xs
xsm
sm
md
lg

How to become the Young Bestseller Writers?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ป๊อบ
เมื่อตำแหน่งหนังสือขายดี หรือ ‘เบสท์เซลเลอร์’ บนชั้นวางร้านหนังสือทุกวันนี้ เกิดจากปลายปากกา (หรือแป้นคีย์บอร์ด) ของนักเขียนวัยรุ่นแทบจะทั้งหมดส่วนใหญ่ของพื้นที่บนชั้น จนเกิดเป็นปรากฏการณ์นักเขียนเบสท์เซลเลอร์ที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ บางคนมีหนังสือเป็นของตัวเองเล่มแรกตั้งแต่อายุเพียง 14 ปีเท่านั้น

ผู้ใหญ่หลายคนสงสัยว่า ข้างในหนังสือหน้าปกรูปการ์ตูนเหล่านี้มีอะไร? ทำไมถึงได้ขายดิบขายดีนัก และนักเขียนอายุน้อยเหล่านี้…ไปสรรหาวัตถุดิบหรือเรื่องราวมาจากไหน เพื่อมาเขียนหนังสือออกมาได้เป็นสิบๆ เล่ม ทั้งที่ด้วยวัยและประสบการณ์ของพวกเขา ไม่น่าจะพบเจอเหตุการณ์หรือผู้คนซับซ้อนมากพอจะมาผูกปมเป็นนวนิยายได้

เราจะพาไปรู้จักกับนักเขียนวัยรุ่นขายดี ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ครบสูตร ‘YRF’ (Young, Rich & Famous)

กว่าจะมาเป็นนักเขียนวัยรุ่นเงินล้าน

อยากเป็นนักเขียนเหรอ?

อายุไม่ได้เป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคอีกต่อไป…เพราะวันนี้บรรณาธิการพร้อมที่จะเปิดรับผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ตลอดเวลา ขอเพียงมีความสามารถในการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร และใช้คอมพิวเตอร์กับอินเทอร์เน็ตเป็น โอกาสที่ผลงานของนัก (อยาก) เขียนเด็กวัยรุ่นจะได้ตีพิมพ์รวมเล่มก็อยู่ไม่ไกล

เว็บบอร์ดวัยรุ่นต่างๆ อาทิ เว็บไซต์เด็กดี ฯลฯ คือสนามทดลองที่เป็นพื้นที่ให้วัยรุ่นที่อยากเขียนหนังสือได้นำเรื่องของตัวเองมาลองโพสต์ให้คนอ่าน บ่อยครั้งที่แมวมองจากสำนักพิมพ์ต่างๆ จะแวะเข้ามาสำรวจหานักเขียนหน้าใหม่ที่นั่น โดยคัดเลือกงานที่ติดอันดับในเว็บไซต์วัยรุ่นชื่อดัง ไปรวมพิมพ์เป็นเล่ม

“ดร.ป๊อบ” นักเขียนวัยรุ่นชื่อดังเจ้าของนวนิยายเรื่อง "เดอะไวท์โรด" (The White Road) เมื่อหลายปีก่อน คือตัวอย่างของนักเขียนวัยรุ่นยอดนิยมที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการนำเรื่องลงในเว็บไซต์ www.dek-d.com ส่งผลให้ผลงานแพร่กระจายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว สามารถตีตลาดหนังสือแนวแฟนตาซีประสบผลสำเร็จยอดขายทะลุเกือบ 200,000 เล่ม จนต้องพิมพ์ซ้ำหลายรอบ และทยอยออกภาคต่อมาเรื่อยๆ

ดร.ป๊อบ คือ นามปากกาของ ฐาวรา สิริพิพัฒน์ ผู้โด่งดังจากการเขียนนวนิยายแฟนตาซีด้วยวัยเริ่มต้นเพียง 16 ปี ซึ่งถือว่าเป็นนักเขียนดาวรุ่งที่มีอายุน้อยที่สุดในยุคนั้น แม้ต่อมาจะมีนักเขียนวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่าเขาเขียนหนังสือออกมาก็ตาม แต่ดร.ป๊อบก็นับเป็นนักเขียนวัยรุ่นคนแรกๆ ที่ปลุกกระแสนักเขียนวัยรุ่นที่เกิดมาจากการโพสต์นวนิยายในอินเทอร์เน็ตจนได้ตีพิมพ์ในเวลาต่อมา

เขากลายเป็นนักเขียนดาวรุ่งอายุน้อยผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว เป็นขวัญใจนักอ่านรุ่นเยาว์ที่ต้องเดินทางไปโชว์ตัวเอาใจผู้อ่านตามสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และเปลี่ยนบทบาทจากนักเขียนก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงในฐานะไอดอลของเหล่าวัยรุ่นไทยในห้วงเวลาหนึ่ง ด้วยงานพิธีกรรายการโทรทัศน์ และนักร้อง…

ในวันที่นักเขียนนิยายแฟนตาซีวัยรุ่นในอดีตอย่างดร.ป๊อบ เติบโตเป็นชายหนุ่มอายุย่างเข้าเบญจเพสในวันนี้ เราถามเขาว่า คิดอย่างไรต่อการที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ดร.ป๊อบ หรือ ฐาวราบอกว่า ชื่อเสียงเงินทองที่มาพร้อมกับความสำเร็จในวัยเยาว์นั้น เป็นเสมือนดาบสองคม เพราะมีทั้งกระแสบวกและลบต่อผลงานของเขา

“ไม่คิดว่าการที่เราเป็นเด็กโนเนมตอนนั้นจะมีคนให้การสนับสนุนเรา เกินคาดหมายเพราะไม่คิดว่าจะได้รับการตอบรับ แต่ความที่เราประสบความสำเร็จเร็วมากมันก็มีผล เพราะเหมือนกับว่าเราประสบความสำเร็จเพียงข้ามคืนจริงๆ ฉะนั้น มันก็จะมีทั้งกระแสบวกและกระแสลบเข้ามา เราก็อาจจะไม่ชินกับการเจอกระแสลบ แต่พอเรียนรู้ไปนานๆ สักพักก็จะรู้ว่าคำวิจารณ์ไหนที่เราสามารถเอามาใช้กับตัวเองได้ เราก็จะเอามาใช้เพื่อการปรับปรุงงานให้ดีขึ้น เพราะว่าคำวิจารณ์คือสิ่งสำคัญที่ทำให้นักเขียนและคนทำงานสาธารณะสามารถพัฒนาตัวเองได้”

ซึ่งอุปสรรคในการพัฒนาตัวเองของดร.ป๊อบนั้น เขาบอกว่าอยู่ที่การใช้ภาษา การลำดับความคิด ซึ่งเขาพยายามเรียนรู้และพัฒนาตนเองมาตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีในวงการนักเขียน กว่าจะถึงจุดที่เขาพอใจเช่นทุกวันนี้ ซึ่งดร.ป๊อบบอกว่า เขาค้นพบแนวทางเขียนของตัวเองแล้ว นั่นคือ แนวไซไฟ-แฟนตาซี ซึ่งจะมีความดราม่าและสมจริงมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากผลงานเก่าอย่างไวท์โรดโดยสิ้นเชิง

“ไวท์โรดเกิดขึ้นในตอนที่กระแสแฟนตาซีเข้ามาในประเทศไทยพอดี และการที่ตอนนั้นเราเป็นนักเขียนเด็ก คนก็เลยให้ความสนใจมาก เนื้อเรื่องของไวท์โรดมันมีความเป็นเทคโนโลยีแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร ไม่มีใครเคยเห็น มันก็เลยเป็นเหมือนสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการ คนก็เลยอยากจะเห็นกัน มันก็อาจจะมีเรื่องของการทำการตลาด การโปรโมทอะไรด้วย มันก็เลยหนุนกันไปหมดเลย ทำให้ไวท์โรดสิบปีแล้วแฟนคลับก็ยังเหนียวแน่นอยู่ ยอดขายก็ไม่เคยตกไปจากเดิมเลย”

อายุเป็นเพียงตัวเลข?

ข้ามฟากจากหนังสือแนวแฟนตาซีไปดูฝั่งสำนักพิมพ์ที่เน้นเรื่องรักวัยรุ่นหวานใสอย่างสำนักพิมพ์แจ่มใสบ้าง นักเขียนวัยรุ่นนามปากกา “ลูกชุบ” หรือ ชลธิชา บุญรัตนพิทักษ์ วัย 18 ปี เจ้าของผลงานนวนิยายมากกว่า 15 เรื่องที่ออกกับสำนักพิมพ์แจ่มใส เล่าว่า จุดเริ่มต้นของเธอนั้นก็ไม่ต่างจากนักเขียนวัยรุ่นคนอื่นๆ นั่นคือ เริ่มจากเป็นคนชอบอ่านก่อน แล้วก็ค่อยๆ หัดเขียนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ตีพิมพ์นิยายรวมเล่มเป็นเรื่องแรกหลังจากลงอินเทอร์เน็ตในตอนที่เธออยู่เพียงชั้น ม.2

“ช่วงนั้นต้องยกเครดิตให้กับเว็บเด็กดีดอทคอม เป็นช่วงที่นักเขียนวัยรุ่นเอานิยายไปลงที่เว็บนี้เยอะ บก.ต่างก็เล็งเห็นศักยภาพเด็กจากเว็บนี้ค่อนข้างเยอะ ชุบก็เป็นหนึ่งในเด็กที่เกิดจากเว็บนี้เหมือนกัน เป็นหนึ่งในสิบเล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์”

ลูกชุบบอกว่าแม้นิยายของเธอจะเป็นเรื่องรักวัยรุ่นหวานแหวว แต่จะแตกต่างจากเพื่อนนักเขียนรุ่นเดียวกันตรงที่สำนวนการเขียนและมุมมองในเรื่องจะค่อนข้างไปในโทนผู้ใหญ่กว่า ส่วนยอดพิมพ์นั้นไม่อาจเปิดเผยได้ด้วยนโยบายของสำนักพิมพ์ แต่นักเขียนวัย 18 ปียอมรับว่า รายได้จากการเขียนตั้งแต่หนังสือเล่มแรกของเธอสมัยเรียนมัธยมฯ จนถึงทุกวันนี้ รวมกันถึงระดับตัวเลข 7 หลัก

“ชุบยังให้ความสำคัญกับการเขียนเป็นแค่งานอดิเรก เพราะแม่ก็บอกว่ายังไงเรื่องเรียนต้องมาก่อนนะ ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ก็เลยคิดว่าอาจจะเลือกเรียนสายที่ใกล้เคียงกัน เพราะเรามีความถนัดทางด้านนี้ ส่วนรายได้จากการเขียน พอเราหาเงินได้เอง ยิ่งเห็นคุณค่า พอเราได้เงินก้อนหนึ่งมาก็ไม่อยากใช้ เพราะรู้สึกว่านี่เป็นเงินที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรงของเราอยากให้มันงอกเงยเป็นอย่างอื่นแทน ไม่ใช้ฟุ่มเฟือยเหมือนอย่างที่เคยใช้เงินพ่อแม่”

ทางด้านน้องเม จุฬารัตน์ ทองอร่าม เจ้าของนามปากกา “may112” ที่แฟนนิยายแจ่มใสรู้จักกันดีนั้น ก็เป็นนักเขียนออนไลน์มาก่อนเช่นกันก่อนจะได้ตีพิมพ์ ปัจจุบันนี้เธอกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ม.นเรศวร คณะสังคมฯ สาขาประวัติศาสตร์ – การท่องเที่ยว แต่ถ้าถามถึงการเขียนนิยายนั้น น้องเมเขียนมาตั้งแต่สมัยยังเรียนมัธยมฯ

“ตอนนั้นนิยายวัยรุ่นยังไม่บูม ส่วนใหญ่เป็นนิยายออกแนวผู้ใหญ่อย่างของกิ่งฉัตร ทมยันตี นิยายวัยรุ่นที่ตัวละคร 16-17 มันยังไม่ค่อยมีในช่วงนั้น มันเพิ่งมาดังปีสองปีที่แล้วนี่เองสำหรับนิยายวัยรุ่นแบบที่มีตัวอิโมติค่อน”
จากสมัยเรียนชั้น ม.5 จนถึงปัจจุบันนี้ น้องเมมีผลงานนิยายรวมทั้งหมดกว่า 13 เล่ม เฉลี่ยแล้วเธอออกหนังสือปีละ 4-5 เล่ม รายได้จากการเขียนหนังสือทั้งหมดเธอยกให้คุณแม่เป็นคนจัดการ โดยแบ่งส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนการศึกษา

“ตอนแรกพ่อแม่ก็ยังไม่เข้าใจนิยายแนวนี้ เพราะมันยังไม่ค่อยบูม ไม่คิดว่านิยายวัยรุ่นจะได้มาตีพิมพ์ พ่อแม่ก็ยังงงๆ อยู่ตอนนั้น แม่ก็บอกว่าเมโชคดีมาก คือเหมือนกับเป็นงานหนึ่งชิ้นที่พอเรียนจบแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปหางานทำอีกแล้ว เพราะรายได้ตรงนี้มันพอเลี้ยงเราได้เลยค่ะ”

สำหรับนักเขียนวัยรุ่นอย่างเธอแล้ว เมบอกว่าความสุขในการเขียนของเธออยู่ที่การเขียนเรื่องที่อยากจะเขียน ยอดขายและฟีดแบคจากคนอ่านรวมกัน “หนึ่งก็คือได้ผลตอบแทนที่เราสามารถเอามาเป็นอาชีพได้เลย ส่วนฟีดแบคที่กลับมาคนอ่านชอบผลงานเราก็ดีใจ”

อีกนามปากกาขวัญใจนักอ่านวัยรุ่นอย่าง “หัวสมองตีบตัน” สโรชา ปรังการ หรือน้องปอ ที่หลงเข้ามาสู่เส้นทางน้ำหมึกตั้งแต่อายุแค่ 14 ปี เพราะความอยากลองเขียนนิยายเป็นของตัวเองดูสักเรื่องหนึ่งในช่วงเวลาที่มีกระแสการเขียนนิยายวัยรุ่นในอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ซึ่งสโรชายอมรับว่า มีทั้งคนที่เขียนเพราะใจรัก และอยากได้ค่าตอบแทนจากการได้ออกพอคเกตบุ๊ค

“ตอนแรกไม่รู้หรอกค่ะว่าจะได้ตีพิมพ์หรือเปล่า เหมือนเขียนเล่นๆ น่ะค่ะ พอเขียนจนจบเป็นเรื่องแล้วเราก็เลยลองส่งสำนักพิมพ์ดู เป็นช่วงที่มีคนเขียนนิยายลงเว็บกันมาก มันก็คงมีที่เขียนเพราะอยากได้เงินในส่วนหนึ่ง แต่ปออยากให้ลองคิดดูว่า ถ้าเขียนเพราะอยากได้สตางค์ กับเขียนเพราะว่าชอบเพราะว่ารัก แบบไหนมันจะทำออกมาแล้วดีกว่ากัน”

แต่แม้จะหาเงินได้จากการเขียนนิยายแต่ละครั้งเป็นจำนวนนับแสน แต่น้องปอก็ไม่ได้เขวหรือหลงระเริงกับเงินค่าตอบแทนจากการเขียนที่ได้มา โดยละทิ้งการเรียน ปัจจุบันนี้เธอเป็นนักเรียนเตรียมเอ็นท์อยู่ชั้น ม.5 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา

“รายได้ที่มาจากการเขียนจะอยู่ในชื่อปอ กับพ่อแม่ด้วยค่ะ คือยึดเหนี่ยวกันไว้ให้มันเบิกออกยากที่สุด” น้องปอเล่า โดยถ่อมตัวว่าเงินเก็บจำนวนนี้มีไม่มากมายเท่าไหร่ เพราะส่วนหนึ่งนำมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวและของตัวเธอเองบ้าง ที่เหลือก็เก็บไว้เป็นทุนการศึกษาในอนาคต

“ถามว่าภูมิใจไหมก็ภูมิใจมาก หากในอนาคตมีใครมาถามก็บอกได้ว่าเราส่งตัวเองเรียน อีกหน่อยถ้าเราเรียนจบประสบความสำเร็จมา ก็เพราะเราส่งตัวเองเรียน” น้องปอเอ่ยถึงแผนการในอนาคตให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ โดยเธอวางแผนไว้ว่าอยากเรียนต่อทางด้านดีไซน์ โดยอาจทำงานเขียนควบคู่ไปด้วย

“ก็ไม่คิดว่าจะยึดอาชีพการเขียนหนังสือนี้ไปตลอด มันก็คงเป็นงานอดิเรกที่ทำแล้วรู้สึกมีความสุข รู้สึกสนุกไปกับมันอย่างนี้มากกว่า” นักเขียนวัย 17 ปีกล่าว

“นักเขียนเด็ก” ความนิยมหรือกระแส?

“คำว่านักเขียนอายุน้อยลง เราต้องดูด้วยว่า ความสามารถมันยังอยู่ไหม ตอนนี้ที่มีรุ่นน้องเข้ามาใหม่ เริ่มแรกเขาก็อายุ 14 เท่าปอพอดีเลย เราก็ต้องไปอ่านงานเขาดูอีกที ไม่ใช่ว่าอายุยิ่งน้อยยิ่งดี แต่งานเขียนคุณภาพมันต้องคงอยู่ อย่างสำนักพิมพ์แจ่มใสถ้าจะเลือกนักเขียนสักคน เขาจะต้องเลือกว่าคุณภาพของคุณจะอยู่ได้ไหม ไม่ใช่ว่า อายุน้อยเอาๆๆ คงไม่ใช่ สำนักพิมพ์เราคัดคุณภาพก่อน อายุเท่าไหร่ก็ได้” น้องปอ สโรชากล่าวถึงกระแสการที่มีนักเขียนเด็กวัยรุ่นอายุน้อยเพิ่มขึ้นในตลาดหนังสือปัจจุบัน

“งานเขียนวัยรุ่นแนวที่ใช้อีโมติค่อนนี้บุกตลาดเด็ก แต่ถามว่าผู้ใหญ่อ่านไหม ผู้ใหญ่ก็อ่านนะคะ แต่เพียงแต่ว่าผู้ใหญ่บางคนอาจจะไม่เข้าใจ ส่วนอันนี้ปอมองว่ามันเป็นแนวมากกว่า แต่ละคนมีรสนิยมไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าอายุมากแล้ว แต่รสนิยมยังอยู่ตรงนี้อยู่ เขาก็อ่านได้อ่านรู้เรื่อง”

แต่เมื่อถามว่างานเขียนวัยรุ่นแนวนี้ใกล้ถึงจุดอิ่มตัวหรือยัง นักเขียนดาวรุ่งวัย 17 มองว่า นิยายรักวัยรุ่นแบบที่ใช้ตัวอิโมติค่อนนี้ยังเติบโตได้อีกเรื่อยๆ โดยมีนักอ่านที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่นักอ่านรุ่นเก่าที่เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ในฐานะที่เป็นนักเขียนวัยรุ่นที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตคนหนึ่งนั้น น้องปอ สโรชาบอกว่า นี่เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้นักอยากเขียนวัยรุ่นได้แจ้งเกิด

“การโปรโมททางอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหนึ่ง ถ้าเราทำให้ตัวเรามีชื่อขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะทางไหน อีกหน่อยอะไรมันก็เหมือนง่ายไปหมด การลงเรื่องทางอินเทอร์เน็ต พอคนอ่านคุ้นเคยกับชื่อเรามากขึ้น อีกหน่อยอะไรมันก็ง่ายน่ะค่ะ อีกอย่างคือเครดิตชื่อของสำนักพิมพ์ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อเด็กหรือนักอ่านที่สนใจนิยายแนวที่ปอเขียนอยู่ พูดได้เลยว่าชื่อสำนักพิมพ์มีอิทธิพลมากในการที่จะตัดสินใจซื้อหนังสือสักเล่ม”

และเพราะความที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานและเหมือนเป็นการโพสต์ “ชิมลาง” ให้สำนักพิมพ์เห็นนี่เอง ทำให้เกิดกระแสการปั่นโหวตหรือคอมเมนท์ในนิยายหลายเรื่อง เพื่อให้ดูเหมือนว่าผลงานเขียนเรื่องนี้ได้รับความนิยมสูง สำหรับกรณีนี้นักเขียนเจ้าของนามปากกา “หัวสมองตีบตัน” มองว่า

“ช่วงหลังมาปอก็ไม่ค่อยเอานิยายไปลงเด็กดีแล้วนะคะ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะมาจากนโยบายของสำนักพิมพ์ด้วย แต่ถามว่าการปั่นโพสต์มีผลไหม ยังไงคุณภาพของงานก็ต้องมาก่อนอยู่แล้ว ถ้าเขียนดีจริงมีคุณภาพจริง ถึงจะมีคอมเมนท์แค่ 2-3 อันก็ไม่ต้องกลัว คือถ้าส่งบรรณาธิการถ้าเจ๋งจริง ดีจริงยังไงมันก็ผ่าน แต่เมนท์มีเป็นแสนเป็นล้านแต่ว่าเรื่องมันห่วย ยังไงมันก็ไม่ได้อยู่แล้ว”

ขณะที่นักเขียนร่วมค่ายอย่างน้องเมมองว่า งานเขียนของนักเขียนวัยรุ่นบางชิ้นนั้นก็ไม่ได้มาตรฐานพอที่ตีพิมพ์ “มาตรฐานมันน้อยลงเพราะว่าเหมือนกับสำนักพิมพ์เห็นว่าอันนี้ติดอันดับน่าสนุกก็พิมพ์เลย แล้วพอผู้ปกครองมาซื้อ เขาก็บอกว่า เอ๊ะ นิยายอย่างนี้ทำไมเอามาพิมพ์ เพราะว่าบางทีมันมีฉากไม่สมควรที่บางสำนักพิมพ์เค้าปล่อยออกมาได้ มันก็ทำให้เสียไปหมดเลย”

ส่วนลูกชุบกล่าวว่า การที่ผลงานนักเขียนเด็กวัยรุ่นขึ้นอันดับเบสท์เซลเลอร์มากขึ้นนั้น มาจากการที่ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้มากขึ้น “อย่างชุบเองเพิ่งตีพิมพ์ผลงานได้เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว คือยังเด็กมาก ยิ่งปัจจุบันนี้เด็กกว่าชุบก็ยังมีที่สามารถตีพิมพ์ผลงานได้ ชุบว่ามันเป็นเรื่องของการให้โอกาสที่ผู้ใหญ่เล็งเห็นว่า จริงๆ แล้วเด็กก็มีความสามารถไม่ต่างไปจากคนโตๆ เหมือนกันนะ คือสมัยนี้โลกมันไปเร็วน่ะค่ะ ก็เลยคิดว่าสมัยนี้การที่เด็กจะเขียนนิยายจบพิมพ์มาได้เล่มหนึ่งแล้วกลายเป็นเบสท์เซลเลอร์มันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีทั้งโอกาสและมีทั้งศักยภาพที่เพียบพร้อม”

แต่ทั้งนี้อะไรก็ตามที่เป็นกระแส ก็ทำให้เกิดปริมาณเพิ่มขึ้นแต่ทว่าคุณภาพลดลง ซึ่งนักเขียนวัยรุ่นอย่างลูกชุบมองว่าผู้ใหญ่เองก็มีส่วนทำให้เกิดกระแสนี้ขึ้นด้วย “มันเกิดจากตัวผู้ใหญ่มากกว่าที่อยากจะกอบโกยจากกระแสตรงนี้ ทำให้ผลงานที่ออกมาบางอย่างมันไม่เหมาะสม เอาเปรียบผู้ผลิตคือนักเขียนที่เป็นเด็กแล้วเขาไม่รู้กฎกติกาว่าฉันควรจะได้อย่างนี้ ก็เลยมีคนกลุ่มหนึ่งที่เอาเปรียบนักเขียน แต่มันก็เป็นตัวเลือกของนักอ่านที่พอมีงานออกมาเยอะ เขาก็มีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น”

ลูกชุบฝากถึงวัยรุ่นที่อยากเป็นนักเขียนเหมือนเธอว่า สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ ความเป็นตัวของตัวเอง
“อาจฟังดูเวอร์ๆ แต่พอถึงเวลาความเป็นตัวของตัวเองก็ทำให้แต่ละคนสามารถเอาตัวรอดออกมาจากงานที่เฝืออยู่ในตอนนี้ได้จริงๆ คือ ต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งในจุดนี้ไม่สามารถหาจากนิยายเล่มอื่นได้ ต้องมาจากตัวเราจริงๆ มันจะทำให้เราโดดเด่นขึ้นมาจากคนอื่น กองบรรณาธิการเล็งเห็นความสามารถและความแตกต่าง ที่ว่าตลาดอาจจะต้องการแบบนี้นะ เรื่องสำคัญคงเป็นจุดนี้” ลูกชุบทิ้งท้าย
ลูกชุบ
หัวสมองตีบตัน
may112 กับแฟนนิยาย
กำลังโหลดความคิดเห็น