพระประธานอีกครั้งหนึ่ง และอยากจะกลับมาที่นี่อีก

จากจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ป่า จนมาเป็นแหล่งเรียนรู้และโฮมสเตย์ ก็มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมภายในหมู่บ้านกันพอสมควร แต่ผู้ใหญ่ไพบูลย์ก็ไม่อยากจะให้การท่องเที่ยวเข้ามาทำให้ความสุขของคนในหมู่บ้านลดลง หรือต้องเอาใจนักท่องเที่ยวจนตัวเองไม่สะดวกหรือไปเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไป
พระเจ้าตนเหลียว พระประธานองค์บนสุดในโบสถ์วัดทาป่าเปา
“การเปิดเป็นโฮมสเตย์หรือการท่องเที่ยวนั้นต้องเป็นอาชีพรอง ต้องการทำการท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ว่าพอไม่มีใครมาเที่ยวมาแล้วก็มานั่งปวดหัวกัน” ผู้ใหญ่ไพบูลย์กล่าว

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 


"หมู่บ้านทาป่าเปา" ตั้งอยู่ในตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ห่างจากอำเภอเมืองลำพูนประมาณ 30 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายเชียงใหม่-ลำปาง ติดต่อสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ คุณไพบูลย์ จำหงษ์ ผู้ใหญ่บ้าน โทรศัพท์ 0-5300-6222, 08-9265-2714
กำลังโหลดความคิดเห็น