นักกิจกรรมกรีนพีซพายเรือรณรงค์โครงการ “คืนรอยยิ้มสู่สายน้ำ เจ้าพระยาปลอดมลพิษ” เป็นระยะทาง 350 กิโลเมตรในแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ร่วมกิจกรรมกับชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานราชการของจังหวัด พายเรือเก็บขยะและรณรงค์ชุมชนริมคลองและแม่น้ำ โดยมีนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม
นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ประกาศให้วันนี้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายนซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกเป็นสัปดาห์รณรงค์สิ่งแวดล้อมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังแสดงความกังวลต่อปัญหามลพิษทางน้ำ โดยเฉพาะการทิ้งขยะและการปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากชุมชนลงสู่คูคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา
“แม่น้ำเจ้าพระยากำลังถูกคุกคามโดยน้ำทิ้งที่ปนเปื้อนสารพิษอันตรายและขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ซึ่งมาจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากครัวเรือน ระหว่างการรณรงค์ในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เราพบขยะจำนวนมากทั้งในแม่น้ำและริมชายฝั่งซึ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเส้นทางมาสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ขยะเป็นมลพิษที่เราสามารถมองเห็นได้ แต่สิ่งที่เราไม่อาจรู้และเห็นคือสารพิษอันตรายที่ปนเปื้อนมากับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
กิจกรรมพายเรือสร้างรอยยิ้มให้เจ้าพระยามีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ก่อมลพิษ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบให้รวมพลังปกป้องและร่วมหาทางแก้ไขปัญหามลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นแม่น้ำที่สำคัญของประเทศ
พระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศไทย เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญและได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมกดกโลก ทั้งนี้ นอกจากน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดชุมชนและเกษตรแล้ว จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ประมาณ 35 แห่งที่ปล่อยน้ำทิ้งในปริมาณมากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีปริมาณรวม 50,704 คิวบิกเมตรต่อวัน คิดเป็นความสกปรกในรูปบีโอดี (BOD loading) ประมาณ 450 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้แม่น้ำเสื่อมโทรมลง (1)
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรีนพีซเปิดเผยรายงาน “พื้นที่และแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำในประเทศไทย” ซึ่งระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมากกว่าร้อยละ 92.68 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงร้อยละ 6.87 ของพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ซึ่งหากขาดการลงมือป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำอย่างจริงจัง อาจส่งผลกระทบต่อประชากรไทยมากถึง 4,440,049 คน (2)
“มลพิษจากภาคอุตสาหกรรมเป็นประเด็นหลักที่น่ากังวล เนื่องจากสารพิษอันตรายที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำทิ้งสามารถสะสมในระบบนิเวศ และปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารรวมถึงน้ำดื่มของเราได้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลควรออกกฎหมายบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งเปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลเพื่อตั้งเป้าหมายลดการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิตและลดปริมาณการปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม และยังเป็นการผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมก้าวเข้าสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดในกระบวนการผลิตของตน” นายพลายกล่าวสรุป
ข้อเรียกร้องของกรีนพีซต่อการรณรงค์เพื่อปกป้องแหล่งน้ำ
1. ตรวจหา ลงโทษ และปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนสารเคมีอันตรายลงสู่แหล่งน้ำ
2. ดำเนินโครงการฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3. ปิดหลุมฝังกลบขยะชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
4. สร้างแรงจูงใจทางการเงินสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (Clean Production) ในภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมอินทรีย์ปลอดสารพิษ