ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- โคราชเร่งเดินหน้าผุดศูนย์เรียนรู้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ “แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัด” อ.โนนสูง ที่สมบูรณ์แบบที่สุด เผยการศึกษาใกล้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมเสนอของบรัฐบาลก่อสร้าง ร่วม 10 ล้านหลังออกแบบเสร็จแล้ว ระบุแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดเป็นแหล่งขุดค้นที่มีความสำคัญมากที่สุดของไทย เหตุเป็นแหล่งกำเนิดสังคมเกษตรกรรมสังคมแรกอายุราว 4,500 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ยุคหินใหม่-สำริด-เหล็ก จนถึงยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น คล้ายบ้านเชียง แต่สิ่งขุดค้นได้มีจำนวนมากและคงสภาพความสมบูรณ์มากกว่า
วันนี้ (14 พ.ค.) ที่ห้องประชุมคุรุเวทย์ ชั้น 2 คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรายงานความคืบหน้าโครงการวิจัย “การศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา” โดยมี พระภิกษุ, ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคีประชาชนบ้านโนนวัด เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน
ศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการวิจัย “การศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา” เป็นการต่อยอดงานวิจัยของนักวิจัยชาวต่างชาติและชาวไทยที่ร่วมกันขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีดังกล่าว โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎฯ เป็นผู้ดำเนินการโครงการวิจัยการศึกษาเพื่อพัฒนาฯ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของการประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน
สำหรับการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษารวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านกายภาพท้องถิ่น ประกอบด้วย การตั้งถิ่นฐาน, กิจกรรมความเป็นอยู่, หลักฐานด้านชาติพันธุ์ ประกอบกับข้อมูลด้านวัฒนธรรม วีถีชีวิตและสิ่งยึดเหนี่ยวของชุมชนในปัจจุบัน ผ่านศิลปะ ด้านดนตรีการละเล่นรวมถึงกิจกรรมทางสังคม อาชีพ เศรษฐกิจ และวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่มีความเข้มแข็งโดยประชาชนมีส่วนร่วม
ศ.ดร.เศาวนิต กล่าวต่อว่า ล่าสุดจนถึงขณะนี้ การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ได้ผ่านขั้นตอนตามกระบวนการวิจัย เป็นองค์ความรู้เพื่อการจัดระบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นที่เกือบเสร็จสมบูรณ์ในทางรายงานเอกสารแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและประชาชนรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการบริจาคที่ดินจากเจ้าของที่ดินที่เป็นหลุมขุดค้นหลักและจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ฯ
โดยขณะนี้ได้ทำการออกแบบตัวอาคารเรียบร้อยแล้ว ส่วนการก่อสร้างได้เสนอของบประมาณไปยังรัฐบาลประมาณ 10 ล้านบาท หากได้รับการอนุมัติสามารถก่อสร้างได้ทันที โดยภายในอาคารดังกล่าวจะรวบรวมเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านโนนวัด และความสำคัญของแหล่งอารยธรรมโบราณแห่งนี้ พร้อมจำลองการขุดค้นของนักวิจัย ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่สมบูรณ์แบบที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ตั้งอยู่ หมู่ 11 บ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ได้มีสำรวจทางโบราณคดีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2547 โดย ศ.ชาร์ลส ไฮแอม นักวิจัยชาวนิวซีแลนด์ และ ดร.รัชนี ทศรัตน์ นักวิจัยชาวไทย เมื่อครั้งเข้ามาทำการวิจัยในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลในแอ่งโคราช โดยจากภาพถ่ายทางอากาศและเดินสำรวจโดยรอบแหล่งโบราณคดีพบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเนินดินมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 3 ชั้น และยังพบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบและโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากที่มีอายุระหว่าง 3,050-4,500 ปี
จากการขุดค้นทำให้ทราบว่า แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดมีการตั้งรกรากของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโนนวัด แหล่งขุดค้นนี้มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่ตั้งรกรากของสังคมเกษตรกรรมสังคมแรก ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ยุคหินใหม่,สำริด,เหล็ก จนถึงยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น ซึ่งมีความยาวนานคล้ายบ้านเชียง แต่สิ่งที่ขุดค้นได้มีจำนวนมากกว่าบ้านเชียงและยังคงสภาพความสมบูรณ์ไว้ได้ มีประโยชน์ต่อการศึกษา ความต่อเนื่องของวัฒนธรรมโบราณซึ่งยังไม่เคยปรากฏขึ้นในประเทศไทย