xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวทะเลกรุงเทพฯ ชมป่าชายเลน สำรวจแผ่นดินที่หายไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : อนันต์ วิกิณิยะธนี – มูลนิธิกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย
บรรยากาศชุมชนริมคลองพิทยาลงกรณ์
กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของเอเชีย คราคร่ำไปด้วยตึกรามบ้านช่องและถนนที่กว้างใหญ่ หากแต่ในความวุ่นวายของเมืองหลวงแห่งนี้ ยังมีพื้นที่เล็กๆ อีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่อันเงียบสงบและยังคงความเป็นธรรมชาติอันสวยงามอยู่เป็นอย่างมาก เรากำลังพูดถึงทะเลกรุงเทพฯ หรือที่รู้จักกันว่าชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งอยู่ในพื้นที่แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครนี่เอง

จากการลองสอบถามคนทั่วไปพบว่าชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่ากรุงเทพมหานครมีอาณาเขตติดกับทะเล ประกอบกับที่ผ่านมาสภาพถนนไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางจึงทำให้ทะเลกรุงเทพฯ ไม่เป็นที่นิยมนักสำหรับวันหยุดพักผ่อน ผู้ที่ไปเยี่ยมชมทะเลกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานราชการที่เดินทางไปในลักษณะหมู่คณะเพื่อการทัศนศึกษา สำหรับกิจกรรมหลักของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้คือการนั่งเรือออกไปที่ปากอ่าวเพื่อชมทะเล แวะดูหลักเขตกรุงเทพมหานครซึ่งตั้งอยู่กลางน้ำห่างจากแนวชายฝั่งไปประมาณ 500 เมตร และพักรับประทานอาหารที่ร้านริมทะเล แต่บริเวณที่เราจะไปสำรวจในวันนี้คือพื้นที่ป่าชายเลนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชายทะเลบางขุนเทียน และนักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมทะเลกรุงเทพฯ น้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสไปสำรวจสถานที่แห่งนี้ เนื่องจากไม่มีเส้นทางคมนาคมให้เข้าถึงได้ด้วยรถยนต์หรือเรือ การเข้าไปเยี่ยมชมจึงต้องอาศัยการเดินล้วนๆ เส้นทางศึกษาธรรมชาติและสำรวจป่าชายเลนเส้นนี้จึงร้างผู้คนและเงียบเหงาเป็นพิเศษ จะเรียกว่าเป็นสถานที่ unseen อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยก็คงไม่ผิดนัก
หลักเขตกรุงเทพมหานครที่ไปอยู่กลางทะเลอันนี้ พึ่งได้รับการกู้ขึ้นมาจากใต้น้ำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
สำหรับการเดินทางไปชมป่าชายเลนบางขุนเทียนนั้นเริ่มจากที่ถนนพระราม 2 เลี้ยวเข้าถนนบางขุนเทียน-ชายทะเลซึ่งในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงลาดยางเสร็จสมบูรณ์ตลอดทั้งเส้นแล้ว ขับรถตรงเข้าไปประมาณ 15 กิโลเมตรจนสุดทาง จะพบ 3 แยกให้เลี้ยวขวา (ทางไปสมุทรสาคร) และตรงไปอีกเพียง 200 เมตรจะพบกับโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ สามารถนำรถเข้าไปฝากจอดในโรงเรียนได้ ตรงข้ามโรงเรียนจะพบทางเข้าชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ จากจุดนี้สามารถเลือกที่จะเดิน เช่ารถจักรยานจากทางโรงเรียน หรือจ้างรถจักรยานยนต์ให้เข้าไปส่งก็ได้ โดยต้องเดินทางเข้าไปด้านในระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะเส้นทางเป็นถนนคอนกรีตขนาดเล็กสำหรับให้คนและรถจักรยานยนต์สัญจร เมื่อมาสุดทางจะพบกับชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งสร้างเป็นสะพานไม้ทอดผ่านเข้าไปในป่าชายเลนมีปลายทางที่ริมทะเล มีระยะทางโดยรวม 1.7 กิโลเมตร สำหรับสะพานไม้นี้จัดสร้างโดยเขตบางขุนเทียนบนพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสมาชมและศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศป่าชายเลน โดยผู้ที่นำรถจักรยานหรือจักรยานยนต์เข้ามาจะต้องจอดรถไว้ที่บริเวณทางเข้า ไม่อนุญาตให้ขับขึ้นไปบนสะพานทางเดิน
บรรยากาศบริเวณบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวบ้าน
บรรยากาศตลอดเส้นทางชมป่าชายเลนมีความร่มรื่นจากการที่สองข้างทางมีต้นโกงกางและแสมขนาดใหญ่ปกคลุมอย่างหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีศาลาสำหรับนั่งพักผ่อนอยู่เป็นระยะ สิ่งหนึ่งที่ผู้เยี่ยมชมป่าชายเลนจะได้ยินเสมอคือเสียงดัง ป๊อก-แป๊กอยู่เป็นช่วงๆ ซึ่งเกิดจากกุ้งชนิดหนึ่งที่มีก้ามขวาขนาดใหญ่มีชื่อเรียกว่ากุ้งดีดขัน และยังมีสัตว์อื่นๆ ที่พบได้ในพื้นที่นี้ เช่น ปลาตีน ปูก้ามดาบ หอยชนิดต่างๆ ส่วนบริเวณริมทะเลสามารถพบนกได้หลายชนิด เช่นนกยางและนกนางนวล ซึ่งถือได้ว่าป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันป่าชายเลนผืนนี้กำลังถูกทำลายไปจนแทบจะหมดสิ้นแล้ว จากข้อมูลที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าในอดีตกรุงเทพมหานครเคยมีป่าชายเลนประมาณ 2,750 ไร่ แต่ต่อมาได้มีการนำพื้นที่บริเวณนี้ไปจัดสรรและพัฒนาเป็นที่ดินทำกิน เช่นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำนาเกลือ รวมไปถึงการขยายตัวของชุมชน นอกจากนี้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงและต่อเนื่องอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยรวมก็เป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนกรุงเทพฯ ลดลงไปอย่างมาก โดยพบว่าปัจจุบันกรุงเทพมหานครเหลือพื้นที่ป่าชายเลนไม่ถึง 1,000 ไร่ โดยป่าเหล่านี้มีลักษณะเป็นหย่อมเล็กๆ ส่วนพื้นที่ป่าเดิมจมอยู่ในน้ำทะเลหมดแล้ว
บรรยากาศอันรมรื่นของทางเดิน ปกคลุมไปด้วยต้นแสมและโกงกาง
เมื่อเราเดินมาใกล้ถึงปลายทางซึ่งเป็นจุดชมวิวทะเล จะได้ยินเสียงเครื่องเรือของชาวบ้านแว่วมาในระยะไม่ไกล แสงสว่างจากท้องทะเลส่องผ่านปากทางร่มไม้สองข้างที่โอบตัวเป็นเหมือนอุโมงค์ เมื่อพ้นบริเวณร่มไม้มาแล้วจะพบศาลานั่งเล่นขนาบอยู่ทั้งสองข้างของทางเดินและปรากฏผืนน้ำทะเลอยู่เบื้องหน้า ซึ่งแม้น้ำทะเลจะไม่ได้มีสีสันสวยงามเหมือนแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อแห่งอื่น แต่ที่แห่งนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นทะเลแห่งเดียวของเมืองหลวงอันทันสมัยนี้ โดยสะพานไม้จะทอดยาวออกไปในทะเลและที่สุดทางทำเป็นจุดยืนชมวิว โดยเมื่อมองออกไปในระยะไม่ไกลจะพบฝูงนกยางและนกนางนวลกำลังพักผ่อนและหาอาหารอยู่บริเวณแนวชายฝั่งเป็นจำนวนมาก
แนวไม้ไผ่ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการรับมือปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
และที่ตรงนี้เองที่เราได้เห็นถึงปรากฏการณ์กัดเซาะชายฝั่งที่ได้ยินตามสื่อต่างๆ อยู่เป็นประจำ สิ่งที่สังเกตเห็นคือแนวต้นแสมที่ล้มระเนระนาดและประตูระบายน้ำเข้านากุ้งที่จมอยู่กลางทะเลซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของการสูญเสียแผ่นดินชายฝั่งซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชาวกรุงเทพฯ ทุกคน แต่สิ่งที่ทำให้เราพอชื้นใจขึ้นมาบ้างคือได้เห็นมีการเริ่มสร้างแนวไม้ไผ่เพื่อลดแรงปะทะของคลื่นในบริเวณนี้แล้ว จากคำบอกเล่าของอาจารย์เกรียงศักดิ์ ฤกษ์งาม หรือครูแดง อาจารย์ประจำโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์และผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน การกัดเซาะชายฝั่งกรุงเทพฯ ได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ในอดีตปัญหานี้ไม่ได้รับการใส่ใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากนัก แต่เมื่อชาวบ้านในท้องที่เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น จึงได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จนผลักดันให้เกิดเป็นโครงการความร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน
สภาพแนวต้นแสมที่ล้มลงก่อนหน้าที่จะมีการสร้างแนวไม้ไผ่เพื่อลดความแรงคลื่น
สำหรับการแก้ปัญหาการกัดเซาะนั้น เดิมทางกรุงเทพมหานครได้เคยจัดสร้างแนวหินทิ้งบริเวณชายฝั่งเพื่อลดแรงปะทะของคลื่น ต่อมาได้เสนอการสร้างรอดักทรายรูปตัวทีหรือ “ที-กรอยน์” (T-Groin) โดยการวาง “ใส้กรอกทราย” แต่ชาวบ้านในพื้นที่ได้คัดค้านแนวทางนี้ โดยอธิบายว่าเมื่อใส้กรอกทรายแตกออกจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนจากการกระจายตัวของทรายซึ่งไม่ใช่ส่วนประกอบตามธรรมชาติของหาดเลน นอกจากนี้ครูแดงยังเล่าต่อไปว่าการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งด้วยการสร้างแนวไม้ไผ่นั้น ชาวบางขุนเทียนได้ต้นแบบมาจากตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งประสบปัญหาเดียวกัน ปรากฏว่าแนวไม้ไผ่นั้นนอกจากจะช่วยลดแรงปะทะของคลื่นได้ดีแล้ว ยังช่วยในการกักเก็บตะกอนที่อยู่ในน้ำ ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนที่จะงอกกลับมาเป็นพื้นดินอีกครั้งด้วย อีกทั้งไม้ไผ่ยังเป็นวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ และได้ช่วยสร้างงานให้กับชาวบ้านในจังหวัดอื่นที่ปลูกต้นไผ่เพื่อขาย และชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รับการว่าจ้างให้ปักแนวไม่ไผ่อีกด้วย โดยที่ผ่านมาโครงการสร้างแนวไม้ไผ่นำร่องในเขตทะเลบางขุนเทียนความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิชุมชนไทย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่นโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและแรงงานในพื้นที่
ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางขุนเทียน
นอกจากการเดินศึกษาเส้นทางป่าชายเลนแล้ว สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้ในการมาเที่ยวชมทะเลกรุงเทพฯ ครั้งนี้คือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางขุนเทียนซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์นั่นเอง ซึ่งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้ มีการจัดแสดงประวัติความเป็นมา รวมไปถึงข้อมูลสถานที่ต่างๆ ของเขตบางขุนเทียนเอาไว้อย่างละเอียด โดยมีการแยกหมวดหมู่การจัดแสดงไว้ดังนี้: ภาพรวมกรุงเทพฯ, บางขุนเทียนบนเส้นทางประวัติศาสตร์, สวนบางขุนเทียน, ชาวพื้นเมืองในบางขุนเทียน, บุคคลสำคัญของบางขุนเทียน, สถานที่สำคัญของบางขุนเทียน, ทะเลกรุงเทพฯ, และบางขุนเทียนวันนี้ นอกจากนี้ภายในพื้นที่ด้านหลังของโรงเรียนยังได้มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนบางขุนเทียน โดยมีการปลูกพืชชายเลนชนิดต่างๆ และจำลองวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่เขตบางขุนเทียนมาจัดแสดงให้ชมอย่างครบวงจร เรียกได้ว่าเป็นการย่อส่วนป่าชายเลนและชุมชนท้องถิ่นมาไว้ให้ชมได้ภายในพื้นที่จำลองแห่งนี้นั่นเอง นอกจากนี้ผู้เยี่ยมชมยังสามารถทดลองปลูกป่าชายเลนภายในแปลงสาธิตในบริเวณเดียวกันนี้ได้อีกด้วย

ก่อนเดินทางกลับเรายังได้แวะไปเที่ยวชมบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวบ้านและสัมผัสวิถีชีวิตการทำกินของคนในพื้นที่ ซึ่งในบริเวณนี้มีการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ หอยแครง และปูม้าอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อวัตถุดิบอาหารทะเลเหล่านี้ติดมือกลับบ้านได้ในราคาย่อมเยา หรือหากต้องการสัมผัสวิถีชีวิตลูกน้ำเค็มชาวบางขุนเทียนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น สามารถติดต่อขอค้างคืนแบบโฮมสเตย์ได้ที่บ้านในชุมชนแสนตอได้อีกด้วย ซึ่งการมาเยี่ยมชมป่าชายเลนและทะเลกรุงเทพฯ นอกจากจะได้มาเที่ยวทะเลโดยไม่ต้องขับรถไปไกลแล้ว ยังได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีโอกาสชิมอาหารทะเลที่อร่อยในราคาไม่แพงไปพร้อมกัน เห็นอย่างนี้แล้ววันว่างโอกาสต่อไป หากยังนึกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวไม่ออกหรือไม่อยากเดินทางไปไกล อย่าลืมนึกถึงชายทะเลบางขุนเทียนที่แสนสงบแห่งนี้ที่ซึ่งรอคอยการมาเยี่ยมชมของท่านเสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น