กทม.เตรียมของบรัฐบาล 300 ล้านสร้างซีออสแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายทะเลบางขุนเทียนระยะยาว ส่วนแก้เฉพาะหน้าเตรียมใช้งบ 10 ล้านสร้างเขื่อนไม้ไผ่กันคลื่นก่อน ขณะที่ชาวบ้านเตรียมทวงถามความคืบหน้า
นาย ประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน ด้วยการก่อสร้างเขื่อนกึ่งถาวรด้วยวัสดุสังเคราะห์จากไม้ผสมพลาสติก หรือซีออส ผลงานวิจัยของ ดร.ธนดล สัตตบงกช นักวิชาการจาก ม.เกษตรศาสตร์ ที่ผ่านการรับรองจากสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้วงเงินงบประมาณราว 300 ล้านบาทเศษ ว่า
จากเดิมที่ กทม.จะใช้บประมาณของ กทม.เองนั้น กทม.มีเหตุจำเป็นต้องปรับแผนเสนอขออุดหนุนจากทางรัฐบาลในฐานะส่วนกลางแทน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ไม่เฉพาะแต่กับพื้นที่ของ กทม.เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบด้วย
ดังนั้น ขณะนี้ในส่วนของ กทม.จึงมีเพียงการของบประมาณเร่งด่วน 10 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีสร้างเขื่อนไม้ไผ่ ซึ่งได้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้บริหาร กทม.ให้พิจารณาและได้รับการอนุมัติแล้ว อยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณโดยสำนักงบประมาณ กทม.ให้แก่ทางสำนักการระบายน้ำนำไปจัดซื้อจัดจ้างหาผู้รับเหมา คาดว่า ในเร็วๆ นี้ จะได้เริ่มดำเนินการปักไม้ไผ่เป็นการเฉพาะหน้าให้ได้ ส่วนงบใหญ่จากทางรัฐบาลนั้นคงต้องรออีกสักระยะหนึ่ง
รายงายข่าวแจ้งด้วยว่า ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ทางกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ 6 ชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ได้เตรียมรวมตัวกันเดินทางมาที่ศาลาว่าการ กทม.เพื่อทวงสัญญาและสอบถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ตลอดจนรัฐบาล ภายหลังเรียกร้องมากเป็นเวลากว่า 2 ปีเต็ม สูญเสียแนวถอยร่นแล้วกว่า 6-7 เมตร แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขณะนี้เริ่มเข้าฤดูมรสุม ชาวบ้านเริ่มคาดการณ์แนวโน้มมรสุมในปีนี้อาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา