ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใครบางคนอาจมองว่าเป็นดินแดนที่ร้อนและแห้งแล้งนั้น แต่ถ้าค้นลึกลงไปจะพบว่าอีสานเป็นภูมิภาคที่รวมเอาสิ่งดีๆทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจไว้ไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็น วัดวาอาราม ประเพณีวิถีวัฒนธรรม ดินแดนไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี หรือธรรมชาติอันสวยงามแปลกตา
นอกจากนี้อีสานยังเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ ที่นอกจากจะสำคัญมากต่อชาติไทยแล้ว ยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกอีกด้วย ซึ่งทริปนี้ "ตะลอนเที่ยว" มีโอกาสเดินทางสู่อีสานในเส้นทาง "ตามรอยอารยธรรมโบราณ" ที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) โดยเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมาหรือเมืองโคราช ประตูสู่อีสาน ที่ ต.เสมา อ.สูงเนิน เพื่อเที่ยวชม "เมืองเสมา" มีร่องรอยของชุมชนโบราณในสมัยทวารวดี ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 และมีพัฒนาการสืบเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมขอมโบราณ
เมืองเสมา มีการค้นพบโบราณวัตถุมากมาย โดยมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือคือ "พระพุทธไสยาสน์" หรือ"พระนอนหินทราย" ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดธรรมจักรเสมาราม พระนอนองค์นี้ทำจากหินทรายขนาดใหญ่หลายๆก้อนมาประกอบกัน เป็นพระนอนหินทรายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 13.30 เมตร สูง 2.80 เมตร โดยรอบๆองค์พระไสยาสน์ยังพบเสมาหินปักล้อมรอบอยู่ด้วย
นอกจากนั้นในบริเวณเดียวกันยังขุดพบโบราณวัตถุอย่างธรรมจักรหินทรายอันเก่าแก่ เป็นรูปซี่กงล้อ ตอนล่างสลักลายคล้ายหน้าพนัสบดี และเสาสำหรับประดิษฐานธรรมจักร รวมทั้งโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น ฐานตั้งรูปเคารพ ส่วนยอดของเจดีย์ แท่นบดยา ชิ้นส่วนประกอบอาคาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้นำมาจัดแสดงไว้ในศาลาภายในวัดธรรมจักรเสมารามนั่นเอง
ส่วนโบราณสถานที่ยังหลงเหลือหลักฐานให้เห็นว่ามีชุมชนโบราณอยู่ที่นี่ก็มีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือ ปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่ และปราสาทเมืองเก่า ปราสาทเมืองแขกเป็นโบราณสถานขนาดค่อนข้างใหญ่ ก่อด้วยอิฐและหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในการขุดแต่งพบทับหลังแกะสลักลวดลายต่างๆ ประติมากรรมเทวรูป และศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์
ส่วนปราสาทโนนกู่เป็นปราสาทขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู และปราสาทเมืองเก่านั้นสันนิษฐานว่าเป็นโบราณสถานในศาสนาพุทธลัทธิมหายานประเภทอโรคยาศาล
ที่โคราชยังมีแหล่งอารยธรรมโบราณอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญ ทั้งยังเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง นั่นก็คือ "แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท" ในอำเภอโนนสูง ซึ่งมีหลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชมทั้งหมด 3 แห่งด้วยกัน โดยระดับของหลุมขุดค้นทั้งสามที่มีความลึกที่สุดคือประมาณ 5.50 เมตร ขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์ในยุค 3,000 ปีก่อน ส่วนในระดับชั้นดินที่ตื้นขึ้นมาก็จะพบโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุน้อยลง ซึ่งก็ทำให้เห็นหลักฐานการอยู่อาศัย และประเพณีการฝังศพของผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
การขุดค้นนี้พบโครงกระดูกจำนวน 60 โครง มีทั้งเพศชาย เพศหญิง เด็กและทารก ทั้งยังพบโบราณวัตถุอย่างเครื่องประดับ กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด ภาชนะดินเผา รูปปั้นดินเผา เป็นต้น สำหรับใครที่สนใจอยากจะใช้เวลาเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยู่ในบ้านปราสาทนานๆ ที่นี่เขาก็มีโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวด้วยละ
จากโคราช เดินทางกันต่อมาถึงเมืองน้ำดำ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่อำเภอกมลาไสยนั้นก็มีเมืองโบราณที่มีร่องรอยของการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 นั่นก็คือ "เมืองฟ้าแดดสงยาง"
โบราณวัตถุที่พบมากที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยางก็คือใบเสมาหินทราย ซึ่งพบกระจัดกระจายอยู่รอบๆพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณศาสนสถานที่สำคัญทางศาสนา เช่น เจดีย์ อุโบสถ หรือเนินดินที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเข้าใจว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยใบเสมาเหล่านี้แบ่งได้หลายประเภทด้วยกัน ทั้งแบบแผ่นเรียบไม่มีการแกะสลัก แบบแผ่นหินอกเลาสลักรูปกลีบบัวที่ฐาน แบบแท่งหินรูปสี่เหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยม รวมไปถึงแบบแผ่นหินที่สลักเรื่องราวทางศาสนาไว้
แผ่นหินเหล่านี้ส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม โดยเสมาสลักภาพที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งนั้นเป็นใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่องพิมพาพิลาป หรือเรื่องราวเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดนางพิมพา พระชายาของพระองค์เมื่อครั้งที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ใบเสมาชิ้นนี้ถูกก่อปูนยึดไว้กับพื้นอย่างดี เพราะหาไม่คงจะถูกยกไปขายเสียนานแล้ว
โบราณสถานในเมืองฟ้าแดดสงยางที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่จะพลาดชมไม่ได้ก็คือ "พระธาตุยาคู" พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในสมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง เนื่องจากได้รับการบูรณะในหลายยุค จึงทำให้พระธาตุยาคูมีฐานแบบทวารวดี ตอนกลางพระธาตุเป็นแบบอยุธยา ส่วนตอนปลายเป็นแบบรัตนโกสินทร์ และยังพบใบเสมารอบๆ องค์เจดีย์อีกหลายชิ้นด้วยกัน พระธาตุองค์นี้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในแถบนี้เป็นอย่างมาก มีเรื่องเล่าปาฏิหาริย์มากมายหลายเรื่องเกี่ยวกับองค์พระธาตุ หากอยากรู้คงต้องหาโอกาสมาฟังด้วยตนเอง
มาที่จังหวัดอุดรธานีกันบ้าง ที่นี่ไม่ต้องกล่าวอะไรมาก เพราะชื่อของ "แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง" อันได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม คงจะเป็นที่การันตีได้ถึงความเก่าแก่ และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนี้เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย อายุราว 5,600 ปี มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานและวัฒนธรรมของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีการพัฒนาในทุกด้าน โดยโบราณวัตถุที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเชียงนั้นก็คือเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีนั่นเอง
หากอยากทราบเรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงอย่างละเอียดก็ต้องมาเริ่มต้นที่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง" พิพิธภัณฑ์ทันสมัยที่รวบรวมเอาโบราณวัตถุหลายหมื่นชิ้นที่ขุดค้นพบมาจัดแสดงไว้ให้ชม พร้อมทั้งมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับบ้านเชียงอย่างครบถ้วน แต่หากอยากเห็นสภาพพื้นที่จริงซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดหรือหลุมขุดค้น ก็ต้องมาที่ “วัดโพธิ์ศรีใน” ที่ยังคงรักษาสภาพการขุดค้น มีโครงกระดูกและเครื่องปั้นดินเผาที่แสดงให้เห็นถึงประเพณีการฝังศพของคนในสมัยนั้น
ที่ "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" ในอำเภอบ้านผือ ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีซึ่งมีร่องรอยของอารยธรรมโบราณแฝงอยู่ในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศในเวลาเดียวกัน
ที่ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศนั้นก็เพราะในอุทยานฯนี้มีโขดหินทรายน้อยใหญ่ที่ถูกขัดเกลาจากกระบวนการกัดกร่อนของธรรมชาติทั้งลมและฝน จนทำให้โขดหินเหล่านั้นมีรูปร่างต่างๆกัน และก่อเกิดเป็นตำนานพื้นบ้านอย่างเรื่อง "นางอุสา-ท้าวบารส"
และโขดหินเหล่านี้นั้นก็มีร่องรอยของมนุษย์ในยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ราว 2,000-3,000 ปี ซึ่งมาพักอาศัยอยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติ มีหลายจุดในภูพระบาทที่พบสถานที่ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยใช้เป็นห้องนอนและสถานที่ประกอบอาหาร อีกทั้งยังพบภาพเขียนสีธรรมชาติเป็นรูปคน และสัตว์ตามเพิงหินอีกด้วย
และยังพบว่าบริเวณนี้ยังได้รับอิทธิพลในสมัยทวารวดีอีกด้วย เพราะโขดหินหลายๆ แห่งได้ใช้เป็นศาสนสถาน ทั้งหอนางอุสา เพิงหินคอกม้าน้อย ถ้ำฤาษี เป็นต้น เพราะพบหลักฐานจากการปักใบเสมาหินขนาดใหญ่ล้อมรอบเอาไว้ ไม่เพียงแต่ในยุคทวารวดีเท่านั้น แต่ยังพบอิทธิพลจากเขมร และวัฒนธรรมล้านช้างบนภูพระบาทอีกด้วย
ปิดท้ายเส้นทางอารยธรรมโบราณแห่งสุดท้ายในเส้นทางกลับที่ "เมืองโบราณโนนเมือง" ที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ชุมชนเก่าแก่ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดี การขุดค้นพบว่ามีการสร้างเมืองขนาดใหญ่โดยขุดคูเมืองและก่อคันดินเป็นกำแพงเมือง อีกทั้งยังพบกลุ่มใบเสมาในตัวเมืองโนนเมือง จึงเชื่อว่าเมืองแห่งนี้อาจเป็นศูนย์กลางทางศาสนาหรือเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาอีกด้วย
ในหลุมขุดค้นที่มีการขุดขึ้นที่โนนเมืองนั้น พบโครงกระดูกทั้งหมด 34 โครง พบว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายทั้งสิ้น คือมีอายุประมาณ 2,500-2,000 ปีมาแล้ว อีกทั้งยังพบเครื่องมือเหล็กประเภทจอบ ใบมีด เคียว และกระดูกสัตว์อย่างวัว ควาย เก้ง กวาง และปลาหลายชนิด ทำให้ทราบว่าผู้คนในเมืองนี้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์เช่นเดียวกับชุมชนโบราณอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ใน "เส้นทางตามรอยอารยธรรมโบราณ" ซึ่งหากใครที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ อยากเห็นหรือสัมผัสกับมนุษย์โบราณอย่างใกล้ชิด "ตะลอนเที่ยว" แนะนำว่าไม่ควรพลาดเส้นทางนี้ด้วยประการทั้งปวง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การท่องเที่ยวในเส้นทาง "ตามรอยอารยธรรมโบราณ" หากอยากเที่ยวให้สนุกควรมีมัคคุเทศก์ที่สามารถบรรยายถึงความเป็นมาของสถานที่แต่ละแห่ง ผู้ที่สนใจท่องเที่ยวในเส้นทางนี้สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. Call Center 1672 สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ โทร.0-2270-1505 ถึง 8 สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย โทร.0-2246-5659 สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย โทร.0-2887-8802 ถึง 3 สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย โทร.0-2998-0744