เดี๋ยวนี้กระแสการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในประเทศไทย ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่กำลังมาแรงและเป็นที่น่าสนใจนั่นคือ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” (Community Based Tourism) ซึ่งเป็นการอนุรักษ์การท่องเที่ยวอย่างแท้จริงจากกลุ่มคนในชุมชน ที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวขึ้นมา
การท่องเที่ยวโดยชุมชน คือการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม กำหนดทิศทางโดยชุมชน จัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชนและชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของมีสิทธิในการจัดการดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน โดยมีองค์ประกอบหลักของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอยู่ 4 ด้าน คือ 1. ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม 2.องค์กรชุมชน 3.การจัดการ และ 4. การเรียนรู้
อีกทั้งการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนยังมีหลักการปฏิบัติ คือ ชุมชนต้องเป็นเจ้าของ ชาวบ้านต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและการตัดสินใจ พร้อมกับส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม และยังคงเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม ให้การเคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งผลให้เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่น แล้วเกิดการกระจายรายได้สู่สาธารณประโยชน์ของชุมชน
สำหรับรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้น มีหลายชุมชนที่ได้นำไปปฏิบัติแล้วเกิดผลทางการท่องเที่ยวที่ดี ซึ่งในครั้งนี้ทางททท. ได้มีการจัดทริปนำเสนอพาไปเที่ยว โดยใช้ชื่อโครงการว่า “สุดทางบูรพา ชุมชนอาสาพาเที่ยว” โดยนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยว 4 ชุมชนที่น่าสนใจในจังหวัดตราด
ชุมชนแรกที่นำเสนอคือ “ชุมชนบ้านห้วยแร้ง” ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2,5 ต.ห้วยแร้ง อ.เมือง จ. ตราด ชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2550 และยังได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้าน OTOP Village Champion (OVC) ปี 2549
ชุมชนบ้านห้วยแร้ง เป็นชุมชนที่ยังคงสภาพป่าและแม่น้ำลำคลองที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียงตามแนวทางทฤษฎีใหม่ และยังมีวิถีชีวิตของชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงจุดนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนห้วยแร้ง
สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวที่ชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและเที่ยวชมนั้น มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การล่องเรือชมธรรมชาติริมคลองห้วยแร้ง ชมโขดหินและแก่งหินมากมาย การล่องแก่ง 18 แก่งตามคลองห้วยแร้ง ด้วยเรือหางเครื่องของชาวบ้านที่ทำจากพีวีซี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของชาวห้วยแร้ง ชมการสาธิตการทำอาหารพื้นบ้านอย่าง ข้าวห่อกาบหมาก ที่ไม่ใช้โฟมมาห่ออาหาร แต่ใช่กาบหมากวัสดุจากธรรมชาติแทน ชิมขนมจาก พร้อมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ชาวบ้านทำกันเอง อาทิ สบู่เปลือกมังคุด ครีมฟอกหน้าเปลือกมังคุด น้ำมันเหลือง ฯลฯ อีกทั้งยังมีโฮมสเตย์การพักร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การตกกุ้งหลวงยามค่ำคืน และระบบนิเวศของลำน้ำห้วยแร้งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ชุมชนต่อมาคือ “ชุมชนรักษ์คลองบางพระ” ตั้งอยู่ที่ ต.บางพระ อ.เมือง จ. ตราด ได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2550 ย่านริมคลองบางพระเมื่ออดีตเคยเป็นชุมชนการค้าเก่าแก่ของจังหวัดตราด เป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าของคนหลายกลุ่มเพราะทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำตราด เป็นเส้นทางคมนาคมหลัก แต่เมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิทมาถึงจ.ตราด อีกทั้งมีการสร้างตลาดแห่งใหม่ริมถนนสุขุมวิทเมื่อปี 2495 ร้านค้าส่วนใหญ่จึงทยอยย้ายออกไปตั้งอยู่ริมถนน ศูนย์กลางความเจริญของจังหวัดก็เปลี่ยนตำแหน่งไป แต่ว่าปัจจุบันนี้ริมคลองบางพระก็ยังมีเรือนแถวไม้เก่าแก่ที่เคยเป็นร้านค้านับร้อยคูหา และมีร้านค้าแบบโบราณเหลืออยู่บ้างอย่างร้านขายยาไทย ที่มีคุณค่าควรแก่การเที่ยวชมเพื่อเรียนรู้เมืองตราดในอดีต
โดยนักท่องเที่ยวที่มาจะได้ชมกิจกรรมมากมายที่น่าสนใจ อาทิ สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนแบบพอเพียง ชมคลองบางพระที่เรียบง่ายสงบสุข ชมหิ่งห้อยยามค่ำคืน เดินเที่ยวชมถนนสายวัฒนธรรมรักษ์คลองบางพระ และไปชมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไบโอดีเซล ที่ชาวชุมชนผลิตน้ำมันไบโอดีเซลใช้เอง เพื่อช่วยลดพลังงานโลก
จากนั้นมาที่ “ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว” ตั้งอยู่ที่ บ้านน้ำเชี่ยว หมู่ 1 ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด ชุมชนนี้ได้รับมาถึง 2 รางวัล คือ รางวัลชุมชนดีเด่นการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2550 และรางวัลชนะเลิศหมู่บ้าน OTOP Village Champion (OVC) ปี 2549 ชุมชนแห่งนี้มีสภาพสังคมเป็นชุมชน 2 ศาสนา คือ นับถือศาสนาพุทธ 50% และศาสนาอิสลาม 50 % ซึ่งชาวมุสลิมอพยพเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยร. 3 ชาวบ้านที่นี่อยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูล ถ้อยทีถ้อยอาศัย รักใคร่กลมกเกลียวกัน
หากมาเที่ยวยังชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวอันเก่าแก่ และมีเอกลักษณ์นี้ก็จะได้พบกับแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาทิ มัสยิดอัลกุบรอ อันเก่าแก่แห่งแรกของภาคตะวันออกมีอายุกว่า 200 ปี วัดน้ำเชี่ยวเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยพุทธ มีพระอุโบสถรูปทรงสวยงาม มีศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน สร้างเป็นทางเดินยาวทอดตัวไปตามแนวป่าชายเลน ให้ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน และมีหอดูนกสูงกว่า 12 ม. ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปดูนก ชมวิว
และยังมีเส้นทางเดินสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านริมน้ำ ที่มีบ้านเรือนมัสยิดสร้างเลาะเลียบไปตามริมคลอง มีเรือประมงพื้นบ้านจอดเรียงรายอยู่ในลำคลอง หรือจะล่องเรือชมบ้านเรือน ป่าชายเลน วิถีชีวิตริมคลอง ริมปากอ่าว ชมการทำประมงพื้นบ้าน และก็อย่าลืมแวะไปอุดหนุนซื้อสิ้นค้าโอทอปขึ้นชื่อ คือ งอบน้ำเชี่ยว เป็นงอบ (หมวก) ทำด้วยใบจาก งานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ ที่บรรพบุรุษชาวตราดสืบทอดกันมาช้านาน
ชุมชนสุดท้ายที่แนะนำ คือ “ชุมชนบ้านสลักคอก” ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ต.เกาะช้าง กิ่งอำเภอเกาะช้าง จ.ตราด ชุมชนนี้มีรางวัลการันตี เป็นรางวัลชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2550 ที่หมู่บ้านสลักคอก เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ มีอ่าวสลักคอกเป็นอ่าวที่เว้าลึกเข้ามาในแผ่นดิน มีปากทางออกทะเลเป็นช่องแคบๆ สองฟากของอ่าวเป็นป่าโกงกางที่ยังสมบูรณ์ เป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ ที่เงียบสงบ
เมื่อเดินทางมาที่บ้านสลักคอก นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มีชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอกจัดขึ้น อาทิ การนั่งเรือมาดชมบรรยกาศป่าโกงกาง ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ชื่นชมธรรมชาติที่งดงามของอ่าวสลักคอก และในยามเย็น ยามค่ำคืน จะนั่งเรือชมบรรยากาศพร้อมรับประทานอาหารเย็นบนเรือก็มีบริการด้วย
นอกจากนี้ยังมีบริการเรือคายัคให้พายเล่นลัดเลาะไปตามป่าโกงกางและชมอ่าวสลักคอกที่สวยงาม หรือจะไปเดินศึกษาเส้นทางธรรมชาติบ้านสลักคอก ศึกษาป่าชายเลน ซึ่งเป็นสะพานปูนยาวประมาณ 2 กม. มีป้ายบอกเล่าเรื่องราวให้ได้รับความรู้กัน
และนี่ก็คือ 4 ชุมชนที่น่าเดินทางไปท่องเที่ยว เพื่อไปสัมผัสกับรูปแบบ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ที่ตระหนักและใส่ใจถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้อยู่คู่กับการท่องเที่ยวไปอีกนานแสนนาน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สำหรับผู้ที่สนใจการท่องเที่ยวโดยชุมชน สามารถติดต่อไปยังชุมชนทั้ง 4 ได้ ดังนี้ ชุมชนบ้านห้วยแรง โทร. 08-9247-9648, 08-1964-6441 ชุมชนรักษ์คลองบางพระ โทร. 08-1428-1909 ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว โทร. 0-3953-2959 ชุมชนบ้านสลักคอก โทร. 08-9247-9648, 08-1964-6441