ชาวบางขุนเทียนพร้อมใจตบเท้าถามความคืบหน้า “สุขุมพันธุ์” แก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน พร้อมเสนอจัดตั้งกองทุนชดเชย ขณะที่ กทม.ส่งที่ปรึกษาผู้ว่าฯเจรจา เผยอนุมัติงบ 10 ล้านสร้างเขื่อนไม้ไผ่แล้ว
เมื่อเวลา 10.00 น.ที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีกลุ่มชาวบ้านซึ่งเรียกตัวเองว่า “เครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพ” และ “เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพ” กว่า 50 คน เดินทางมาชุมนุมและขอเข้าพบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียนที่เป็นปัญหามานานและผู้ว่าฯ กทม.ได้เคยรับปากกับชาวบ้านเมื่อครั้งหาเสียงว่าจะเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด แต่จนถึงขณะนี้ผู้ว่าฯ เข้ารับตำแหน่งกว่า 8 เดือนกลับยังไม่มีความชัดเจนจากกทม.ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ว่าจะดำเนินการอย่างไร ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจและ รปภ. ซึ่งได้มีการนำแผงเหล็กมาปิดกั้นทางเข้าออกอาคารอย่างแน่นหนา
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ กทม.ชี้แจงความชัดเจนทั้งหมดในการทำโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน และขอให้ชี้แจงเรื่องเงินงบประมาณฉุกเฉิน 10 ล้านบาทที่จะใช้เพื่อปักแนวเขื่อนไม้ไผ่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าว่าอยู่ในขั้นตอนใด และขอให้เครือข่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังเสนอให้ กทม.จัดตั้งกองทุนชดเชยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
จากนั้นเวลาประมาณ 10.30 น. ผู้ว่าฯ กทม.ได้ส่งผู้แทน ได้แก่ พ.ต.อ.สวัสดิ์ จำปาศรี และ นายถนอม อ่อนเกตุพล ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ลงมาพบและเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมพร้อมเชิญแกนนำและตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าประชุมชี้แจงที่ห้องประชุมโฆษก กทม. โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น
พ.ต.อ.สวัสดิ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมชี้แจงผ่านไปได้ด้วยดีไม่มีความขัดแย้งใดๆ ภายหลังกทม.ยืนยันนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่จะเดินหน้าโครงการแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้สำนักระบายน้ำ (สนน.) กทม.ได้ขออนุมัติงบประมาณ 690 ล้านบาทให้รัฐบาลพิจารณานำเข้าเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาอนุมัติแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในระหว่างการประชุมสภาระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.นี้
ขณะที่ในส่วนของงบประมาณฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 10 ล้านบาทเพื่อสร้างเขื่อนไม้ไผ่นั้น ล่าสุด คณะผู้บริหาร กทม.ได้อนุมัติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณและหาผู้รับเหมาทางระบบอีอ๊อกชั่น ซึ่งหากไม่มีข้อติดขัดก็คาดว่าน่าจะได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงเดือน พ.ย.นี้อย่างแน่นอน และกทม.จะขอความร่วมมือกับผู้รับเหมาที่ได้รับงานพิจารณาจ้างแรงงานชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนเรื่องการจัดตั้งกองทุนนั้นแม้จะมีข้อจำกัดทางราชการ แต่ กทม.ก็ยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในฐานะที่ปรึกษาและผู้ประสานงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังทราบผลการประชุมกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ต่างรู้สึกพอใจ จึงได้สลายการชุมนุมในเวลาประมาณ 13.00 น.