พบจานสังคโลกสมัยสุโขทัย-บ้านเชียง-เศียรพระพุทธรูปโบราณโผล่อินโดนีเซีย กรมศิลป์ตรวจพิสูจน์ ประเมินราคา กำหนดอายุแล้วพบเป็นของไทย 12 รายการ เร่งประสานกระทรวงการต่างประเทศทำเอกสาร-หลักฐานขอคืน
นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการที่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อหารือและขอความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในปี 2553 นั้น ทางกรมประวัติศาสตร์และโบราณคดี กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้สอบถามความคืบหน้ากรณีที่ได้ส่งหนังสือแจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อให้กรมศิลปากร ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของโบราณวัตถุที่สูญหายในประเทศไทย เนื่องจากเมื่อปี 2551 สำนักสุลกากรท่าเรือ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย สามารถจับกุมการลักลอบนำเข้าโบราณวัตถุในประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 24 รายการ โดยผู้นำเข้าไม่มีเอกสารแสดงที่มาของโบราณวัตถุดังกล่าว จึงมีการตรวจสอบเบื้องต้นและสันนิษฐานว่าโบราณวัตถุดังกล่าวน่าจะเป็นของไทย ดังนั้น ทางอินโดนีเซียจึงต้องการให้ฝ่ายไทยเร่งตรวจสอบและส่งหลักฐานเพื่อดำเนินการขอคืน
นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า จากการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุดังกล่าว พบว่าเป็นโบราณวัตถุของประเทศไทย ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้นำออกนอกราชอาณาจักรไทย ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และจากที่คณะกรรรมการกำหนดเงินรางวัลสำหรับผู้เก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมทั้งตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัย กำหนดค่าทรัพย์สิน และประเมินราคาของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งเทียมโบราณวัตถุ และสิ่งเทียมศิลปวัตถุ ของกรมศิลปากร ได้ตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุ ทั้ง 24 รายการแล้ว พบว่าเป็นของไทย จำนวน 12 รายการ ดังนี้ จานสังคโลก ดินเผาเคลือบศิลปะสุโขทัย จำนวน 5 รายการ ภาชนะลายเขียนสีแดง ชนิดดินเผา สันนิษฐานว่าเป็นโบราณวัตถุบ้านเชียง จ.อุดรธานี 2 รายการ เศียรพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนปลาย 1 รายการ องค์พระพุทธรูป ชนิดหินทราย ศิลปะอยุธยา จำนวน 4 รายการ ส่วนโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นไหและกระปุก ดินเผา อีกจำนวน 6 รายการ จากการตรวจสอบแล่ว พบว่า ไม่ใช่โบราณวัตถุของไทย
“อย่างไรก็ตาม กรมศิลป์ได้ทำหนังสือแจ้งพบการตรวจสอบโบราณวัตถุทั้ง 24 รายการไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการแจ้งไปยังอินโดนีเซียให้อายัดโบราณวัตถุ จำนวน 12 รายการ ซึ่งเป็นของไทยไว้ก่อน ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้จะเร่งจัดทำเอกสารและหลักฐาน เพื่อประกอบการขอคืนโบราณวัตถุดังกล่าว รวมทั้งจะต้องส่งนักโบราณคดีเดินทางไปพิสูจน์ของจริงด้วย” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว