xs
xsm
sm
md
lg

"บางกอกน้อย" วัดเลื่องชื่อ ร่ำลือเรือพระราชพิธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย หนุ่มลูกทุ่ง
หอพระไตรปิฎกที่วัดระฆังฯ
ในบรรดาวิธีเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหลาย ฉันขอยกให้การ "เดินเท้าท่องเที่ยว" เป็นวิธีที่ดีที่สุด ยิ่งเป็นการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯที่มีตรอกซอกซอยให้เดินลัดเลาะชมบรรยากาศ ก็จะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างใกล้ชิด อาจจะมีหลงทางบ้างบางครั้ง ก็ได้ใช้แผนที่ปากถามทางกันเป็นที่สนุกสนานไปอีกแบบ

ในวันนี้ฉันขอแนะนำเส้นทางเดินเที่ยวใน "เขตบางกอกน้อย" ซึ่งเป็นย่านที่สามารถเดินซอกแซกไปได้ทั่วถึงกัน โดยเริ่มต้นกันที่ "วัดระฆังโฆษิตาราม" มาได้ง่ายๆ เพียงแค่นั่งเรือข้ามฟากมาจากท่าช้าง วัดระฆังฯหรือแต่เดิมเรียกว่า "วัดบางหว้าใหญ่" นี้ เคยเป็นที่พำนักของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเกจิอาจารย์ที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกและเชี่ยวชาญในทางวิปัสสนา แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้วแต่พุทธศาสนิกชนก็ยังเคารพนับถือท่านอยู่ไม่เสื่อมคลาย จึงมีคนมากราบไหว้รูปหล่อของท่านที่ประดิษฐานอยู่ในวัดเป็นจำนวนมากทุกวัน
ช้อปปิ้งของมือสองที่ตลาดวังหลัง
หากมาที่วัดระฆังก็ไม่ควรพลาดชม "หอพระไตรปิฎก" ซึ่งแต่เดิมเป็นพระตำหนักที่ประทับของรัชกาลที่ 1 เมื่อยังทรงตำแหน่งเป็นพระราชวรินทร์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วจึงทรงโปรดเกล้าฯให้รื้อพระตำหนักมาถวายวัด และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อเป็นหอพระไตรปิฎก

จากวัดระฆังเดินลัดเลาะมาที่ "ตลาดวังหลัง" แถวท่าเรือพรานนก ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช ตลาดแห่งนี้ไม่ใช่ตลาดสด แต่เป็นแหล่งช้อปปิ้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของวัยรุ่น ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า โดยเฉพาะของมือสองนั้นถือเป็นจุดเด่นของตลาดแห่งนี้เลยทีเดียว หากใครอยากเลือกของมือสองสภาพดีๆก่อนใครก็ให้มาในวันพุธที่จะมีสินค้ามาลง แต่ก็ต้องอดทนกับผู้คนที่เดินเบียดเสียดกันหน่อย และไม่เพียงเป็นแหล่งช้อปปิ้งเท่านั้น แต่ยังเป็นย่านของกินอร่อยๆ หลากหลายอีกด้วย
ภายในพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช
ไหนๆก็ผ่าน "โรงพยาบาลศิริราช" แล้ว ก็มารู้จักกับโรงพยาบาลเก่าแก่แห่งนี้เสียหน่อย โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาด พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นชั่วคราวในที่ชุมชนรวม 48 ตำบล และเมื่อระงับการระบาดของโรคได้แล้วโรงพยาบาลจึงได้ปิดทำการ แต่พระองค์ทรงเห็นว่าหากมีโรงพยาบาลอยู่ก็จะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พสกนิกรได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรกขึ้นบริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)

ในขณะเตรียมการก่อสร้างนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสของพระองค์ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลง สร้างความเศร้าโศกให้แก่พระองค์ยิ่งนัก ต่อมาจึงทรงพระราชทานชื่อโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า "โรงศิริราชพยาบาล" หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียก "โรงพยาบาลวังหลัง" นั่นเอง
หลวงพ่อโบสถ์น้อยแห่งวัดอมรินทราราม
แม้ไม่ใช่คนป่วยแต่หากอยากจะมาเที่ยวที่โรงพยาบาลศิริราชก็สามารถทำได้ เพราะที่นี่มี "พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช" ที่เป็นการเก็บและจัดแสดงสิ่งของเพื่อนำมาจัดการเรียนการสอนของแต่ละภาควิชา โดยมีพิพิธภัณฑ์ให้ชมกันถึง 6 ห้องด้วยกัน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน พิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทย อวย เกตุสิงห์ พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา พิพิธภัณฑ์ ก่อนประวัติศาสตร์และห้องปฏิบัติการ สุด แสงวิเชียร และพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน

เดินเล่นเย็นๆในโรงพยาบาลกันแล้วคราวนี้เดินกันต่อมาอีกหน่อยที่ "วัดอมรินทราราม" หรือ "วัดบางหว้าน้อย" ที่มี "หลวงพ่อโบสถ์น้อย" เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัด โดยแต่เดิมนั้นวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อโบสถ์น้อยนั้นเคยเป็นพระอุโบสถมาก่อน แต่ภายหลังเมื่อมีการตัดเส้นทางรถไฟสายใต้เริ่มจากปากคลองบางกอกน้อยไปทางนครปฐมก็ทำให้ต้องรื้อพระอุโบสถด้านหน้าออกไปส่วนหนึ่งจนทำให้โบสถ์มีขนาดเล็กลง ต่อมาจึงเรียกพระพุทธรูปในโบสถ์นี้ว่าหลวงพ่อโบสถ์น้อยตามไปด้วย
บรรยากาศที่จะได้พบในชุมชนบ้านบุ
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เส้นทางรถไฟสายนี้ถูกโจมตีด้วยระเบิดอย่างหนัก ทำให้บริเวณวัดอมรินทรารามถูกระเบิดทำลายไปด้วยเป็นส่วนใหญ่ ด้วยความรุนแรงนั้นทำให้พระเศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยถึงกับหักพังลงมา สร้างความเศร้าเสียใจให้กับชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นอย่างยิ่ง

แต่ต่อมาก็ได้สร้างเศียรของหลวงพ่อขึ้นใหม่โดยชาวชุมชนบ้านช่างหล่อซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆวัด และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการหล่อพระพุทธรูป อีกทั้งได้สร้างพระอุโบสถใหม่แทนพระอุโบสถหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมด้วยเช่นกัน ส่วนหลวงพ่อโบสถ์น้อยก็ยังคงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในแถบนี้เช่นเดิม
หลวงพ่อศาสดา พระประธานภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม
เดินลัดเลาะกันต่อมาตามทางรถไฟ หากนึกถึงโกโบริและอังศุมาลินไปด้วยก็จะทำให้การเดินนี้มีรสชาติมากขึ้น เพราะบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยหรือสถานีรถไฟธนบุรีนี้เป็นจุดกำเนิดเรื่องราวความรักจากนวนิยายเรื่องคู่กรรม ที่เขียนโดยทมยันตี นำมาสร้างเป็นหนังเป็นละครหลายต่อหลายครั้ง เรียกน้ำตาคนดูได้หลายขัน บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ "โรงรถจักรธนบุรี" ซึ่งเป็นสถานที่บำรุงรักษาและซ่อมแซมรถจักรไอน้ำ ขวัญใจของคนรักรถไฟที่จะนำออกมาวิ่งเฉพาะในโอกาสสำคัญๆ เท่านั้น

ในตรอกเล็กๆ ข้างโรงรถจักรธนบุรีนี้เองก็เป็นชุมชนสำคัญอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นั่นก็คือ "ชุมชนบ้านบุ" ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่อพยพมาตั้งหมู่บ้านในราชธานีใหม่ ภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก ชาวบ้านที่อพยพมานี้ได้นำเอาวิชาความรู้ในการทำ "ขันลงหิน" ภาชนะโลหะชนิดหนึ่งที่ใช้วิธีการ "บุ" หรือการตีให้เข้ารูปติดตัวมาเป็นอาชีพ และสืบเชื้อสายถ่ายทอดวิชาช่างบุต่อเนื่องกันมาในชุมชนหลายชั่วอายุคน จนมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นหากได้แวะเวียนมาที่ชุมชนบ้านบุก็ยังจะได้เห็นการทำขันลงหินกันอยู่ แต่เหลืออยู่เพียงหลังเดียวเท่านั้นคือที่ "ขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา" ที่หากใครถูกใจขันลงหินชิ้นไหนก็ตกลงราคากันได้เลย
ชมเรือพระที่นั่งอันงดงามได้ที่พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี
และวัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านบุนั้นก็คือ "วัดสุวรรณารามฯ" หรือ "วัดทอง" ที่ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระศาสดา พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยเป็นพระประธาน อีกทั้งภายในพระอุโบสถยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเป็นฝีมือของบรมครูสองท่าน คือครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ ซึ่งวาดภาพจิตรกรรมประชันกันได้อย่างงดงาม อีกทั้งที่วัดสุวรรณฯนี้ยังมีผู้นิยมมาบนบานศาลกล่าวกับหลวงพ่อศาสดา และมักแก้บนด้วยการ "วิ่งม้าแก้บน" ที่ไม่ได้เอาม้าจริงๆมาวิ่ง แต่ใช้วิธีสมมติเอาผ้าขาวม้ามาผูกขมวดปมให้คล้ายหัวม้า และผู้วิ่งต้องส่งเสียงร้องฮี้ๆ ให้เหมือนขี่ม้าจริงๆ อีกด้วย

จากวัดสุวรรณารามฯคราวนี้ข้ามฝั่งคลองบางกอกน้อยมาอีกฝั่งหนึ่งเพื่อมาชม "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี" ที่หลายๆคนยังติดใจในภาพความงดงามของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก็สามารถมาชมเรือพระที่นั่งอย่างใกล้ชิดกันได้ที่นี่ โดยภายในพิพิธภัณฑ์ฯ จะจัดแสดงเรือพระราชพิธีสำคัญ 8 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ และเรือเอกชัยเหินหาว อีกทั้งยังมีเครื่องประกอบและสิ่งของเครื่องใช้ในพระราชพิธีต่างๆ จัดแสดงอยู่ด้วย เช่น บัลลังก์บุษบก บัลลังก์กัญญา พายชนิดต่าง ๆ และเครื่องแต่งกายของเหล่าฝีพาย เป็นต้น
แวะชมการทำที่นอนยัดนุ่น
มาปิดท้ายกันกับแหล่งท่องเที่ยวสุดท้าย ที่ "วัดดุสิตารามฯ" ซึ่งสามารถเดินลัดเลาะจากพิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธีมาได้ อ้อ...ระหว่างทางสามารถแวะชมการทำ "ที่นอนบางกอกน้อย" ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบสานกันมาในชุมชนชาวมุสลิมที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งรกรากที่นี่ ที่นอนบางกอกน้อยเป็นที่นอนยัดนุ่นที่มีคุณภาพทนทาน นอนแล้วไม่ปวดหลัง แต่เนื่องจากสมัยนี้คนไม่นิยมใช้กันแล้วจึงเหลือบ้านที่ทำที่นอนในละแวกนี้อยู่เพียงไม่กี่หลัง รับทำตามที่มีคนสั่งซื้อเท่านั้น

แวะดูการทำที่นอนนานไปหน่อย เกือบลืมจุดหมายปลายทางของเราที่วัดดุสิตฯเสียแล้ว วัดแห่งนี้เป็นการรวมเอาวัดโบราณ 3 วัดเข้าด้วยกัน คือวัดเสาประโคน (วัดดุสิตฯ) วัดน้อยทองอยู่ และวัดภุมรินราชปักษี หากเข้าไปกราบพระภายในพระอุโบสถแล้วก็อย่าลืมออกมาชมพระอุโบสถและพระวิหารหลังเก่าที่เคยอยู่ในอาณาเขตของวัดภุมรินราชปักษี แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มีความสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย สำหรับพระวิหารนั้นมีความพิเศษตรงที่ด้านหลังนั้นจะมีพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติองค์ใหญ่อยู่ด้วย อีกทั้งในบริเวณวัดยังมี "ศาลาเรือโบราณ" ซึ่งเป็นที่เก็บเรือขุดโบราณจากไม้ตะเคียนขนาดความยาวหลายสิบเมตรไว้ให้ชมกันด้วย
พระวิหารเก่าของวัดภุมรินราชปักษี ส่วนหนึ่งของวัดดุสิตฯ
เส้นทางท่องเที่ยวในเขตบางกอกน้อยนี้นับว่ายาวไม่ใช่เล่น แม้จะเดินกันจนเมื่อยไปสักเล็กน้อย แต่รับรองว่าไม่ผิดหวังกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีครบถ้วนทั้งไหว้พระ ชมพิพิธภัณฑ์ ซื้อสินค้าหัตถกรรมของชุมชน ช้อปปิ้ง สินค้าแฟชั่น และกินอาหารอร่อยๆ กันไปตลอดเส้นทางเลยทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น