โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
มองเห็นคลองแสนแสบทีไร ฉันก็นึกภาพไม่ออกทุกทีว่าไอ้ขวัญกับอีเรียมแห่งทุ่งบางกะปิจะลงไปเล่นน้ำในคลองกันได้ยังไง ด้วยความที่มันช่างเน่าสนิทเสียจริง แต่มีคนพูดให้ฟังบ่อยๆว่า อย่าเพิ่งเอาภาพที่เห็นมาตัดสินว่าคลองแสนแสบจะเน่าสนิทไปทั้งสาย เพราะคลองแสนแสบน้ำใสๆ มีปลาแหวกว่ายสำราญใจนั้นก็มีให้เห็น แถมอยู่ในกรุงเทพฯเสียด้วย แต่เป็นกรุงเทพฯชั้นนอกที่ "มีนบุรี" นั่นเอง
สำหรับเมืองมีนบุรีนั้น มีความเป็นมาที่ยาวนาน และยังเป็นเมืองสำคัญในอดีตอีกด้วย โดยแต่เดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ทรงโปรดเกล้าฯให้รวมเอาท้องที่อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอเจียรดับ และอำเภอหนองจอก รวมเป็นเมืองเดียวกันและมีฐานะเทียบเท่าจังหวัด ขนานนามว่าเป็น "เมืองมีนบุรี" ซึ่งหมายถึงเมืองปลา เพื่อให้คู่กับเมืองธัญบุรี หรือเมืองข้าวนั่นเอง
แต่มาภายหลังได้มีการยุบท้องที่เมืองมีนบุรีลงให้เหลือฐานะเป็นเพียงอำเภอ และต่อมาเมื่อได้มีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน อำเภอมีนบุรีก็เปลี่ยนฐานะมาเป็นเขตมีนบุรีอย่างในปัจจุบัน
เรามาเรียนรู้เรื่องราวของเมืองมีนกันก่อนที่ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองมีนบุรี" ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณสำนักงานเขตมีนบุรี ในอาคารไม้ยกพื้นหลังใหญ่ ซึ่งเคยใช้เป็นศาลาว่าการเมืองมีนบุรีมาก่อน แต่ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร และใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้เราได้เข้าไปชมกัน
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นห้องต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวแต่ละอย่าง เช่น ประวัติศาสตร์การตั้งเมืองมีนบุรี เขตมีนบุรีในปัจจุบัน ส่วนจัดแสดงเฉลิมพระเกียรติที่มีเก้าอี้ที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จมาเยือน ตั้งจัดแสดงไว้
นอกจากนั้นก็ยังมีส่วนการแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆในอดีตของผู้คนในย่านนี้ ทั้งเครื่องมือเกี่ยวกับการเกษตร เครื่องมือจับปลา รวมไปถึงข้าวของในบ้านเรือนอย่างโทรศัพท์ นาฬิกา พัดลมหน้าตาโบราณๆ อีกด้วย
เดินชมข้าวของเหล่านี้ไปแล้วฉันก็ไปสะดุดกับช่องเล็กๆบนพื้นอาคาร ที่มีขนาดให้คนพอลอดลงไปได้ ทีแรกนึกว่าเป็นช่องระบายอากาศจากใต้ถุนเบื้องล่าง แต่ที่ไหนได้ ช่องเล็กๆนี้กลับเป็นช่องทางลงไปยังคุกซึ่งอยู่ใต้ถุนของอาคาร เคยใช้ขังนักโทษเมื่อในอดีตที่ยังเป็นเมืองมีนบุรีอยู่นั่นเอง
ได้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์คร่าวๆ ของเมืองมีนบุรีกันแล้ว คราวนี้ไปดูบรรยากาศโดยรอบกันบ้างดีกว่า จากสำนักงานเขตเราเดินข้ามฝั่งถนนมายังสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซึ่งด้านหลังสวนอยู่ติดกับคลองแสนแสบ
สำหรับประวัติของคลองสายนี้คร่าวๆ ก็คือ คลองแสนแสบเป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางเดินทัพไปทำสงครามกับญวน เป็นการขุดเชื่อมคลองหลายๆแห่งเข้าด้วยกัน ตั้งแต่บริเวณวัดสระเกศ ภูเขาทอง ไปจนถึงบางปะกง ฉะเชิงเทรา เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง และยังมีประโยชน์ต่อเนื่องในการคมนาคมมาจนปัจจุบัน และเส้นทางคลองแสนแสบนี้ ก็เคยเป็นเส้นทางเสด็จประพาสของรัชกาลที่ 5 รวมถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯก็เคยเสด็จล่องคลองแสนแสบนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับชื่อที่มาของ "คลองแสนแสบ" นั้น ส่วนมากจะเชื่อตามคำบันทึกของนายดี.โอ.คิง นักสำรวจชาวอังกฤษที่บันทึกไว้ว่า "...คลองนี้ยาวถึง 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯกับแม่น้ำบางปะกง...คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์...ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ..." จึงเป็นที่มาของชื่อแสนแสบ เพราะยุงเยอะจนต้องเกาแสบไปทั้งตัว
แต่มีที่มาอีกอย่างหนึ่งที่กล่าวไว้น่าสนใจว่า คำว่าแสนแสบนั้นน่าจะมาจากภาษามลายูมากกว่า เพราะเมื่อมีการขุดคลองนี้ขึ้น ก็ได้มีการอพยพคนจากทางใต้มาอาศัยอยู่แถบนี้กันมาก และคนมลายูก็เรียกคลองสายนี้ว่า "สุไหงแซนแญบ" หรือคลองที่เงียบสงบ โดยสุไหงแปลว่าคลองหรือแม่น้ำ และแซนแญบหมายถึง เงียบสงบ ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันไปเป็นแสนแสบ
ในมีนบุรีนี้เองที่ทำให้ฉันเริ่มเห็นภาพคลองสวยน้ำใสแทนภาพคลองดำน้ำเน่า แม้จะน้ำไม่ใสแจ๋วราวกับกระจก แต่ก็ต้องถือว่าคุณภาพน้ำบริเวณนี้อยู่ในขั้นดี วัดได้จากการที่มีปลามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ริมน้ำยังมีชาวบ้านลงทอดแห ยกยอจับปลา ยังมีคนลงแหวกว่ายอยู่ในคลอง ก็ต้องถือว่าน้ำในคลองนี้ยังมีคุณภาพดีอยู่ หากเทียบต้นคลองกับปลายคลองแล้วก็แทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นคลองสายเดียวกัน
และในช่วงต้นปีหน้า ทางเขตมีนบุรีเขาก็มีโครงการจะทำตลาดน้ำเมืองมีนบุรีอยู่ในคลองแสนแสบ บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แห่งนี้ ก็เชื่อว่าจะดึงดูดให้หลายๆคนมาท่องเที่ยวภายในเขต ชมคลองแสนแสบสวยๆ ในบรรยากาศดีๆกันมากขึ้นแน่นอน
ว่ากันเรื่องคลองมาเสียยาว เกือบลืมพาไปเที่ยวเสียแล้ว เราเดินเท้าจากสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 มาทางตลาดมีนบุรี แล้วเดินข้ามสะพานมายัง "ศาลเจ้าเจียวตี่เหล่าเอี๊ย" ศาลเจ้าเล็กๆ แต่งดงาม และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในย่านนี้
บริเวณด้านหลังศาลเจ้านั้น เป็นที่ตั้งของ "ตลาดเก่ามีนบุรี" ตลาดเก่าแก่อายุร่วมร้อยปีริมคลองแสนแสบที่เคยเป็นแหล่งค้าขายคึกคักในอดีต บริเวณนี้เป็นตลาดขนาดใหญ่กว่า 200 ห้อง และไม่ได้มีหน้าตาเป็นห้องแถวไม้ริมน้ำเหมือนตลาดเก่าอื่นๆที่เราเคยเห็นกันบ่อยๆ แต่ตลาดห้องแถวที่นี่เป็นห้องแถวก่อด้วยอิฐไม่ฉาบปูน สร้างเป็นแถวยาวเรียงกันเป็นล็อกๆ
แต่ตอนนี้บรรยากาศของตลาดเก่ามีนบุรีกลายเป็นตลาดร้าง เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2538 สร้างความเสียหายและความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนในตลาดเป็นอย่างยิ่ง หลายๆคนจึงไม่อยากพักอาศัยอยู่ที่เดิม ต่างพากันย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ปิดบ้านไว้เฉยๆ แวะเวียนมาดูแลบ้างเป็นครั้งคราว ทำให้ภายในตลาดที่เคยคึกคักหลงเหลือแต่เพียงร้านขายของชำ 3-4 ร้าน และมีผู้คนอาศัยอยู่กันบางตา ส่วนตัวตลาดก็ได้ย้ายไปเปิดที่ใหม่บริเวณฝั่งตรงข้ามคลองแสนแสบ เรียกชื่อว่าตลาดใหม่มีนบุรี
แม้จะเป็นตลาดร้าง แต่ฉันว่าที่ตลาดเก่ามีนบุรีนี้ก็ดูมีเสน่ห์ไปอีกแบบ เดินชมบรรยากาศของห้องแถวก่ออิฐนี้ไปสักพักก็ชักเริ่มรู้สึกคล้ายกับไปเดินอยู่ในเมืองจีน นี่ถ้าเปลี่ยนจากหลังคาสังกะสีเป็นหลังคากระเบื้องแบบจีน แล้วมีสะพานอิฐโค้งข้ามคลองเสียหน่อยก็ใช่เลย นอกจากนั้นที่นี่ยังใช้เป็นฉากถ่ายหนังถ่ายละครหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องผีๆ เพราะบรรยากาศของตลาดบางส่วนก็ดูเงียบสงัดเอาเสียจริงๆ
ถ่ายรูปตลาดเก่าเป็นที่ระลึกไปพอสมควร คราวนี้ก็ได้เวลาสัมผัสคลองแสนแสบกันอย่างใกล้ชิดกันแล้ว โดยจากบริเวณตลาดเก่า เราจะลงเรือล่องไปชมมัสยิดกันต่อ การนั่งเรือในคลองแสนแสบบริเวณนี้ไม่ต้องก้มหน้าก้มตาหรือเอามือคอยบังกลัวน้ำกระเซ็นมาโดนแต่อย่างใด เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าน้ำในคลองบริเวณนี้ไว้ใจได้ สองข้างทางระหว่างนั่งเรือก็ยังได้ชมบ้านเรือนริมน้ำสลับกับต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้มเป็นระยะๆ สังเกตว่าหลายๆบ้านจะทำกระชังเลี้ยงปลา และมียอขนาดใหญ่สำหรับจับปลา แสดงให้เห็นว่าลำคลองบริเวณนี้ยังคงสะอาดจริงๆ
ใช้เวลาไม่นานนักเราก็มาถึง "มัสยิดกมาลุลอิสลาม" หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า "สุเหร่าทรายกองดิน" การก่อตั้งมัสยิดแห่งนี้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยชาวอิสลามที่มาจากไทรบุรีตั้งแต่สมัยเริ่มขุดคลอง แต่ในสมัยนั้นจะใช้บ้านของคหบดีมุสลิมเป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา และต่อมาได้มีดำริจะสร้างมัสยิดขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวบ้านได้นำทรายกองใหญ่มากองไว้เพื่อเตรียมก่อสร้าง เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสผ่านมายังบริเวณนี้ พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นก็ทรงตรัสถามว่ากองทรายไว้บนดินทำไม เมื่อทรงทราบคำตอบก็ได้พระราชทานทรายสำหรับก่อสร้างมัสยิดเพิ่มเติมให้ด้วย ชาวบ้านจึงเรียกกันต่อมาว่าสุเหร่าทรายกองดิน
จากนั้นเราลงเรือกันต่อไปยัง "ชุมชนโซะมันร่วมพัฒนา" ที่นี่เราจะได้ซื้อของฝากเล็กๆน้อยๆ แต่อร่อยลิ้นอย่างน้ำพริกปลาดุกฟู น้ำพริกเผากุ้ง น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกตาแดง น้ำพริกกุ้งกรอบ น้ำพริกรวมมิตร ฯลฯ รวมถึงของกินเล่นอย่างกล้วยหยี กล้วยชิพ ถั่วสมุนไพร โดยทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของกลุ่มแม่บ้านตาลเดี่ยว ที่ร่วมมือกันเป็นกลุ่มเล็กๆผลิตอาหารและขนมต่างๆเพื่อเป็นรายได้เสริม กลุ่มแม่บ้านคอนเฟิร์มมาว่า น้ำพริกต่างๆเหล่านี้ไม่ใส่ผงชูรสและไม่ใส่สารกันบูด และฉันรับรองว่าอร่อยถูกลิ้นแน่นอน
เรามาปิดท้ายเส้นทางท่องเที่ยวกันที่ "ตลาดเก่าหนองจอก" ตลาดห้องแถวไม้ริมน้ำที่กำลังโรยรา แต่ก็มีเสน่ห์น่าชมไม่น้อย ในตลาดมีร้านยาจีน ยาสมุนไพร ร้านขายของชำของใช้สารพัดอย่าง หรือหากไม่ต้องการซื้ออะไรก็แค่เข้ามาเดินเล่นชมบรรยากาศเก่าๆ เก็บภาพประทับใจของสายน้ำคลองแสนแสบ ที่ไม่แสบเหมือนชื่อเลยสักนิดที่มีนบุรีแห่งนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ติดต่อสอบถามเรื่องเรือท่องเที่ยวได้ที่ คุณพีรพงษ์ ประธานชุมชนโซ๊ะมันร่วมพัฒนา โทร.08-1434-5795 สำนักงานเขตมีนบุรี โทร.0-2540-7901, 0-2540-7160 ต่อ 6687 และกองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โทร.0-2225-7612 ถึง 5
มองเห็นคลองแสนแสบทีไร ฉันก็นึกภาพไม่ออกทุกทีว่าไอ้ขวัญกับอีเรียมแห่งทุ่งบางกะปิจะลงไปเล่นน้ำในคลองกันได้ยังไง ด้วยความที่มันช่างเน่าสนิทเสียจริง แต่มีคนพูดให้ฟังบ่อยๆว่า อย่าเพิ่งเอาภาพที่เห็นมาตัดสินว่าคลองแสนแสบจะเน่าสนิทไปทั้งสาย เพราะคลองแสนแสบน้ำใสๆ มีปลาแหวกว่ายสำราญใจนั้นก็มีให้เห็น แถมอยู่ในกรุงเทพฯเสียด้วย แต่เป็นกรุงเทพฯชั้นนอกที่ "มีนบุรี" นั่นเอง
สำหรับเมืองมีนบุรีนั้น มีความเป็นมาที่ยาวนาน และยังเป็นเมืองสำคัญในอดีตอีกด้วย โดยแต่เดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ทรงโปรดเกล้าฯให้รวมเอาท้องที่อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอเจียรดับ และอำเภอหนองจอก รวมเป็นเมืองเดียวกันและมีฐานะเทียบเท่าจังหวัด ขนานนามว่าเป็น "เมืองมีนบุรี" ซึ่งหมายถึงเมืองปลา เพื่อให้คู่กับเมืองธัญบุรี หรือเมืองข้าวนั่นเอง
แต่มาภายหลังได้มีการยุบท้องที่เมืองมีนบุรีลงให้เหลือฐานะเป็นเพียงอำเภอ และต่อมาเมื่อได้มีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน อำเภอมีนบุรีก็เปลี่ยนฐานะมาเป็นเขตมีนบุรีอย่างในปัจจุบัน
เรามาเรียนรู้เรื่องราวของเมืองมีนกันก่อนที่ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมืองมีนบุรี" ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณสำนักงานเขตมีนบุรี ในอาคารไม้ยกพื้นหลังใหญ่ ซึ่งเคยใช้เป็นศาลาว่าการเมืองมีนบุรีมาก่อน แต่ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร และใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้เราได้เข้าไปชมกัน
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นห้องต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวแต่ละอย่าง เช่น ประวัติศาสตร์การตั้งเมืองมีนบุรี เขตมีนบุรีในปัจจุบัน ส่วนจัดแสดงเฉลิมพระเกียรติที่มีเก้าอี้ที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จมาเยือน ตั้งจัดแสดงไว้
นอกจากนั้นก็ยังมีส่วนการแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆในอดีตของผู้คนในย่านนี้ ทั้งเครื่องมือเกี่ยวกับการเกษตร เครื่องมือจับปลา รวมไปถึงข้าวของในบ้านเรือนอย่างโทรศัพท์ นาฬิกา พัดลมหน้าตาโบราณๆ อีกด้วย
เดินชมข้าวของเหล่านี้ไปแล้วฉันก็ไปสะดุดกับช่องเล็กๆบนพื้นอาคาร ที่มีขนาดให้คนพอลอดลงไปได้ ทีแรกนึกว่าเป็นช่องระบายอากาศจากใต้ถุนเบื้องล่าง แต่ที่ไหนได้ ช่องเล็กๆนี้กลับเป็นช่องทางลงไปยังคุกซึ่งอยู่ใต้ถุนของอาคาร เคยใช้ขังนักโทษเมื่อในอดีตที่ยังเป็นเมืองมีนบุรีอยู่นั่นเอง
ได้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์คร่าวๆ ของเมืองมีนบุรีกันแล้ว คราวนี้ไปดูบรรยากาศโดยรอบกันบ้างดีกว่า จากสำนักงานเขตเราเดินข้ามฝั่งถนนมายังสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซึ่งด้านหลังสวนอยู่ติดกับคลองแสนแสบ
สำหรับประวัติของคลองสายนี้คร่าวๆ ก็คือ คลองแสนแสบเป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางเดินทัพไปทำสงครามกับญวน เป็นการขุดเชื่อมคลองหลายๆแห่งเข้าด้วยกัน ตั้งแต่บริเวณวัดสระเกศ ภูเขาทอง ไปจนถึงบางปะกง ฉะเชิงเทรา เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง และยังมีประโยชน์ต่อเนื่องในการคมนาคมมาจนปัจจุบัน และเส้นทางคลองแสนแสบนี้ ก็เคยเป็นเส้นทางเสด็จประพาสของรัชกาลที่ 5 รวมถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯก็เคยเสด็จล่องคลองแสนแสบนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับชื่อที่มาของ "คลองแสนแสบ" นั้น ส่วนมากจะเชื่อตามคำบันทึกของนายดี.โอ.คิง นักสำรวจชาวอังกฤษที่บันทึกไว้ว่า "...คลองนี้ยาวถึง 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯกับแม่น้ำบางปะกง...คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์...ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ..." จึงเป็นที่มาของชื่อแสนแสบ เพราะยุงเยอะจนต้องเกาแสบไปทั้งตัว
แต่มีที่มาอีกอย่างหนึ่งที่กล่าวไว้น่าสนใจว่า คำว่าแสนแสบนั้นน่าจะมาจากภาษามลายูมากกว่า เพราะเมื่อมีการขุดคลองนี้ขึ้น ก็ได้มีการอพยพคนจากทางใต้มาอาศัยอยู่แถบนี้กันมาก และคนมลายูก็เรียกคลองสายนี้ว่า "สุไหงแซนแญบ" หรือคลองที่เงียบสงบ โดยสุไหงแปลว่าคลองหรือแม่น้ำ และแซนแญบหมายถึง เงียบสงบ ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันไปเป็นแสนแสบ
ในมีนบุรีนี้เองที่ทำให้ฉันเริ่มเห็นภาพคลองสวยน้ำใสแทนภาพคลองดำน้ำเน่า แม้จะน้ำไม่ใสแจ๋วราวกับกระจก แต่ก็ต้องถือว่าคุณภาพน้ำบริเวณนี้อยู่ในขั้นดี วัดได้จากการที่มีปลามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ริมน้ำยังมีชาวบ้านลงทอดแห ยกยอจับปลา ยังมีคนลงแหวกว่ายอยู่ในคลอง ก็ต้องถือว่าน้ำในคลองนี้ยังมีคุณภาพดีอยู่ หากเทียบต้นคลองกับปลายคลองแล้วก็แทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นคลองสายเดียวกัน
และในช่วงต้นปีหน้า ทางเขตมีนบุรีเขาก็มีโครงการจะทำตลาดน้ำเมืองมีนบุรีอยู่ในคลองแสนแสบ บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แห่งนี้ ก็เชื่อว่าจะดึงดูดให้หลายๆคนมาท่องเที่ยวภายในเขต ชมคลองแสนแสบสวยๆ ในบรรยากาศดีๆกันมากขึ้นแน่นอน
ว่ากันเรื่องคลองมาเสียยาว เกือบลืมพาไปเที่ยวเสียแล้ว เราเดินเท้าจากสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 มาทางตลาดมีนบุรี แล้วเดินข้ามสะพานมายัง "ศาลเจ้าเจียวตี่เหล่าเอี๊ย" ศาลเจ้าเล็กๆ แต่งดงาม และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในย่านนี้
บริเวณด้านหลังศาลเจ้านั้น เป็นที่ตั้งของ "ตลาดเก่ามีนบุรี" ตลาดเก่าแก่อายุร่วมร้อยปีริมคลองแสนแสบที่เคยเป็นแหล่งค้าขายคึกคักในอดีต บริเวณนี้เป็นตลาดขนาดใหญ่กว่า 200 ห้อง และไม่ได้มีหน้าตาเป็นห้องแถวไม้ริมน้ำเหมือนตลาดเก่าอื่นๆที่เราเคยเห็นกันบ่อยๆ แต่ตลาดห้องแถวที่นี่เป็นห้องแถวก่อด้วยอิฐไม่ฉาบปูน สร้างเป็นแถวยาวเรียงกันเป็นล็อกๆ
แต่ตอนนี้บรรยากาศของตลาดเก่ามีนบุรีกลายเป็นตลาดร้าง เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2538 สร้างความเสียหายและความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนในตลาดเป็นอย่างยิ่ง หลายๆคนจึงไม่อยากพักอาศัยอยู่ที่เดิม ต่างพากันย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ปิดบ้านไว้เฉยๆ แวะเวียนมาดูแลบ้างเป็นครั้งคราว ทำให้ภายในตลาดที่เคยคึกคักหลงเหลือแต่เพียงร้านขายของชำ 3-4 ร้าน และมีผู้คนอาศัยอยู่กันบางตา ส่วนตัวตลาดก็ได้ย้ายไปเปิดที่ใหม่บริเวณฝั่งตรงข้ามคลองแสนแสบ เรียกชื่อว่าตลาดใหม่มีนบุรี
แม้จะเป็นตลาดร้าง แต่ฉันว่าที่ตลาดเก่ามีนบุรีนี้ก็ดูมีเสน่ห์ไปอีกแบบ เดินชมบรรยากาศของห้องแถวก่ออิฐนี้ไปสักพักก็ชักเริ่มรู้สึกคล้ายกับไปเดินอยู่ในเมืองจีน นี่ถ้าเปลี่ยนจากหลังคาสังกะสีเป็นหลังคากระเบื้องแบบจีน แล้วมีสะพานอิฐโค้งข้ามคลองเสียหน่อยก็ใช่เลย นอกจากนั้นที่นี่ยังใช้เป็นฉากถ่ายหนังถ่ายละครหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องผีๆ เพราะบรรยากาศของตลาดบางส่วนก็ดูเงียบสงัดเอาเสียจริงๆ
ถ่ายรูปตลาดเก่าเป็นที่ระลึกไปพอสมควร คราวนี้ก็ได้เวลาสัมผัสคลองแสนแสบกันอย่างใกล้ชิดกันแล้ว โดยจากบริเวณตลาดเก่า เราจะลงเรือล่องไปชมมัสยิดกันต่อ การนั่งเรือในคลองแสนแสบบริเวณนี้ไม่ต้องก้มหน้าก้มตาหรือเอามือคอยบังกลัวน้ำกระเซ็นมาโดนแต่อย่างใด เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าน้ำในคลองบริเวณนี้ไว้ใจได้ สองข้างทางระหว่างนั่งเรือก็ยังได้ชมบ้านเรือนริมน้ำสลับกับต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้มเป็นระยะๆ สังเกตว่าหลายๆบ้านจะทำกระชังเลี้ยงปลา และมียอขนาดใหญ่สำหรับจับปลา แสดงให้เห็นว่าลำคลองบริเวณนี้ยังคงสะอาดจริงๆ
ใช้เวลาไม่นานนักเราก็มาถึง "มัสยิดกมาลุลอิสลาม" หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า "สุเหร่าทรายกองดิน" การก่อตั้งมัสยิดแห่งนี้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยชาวอิสลามที่มาจากไทรบุรีตั้งแต่สมัยเริ่มขุดคลอง แต่ในสมัยนั้นจะใช้บ้านของคหบดีมุสลิมเป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา และต่อมาได้มีดำริจะสร้างมัสยิดขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวบ้านได้นำทรายกองใหญ่มากองไว้เพื่อเตรียมก่อสร้าง เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสผ่านมายังบริเวณนี้ พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นก็ทรงตรัสถามว่ากองทรายไว้บนดินทำไม เมื่อทรงทราบคำตอบก็ได้พระราชทานทรายสำหรับก่อสร้างมัสยิดเพิ่มเติมให้ด้วย ชาวบ้านจึงเรียกกันต่อมาว่าสุเหร่าทรายกองดิน
จากนั้นเราลงเรือกันต่อไปยัง "ชุมชนโซะมันร่วมพัฒนา" ที่นี่เราจะได้ซื้อของฝากเล็กๆน้อยๆ แต่อร่อยลิ้นอย่างน้ำพริกปลาดุกฟู น้ำพริกเผากุ้ง น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกตาแดง น้ำพริกกุ้งกรอบ น้ำพริกรวมมิตร ฯลฯ รวมถึงของกินเล่นอย่างกล้วยหยี กล้วยชิพ ถั่วสมุนไพร โดยทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของกลุ่มแม่บ้านตาลเดี่ยว ที่ร่วมมือกันเป็นกลุ่มเล็กๆผลิตอาหารและขนมต่างๆเพื่อเป็นรายได้เสริม กลุ่มแม่บ้านคอนเฟิร์มมาว่า น้ำพริกต่างๆเหล่านี้ไม่ใส่ผงชูรสและไม่ใส่สารกันบูด และฉันรับรองว่าอร่อยถูกลิ้นแน่นอน
เรามาปิดท้ายเส้นทางท่องเที่ยวกันที่ "ตลาดเก่าหนองจอก" ตลาดห้องแถวไม้ริมน้ำที่กำลังโรยรา แต่ก็มีเสน่ห์น่าชมไม่น้อย ในตลาดมีร้านยาจีน ยาสมุนไพร ร้านขายของชำของใช้สารพัดอย่าง หรือหากไม่ต้องการซื้ออะไรก็แค่เข้ามาเดินเล่นชมบรรยากาศเก่าๆ เก็บภาพประทับใจของสายน้ำคลองแสนแสบ ที่ไม่แสบเหมือนชื่อเลยสักนิดที่มีนบุรีแห่งนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ติดต่อสอบถามเรื่องเรือท่องเที่ยวได้ที่ คุณพีรพงษ์ ประธานชุมชนโซ๊ะมันร่วมพัฒนา โทร.08-1434-5795 สำนักงานเขตมีนบุรี โทร.0-2540-7901, 0-2540-7160 ต่อ 6687 และกองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โทร.0-2225-7612 ถึง 5