xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนมึน ททท.ป่วน-การเมืองล้วงลูก ฤาจะซ้ำเติมท่องเที่ยวไทยให้หนักขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การท่องเที่ยวไทยจะไปทิศทางไหน เมื่อการเมืองล้วงลูก-ททท.ยังมีปัญหา
กลายเป็นประเด็นร้อนที่คนในแวดวงท่องเที่ยวต้องจับตาไปเสียแล้ว ถึงผลสืบเนื่องมาจากการที่มติคณะกรรมการ(บอร์ด) ททท.เมื่อวันที่ 15 ก.ย.52 มีคำสั่งเรื่องการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงภายใน กรณีการแต่งตั้งนายอักกพล พฤกษะวัน จากตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านสินค้าการท่องเที่ยว ไปเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระดับ 11 และโยกย้ายตำแหน่งรองผู้ว่าการททท.อีก 3 ตำแหน่ง

ซึ่งคนในททท.มองประเด็นนี้ว่า เป็นการล้วงลูกจากฝ่ายการเมืองที่สุดทน จนสหภาพรัฐวิสาหกิจการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สรทท.)และพนักงานททท.ออกมาแสดงเจตนารมณ์ ด้วยการประกาศอารยะขัดขืนต่อมติบอร์ด ททท.

โดยมีการแสดงให้พนักงานแต่งชุดพนักงาน หรือชุดขาว-ดำ หรือขาว-น้ำเงิน เพื่อ ประกาศเจตนารมณ์อารยะขัดขืนคำสั่งโยกย้ายอย่างไม่ชอบธรรมของคณะกรรมการ ททท. และไม่ให้การเมืองเข้ามาล้วงลูก พร้อมกันนี้ยังจะมีการติดป้ายประกาศต่อสู้หน้า ททท. ติดสติ๊กเกอร์ "ททท. ต้องสู้" หน้าประตูทางเข้าต่างๆ และจำหน่ายเข็มกลัด "ททท. ต้องสู้" เพื่อสมทบทุนในการดำเนินการ ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า ศึกภายในของททท.จะซ้ำเติมการท่องเที่ยวไทยให้ย่ำแย่ลงไปอีก
 พนักงานททท.สุดทนกับมติบอร์ดจนต้องก้าวออกมาประท้วง
*ก่อนแตกหัก

ว่ากันว่ายุคนี้เป็นยุคที่การเมืองเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากททท.มากที่สุด แม้แต่ฝ่ายบริหารททท.ยังกลับกลายเป็นพวกของฝ่ายการเมือง ทำงานเพื่อสนองการเมืองมากกว่าปกป้ององค์กร

ความอ่อนแอภายในองค์กรของททท.เองส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดผู้นำ อย่างตัวผู้ว่าการฯ ซึ่งขณะนี้ททท.ไร้ตำแหน่งผู้ว่าการฯ มานานกว่า 7 เดือน หลังจากที่ พรศิริ มโนหาญ อดีตผู้ว่าการฯ คนเก่าหมดวาระไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีแต่รักษาการผู้ว่าการฯ ซึ่งเป็นได้แค่เพียงหุ่นเชิดจากฝ่ายการเมือง ที่มุ่งเข้ามาหาผลประโยชน์จากงบประมาณต่างๆ ภายในททท.

มองจากการที่พรรคชาติไทยพัฒนามากำกับดูแลททท. งบประมาณด้านการท่องเที่ยวหลายสิบล้านไหลเข้าสู่ จ.สุพรรณบุรี เป็นจำนวนมาก ทุกงานทุกกิจกรรมของททท.ต้องที่ชื่อของจ.สุพรรณบุรีเข้ารวมอยู่ด้วยเสมอทั้งที่มองกันตามจริงแล้วเป็นจังหวัดที่ไม่มีมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวมากมาย แต่คนททท.บางคนก็ต้องทำตามใบสั่งนักการเมืองด้วยความอึดอัดใจ เพราะรู้ดีว่าเมื่องบประมาณลงไปในจ.สุพรรณบุรีแล้วใครจะได้ประโยชน์

สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา ททท.จึงเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ส่วนตัว ที่มีหน้าที่ "จ่ายเงิน" เพียงอย่างเดียว ทำให้อำนาจทางการเมืองเข้ามาครอบงำททท.ได้อย่างเต็มรูปแบบ

ในอดีตคนททท.เคยรวมตัวกันแสดงพลังต่อสู้ความไม่เป็นธรรมที่ถูกฝ่ายการเมืองกลั่นแกล้ง ในสมัยที่ ธรรมนูญประจวบเหมาะ ผู้ว่าการททท.ในสมัยนั้นถูกปลดออกจากตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบ โดยที่มี สาวิตต์ โพธิวิหค เป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ

ในสมัยนั้นพนักงานททท.ทั้งหมดรวมตัวกันใส่ชุดดำ เขียนป้ายผ้าสีดำขนาดใหญ่โดยประณามการล้วงลูกของฝ่ายการเมืองมาแขวนที่สำนักงานททท. ที่แยกแม้นศรีซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ในขณะนั้น เพื่อแสดงให้ฝ่ายการเมืองเห็นชัดเจนว่า คนททท.ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

แต่ก็คงไม่มียุคไหนที่สร้างความอึดอัดใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคนในททท.มากเท่ายุคชุมพล ศิลปอาชา คนที่ททท.มองว่าไม่มีความรู้ความสามารถด้านการท่องเที่ยวแม้แต่น้อยแต่ดันส่งมาบริหารกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาที่มีงบประมาณหมุนเวียนหลายพันล้าน
 ใกล้ช่วงไฮซีซั่นแล้ว แต่ศึกภายในยังระอุ
ไม่เพียงแต่เรื่องการจัดสรรงบประมาณเท่านั้น การทำงานของฝ่ายบริหารททท.ก็ยังถูกล้วงลูกการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยที่มักจะเรียกผู้บริหารททท.เข้าไปพบที่บ้านเพื่อสอบถามการทำงานและสั่งงานอยู่เป็นประจำ รวมถึงการติดตามผลงานต่างๆ โดยให้ททท.รายงานการทำงานทั้งหมดจึงเป็นชนนวนเหตุหนึ่งที่นำมาซึ่งความแตกหัก

*เอกชนกังวล

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.52 ที่ผ่านมา สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย(เฟสต้า) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 8 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมทีทีเอเอ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่ง สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น ได้ร่วมกันแสดงจุดยืนและความห่วงใยของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ต่อกรณีปัญหาความวุ่นวาย ภายในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

นายอภิชาติ สังฆอารี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเฟสต้า กล่าวว่า ภาคเอกชนรู้สึกกังวลต่อปัญหาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาที่เกิดปัญหาภายในกันเอง อยากให้มีเจ้าภาพมาช่วยแก้ไขไม่เช่นนั้นจะลุกลามไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น และตอนนี้มีประธานบอร์ด ททท.คนใหม่มาแล้วก็ขอให้แก้ปัญหารวมทั้งขอให้ใช้งบประมาณที่เกิดประสิทธิภาพ ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ส่วนทางด้าน นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว(ทีทีเอเอ) ในฐานะโฆษกเฟสต้า กล่าวว่า อยากทราบเหตุผลว่าบอร์ดททท. ใช้เหตุผลในการโยกย้ายอย่างไร เพราะจะต้องดูสาเหตุด้วยว่าทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นหรือไม่ เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังอยู่ในภาวะวิกฤติ

ประเด็นที่ส่งผลให้เกิดปัญหา คือ การโยกย้ายผู้บริหาร ททท.จึงต้องการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องว่าการโยกย้ายดังกล่าว ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงหรือไม่ ในสถานการณ์แบบนี้จำเป็นต้องมีการโยกย้ายหรือไม่ และทำไมไม่ย้ายทุกตำแหน่ง การเหลือบางตำแหน่งไว้แสดงว่าที่เหลือทำงานไม่ดีหรือไม่ ทั้งนี้ หากทำงานไม่ดีก็ควรเอาคนอื่นมาแทน ไม่ใช่โยกย้าย เพราะจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด

"ปัญหาสำคัญที่ภาคเอกชนเป็นห่วงในตอนนี้คือ ไม่มีการตัดสินใจใดๆ ของผู้บริหาร ททท. ไม่มีลงนามจัดงานต่างๆ ทำให้กระทบกระเทือนไปหมด ถ้าแก้ปัญหาไม่ ได้ อยากเห็นความรับผิดชอบ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายทั้งนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายวิชัย ศรีขวัญ ประธานบอร์ดททท."โฆษกเฟตต้ากล่าว
การประท้วงของททท.ที่อ้างเหตุจากการเมืองล้วงลูกมากเกินไป
เจริญยังกล่าวต่อไปว่า ในขณะนี้พนักงาน ททท. หยุดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้งหมดที่ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะการจัดงานลอยกระทงและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอื่นๆ ทุกอย่างหยุดนิ่งหมดจนภาคเอกชนเกิดความกังวลใจ ซึ่งการที่พนักงานททท.ประท้วง เราภาคเอกชนไม่ได้เห็นด้วย ควรต้องมีการพูดคุยไม่ให้งานราชการเสียหาย แต่ก็ขึ้นกับบอร์ด ททท.และผู้บริหารททท.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ส่วนการทำงานของบอร์ดททท. ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าการดำเนินหลายโครงการที่ไม่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การอนุมัติงบ 30 ล้านบาท ส่งเสริมการตลาดให้สายการบินไทยแอร์เอเชีย ทั้งๆที่ททท. จับมือกับการบินไทยเพื่อทำการตลาดร่วมกัน แต่ไม่ได้ร่วมมือ กับการบินไทยเลย รวมทั้งได้อนุมัติงบ 30 ล้านบาทไปโรดโชว์ประเทศออสเตรีย ซึ่งไม่ใช่เป็นตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญ และยังมีการใช้งบประมาณอีก 125 ล้านบาทจัดงานเที่ยวไทย 5 ภาคที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศได้ นอกจากนั้นใช้งบอีก 80 ล้านบาท จัดงานเชฟกระทะเหล็ก ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อตลาดท่องเที่ยว การประเมินผลดำเนินโครงการก็ใช้บริษัทเอกชน จึงไม่ได้ตัวเลขที่แท้จริง

"ในหน่วยงานอื่นหากดำเนินการแล้วมีปัญหา หรือประธานบอร์ดลาออก กรรมการบอร์ดทุกคนก็ต้องลาออกตามด้วย ไม่ได้กำหนดเป็นระเบียบแต่เป็นสามัญสำนึก แต่จะลาออกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบอร์ดเอง อย่างไรก็ตาม จุดยืนของสหพันธ์ไม่ได้พุ่งเป้าโจมตีฝ่ายใด แต่ขอให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว" นายเจริญกล่าว

ขณะที่ นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรม กล่าวว่า ชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาควรเข้ามาสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มากกว่านี้ เพราะขณะนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวที่ตกต่ำมาตลอดทั้งปี จากปัญหาการเมืองภายในประเทศเริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว

"เมื่อเดือนที่ผ่านมามีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น 5% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีนี้คงอยู่ที่ 11.2-11.5ล้านคน น้อยกว่าปีก่อนที่ 15-20% ขัดแย้งกับที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯออกมาแถลงการหน้านี้ว่ายอดจะถึง 14 ล้านคน เพราะตลอด 8 เดือนแรก ติดลบ 27%และในเดือนก.ย. ติดลบ 22.8% จึงเหลือลุ้นในเดือนต.ค.-ธ.ค.นี้เท่านั้น"

ด้านนางสาวมัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ทุกคนมุ่งแต่เอาตัวรอด ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้จะไปไม่รอด ขณะนี้ จึงต้องการให้ช่วยอุตสาหกรรมให้รอดมากกว่าตัวเอง โดยทุกฝ่ายจะต้องปรับความเข้าใจกัน เพื่อให้การท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไปได้
ททท.อารยะขัดขืน
*คนททท.ยัน อย่ากังวล

ส่วนทางด้านคนภายในททท.เอง ก็ยังคงยืนยันเช่นกันว่า การออกมาเรียกร้องสิทธิ์ความเป็นธรรมดังกล่าวว่าเป็นการกระทำเพื่อศักดิ์ศรีขององค์กร และความโปร่งใสให้การทำงานในททท.เกิดประสิทธิภาพมีอิสระจากการเมือง ไม่ใช่เป็นเสมือนหนึ่งบริษัทของพรรคชาติไทยพัฒนาเหมือนทุกวันนี้

แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งในททท. กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งนี้ว่า จากการประชุมบอร์ดครั้งล่าสุดก็ยังคงยืนยันว่าไม่เปลี่ยนแปลงมติให้ตกลงปัญหากันเอง พนักงานส่วนใหญ่เลยประกาศอารยะขัดขืนกันต่อ โดยใช้สิทธิ์การหยุดงานตามสิทธิ์ และหากแผนนี้ไม่ได้ผล ก็มีการคุยกันว่าบางทีเรื่องอาจจะต้องถึงศาลปกครอง

"รู้สึกผิดหวังกับมติที่ออกมา ไม่ปฏิเสธว่าสถานการณ์ของททท.มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นอย่างสูง อย่างโครงการใดโครงการหนึ่งอยู่ก็ให้ทำ โดยคำสั่งที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร ซึ่งหากเรายอมทำตามผลประโยชน์ก็ถึงมือคนเพียงกลุ่มเดียวคือพรรคการเมือง"แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวภายในททท.ยังกล่าวต่อไปอีกว่า บางคนอาจจะมองว่า การที่พนักงานททท.ต้องลุกขึ้นมาต่อต้านเพราะเราทำเพื่อคนในบางคน แต่บอกได้เลยว่าพวกเราทำเพื่อคนทำงานในองค์กรมากกว่า อย่างกรณีนายอักกพล พฤกษะวัน ที่ถูกโยกจากรองผู้ว่าการด้านสิ้นค้าการท่องเที่ยวไม่เป็นที่ปรึกษาระดับ11 คนไม่เกษียณจู่ๆเอาไปย้ายไว้ตำแหน่งแขวน อย่างที่ปรึกษาระดับ11 ทั้งที่กำลังอยู่ในระหว่างการคัดสรรผู้ว่าการททท.และเขาก็เป็นผู้ลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าการททท.ด้วย มันหมายความว่าอย่างไร จะให้ทำอะไร ตรงไหน ก็ไม่ชัดเจน รองผู้ว่าททท.หนึ่งคนรักษาหลายตำแหน่ง ทั้งที่งานในตำแหน่งเดียวก็ล้นมืออยู่แล้ว เหมือนเปลี่ยนม้ากลางศึกไม่มีใครทำกัน

ส่วนเรื่องอารยะขัดขืนที่หลายๆฝ่ายเป็นห่วงว่าจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยชะงักงันนั้น บอกได้เลยว่าเอกชนไม่ต้องเป็นห่วง เพราะงานทุกอย่างยังดำเนินต่อไป เราเพียงแต่ทำงานไม่ตอกบัตร ส่วนบางโครงการที่ยังดำเนินการต่อไปไม่ได้ไม่ใช่ว่าไม่มีงบหรือโครงการไม่ผ่านเพียงแค่ แผนงานด้านการตลาด มันถูกดึงออกทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณได้

"ถามว่าหวั่นเรื่องกระบวนการสรรหาผู้ว่าททท.กันไหม ยอมรับว่าหวั่น ภาวนาให้ผลออกมาชัดเจน ไม่มีเรื่องการเมืองแทรกแซง ซึ่งผลการคัดสรรจะออกมาไม่เกินสิ้นปีนี้แน่นอน"แหล่งข่าวภายในททท.กล่าวทิ้งท้าย พร้อมทั้งยังฝากถึงคนที่เป็นห่วงว่า ไม่ต้องกังวล เพราะในไม่ช้าเรื่องนี้มันจบแน่ เพียงแต่คนททท.เอง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะจบในรูปแบบไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น